เรียน ท่าน spob ..จาก suwit02

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ก.พ. 2551
หมายเลข  7632
อ่าน  3,154

คุณ suwit02 ส่งข้อความนี้ในกระทู้ 5668

เรียน ท่าน spob ผมเป็นอุบาสก มิได้ศึกษาบาลีไวยยากรณ์ แต่ผมได้ฟังว่า ปณามคาถาของคัมภีร์ ปทรูปสิทธิ, อภิธานนัปปทีปิกา, วุตโตทัย และสุโพธาลังการ ๔ คัมภีร์นี้ไพเราะทั้งอรรถและพยัญชนะ ผมได้ทราบว่า ท่านแปล คัมภีร์สารัตถมัญชุสาได้ จึงอนุมานว่า ท่านอาจมีคัมภีร์เหล่านี้อยู่ใกล้มือ หากไม่เป็นการลำบาก ขอท่านได้โปรดแสดงปณามคาถาเหล่านั้น พร้อมด้วยคำแปล โดยอรรถ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทแก่ผมด้วย ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
spob
วันที่ 3 มี.ค. 2551

สวัสดีครับ คุณsuwit02

ก่อนอื่น ผมใคร่กราบเรียน คุณ suwit02 ตรงๆ เลยนะครับว่า กระผมนั้นเป็นมือใหม่หัดแปลบาลีจริงๆ และการที่ได้นำข้อความในคัมภีร์ฏีกามาแปลขึ้นไว้ในเว็บไซส์บ้านธรรมะ ก็มีจุดประสงค์ เพียงเพื่อการมีส่วนร่วม ในการประกอบกุศลในส่วนแห่งธัมมสวนมัยกับ ม.ศ.พ.เท่านั้นครับ มิได้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อแสดงความเป็นผู้ชำนาญภาษาบาลีแต่อย่างใด

เนื่องจากว่า การแปลของกระผม มิใช่แปลโดยอรรถ อีกทั้งมิได้แปลโดยพยัญชนะแต่เป็นการแปลในลักษณะกึ่งถอดความ ดังนั้น คำแปลจึงไม่ใคร่จะตรงกับศัพท์ภาษาบาลีเท่าใดนัก ทั้งนี้ โดยความคิดว่า คำศัพท์บาลีหลายๆ ศัพท์ ท่านใช้ในความหมายอย่างเดียวกันมีมาก ดังนั้น เมื่อแปลออกแล้ว ก็คงมีความหมายอย่างเดียวในภาษาไทย ก็เลือกเอาความหมายที่ตรงกับในภาษาไทยเป็นเกณฑ์ เช่น ในคาถานี้ คำว่า อุทโย แปลตรงศัพท์ว่า ตั้งขึ้น,สะสมขึ้น แต่เมื่อเอาเฉพาะใจความ ก็คงได้แก่ ความมีมากขึ้น ดังนั้น ผมจึงใช้คำว่า เจริญขึ้นเพื่อความเหมาะสมในภาษาไทย ส่วนคำบาลีนั้น ก็จัดอยู่ในกลุ่มของคำว่าเจริญ เช่น วฑฺฒน,ภาวนา ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง กระผมคิดว่า คุณ suwit02 นี้ คงเป็นอุบาสกท่านหนึ่ง ที่มีความชำนาญในคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นแล้ว คงจะไม่สามารถเอ่ยชื่อคัมภีร์ไวยากรณ์ที่ขึ้นชื่อทั้ง ๔ คัมภีร์ได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ กระผมเองคงต้องใคร่ขอโอกาส คุณ suwit02 ช่วยตรวจทานแก้ไขคำแปล ที่แสดงออกถึงความเป็นผู้ใหม่ในวงการของกระผมด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ

Spob

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
spob
วันที่ 3 มี.ค. 2551

ฯ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

องฺคุตฺตรนิกาเย

เอกกนิปาต-ฎีกา

คนฺถารมฺภกถา

อนนฺตญาณํ กรุณานิเกตํ,

นมามิ นาถํ ชิตปญฺจมารํ;

ธมฺมํ วิสุทฺธํ ภวนาสเหตุ ํ,

สงฺฆญฺจ เสฎฺฐํ หตสพฺพปาปํฯ

กสฺสปํ ตํ มหาเถรํ, สงฺฆสฺส ปริณายกํ;

ทีปสฺมิ ํ ตมฺพปณฺณิมฺหิ, สาสโนทยการกํฯ

ปฎิปตฺติปราธีนํ, สทารญฺญนิวาสินํ;

ปากฎํ คคเน จนฺท- มณฺฑลํ วิย สาสเนฯ

สงฺฆสฺส ปิตรํ วนฺเท, วินเย สุวิสารทํ;

ยํ นิสฺสาย วสนฺโตหํ, วุฑฺฒิปฺปตฺโตสฺมิ สาสเนฯ

อนุเถรํ มหาปญฺญํ, สุเมธํ สุติวิสฺสุตํ;

อวิขณฺฑิตสีลาทิ- ปริสุทฺธคุโณทยํฯ

พหุสฺสุตํ สติมนฺตํ, ทนฺตํ สนฺตํ สมาหิตํ;

นมามิ สิรสา ธีรํ, ครุ ํ เม คณวาจกํฯ

อาคตาคมตกฺเกสุ , สทฺทสตฺถนยญฺญุสุ;

ยสฺสนฺเตวาสิภิกฺขูสุ, สาสนํ สุปฺปติฎฺฐิตํฯ

โย สีหฬินฺโท ธิติมา ยสสฺสี,

อุฬารปญฺโญ นิปุโณ กลาสุ;

ชาโต วิสุทฺเธ รวิโสมวํเส,

มหพฺพโล อพฺภุตวุตฺติเตโชฯ

ชิตฺวาริวคฺคํ อติทุปฺปสยฺหํ,

อนญฺญสาธารณวิกฺกเมน;

ปตฺตาภิเสโก ชินธมฺมเสวี,

อภิปฺปสนฺโน รตนตฺตยมฺหิฯ

จิรํ วิภินฺเน ชินสาสนสฺมิ ํ,

ปจฺจตฺถิเก สุฎฺฐุ วินิคฺคเหตฺวา;

สุธํว สามคฺคิรสํ ปสตฺถํ,

ปาเยสิ ภิกฺขู ปริสุทฺธสีเลฯ

กตฺวา วิหาเร วิปุเล จ รมฺเม,

ตตฺรปฺปิเตเนกสหสฺสสงฺเข;

ภิกฺขู อเสเส จตุปจฺจเยหิ,

สนฺตปฺปยนฺโต สุจิรํ อขณฺฑํฯ

สทฺธมฺมวุทฺธิ ํ อภิกงฺขมาโน,

สยมฺปิ ภิกฺขู อนุสาสยิตฺวา;

นิโยชยํ คนฺถวิปสฺสนาสุ,

อกาสิ วุทฺธิ ํ ชินสาสนสฺสฯ

เตนาหมจฺจนฺตมนุคฺคหีโต,

อนญฺญสาธารณสงฺคเหน;

ยสฺมา ปรกฺกนฺตภุชวฺหเยน,

อชฺเฌสิโต ภิกฺขุคณสฺส มชฺเฌฯ

ตสฺมา อนุตฺตานปทานมตฺถํ,

เสฎฺฐาย องฺคุตฺตรวณฺณนาย;

สนฺทสฺสยิสฺสํ สกลํ สุโพทฺธุ ํ,

นิสฺสาย ปุพฺพาจริยปฺปภาวํฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
spob
วันที่ 3 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นฯ

ฏีกาเอกกนิบาต ในอังคุตตรนิกาย

คาถาเริ่มพระคัมภีร์

ข้าพเจ้า (พระสารีบุตรเถระ) ขอถวายนมัสการพระโลกนาถเจ้า ผู้ทรงพระอนันตญาณมีพระกรุณาอันสม่ำเสมอ ทรงพิชิตมารห้าแล้วฯ นมัสการพระธรรมอันบริสุทธิ์เป็นเหตุทำลายภพ ฯ นมัสการพระสงฆ์ ผู้ประเสริฐ ขจัดบาปทั้งสิ้นแล้วฯ

กราบอภิวาทพระกัสสปมหาเถระสังฆปริณายก ผู้สร้างความเจริญแห่งพระศาสนาในลังกาทวีป แก่ภิกษุผู้มุ่งปฏิบัติ มีปกติอยู่ในป่าเป็นนิตย์ เป็นสังฆบิดรเชี่ยวชาญยิ่งในพระวินัย ปรากฏในพระศาสนาประหนึ่งว่าจันทมณฑลปรากฎในฟากฟ้าฉะนั้น

ข้าพเจ้าได้อาศัยพระอนุเถระองค์ใดแล้วถึงความเจริญในพระศาสนา, พระศาสนาเป็นอันตั้งมั่นดี ในภิกษุผู้รำลึกถึงพระบาลีที่อ้างอิงและรู้นัยแห่งคัมภีร์ไวยากรณ์ ผู้อันเตวาสิกของพระเถระรูปใด,

กราบนมัสการพระอนุเถระ มีนามว่า สุเมธเถระ นั้นผู้มีปัญญามาก มีชื่อเสียงรู้จักกันดี ผู้สะสมคุณอันหมดจดมีศีล เป็นต้น ไม่ขาด ทรงสุตะมาก มีสติฝึกตนดี มีกายสงบ จิตตั้งมั่น เป็นครูผู้คณวาจกะ (ครูผู้บอกปริยัติธรรมแก่หมู่คณะ) ของข้าพจ้า ด้วยเศียรเกล้าฯ

พระเจ้าปรักกมพาหุสีหลราช พระองค์ใด มีพระปัญญาทรงจำดี ทรงพระยศ มีพระปรีชากว้างไกล ทรงละเอียดละออ

[1] (ในราชกิจ) แม้เศษเสี้ยว, มีพระกำลังมาก พระเดชานุภาพเป็นไปน่าอัศจรรย์ เสด็จพระราชสมภพในพระราชวงศ์รวิโสมอันบริสุทธิ์ ครั้นทรงชัยต่อหมู่อริราชศัตรูที่ปราบปรามได้ยากยิ่ง ด้วยความกล้าหาญอันไม่เสมอเหมือนพระราชาอื่นๆ บรรลุพระราชาภิเษกแล้ว ทรงมีปกติอบรมในธรรมของพระชินเจ้า ทรงเลื่อมใสในพระรัตนตรัยยิ่งนักฯ ทรงกำราบพวกภิกษุผู้มีความเห็นผิด เป็นศัตรูในศาสนาของพระชินเจ้าดีแล้ว จึงทรงให้ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธ์ได้ดื่มรสสามัคคี ซึ่งประหนึ่งว่าสุธารส อันบัณฑิตสรรเสริญ ตลอดกาลนานฯ ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงสร้างพระวิหารที่กว้างใหญ่ น่ารื่นรมย์ มีสังข์

[2] ประดับจำนวนหลายพันในวิหารนั้น, ทรงทำนุบำรุงภิกษุสงฆ์ทั้งหมดด้วยปัจจัย ๔ มิได้ขาดตกบกพร่องสิ้นกาลช้านานฯ เมื่อทรงประสงค์ความเจริญแห่งพระสัทธรรมจึงทรงโอวาทพระภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เอง แล้วให้พากเพียรในคันถธุระและวิปัสสนาธุระได้ทรงสร้างความเจริญแก่พระศาสนาของพระชินเจ้าแล้วฯ ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ด้วยเครื่องราชานุเคราะห์ที่ไม่มีสิ่งอื่นเสมอได้ อย่างดียิ่งจากพระราชาพระองค์นั้นฯ ก็เพราะพระเจ้าปรักกมพาหุได้ทรงอาราธนาข้าพเจ้าในท่ามกลางคณะสงฆ์ ดังนั้น ข้าพเจ้าจักแสดงเนื้อความแห่งบทที่ลึกของอรรถกถาอังคุตตรนิกายอันประเสริฐ โดยอาศัยคัมภีร์ที่มา

[3] ของบุรพาจารย์ เพื่อความเข้าใจเนื้อความทั้งสิ้นได้ง่ายฯ

[1] ในฉบับพม่าเดิม ที่ไม่ใช่ฉบับฉัฏฐสังคายนาเป็น กุเลสุ ถ้าเอาปาฐะนี้ ต้องแปลว่า ผู้เป็นราชบุตรผู้ละเอียดอ่อนในราชตระกูล

[2] (ฝังมุก?)

[3] ปภาว แปลได้หลายนัย คือ อำนาจ, เหตุ, สิ่งอบรม สิ่งอันเป็นที่มีมาก่อน ในที่นี้จึงขอแปลว่า คัมภีร์ที่มา คืออาศัยคัมภีร์ของบุรพจารย์เป็นที่มา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
spob
วันที่ 4 มี.ค. 2551

อ้างอิงจาก : หัวข้อ โดย บ้านธัมมะ

คุณ suwit02 ส่งข้อความนี้ในกระทู้ 5668

เรียน ท่าน spob ผมเป็นอุบาสก มิได้ศึกษาบาลีไวยยากรณ์ แต่ผมได้ฟังว่าปณามคาถาของคัมภีร์ ปทรูปสิทธิ, อภิธานนัปปทีปิกา, วุตโตทัย และสุโพธาลังการ ๔ คัมภีร์นี้ ไพเราะทั้งอรรถและพยัญชนะ ผมได้ทราบว่า ท่านแปล คัมภีร์สารัตถมัญชุสาได้ จึงอนุมานว่า ท่านอาจมีคัมภีร์เหล่านี้อยู่ใกล้มือ หากไม่เป็นการลำบาก ขอท่านได้โปรดแสดง ปณามคาถาเหล่านั้น พร้อมด้วยคำแปล โดยอรรถ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทแก่ผมด้วย ขอบคุณครับ

เรียนท่าน สุวิทย์

กระผมขออภัยครับ ที่อ่านกระทู้ไม่ละเอียดครับ จึงแปลปณามคาถาของคัมภีร์สารัตถมัญชุสาเท่านั้น ความจริงแล้ว ความประสงค์ของท่าน คือ ปณามคาถาของ ๔ คัมภีร์เป็นต้นว่า ปทรูปสิทธิ ใช่ไหมครับ ถ้าเป็นเช่นนั้น จะได้ทะยอยนำมาแสดงให้อ่านครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
spob
วันที่ 4 มี.ค. 2551

ปทรูปสิทฺธิ

คนฺถารมฺภ

วิสุทฺธสทฺธมฺมสหสฺสทีธิติ ํ ,

สุพุทฺธสโมฺพธิยุคนฺธโรทิตํ;

ติพุทฺธเขตฺเตกทิวากรํ ชินํ,

สธมฺมสงฺฆํ สิรสา’ภิวนฺทิยฯ

กจฺจายนญฺจาจริยํ นมิตฺวา,

นิสฺสาย กจฺจายนวณฺณนาทิ ํ;

พาลปฺปโพธตฺถมุชุ ํ กริสฺสํ,

พฺยตฺตํ สุกณฺฑํ ปทรูปสิทฺธิ ํ ฯ

คัมภีร์ปทรูปสิทธิปกรณ์

คำเริ่มต้นแห่งคัมภีร์

ข้าพเจ้า ขออภิวาทพระชินเจ้า ผู้เป็นพระอาทิตย์ดวงเดียวในพุทธเขตทั้งสาม ผู้มีพระรัศมีหลายพันคือ พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ ผู้เสด็จเหนือยอดเขายุคันธรคือ พระสัมโพธิญาณที่พระองค์ได้ตรัสรู้ดีแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้าฯ

และขอน้อมไหว้พระอาจารย์กัจจายนะ แล้วจักอาศัยคัมภีร์กัจจายนะและคำอธิบายของกัจจายนะ เป็นต้น รจนาปทรูปสิทธิปกรณ์ให้ตรงประเด็นชัดเจน จัดแบ่งอย่างดี เพื่อความรู้ของเยาวชนทั้งหลาย ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
spob
วันที่ 4 มี.ค. 2551

อภิธานปฺปทีปิกา

พุทฺธปฺปณาโม

ตถาคโต โย กรุณากโร กโร,

ปยาต’โมสชฺช สุขปฺปทํ ปทํ;

อกา ปรตฺถํ กลิสมฺภเว ภเว,

นมามิ ตํ เกวลทุกฺกรํ กรํฯ

ธมฺมปฺปณาโม

อปูชยุ ํ ยํ มุนิกุญฺชรา ชรา,

รุชาทิมุตฺตา ยหิมุตฺตเร ตเร;

ฐิตา ติวฎฺฎมฺพุนิธิ ํ นรา นรา,

ตริ ํสุ ตํ ธมฺมมฆปฺปหํ ปหํฯ

สงฺฆปฺปณาโม

คตํ มุนินฺโท’รสสูนุตํ นุตํ,

สุปุญฺญเขตฺตํ ภุวเน สุตํ สุตํ;

คณมฺปิ ปาณีกตสํวรํ วรํ,

สทา คุโณเฆน นิรนฺตร’นฺตรํฯ

ปฎิญฺญา

นามลิงฺเคสุ โกสลฺล, มตฺถนิจฺฉยการณํ;

ยโต มหพฺพลํ พุทฺธ, วจเน ปาฎวตฺถินํฯ

นามลิงฺคานฺย’โต พุทฺธ, ภาสิตสฺสา’รหานฺย’หํ;

ทสฺสยนฺโต ปกาเสสฺส, มภิธานปฺปทีปิกํฯ

อภิธานัปปทีปิกา

พุทธปณาม

คาถานมัสการพระพุทธเจ้า

พระตถาคตเจ้า พระองค์ใด ผู้ทรงเป็นที่ตั้งแห่งพระกรุณา ทรงสละนิพพาน อันเป็นเหตุแห่งความสุขซึ่งมาใกล้พระหัตถ์ของพระองค์ ทรงกระทำพุทธกรณกิจที่ทำได้ยากยิ่ง ในสงสารภพอันเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ได้ทรงกระทำประโยชน์ของบุคคลอื่น,ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น

ธัมมปณาม

คาถานมัสการพระธรรม

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลาย ผู้ทรงพ้นจากทุกข์ภัย มีความแก่และความเจ็บไข้ เป็นต้น ทรงบูชาพระธรรมใด, มนุษย์และเทวดา ผู้ดำรงอยู่บนเรือสำเภาคือ พระธรรมใด อันประเสริฐ ข้ามมหาสมุทร์คือ ไตรวัฏฏ์ได้, ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการ แม้พระธรรมนั้น อันสละบาปฯ

สังฆปณาม

คาถานมัสการพระสงฆ์

ข้าพเจ้า ขอถวายนมัสการ แม้หมู่พระอริยสงฆ์ นั้น ผู้ถึงความเป็นบุตรแท้อันเกิดแต่พระอุระของพระจอมมุนี ผู้อันเทวดาและมนุษย์สรรเสริญแล้ว ผู้เป็นเนื้อนาบุญแห่งผู้ปรารถนาบุญ ผู้มีชื่อเสียงในภพทั้งหลาย ผู้มีความสำรวมอันกระทำเพียงดังชีวิต ผู้ประเสริฐ ผู้มีจิตบริบูรณ์ด้วยหมู่แห่งคุณมีศีล เป็นต้น ในกาลทุกเมื่อฯ

ปฏิญญา

คำรับรองในการแต่งพระคัมภีร์

เพราะเหตุที่ความเป็นผู้เฉียบแหลมในนามและลิงค์ อันเป็นเหตุแห่งการวินิจฉัยความหมาย นับเป็นหลักการที่สำคัญมาก ของผู้ปรารถนาความเป็นผู้ฉลาดในพระพุทธวจนะ ดังนั้น ข้าพเจ้า เมื่อแสดงนามและลิงค์อันควรต่อพระบาลีพุทธภาษิต จักรจนาคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
spob
วันที่ 4 มี.ค. 2551

วุตฺโตทยํ

สญฺญาปริภาสานิทฺเทส-ปฐมปริจฺเฉท

รตนตฺตยปฺปณาม

นมตฺถุ ชนสนฺตาน, ตมสนฺตาน เภทิโน;

ธมฺมุชฺชลนฺต รุจิโน, มุนิโนฺททาต โรจิโนฯ

นิมิตฺต

ปิงฺคลาจริยาทีหิ, ฉนฺทํ ย มุทิตํ ปุรา;

สุทฺธมาคธิกานํ ตํ, น สาเธติ ยถิจฺฉิตํ ฯ

คนฺถปริมาณ

ตโต มาคธภาสาย, มตฺตาวณฺณวิเภทนํ;

ลกฺขฺย ลกฺขณ สํยุตฺตํ, ปสนฺนตฺถปทกฺกมํฯ

อภิธานาทิ

อิทํ วุตฺโตทยํ นาม, โลกิยจฺฉนฺทนิสฺสิตํ;

อารภิสฺสมหํ ทานิ, เตสํ สุขวิพุทฺธิยาฯ

วุตโตทัย

ปริจเฉทที่ ๑

สัญญาปริภาสานิทเทส

ว่าด้วยชื่อและกฏทั่วไป

คาถานมัสการพระรัตนตรัย

ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระจันทร์ อันมีรัศมีผุดผ่องคือ พระจอมมุนี มีรังสีสว่างไสว คือพระธรรม ทรงกำจัดความมืดทั้งหลายในกระแสจิตของปวงชนโดยปกติฯ

เหตุในการรจนาคัมภีร์

คัมภีร์ฉันท์ที่พระปิงคลาจารย์ เป็นต้น กล่าวไว้ในกาลก่อน ไม่ยังประโยชน์ตามที่ปราถนาให้สำเร็จแก่ชนผู้รู้ภาษามคธอย่างเดียว

ขอบเขตของคัมภีร์และใจความ ๕ อย่างมีชื่อปกรณ์เป็นต้น

ด้วยเหตุนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า พระสังฆรักขิตะ จักประพันธ์คัมภีร์ฉันท์นามว่า วุตโตทัย อันจำแนกมาตราพฤติและวรรณพฤติ ประกอบด้วยสูตรที่เป็นอุทาหรณ์มีลำดับอรรถและบทชัดเจน อิงอาศัยฉันท์ของชาวโลก ด้วยภาษาที่มีในแคว้นมคธ เพื่อความรู้ง่ายของชนผู้รู้ภาษามคธอย่างเดียวเหล่านั้นฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
spob
วันที่ 4 มี.ค. 2551

สุโพธาลงฺกาโร

๑. โทสาวโพธ-ปฐมปริจฺเฉท

รตนตฺตยปฺปณาม

มุนินฺทวทนมฺโภช, คพฺภสมฺภวสุนฺทรี;

สรณํ ปาณินํ วาณี, มยฺหํ ปีณยตํ มนํฯ

นิมิตฺต

ราม สมฺมาทฺยลงฺการา, สนฺติ สนฺโต ปุราตนา;

ตถาปิ ตุ วฬญฺเชนฺติ, สุทฺธมาคธิกา น เตฯ

อภิธานาทิกํ

เตนาปิ นาม โตเสยฺย, เมเต ลงฺการวชฺชิเต;

อนุรูเปนาลงฺกาเร เนส เมโส ปริสฺสโมฯ

สุโพธาลังการ

ปริจเฉทที่ ๑ โทสาวโพธะ

แสดงข้อบกพร่อง

คาถานมัสการพระรัตนตรัย
ขอพระสัทธรรมอันงามบังเกิดในห้องแห่งบงกชคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนีซึ่งเป็นที่พึงของปราณชาติทั้งหลาย จงยังใจของข้าพเจ้าให้เอิบอิ่ม
ขอพระสรัสวดีอันงามบังเกิดในห้องแห่งบงกชคือ พระโอษฐ์ของพระพรหม ซึ่งเป็นที่พึงของปราณชาติทั้งหลาย จงยังใจของข้าพเจ้าให้เอิบอิ่มฯ
เหตุแห่งการจนาคัมภีร์
คัมภีร์อลังการที่ดีงามมีรามสัมมะ เป็นต้น แม้จะมีอยู่ก่อน ถึงกระนั้น ผู้รู้ภาษามคธอย่างเดียว ไม่อาจใช้สอยคัมภีร์เหล่านั้นได้
ความดำริในการแต่งคัมภีร์
ดังนั้น ถ้ากระไร ข้าพเจ้าพึงยังชนเหล่านั้น ผู้ขาดคัมภีร์อลังการ ให้ชื่นชมด้วยคัมภีร์อลังการอันเหมาะสม ข้อนี้เป็นความพยายามในการแต่งคัมภีร์ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
suwit02
วันที่ 5 มี.ค. 2551

ขอบพระคุณมากครับ มีหลายคาถาที่ไพเราะจับใจผมอย่างยิ่ง การที่ผมรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นเพราะผมมีความหลังฝังใจ คือสมัยที่เรียนอยู่ ผมได้บรรพชาเป็นสามเณร (ปิดเทอม) ผมจึงได้รู้จัก พระภิกษุที่ศึกษาคัมภึร์เหล่านี้ และได้ทราบว่า หากท่านศึกษาสำเร็จจะสามารถอ่านพระบาลีไตรปิฏกได้เอง ในเวลานั้นผมใส่ใจอ่านพระไตรปิฏก (ภาษาไทย) ยิ่งอ่านยิ่งเห็นความสำคัญของความรู้ภาษาบาลี ผมอยากแปลบาลีได้เอง แต่พอได้ทราบว่า ต้องเริ่มด้วยการท่องจำคัมภีร์เหล่านั้น ให้ได้ทุกตัวอักษร ก็จบกัน ดังนั้น ที่ท่านกล่าวว่า อนึ่ง กระผมคิดว่า คุณsuwit02 นี้ คงเป็นอุบาสกท่านหนึ่ง ที่มีความชำนาญในคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นแล้ว คงจะไม่สามารถเอ่ยชื่อคัมภีร์ไวยากรณ์ ที่ขึ้นชื่อทั้ง ๔ คัมภีร์ได้ อย่างถูกต้องนั้น ผมขอเรียนว่า ผมจำชื่อคัมภีร์เหล่านั้นได้ ในฐานะของสิ่งซึ่งผมอยากได้มากๆ แต่ไม่มีทางได้มาครับ ผมเพิ่งได้พบเว็บนี้ไม่กี่วันนี้เอง เว็บนี้ทำให้ผมระลึกได้ถึงความเบิกบานใจในการฟังธรรม และทำให้ผมหวนกลับมาฟังธรรม และเห็นความสำคัญของภาษาบาลี ผมจำได้ว่า ในอดีต ผมได้ฟังพระสาธยายคัมภีร์เหล่านั้น เริ่มตั้งแต่้ ปณามคาถา ฟังไพเราะยิ่งนัก (สิ่งที่ไม่อยู่ในมือเรา มักดูมีค่ามาก) ผมอยากได้คัมภีร์เหล่านั้น แต่ทราบดีว่า ได้มาก็ไม่ทางศึกษาสำเร็จได้ จึงลดความปรารถนาลงเพียง ปณามคาถา ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ จะศึกษาและทรงจำไว้ได้ (ไม่ได้ตัว ขอรูปไว้ดูก็ยังดี) แต่ผมติดต่อพระรูปนั้นไม่ได้ ผมไม่รู้จะขอที่ใคร พอดีเจอท่านเลยขอดู เมื่อได้อ่าน ปณามคาถา ในวันนี้ สิ่งมีค่าที่ผมไม่มีทางได้มา ยังคงดูมีค่ามากและไพเราะมาก เหมือนที่เคยรู้สึกในวันนั้น นอกจากนั้น ปณามคาถา ยังเตือนให้ผมระลึกได้ว่า สมัยหนึ่ง ผมเคยนั่งใกล้กัลยาณมิตรท่านนั้น ในช่วงเวลาไม่กี่ีสัปดาห์นั้น ช่างน่ารื่นรมย์นัก เทียบเคียงได้กับที่ท่านทั้งหลาย สนทนากันในเว็บนี้ รู้สึกเหมือนได้รูปถ่ายวันสำคัญในชีวิต ทั้งหมดที่หายไป ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
spob
วันที่ 8 มี.ค. 2551

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
happyindy
วันที่ 8 มี.ค. 2551

พลอยได้อ่านด้วยคน ด้วยความยินดี

ขออนุโมทนาทั้งสองท่านนะคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ