อิสสามีลักษณะอย่างไร

 
baramees
วันที่  23 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8997
อ่าน  8,135

๑. อิสสามีลักษณะอย่างไร ดิฉันขอคำอธิบายอย่างละเอียดเลยนะคะ

๒. อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้อิสสาเกิด


Tag  อิสสา  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 24 มิ.ย. 2551

อิสสาหรือริษยา มีความริษยาสมบัติของคนอื่นเป็นลักษณะ

อิสสา เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่งที่มีสมบัติ ลาภสักการะ ความเคารพ การนับถือ การบูชา เป็นต้น ของบุคคลอื่น เป็นอารมณ์ คือ ผู้ที่มีความริษยา เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับสมบัติ ลาภสักการะ ความเคารพ การนับถือ ก็ทนไม่ได้ เกิดอาการไม่พอใจ เสียใจ เป็นทุกข์ บ่นว่า เป็นต้น สรุปคือ ความไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดี ชื่อว่า อิสสา

สำหรับเหตุให้เกิดคือ มีสมบัติของผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด และในสักกปัญหสูตร แสดงว่า ความริษยาและความตระหนี่ มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เป็นแดนเกิด เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักยังมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่ย่อมมีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 24 มิ.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
baramees
วันที่ 24 มิ.ย. 2551

อิสสาเกิดขึ้นและดับไปสลับกับอารมณ์อื่นๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่ออิสสาเกิดขึ้นทีไร เราก็มีความทุกข์ อึดอัด ร้อนรน ไม่อยากมีเลย มันทำให้เราเป็นคนที่น่ารังเกียจ และดูเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด ดิฉันอยากได้รับขอธรรมจาก อ. สุจินต์ นะคะ มีอยู่ครั้งหนึ่งดิฉันได้ฟังธรรมของอาจารย์จากวิทยุ 01 มีนบุรี จำไม่ได้ว่าอาจารย์ว่าอย่างไร แต่รู้ว่าข้อธรรมนั้น เกื้อกูลต่อสติมาก เลยฟังแล้วคลายอิสสาลงไปทันทีมากเลย และยังมีเมตตากับคนที่เราอิสสาอยู่เพิ่มขึ้นอีก แต่เมื่อขาดการฟังพระธรรมอยู่เนืองๆ อกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้นทำร้ายใจเราให้ทุกข์อีก

ขอขอบพระคุณอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพนับถืออย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
happyindy
วันที่ 24 มิ.ย. 2551

มีเพื่อนรุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกันคนหนึ่ง ปกติเป็นคนดีมีน้ำใจ แต่หากมีใครได้ดีเกินหน้า หรือดูจะเป็นที่พอใจของเจ้านายมากกว่า อาการเขาจะออกทันที คือ อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด และพยายามหาทางทำร้ายคนนั้นด้วยวาจาลับหลัง เช่น การฟ้องเจ้านายเป็นต้น ลักษณะอย่างนี้ ก็เรียกว่า อิสสา เหมือนกันใช่มั้ยคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 24 มิ.ย. 2551

อิสสา หมายถึง ความริษยา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นจริงตามการสั่งสมมาของแต่ละบุคคล

ความริษยา เป็นอกุศลธรรมฝ่ายโทสะ เพราะขณะใดที่เกิดความริษยาขึ้น ขณะนั้นย่อมไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในเมื่อบุคคลอื่นได้ลาภ ได้สักการะ ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้รับการไหว้และบูชา กล่าวได้ว่า เห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี นี้เป็นลักษณะของความริษยา (ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความริษยา คือ มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี)

อกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งนั้น หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลา หรือละคลายอกุศลให้เบาบางลง ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เข้าใจอกุศลว่าเป็นอกุศล อกุศลให้ผลที่เป็นทุกข์ไม่นำประโยชน์มาให้เลย ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความริษยา ก็จะค่อยๆ เบาบางลงได้ ตามกำลังของปัญญา ครับ

(ผู้ที่จะดับความริษยาได้เด็ดขาด ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน)

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่ออนุเคราะห์ให้พุทธบริษัทมีความประพฤติที่ดีงาม งามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถ้าเป็นผู้ที่ได้สั่งสมอบรมมาในเรื่องความมีเมตตา มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ความริษยาก็จะไม่ค่อยเกิดกับบุคคลนั้น

ดังนั้น กุศลธรรม จึงเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่อกุศลเป็นสิ่งที่ควรละ ครับ

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 24 มิ.ย. 2551

ปกติเราอาจจะไม่รู้สึกตัวว่ามีอิสสา มีมานะ มีความตระหนี่ มีความโกรธ เมื่อเราอบรมเจริญสติปัฏฐานและอบรมเมตตาด้วย ก็จะขัดเกลาอกุศลธรรมพวกนี้ให้ลดลงไปได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
happyindy
วันที่ 24 มิ.ย. 2551

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
all-for-ละ
วันที่ 24 มิ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความอิสสา (ริษยา) มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นเหตุให้เกิด ถ้าเราไม่ได้ไม่ชอบคนนั้น เป็นมิตรกับบุคคลนั้น ก็จะไม่ริษยาคนนั้นเลย แต่เพราะไม่ชอบบุคคลนั้น เมื่อบุคคลนั้นได้ดี ย่อมมีความริษยาเกิดขึ้น นั่นคือ มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นเหตุให้เกิด เราเป็นเพื่อนกันไม่ใช่หรือ? เพื่อนร่วมกันในสังสารวัฏฏ์ และในสังสารวัฏฏ์ แต่ละบุคคลก็ทำเหตุคือกุศลและอกุศลมาด้วยกันทั้งนั้น มีบางคราวที่กุศลให้ผล ผลของกุศลก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเห็นบุคคลใดได้รับผลที่ดี ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ นั่นแสดงว่าบุคคลนั้นได้ทำเหตุที่ดีคือกุศลกรรมไว้ จึงควรชื่นชมในบุคคลนั้นเพราะเขาได้ทำกุศลไว้ กุศลย่อมเป็นกุศล ไม่ได้เลือกบุคคล แต่กุศลเกิดกับใครก็เป็นสิ่งที่ดี จึงยินดีและชื่นชม

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prakaimuk.k
วันที่ 25 มิ.ย. 2551

อบรมเจริญปัญญา มีเมตตา มีความเป็นมิตรที่ดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีมุทิตาจิตยินดีและชื่นชมในผลกุศลกรรมของบุคคลอื่น จะทำให้ช่วยขัดเกลาอิสสาและอกุศลกรรมต่างๆ ให้ลดลงไปได้ ...

ขออนุโมทนาความคิดเห็นของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ตุลา
วันที่ 25 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 25 มิ.ย. 2551

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Komsan
วันที่ 25 มิ.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เมตตา
วันที่ 26 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
baramees
วันที่ 27 มิ.ย. 2551

เรารู้ตัวว่ากำลังมีอิสสาอยู่กับใคร แต่เราก็ต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนที่เรามีอิสสาอยู่ เราพยายามที่จะระงับมันไว้ไม่ให้อาการแสดงออกมา เราพยายามมีมุทิตา มีเมตตากับเขา แต่มันไม่ใช่ความจริงใจ มันเหมือนเราเสแสร้งทำดีกับเขา เพื่อที่จะต่อสู้กับเจ้าอิสสานี้ เราพยายามทำดีเท่าที่เราทำได้ แต่เรารู้สึกว่าเราจะติดในความดีซะแล้วเพราะเราอยากที่จะดี ดีกว่าเขา ไม่ใช่ทำดีเพราะจะละสิ่งไม่ดีออกไป เราไม่อยากให้คนที่อยู่รอบข้างเราไม่สบายใจเพราะเรา แต่พอเขาโชคดีมีความสุขมีคนชมมากกว่าเรา เจ้าอิสสาเพื่อนสนิทก็เข้ามาในใจเราทันทีเลย รู้สึกไม่สบายใจ แล้วกลัวๆ เขาจะดีกว่า ช่างเป็นเพื่อนที่แสนจะดีซะไม่มีเลยนะเจ้าอิสสา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 ก.ย. 2557

ความริษยาเป็นเรื่องยากที่จะสลัดออก

ขอบพระคุณ สาธุ อนุโมทนา ค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง

จาก ใหญ่ราชบุรี – ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
worrasak
วันที่ 7 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ