ขอเรียนสอบถามข้อมูลในการศึกษาพระธรรมจากท่านผู้รู้ครับ
จากหัวข้อ ธรรมเตือนใจ ข้อ 00108 อสัปปุริสทาน ๕ ประการ ในประโยคที่ว่า "ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑" และข้อ 00109 สัปปุริสทาน ๕ ประการ ในประโยคที่ว่า "เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑" กรุณาอธิบายความหมายด้วยครับว่า หมายความว่าอะไร คำว่าเห็นผลหมายถึงรู้ว่าจะได้รับผลอะไรจากการให้ทานใช่หรือไม่ เพราะ ถ้าเราทำทานเนื่องจากว่า "เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑" จะเป็นโลภะไม่ใช่หรือครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
"เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑" หมายความว่า เชื่อกรรมและผลของกรรม ว่าการให้มีผล คือมีวิบาก เหตุเป็นกุศล ผลก็ต้องมี เป็นกุศลวิบากและเป็นปัจจัยในภพต่อไปนี่คือ เห็นผลว่ามี ทำแล้วย่อมมีผลคือกุศลวิบากซึ่งเป็นปัญญา ดังนั้นการที่มีความรู้ว่าทานที่ให้แล้วมีผล จึงให้เพราะเชื่อกรรมและผลของกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นโลภะแต่เกิดจากปัญญาที่เป็นความเห็นถูกในการเชื่อกรรมและผลของกรรมครับ (กัมมัสสกตาปัญญา) เช่น ขณะก่อนให้ ก็รู้ว่าทานที่ให้แล้วมีผล ก็เป็นปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรมแล้วจึงให้ ส่วนในทางตรงกันข้ามโลภะเกิดสลับได้ ขณะที่มีความเข้าใจว่าทานที่ให้แล้วมีผลเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เกิดโลภะเพื่อจะได้ผลของกุศลได้จึงทำ แต่ในพระสูตรนี้ แสดงถึงปัญญาที่เชื่อกรรม และผลของกรรม จึงให้ครับ ขออนุโมทนา
ดังข้อความในพระไตรปิฎก
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่... ว่าด้วยทานของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษ [อสัปปุริสทานสูตร]
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๑๓
บทว่า อาคมนทิฏฺฐิโก ได้แก่ เชื่อกรรมและวิบากว่าจักเป็นปัจจัยแห่งภพในอนาคตแล้วให้ ดังนี้.
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...อธิบายทานมยปัญญา [วิภังค์]
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์