การเข้าสมาธิ เป็นการเข้าถึงธรรมหรือเปล่า (๑)

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6539
อ่าน  1,862

มีบางคนชอบบังคับให้ผู้อื่นเข้าสมาธิ ถ้าใครไม่สนใจก็โกรธหรือไม่พอใจ นั่นแสดงว่า คนนั้นยังเข้าไม่ถึงธรรมหรือเปล่า และการเข้าสมาธิเป็นการเข้าถึงธรรมหรือเปล่า

คำว่า ธรรม หมายถึงสภาพที่มีจริง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ทุกสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม ธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะต่างกัน บางธรรมก็เป็นรูปธรรม บางธรรมก็เป็นนามธรรม ท่านที่ไปงานศพ ย่อมจะได้ยินพระสวดพระอภิธรรมว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา กุสลาธัมมา คือกุศลธรรมทั้งหลาย อกุสลาธัมมา คืออกุศลธรรมทั้งหลาย อพยากตาธัมมา คือธรรมที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศลทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่ามีธรรมหลายประเภท

โดยนัยที่ถามนี้ก็คงจะหมายถึงกุศลธรรม กุศลธรรมมีหลายประเภทหลายขั้น ขั้นของทาน ก็เป็นการปฏิบัติธรรมทางหนึ่ง ที่ขัดเกลาความตระหนี่ ความติดข้องในวัตถุสิ่งของ โดยสามารถบริจาคให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ผู้ที่มีอุปนิสัยในการให้ทานนั้น ถึงแม้ว่าจะมีธุระยุ่งอย่างไร ก็ปลีกเวลาใส่บาตรตอนเช้าบ้าง หรือให้ทานทรัพย์สินสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นบ้าง บริจาคเป็นสาธารณกุศลต่างๆ บ้าง ท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่เข้าถึงธรรมปฏิบัติในขั้นของทาน เป็นการเจริญอุปนิสัยปัจจัยที่ขัดเกลาความตระหนี่ แต่ยังไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคล

สำหรับทางปฏิบัติธรรมอีกขั้นหนึ่ง คือการรักษาศีล งดเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา ซึ่งก็คงจะรู้ๆ กันอยู่บ้างแล้ว เมื่อตรวจสอบจิตใจของตนเองก็จะรู้ได้ว่าตนเองปฏิบัติธรรม และเข้าถึงธรรมขั้นไหน นอกจากกุศลขั้นทานและศีลแล้วก็ยังมีกุศลขั้นภาวนา

ภาวนา คือการอบรมจิตใจ เพราะโอกาสที่จะให้ทานวันหนึ่งๆ ก็คงไม่บ่อย และไม่ใช่ว่าจะมีทรัพย์สินสิ่งของที่จะให้ใครได้เรื่อยๆ การรักษาศีล การวิรัติทุจริตต่างๆ ก็กระทำได้เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะให้วิรัติ แต่การอบรมจิตใจ ขัดเกลากิเลสนั้น สามารถจะทำได้ทุกวัน แล้วแต่ขั้น และประเภทของการขัดเกลาอบรมจิตใจ

ถ้าเป็นสมถภาวนา ก็เป็นการอบรมจิตใจให้สงบจากอกุศล แม้เพียงชั่วครู่ชั่วขณะ ก็ยังดีกว่าปล่อยจิตใจให้หมกมุ่นสะสมโลภะ โทสะ โมหะ หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ อย่างท่านที่ไม่ชอบความโกรธ ก็อาจจะหาวิธีระงับโดยใช้วิธีทำให้เกิดสมาธิ บางท่านก็ระลึกถึงพระพุทธคุณสั้นๆ ว่า พุทโธๆ การที่จิตจะสงบได้นั้น จะต้องระลึกถึงพระพุทธคุณนานาประการของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อระลึกถึงคุณความดีของผู้เป็นเลิศที่สุดในโลก จิตใจก็ย่อมสงบระงับ และน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะทำได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่กาลที่ระลึกถึงพระพุทธคุณประการต่างๆ แต่อยากจะให้หายโกรธเร็วๆ บางท่านก็นึกถึง คำว่า พุทโธๆ อาจจะสัก ๒๐ ครั้ง ขณะที่กำลังนึกถึง "พุทโธ" อยู่ ความโกรธก็ไม่มีโอกาสเกิด ขณะนั้นก็ทำให้ความโกรธระงับไปชั่วขณะ แต่ไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท หนทางปฏิบัติที่ดับกิเลสนั้น เป็นหนทางปฏิบัติที่ทุกท่านสามารถอบรมเจริญได้ เป็นกุศลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อรู้แจ้งหนทางปฏิบัตินี้ เพื่ออนุเคราะห์สัตวโลกให้อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคลดับกิเลสได้หมดสิ้น เช่นเดียวกับพระองค์ด้วย

สมัยนี้หนทางปฏิบัตินี้ก็ยังไม่สูญสิ้นไป พระธรรมวินัยที่พระผู้มีภาคทรงแสดงไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์นั้น ยังมีอยู่ครบสมบูรณ์ ซึ่งผู้ศึกษาสามารถพิสูจน์พระธรรมได้ สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ แม้ในขณะนี้หนทางปฏิบัตินั้น คือวิปัสสนาภาวนา

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

การเข้าสมาธิ เป็นการเข้าถึงธรรมหรือเปล่า (๑)

การเข้าสมาธิ เป็นการเข้าถึงธรรมหรือเปล่า (๒)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ลุงหมาน
วันที่ 28 พ.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
isme404
วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 16 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wutcho
วันที่ 25 เม.ย. 2565

อนุโมทนาสำหรับบทความครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ