มหากุศลจิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8886
อ่าน  8,254

มหากุศลจิต

มหา (ใหญ่ มาก) + กุศล (ฉลาด) + จิตฺต (จิต)

กุศลจิตที่เป็นไปในอาการมาก หมายถึง จิตที่เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก และกัมมชรูปที่ดี ที่ชื่อว่า มหากุศลจิต เพราะเป็นจิตที่ดีงาม และเป็นไปในอาการมากมาย คือเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ เป็นไปในอธิบดี ๔ เกิดได้ในทวารทั้ง ๓ และยังเป็นไปในระดับที่ต่ำ กลาง หรือประณีต ก็ได้ มหากุศลจิตเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กามาวจรกุศลจิตก็ได้มี ๘ ดวงคือ

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีมีกำลัง (มีการชักชวน)

๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
opanayigo
วันที่ 18 ส.ค. 2551

มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน) ยังไม่เข้าใจความหมายว่า ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 19 ส.ค. 2551

หมายความว่า กุศลจิตที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งมีความต่างกันเป็นหลายประเภท แม้จะประกอบด้วยปัญญาเหมือนกัน บางครั้งกุศลมีกำลังมาก บางครั้งมีกำลังอ่อนที่มีกำลังอ่อน ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการชักชวนจากผู้อื่นเช่น ถูกเพื่อนชักชวนให้มาฟังธรรม ขณะฟังธรรมก็เข้าใจ แต่ไม่มีกำลังเท่ากับผู้ที่เขาตั้งใจมาด้วยตนเองดังนั้นมหากุศลจึงแตกต่างกันถึง๘ ประเภท บางครั้งเกิดกับโสมนัส บางครั้งเกิดกับอุเบกขา บางครั้งมีกำลัง บางขณะไม่มีกำลัง บางขณะเกิดเอง บางขณะต้องอาศัยการชักชวนชักจูงจากผู้อื่น เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ati
วันที่ 22 เม.ย. 2552

จากกระทู้.... เป็นไปในอธิบดี ๔.......หมายถึงอะไรครับ เป็นอย่างไร...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 22 เม.ย. 2552

ขอเชิญคลิกอ่าน... อธิบดี ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ