พระตถาคตทรงเป็นผู้ที่หนักในธรรม

 
ไตรสรณคมน์
วันที่  9 ธ.ค. 2550
หมายเลข  5802
อ่าน  2,180

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 357

ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้น ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามโดยการปฏิสันถารว่า

ภิกษุทั้งหลาย พอทนได้ไหม พอเป็นไปได้ไหม

พวกเธอมาไกลไม่ลำบากหรือ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ พวกเธอมาแต่ไหน

จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พวกข้าพระองค์มาจากชาติภูมิ คือ กบิลพัสดุ์สักกชนบท.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า มิตรัสถามถึงความไม่มีโรค ของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช

ของเจ้าสุกโกทนะ ของเจ้าสักโกทนะ ของเจ้าโธโตทนะ ของเจ้าอนิโตทนะ

ของพระนางอมิตาเทวี ของพระนางมหาปชาบดี ของวงศ์เจ้าศากยะทั้งสิ้นเลย

ที่แท้เมื่อตรัสถามภิกษุ ผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ด้วยตนเอง และผู้อื่นผู้ชักชวนในข้อปฏิบัตินั้น

ผู้สมบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติ จึงตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า โก นุ โข ภิกฺขเว เป็นต้น.

ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงไม่ตรัสถามความไม่มีโรค

ของพระเจ้าสุทโธทนะเป็นต้น ตรัสถามเฉพาะภิกษุเห็นปานนั้นเท่านั้น.

เพราะเป็นที่รัก.

จริงอยู่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาผู้ปฏิบัติ

ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบพอพระทัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

เพราะเหตุไร.

เพราะทรงเป็นผู้หนักในธรรม.

จริงอยู่ พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม.

ก็ภาวะที่พระตถาคตทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้หนักในธรรมนั้น

พึงทราบ โดยอัธยาศัยที่เกิด ณ โคนแห่งต้นอชปาลนิโครธนี้ว่า

ผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงอยู่เป็นทุกข์.

จริงอยู่ เพราะความเป็นผู้หนักในธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการต้อนรับ

ในวันออกบวชของพระมหากัสสปเถระ ได้เสด็จไปตลอดหนทางประมาณ ๓ คาวุต.

เสด็จเดินทางเกิน ๓๐๐ โยชน์ แสดงธรรมที่ฝั่งแม่น้ำคงคา

สถาปนาพระเจ้ามหากักปินะ พร้อมบริษัทไว้ในพระอรหัต.

ภายหลังภัตรครั้งหนึ่ง เสร็จเดินทาง ๔๕ โยชน์ ตรัสธรรมตลอด ๓ ยาม

ณ ที่อยู่ของช่างหม้อ ทรงสถาปนา ปุกกุสาติกุลบุตร ไว้ในอนาคามีผล.

เสด็จไปตลอดทาง ๒,๐๐๐ โยชน์ ทรงอนุเคราะห์สามเณรที่อยู่ป่า.

เสด็จไปตลอดทาง ๖๐ โยชน์ แสดงธรรมโปรดพระขทิวรนิยเถระ.

ทรงทราบว่า พระอนุรุทธเถระนั่งอยู่ ที่ปาจีนวังสทายวัน ตรึกถึงมหาปุริสวิตก

แล้วเหาะไปในที่นั้น และเสด็จลงข้างหน้าของพระเถระประทานสาธุการ.

ให้ปูเสนาสนะที่คันธกุฏีเดียวกัน สำหรับพระกุฏีกัณณโสณเถระ

ในเวลาใกล้รุ่ง เชื้อเชิญแสดงธรรม ในเวลาจบสรภัญญะได้ประทานสาธุการ.

เสด็จเดินทาง ๓ คาวุต ตรัสอานิสงส์สามัคคีรส ณ โคสิงคสาลวันที่อยู่ของกุลบุตร ๓ คน.

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ

เกิดความสนิทสนมว่า พระอริยสาวกผู้นี้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล

เสด็จไปที่อยู่ของนายช่างหม้อ ชื่อว่า ฆฎิการะ รับอามิสด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เสวย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เมื่อจวนเข้าพรรษา

ภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จออกจาริกจากพระเชตวัน.

พระเจ้าโกศลมหาราช และอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น ไม่อาจจะทำให้เสด็จกลับได้.

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กลับมาบ้าน แล้วก็นั่งเสียใจ.

ทาสีชื่อว่า ปุณณา กล่าวกะอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า นายเสียใจหรือ.

อนาถบิณฑิกเศรษฐีตอบว่า เออว่า ข้าไม่อาจจะทำให้พระศาสดาเสด็จกลับได้

เมื่อเป็นอย่างนั้น ข้าก็คิดว่า ข้าก็คงไม่ได้ฟังธรรมถวายทานตามประสงค์ ตลอด ๓ เดือนนี้.

นางปุณณาทาสี กล่าวว่า นาย ฉันจะนำพระศาสดากลับมาเอง.

เศรษฐีพูดว่า ถ้าเจ้าสามารถนำพระศาสดากลับมาได้ เจ้าก็จะเป็นไทแก่ตัว.

นางไปหมอบแทบเบื้องพระยุคลบาทของพระทศพล ทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ปุณณา เจ้าเป็นคนอาศัยเขาเลี้ยงชีพ จักทำอะไรแก่เราได้.

นางกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ข้าพระองค์ไม่มีไทยธรรมดอก แม้พระองค์ก็ทรงทราบ

แต่เพราะพระองค์เสด็จกลับเป็นเหตุ ข้าพระองค์จักตั้งอยู่ในสรณะ ๓ ศีล ๕.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสาธุการว่า ดีละ ปุณณา แล้วเสด็จกลับเข้าสู่พระเชตวันนั้นแล.

เรื่องนี้ปรากฏจริงขึ้นแล้ว.

เศรษฐีฟังแล้วคิดว่า เขาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับเพราะนางปุณณา

แล้วให้นางปุณณาเป็นไทแล้วตั้งไว้ในฐานะเป็นธิดา.

นางขอบวชแล้วก็บวช

ครั้นแล้วก็เริ่มวิปัสสนา. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า

นางเริ่มวิปัสสนาแล้ว ทรงเปล่งโอภาสและตรัสคาถานี้ว่า

ปุณฺเณ ปูเรสิ สทฺธมฺมํ จนฺโท ปณฺณรโส ยถา

ปริปุณฺณาย ปญฺญาย ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสสิ

ดูก่อนปุณณา เจ้าบำเพ็ญพระสัทธรรมให้เต็ม

เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ

จักกระทำที่สุดทุกข์ด้วยปัญญาที่บริบูรณ์ได้.

เมื่อจบคาถา นางก็บรรลุพระอรหัตได้เป็นพระสาวิกา ผู้มีชื่อเสียง.

พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรมด้วยประการฉะนี้.

เมื่อพระนันทเถระ แสดงธรรมอยู่ในโรงฉัน พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่นำอะไรไป

ประทับยืนฟังธรรมกถาตลอด ๓ ยาม เมื่อจบเทศนา ได้ประทานสาธุการ.

พระเถระ มาถวายบังคม ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระองค์มาเวลาไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมื่อเธอพอเริ่มสูตร.

ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงทำกิจที่ทำได้ยาก ทรงเป็นพระพุทธเจ้าสุขุมาลชาติ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นันทะ

ถ้าเธอพึงอาจแสดงอยู่ได้ถึงกัปป์ เราก็จะยืนฟังอยู่ตลอดกัปป์.

พระตถาคตทั้งหลายหนักในธรรมอย่างนี้

ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ย่อมเป็นที่รักของพระตถาคตเหล่านั้น

เพราะเป็นผู้หนักในธรรม เพราะฉะนั้น จึงตรัสถามผู้ปฏิบัติทั้งหลาย.


  ความคิดเห็นที่ 1  
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 9 ธ.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 53

ข้อความบางตอนจาก ปฐมอุรุเวลสูตร

พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดที่ล่วงไป แล้วก็ดี พระพุทธเจ่าเหล่าใดที่ยังไม่มาถึง ก็ดี พระสัมพุธเจ้าพระองค์ใดผู้ยังความ โศกของชนเป็นอันมาก ให้เสื่อมหายใน ปัจจุบันนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้นเป็น ผู้ทรงเคารพพระสัทธรรมแล้ว ทรงเคารพ พระสัทธรรมอยู่ และจักทรงเคารพพระ- สัทธรรม นี่เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย.

เพราะเหตุนั้นแล ผู้รักตน จำนง ความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัท- ธรรมเถิด.


ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 10 ธ.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แช่มชื่น
วันที่ 10 ธ.ค. 2550

ผู้ที่จะเป็นผู้ที่หนักในธรรมได้ ต้องเป็นผู้เริ่มจากการฟังพระธรรมจนเกิดปัญญาของตนเองครับซึ่งถ้าหากว่ายังไม่ได้บรรลุพระอริยบุคคล ก็ย่อมจะต้องเจริญความหนักแน่นในธรรมต่อไปครับขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ