สมาธิในอินทรีย์ ๕
ถ้าเป็นสมาธิในอินทรีย์ ๕ ซึ่งจัดอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการแล้ว ต้องเกิดร่วมกับโสภณธรรม ที่ประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานเพราะว่า โพธิปักขิยธรรม เป็นธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายในการตรัสรู้อริยสัจจ ๔ ต่างกับสมาธิที่เกิดกับจิต ที่เป็นกุศลขั้นอื่นๆ ต่างจากสมาธิที่เกิดกับอกุศลจิต ต่างจากสมาธิที่เกิดกับ วิบากจิต (เว้นโลกุตตรกุศลวิบาก) เพราะไม่ทำให้ออกจากวัฏฏะ และไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สมาธิในอินทรีย์ ๕ ต่างจากสมาธิทั่วๆ ไปอย่างไรครับ
สมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวงทุกประเภท ดังนั้น สมาธินั้นจึงเป็นทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ซึ่งสมาธิในอินทรีย์ ๕ เป็นสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นการอบรมปัญญา ซึ่งบุคคลที่อบรมอินทรีย์ ๕ (วิปัสสนาภาวนา) ย่อมบรรลุมรรผลได้ จึงเป็นฝักฝ่าย ในการอบรมเจริญวิปัสสนา ส่วนสมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิก ก็เกิดกับจิตที่เป็นกุศลระดับอื่นได้ เช่น ขั้นทาน ขั้นศีล แต่ไม่เป็นสมาธินทรีย์ในอินทรีย์ ๕ เพราะไม่เป็นไปเพื่อการอบรมปัญญาซึ่งในระดับสูงสุด สมาธิหรือสมาธินทรีย์ในอินทรีย์ ๕ ก็ย่อมตั้งมั่นหน่วงเหนี่ยวคือ มีนิพพานเป็นอารมณ์ครับ นี่คือความต่างระหว่างสมาธิในอินทรีย์ ๕ กับสมาธิทั่วไปซึ่งสมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดขึ้น ก็ทำหน้าที่เป็นใหญ่ (อินทรีย์) ของสภาพธรรมของเขาคือตั้งมั่น เพียงแต่เว้นจิตบางดวง ที่ไม่เป็นสมาธินทรีย์ และแม้เป็นสมาธินทรีย์ก็ไม่เป็นสมาธินทรีย์ในอินทรีย์ ๕
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๑
ข้อความบางตอนจาก...
ปฐมวิภังคสูตร
[๘๖๒] ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำซึ่งนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิตนี้เรียกว่า สมาธินทรีย์.
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ สมาธินทรีย์เป็นไฉน [ทุติยวิภังคสูตร]
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์