มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพระธรรม ท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

 
ไม่มีเรา
วันที่  14 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8895
อ่าน  1,300

๑. ที่ อ.สุจินต์ ท่านบอกว่า เราไม่สามารถบังคับตัวเอง หรือจะทำให้ตัวเองเป็นแบบนั้นแบบนี้ได้ เพราะเป็นอนัตตา ต้องให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะคนเราคิดจะทำ แล้วก็ทำตามความคิดเหรอคะ และก็สามารถทำได้สำเร็จตามที่คิดด้วยอ่ะค่ะ เช่น

ก. การสั่งจิตใต้สำนึกต่างๆ เช่น ก่อนนอนบอกกับตัวเองว่าพรุ่งนี้จะตื่น 06.00 เช้าแล้วก็ตื่นได้ตามเวลานั้นจริงๆ

ข. การคิดนึกตั้งใจว่าจะไปอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน จะไปอ่านหนังสือ จะไปดูทีวีจะไปชมดอกไม้ จะไปซักผ้า แล้วก็ทำได้ตามที่คิดทั้งหมด มันเหมือนกับเราสั่งตัวเองได้

ค. การที่คนเราคิดว่า เดี๋ยวจะไปคุยกับคนนั้น คนนี้ และก็ได้ลุกไปคุยจริงๆ มันเหมือนกับว่าเราสามารถเลือกจะคิดได้ เช่น ขณะนี้ เรากำลังคิดตัดสินใจว่าจะเปิดทีวีดีหรือไม่ และเราก็ตัดสินใจว่าเปิดดีกว่า แล้วเราก็เปิดตามความคิดนั้น และก็ได้ดูทีวี

ง. การวางแผนงานต่างๆ ว่าเราจะทำงานตามขั้นตอนแบบนั้นแบบนี้เพื่อให้สำเร็จ แล้วก็เพียรพยายามทำตามแผนที่วางไว้ แล้วงานก็ออกมาสำเร็จ

ช. กรณีคนตกงาน แต่บ้านฐานะดี หากเขาคิดว่าทุกอย่างเป็นธรรมมะ ไม่มีตัวเรา อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ เขาก็เลยอยู่เฉยๆ ไม่ไปหางานทำ ไม่พยายาม ไม่ดิ้นรน ไม่แสวงหา เพราะคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย กรณีแบบนี้จะทำให้คนๆ นี้ เกิดความขี้เกียจหรือเปล่าคะ

เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่ถูกสอนมาว่า เราต้องขยัน เราต้องพยายาม เราต้องใฝ่หาความก้าวหน้า เราเป็นผู้กำหนดชีวิตเราเองได้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ซึ่งมีรูปแบบทฤษฏีที่เขียนเอาไว้สอนกันไว้มากมาย เช่นหนังสือที่สอนเรื่อง คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างภาพจินตนาการในสิ่งที่เราอยากให้เป็น แล้วก็จะเป็นจริงตามที่จินตนาการ การบอกกับตัวเองบ่อยๆ ในสิ่งที่ดีๆ ที่เราอยากให้เป็น

ซึ่งยุควัตถุนิยมเดี๋ยวนี้ มักสอนกันแบบนี้ ว่าเราลิขิตชีวิตตัวเองได้ อยากจะให้ตัวเองเป็นอย่างไร ก็ให้ทำแบบนี้ แบบนี้ๆ ๆ ๆ ๆ อยากจะรวยก็ให้ขยัน ใฝ่หาความรู้ พยายาม จนดูเหมือนกับว่าเราเป็นเจ้านายของตัวเราเองจริงๆ สามารถที่จะบงการตัวเองได้ ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมมะแบบลึกซึ้งและถูกต้องแล้ว ย่อมต้องคัดค้านแน่นอนว่าอะไรๆ ก็อ้างกรรม ไม่โทษตัวเอง โทษแต่กรรม ทั้งๆ ที่ตัวเองต้องแก้ไขตัวเองได้ ถ้าโทษแต่กรรมอย่างเดียว ไม่สามารถจะสั่งให้ตัวเองทำอะไรได้ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ดีกว่า สอนกันแบบนี้ทำให้คนขาดความกระตือรือร้น ขาดความทะเยอทะยาน ขาดความมานะพยายาม ซึ่งเป็นประโยคที่ดิฉันฟังมาบ่อยมากค่ะ

๒. ที่บ้านดิฉันมีปลวกและมดเยอะมากๆ แต่ดิฉันไม่อยากจะผิดศีลข้อ 1 เลยไม่ได้ให้เขามาฉีดปลวก ฉีดมด ดิฉันควรจะแก้ไขอย่างไรดีคะ กลัวบ้านและทรัพย์สินเสียหายก็กลัว แต่ก็ไม่รู้จะทำไง ก็ปล่อยๆ ไว้แบบนี้ค่ะ

เพื่อนๆ ป้องกันและแก้ไขกันยังไงคะ พอจะมีคำแนะนำบ้างมั้ยคะ

ดิฉันยังอ่อนหัดอยู่มาก รบกวนเพื่อนๆ ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

๑.ตามหลักพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมะทั้งหมด เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุและปัจจัย แม้ตัวอย่างที่ท่านยกมา ก.ข.ค.ง.ช. ก็เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามการสะสม ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่ ..

เหมือนว่าบังคับบัญชาได้ผมไม่เข้าใจเรื่อง การบังคับบัญชาไม่ได้ของนามธรร

๒.ขอเชิญคลิกอ่านที่ ..

ศีล 5 กับเรื่องปลวก

อนันตริยกรรม-ปลวกขึ้นบ้าน-สัตว์เดรัจฉานในนรก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิโรธะ
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไตรลักษณ์ ไว้ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ไตรลักษณ์ หมายถึง สามัญลักษณะของสิ่งทั้งปวง ไม่เทียง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ตอบ ข้อ ก,ข,ค,ง

ในขณะนี้ ตอนนี้ สามารถบังคับบัญชาได้ แต่ในที่สุดแล้ว ไม่สามารถบังคับบัญชาได้แม้เพียงสิ่งเดียว ยกตัวอย่างเช่น

ขณะที่เราเจ็บท้อง เราบังคับให้หายปวดได้หรือไม่ ถ้าไม่ ก็ไม่ไช่ท้องของเรา

บังคับไม่ให้ตัวเราตายได้หรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่ไช่ตัวเรา

บังคับให้แก้วไม่แตกได้หรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่ไช่แก้วของเรา

บังคับนาฬิกาไม่ให้พังได้หรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่ไช่ของเรา

อะไรที่สามารถบังคับบัญชาได้ ไม่ให้แตก ไม่ให้ผุ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้พัง แม้แต่ความจำที่สะสมมา ก็ไม่สามารถนำมา เป็นรูปเป็นร่าง

ทุกสิ่งเป็นของบนโลก เราเป็นเจ้าของชั่วคราว ดังนั้นจึงไม่ไช่ตัวตน ไม่ไช่ของเราไม่ไช่ของใคร พิจารณาผมของเราว่าห้ามไม่ให้หงอกได้ไหม ถ้าห้ามได้เป็นของเรา

สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด คือ การพิจารณาตามความเป็นจริง

สาธุการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Komsan
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

๑. พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาค่ะ ถ้าเป็นอัตตาบังคับได้ ก็ลองคิดให้เป็นสุข อย่าคิดแล้วเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ อย่ากลุ้มใจ อย่าเสียใจ อย่าคิดอกุศล ให้คิคแต่สิ่งที่ดีๆ บังคับไม่ได้ ฯลฯ เพราะว่าเป็นอนัตตา มีปัจจัยก็เกิดค่ะ

2. ขึ้นอยู่กับว่าเห็นคุณของศีลมากกว่าหรือเห็นบ้านสำคัญกว่าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ก. การสั่งจิตใต้สำนึกต่างๆ เช่น ก่อนนอนบอกกับตัวเองว่าพรุ่งนี้จะตื่น 06.00 เช้าแล้วก็ตื่นได้ตามเวลานั้นจริงๆ

จิตเป็นเราหรือเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมจึงเป็นอนัตตา เพราะไม่มีเราอยู่ในนั้น สัญญาทำหน้าที่จำ และเกิดบ่อยๆ เนืองๆ จึงลุกขึ้นตามเวลานั้น อะไรตื่น จิตเกิดขึ้นต่างหาก ไม่ใช่เรา และก็ไม่ใช่เราที่พยายาม แต่เป็นจิต และเจตสิกที่ทำหน้าที่ แม้ขณะที่คิดก่อนนอนว่าจะตื่นตอนนี้ ก็เป็นจิตคิดไม่ใช่เรา เป็นธรรมและคิดล่วงหน้าก่อนไหมว่าจะคิดอย่างนี้ก็ไม่ใช่อีกและเสมอไปไหมว่าจะตื่นเวลานั้นทุกครั้ง หรืออาจไม่ได้ตื่น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

ข. การคิดนึกตั้งใจว่าจะไปอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน จะไปอ่านหนังสือ จะไป ดูทีวีจะไปชมดอกไม้ จะไปซักผ้า แล้วก็ทำได้ตามที่คิดทั้งหมด มันเหมือนกับเราสั่งตัวเองได้ ก็เป็นจิตและเจตสิกเท่านั้นที่เกิดขึ้น เป็นธรรม ไม่มีเราคิดนึก และแน่ใจหรือครับว่าทำตามที่คิดได้ทั้งหมด

ค. การที่คนเราคิดว่า เดี๋ยวจะไปคุยกับคนนั้น คนนี้ และก็ได้ลุกไปคุย จริงๆ มันเหมือนกับว่าเราสามารถเลือกจะคิดได้ เช่น ขณะนี้ เรากำลัง คิดตัดสินใจว่าจะเปิดทีวีดีหรือไม่ และเราก็ตัดสินใจว่าเปิดดีกว่า แล้วเรา ก็เปิดตามความคิดนั้น และก็ได้ดูทีวี อะไรลุก อะไรคุย อะไรดู อะไรคิด จิตและเจตสิกทั้งนั้นครับ เกิดขึ้นและดับไปด้วย จึงเป็นอนัตตา บังคับให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดับไปได้ไหม ไม่ได้เลย อะไรตัดสินใจ จิตหรือเรา แล้วได้ดูทีวีทุกครั้งหรือเปล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 มิ.ย. 2551

ง. การวางแผนงานต่างๆ ว่าเราจะทำงานตามขั้นตอนแบบนั้นแบบนี้เพื่อให้สำเร็จ แล้วก็เพียรพยายามทำตามแผนที่วางไว้ แล้วงานก็ออกมาสำเร็จ

โดยนัยเดียวกัน หากไม่มีจิต เจตสิก ก็ไม่สามารถวางแผนงานได้ จึงควรเข้าใจถูกว่าไม่มีตัวตนที่วางแผน แต่มีจิตที่คิดนึกถึงเรื่องงราว แล้วที่คิดว่างานสำเร็จก็เป็นเรื่องราวที่คิดนึกอีกว่าสำเร็จ ทั้งๆ ที่สิ่งที่มีจริงคือ นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องราวที่คิดนึกเลย ดังนั้นจึงบังคับให้คิดหรือไม่คิดไม่ได้ อาจมีเรื่องราวอื่นที่คิดแทรกในขณะวางแผนก็ได้ เป็นอนัตตาจริงๆ

ช. กรณีคนตกงาน แต่บ้านฐานะดี หากเขาคิดว่าทุกอย่างเป็นธรรมมะ ไม่มีตัวเรา อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ เขาก็เลยอยู่เฉยๆ ไม่ไปหางานทำ ไม่พยายาม ไม่ดิ้นรน ไม่แสวงหา เพราะคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย กรณีแบบนี้จะทำให้คนๆ นี้ เกิดความขี้เกียจหรือเปล่าคะ

ไม่มีเรา แต่มีอะไร มีธรรม ธรรมเกิดขึ้นลอยๆ หรือว่ามีเหตุจึงเกิดขึ้น ต้องมีเหตุครับ การจะได้รับสิ่งที่ดี เกิดจากกุศลกรรมใช่ไหม การจะได้รับผลของกรรม (ดี) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วย ประการหนึ่งคือ ปโยคะ ความเพียร เมื่อเข้าใจธรรมจึงรู้ว่าปัจจัยมีหลายปัจจัย ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ความเพียรก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โอกาสของกุศลกรรมให้ผลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
majweerasak
วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่มีกุศลจิต มีความเพียรในการตอบกระทู้ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nok_ruuh
วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนา คำตอบของทุกท่านว่าดีแล้ว ชอบแล้ว แต่ขอขยายความให้เข้าใจง่ายอีกนิด ๑. อวัยวะทั้งสิ้นของร่างกาย ความจริง ห้ามการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ห้ามไม่ให้เป็นทุกข์ไม่ได้ ขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อแยกออกมาเป็นชิ้นก็หาสิ่งที่เรียกว่าตัวตนไม่พบ เหมือนรถยนต์เมื่อแยกชิ้นส่วนแล้ว หาตัวที่เรียกว่ารถยนต์ไม่พบ เหตุนี้แลจึงจัดเป็นธรรมชื่อว่าอนัตตา ๒. ในข้อ ก.ข.ค.ง. ให้เปรียบเทียบบุคคล ๒ ประเภท คือ คนดี กับ คนบ้า (ขออภัยที่ใช้คำตรง) คนดี เวลาจะทำสิ่งใดมักมีจิตที่ประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว (ยกเว้นบางครั้งเผลอ) ส่วนคนบ้ามีจิตไม่ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ จึงแตกต่างกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
nok_ruuh
วันที่ 16 มิ.ย. 2551

ในข้อ ช. ถ้าคิดเช่นนั้นเรียกว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงธรรมสำหรับผู้ครองเรือนไว้มากมาย เช่น ทรงสอนทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง สรุปคือ ๑. ให้รู้จักขยันหา ๒. ให้รู้จักเก็บ ๓. ให้รู้จักเลือกคบคนดี ๔. ให้รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ตามความจำเป็นที่มีประโยชน์

เรื่องชีวิตกับกรรม มีคำที่ใช้สำหรับการเชิดชูผู้ที่ทำอะไรแล้วมักประสบผลสำเร็จตามปรารถนา เพราะผู้นั้นมีความเก่งบวกเฮง เก่ง หมายรวมเอาองค์ประกอบทั้งหมดในชาตินี้ เช่น ความรู้ ทุน เพื่อน โอกาส เฮง หมายรวมเอาทั้งกรรมเก่ากรรมใหม่ที่ช่วยส่งเสริมให้สำเร็จตามปรารถนานี้ยกมาเป็นตัวอย่างเฉพาะฝ่ายดี (ส่วนไม่ดีให้เปรียบเทียบตรงกันข้าม)

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
suwit02
วันที่ 17 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

ขอเชิญท่านผู้ถามพิจารณากระทู้ที่เกี่ยวข้องตามที่ระบุไว้ในความเห็นที่ ๑ ด้วยครับ และอันนี้เป็นคำอธิบายถึงอนัตตา ที่ชัดเจนอันหนึ่งครับ

08863 อยากทราบว่า อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา มีความหมายว่าอะไรครับ

Apologize ความคิดเห็นที่ 6

สิ่งที่ไม่เที่ยงต้องแปรปรวนไป ทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ ไม่ได้หมายเพียงว่า ปวดเป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์เท่านั้น แต่สภาพธรรมใดเกิดขึ้นและดับไปขณะนี้เองที่ไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์เพราะแปรปรวนไป ตั้งอยู่ ทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้

ส่วนอนัตตาเป็นลักษณะของสภาพธรรม อันหมายถึงว่าไม่มีเรา ไม่มีสัตว์บุคคล แต่ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีอะไรเลย แต่มีสภาพธรรม แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคลนั่นเอง และอนัตตาก็หมายถึง บังคับบัญชาไม่ได้ ขณะนี้เห็น บังคับให้ไม่ให้เกิด ไม่ให้ดับไปได้ไหม เพราะเห็นแล้วและก็ต้องดับด้วย จึงไม่ใช่เราที่ไปมีอำนาจบังคับบัญชาเพราะเป็นธรรมและเป็นอนัตตานั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ไม่มีเรา
วันที่ 17 มิ.ย. 2551
ขอบพระคุณและขออนุโมทนากับทุกๆ ท่าน ที่แนะนำสิ่งดีๆ ให้ค่ะ จะพยายามฟังพระธรรมต่อไปค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 8 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ