พระมหาโมคคัลลานะไปหาพระสารีบุตร [สารีปุตตสูตร]

 
สารธรรม
วันที่  27 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6713
อ่าน  1,900

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 398

๘. สารีปุตตสูตร

ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานะไปหาพระสารีบุตร

[๑๖๘] ครั้งนั้น พระมหาโมคคัลลานะ ไปหาพระสารีบุตร ได้ปราศรัยชื่นชมกับพระสารีบุตร ฯลฯ ได้ถามพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร ปฏิปทา ๔ นี้ คือทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ฯลฯ สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา จิตของท่านสิ้นความยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฏิปทาอย่างไหน ในปฎิปทา ๔ นี้พระสารีบุตรตอบว่า อาวุโสโมคคัลลานะ ปฎิปทา ๔ นี้ คือ ทุกฺขาปฏิปทาทนฺธาภิญฺญา ฯลฯ สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา จิตของข้าพเจ้าสิ้นความยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัย สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา

จบสารีบุตตสูตรที่ ๘


อรรถกถาสารีปุตตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสารีปุตตสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

มรรค ๓ เบื้องต่ำ ของพระธรรมเสนาบดีเถระได้เป็น สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา (ปฏิบัติง่าย รู้ช้า) อรหัตตมรรคเป็น สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา (ปฏิบัติง่าย รู้เร็ว) เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระ จึงกล่าวว่า ยายํ ปฏิปทา สุขาขิปฺปาภิญฺญา ดังนี้ เป็นอาทิ. ก็ในสองสูตรเหล่านี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวปฏิปทาคละกัน .

จบอรรถกถาสารีปุตตสูตรที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 28 ธ.ค. 2550

ขออภัยด้วยค่ะ อ่านยากไปค่ะ และเข้าใจยากด้วย ช่วยอธิบายด้วยค่ะ อยากให้นำพระสูตร ที่ง่ายๆ มาศึกษาร่วมกันดีกว่าค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สารธรรม
วันที่ 28 ธ.ค. 2550

ขออภัยครับ ข้อความอธิบายในพระสูตรค่อนข้างยาวและยากจริงๆ ที่จะอธิบาย แต่อ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงได้นำเสนอครับ การบรรลุธรรมของพระอัครสาวกทั้งสองขณะที่ท่านทั้งสองได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็น สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา (ปฏิบัติง่าย รู้ช้า) เหมือนกัน แต่การบรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านทั้งสองบรรลุด้วยปฏิปทาต่างกันดังนี้ครับ

โดย พระสารีบุตร เป็น สุขาปฏิปทาขิปฺปาภิญฺญา (ปฏิบัติง่าย รู้เร็ว) แต่ พระมหาโมคคัลลานะ เป็น ทุกฺขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา (ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว)
ใน วิตถารสูตร มีข้อความอธิบายว่า... ปฏิบัติง่าย รู้เร็ว คือ เป็นผู้ที่โลภะ โทสะ โมหะ ไม่แก่กล้า จึงไม่ค่อยทุกข์ใจเพราะกิเลสรวมทั้งยังเป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า จึงสิ้นอาสวะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เร็ว ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว คือ เป็นผู้ที่โลภะ โทสะ โมหะ กล้า จึงได้รับทุกข์ใจเพราะกิเลสเนืองๆ แต่เป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า จึงสิ้นอาสวะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เร็ว

ข้อความอุปมาใน วิตถารสูตร ประพันธ์ไว้ได้ไพเราะมากครับ ขอเชิญอ่าน...

อนึ่ง ปฏิปทาเหล่านี้จะพึงแจ่มแจ้วก็ด้วยข้ออุปมาเปรียบด้วย " คนหาโค ".โค ๔ ตัว ของชายคนหนึ่งหนีเข้าไปในดง เขาหาโคเหล่านั้นในป่าซึ่งมีหนามหนาทึบ ทางที่ไปก็ไปด้วยความยากลำบาก โคซ่อนอยู่ในที่อันหนาทึบเช่นนั้น ก็เห็นด้วยความยากลำบาก.
ชายคนหนึ่งไปด้วยความลำบาก โคยืนอยู่ในที่แจ้งก็เห็นได้ฉับพลันทันที.
อีกคนหนึ่งไปทางโล่งไม่หนาทึบ โคซ่อนอยู่เสียในที่หนาทึบก็เห็นด้วยความยากลำบาก.
อีกคนหนึ่งไปสะดวกตามทางโล่ง โคยืนอยู่ในที่โล่งก็เห็นได้ฉับพลัน

ในข้ออุปมานั้น.... อริยมรรค ๔ พึงเห็นดุจ โค ๔ ตัว พระโยคาวจร ดุจ ชายหาโค การปฏิบัติลำบากในเบื้องต้นของภิกษุผู้ลำบากในญาณ ๕ ดุจ ไปทางหนาทึบด้วยความยากลำบาก การเห็นอริยมรรคในเบื้องปลายของผู้เหนื่อยหน่ายในญาณ ๙ ดุจการเห็นโคที่ซ่อนอยู่ในที่หนาทึบด้วยความยาก. พึงประกอบแม้ข้ออุปมาที่เหลือโดยอุบายนี้ (ญาน ๕ คือ ตั้งแต่อุททยัพพยญาน จนถึง อาทีนวญาน) (ญาน ๙ คือ ตั้งแต่อุททยัพพยญาน จนถึง โคตรภูญาน)

จะเห็นได้ว่า วิปัสสนาญาน ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย สำหรับผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้าอย่างพระ-สารีบุตร ที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ขณะที่นั่งฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ แต่สิ่งที่ยากกว่า คือ การสั่งสมเหตุ คือ สาวกบารมี ที่ต้องใช้เวลาถึง ๑ อสงขัย แสนกัปป์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
udomjit
วันที่ 16 ม.ค. 2551
อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 2 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มิ.ย. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ