โทสมูลจิต
โทสมูลจิต
โทส (ความประทุษร้าย ความโกรธ) + มูล (รากเหง้า เหตุ)
จิตที่มีโทสเจตสิกเป็นมูล หมายถึง อกุศลจิตที่มีความประทุษร้ายอารมณ์ มีการเป็นไปหลายอย่าง เช่น โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ขุ่นเคือง อาฆาตแค้น หงุดหงิด ไม่พอใจ ประหม่า กลัว โทสมูลจิตมี ๒ ดวง มีความต่างกันที่เป็นจิตมีกำลัง (อสังขาริก) หรือเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (สสังขาริก) ได้แก่
๑. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ โทสมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเสียใจ (ไม่แช่มชื่น) ประกอบกับความกระทบกระทั่ง (โทสเจตสิก) เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่ต้องมีการชักชวน)
๒. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ โทสมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเสียใจ (ไม่แช่มชื่น) ประกอบกับความกระทบกระทั่ง (โทสเจตสิก) เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน) โทสมูลจิตเป็นสเหตุกจิต ประกอบด้วยเหตุ ๒ เรียกว่า ทวิเหตุกะ คือ โทสเหตุ (โทสเจตสิก) และโมหเหตุ (โมหเจตสิก)
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ในอัฎฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความอธิบายว่า ชื่อว่า สสังขาร เพราะเป็นไปกับด้วยสังขาร (เครื่องชักจูง หรือ ชักชวน) สังขารในที่นี้หมายความถึงชักจูงด้วยตนเอง หรือผู้อื่นชักจูงหรือสั่งให้กระทำ
นี่เป็นสภาพจิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม บางครั้งก็เกิดขึ้นเองโดยอาศัยการสะสมมาในอดีต เป็นปัจจัยแรงกล้าที่ทำให้กุศลหรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด มีกำลังเกิดขึ้นเองไม่ต้องอาศัยการชักจูงใดๆ เลย คือไม่อาศัยการชักจูง
แต่ว่าบางครั้งบางขณะไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามที่เกิดขึ้นนั้นมีกำลังอ่อน เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยการชักจูงของตนเองหรือการชักจูงของบุคคลอื่นก็ได้ อกุศลและกุศลที่มีกำลังอ่อนที่อาศัยการชักจูงนั้นเป็นสสังขาริกจิต
ที่มา ...
อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...
การจำแนกจิตโดยอสังขาร และ สสังขาร
มีกำลังอ่อนต้องอาศัยการชักจูง - มีกำลังกล้าไม่ต้องอาศัยการชักจูง