หลังจากอ่านไฟล์ PDF ปรมัตถธรรมสังเขป แล้วขอถามดังนี้ครับ

 
สิ่งสมมุติ
วันที่  11 ก.ย. 2551
หมายเลข  9820
อ่าน  1,921

คำถามอ้างอิงจากไฟล์ "ปรมัตถธรรมสังเขป" ดังนี้ครับ


ตามความเป็นจริงนั้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถปรากฏได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นความสำคัญแต่อย่างใด สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้ดูเหมือนว่า มีผู้คนอยู่ร่วมกันในโลกนี้มากมายตามกาละและเทศะ แต่ถ้าประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นจะรู้ได้ว่าชั่วขณะนั้นเป็นเพียงการเห็น เป็นเฉพาะโลกของการเห็น ซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ เพราะขณะนั้นเพียงเห็น ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่าง สัณฐาน และเรื่องราวใดๆ ของสิ่งที่เห็น


คำถามครับ ...

1 ใช่กรณีเดียวกับที่เราเหม่อหรือเปล่าครับ?

ตาเห็นไปทั่ว รับภาพไปทั่วแต่ไม่รู้ว่าเห็นอะไร ไม่ได้มองเลย ใจจึงไม่ได้รับเข้ามาตีความ ชาวบ้านชอบเรียกว่า " ยังไม่ทันได้มองเลย มัวแต่เหม่ออยู่ " นั่นแสดงว่ามันเกิดไม่พร้อมกัน เกิดดับสืบกัน เช่น ตารับภาพมาก่อน จากนั้นจิตค่อยรับภาพมาคิดมาแปลความตามที่ตาได้เห็น ว่าเป็นภาพนั้นภาพนี้

2 . ใช่กรณีเดียวกับคนที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองแตกบางราย หรือผู้ป่วยสมองพิการแต่กำเนิดบางรายหรือเปล่าครับ?

ตาเหม่อลอยไปทั่ว ตรวจการมองเห็นแล้วก็พบว่าดวงตาทำงานได้ reflex ลูกตาปกติทั้งสองข้าง แต่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าเห็นภาพอะไร ไม่สามารถตีความ ไม่เห็นคนเป็นคน ไม่เห็นปากกาเป็นปากกา ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 11 ก.ย. 2551

จากข้อ ๑ และข้อ ๒ ดังที่ผมพยายามคิดหาตัวอย่างมาแล้ว

ผมคิดด้วยวิจารณญานแล้ว ทำให้ผมเชื่อว่า

" สิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นความ
สำคัญแต่อย่างใด " ประโยคนี้น่าเชื่อนะครับ ท่านอื่นเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 11 ก.ย. 2551

ไม่เหมือนกันครับ ในกรณีที่รู้และเข้าใจสิ่งที่ปรากฏทางตา ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนสิ่งของ เป็นต้นนั้น เป็นปัญญา แต่ขณะที่เหม่อลอยเป็นอกุศลจิต (โมหะ) ดังนั้น จึงต่างกันโดยสิ้นเชิง ปัญญารู้ความจริง จิตเป็นชาติกุศล ความเหม่อลอยไม่รู้อะไร จิตเป็นชาติอกุศล

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปริศนา
วันที่ 12 ก.ย. 2551

ข้อความบางตอนจากหนังสือ "บทสนทนาธรรม" หน้า ๔๐- ๔๑๒๕๓๐

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


ส. ถ้ามีจิตขณะใด ก็ต้องมีอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้นด้วยทุกครั้ง.

ว. อาจารย์คะ ทีนี้อย่างนี้ค่ะ ในขณะที่เรานั่งรถไปทำงาน สมมติว่าเรามัวแต่คิดไปในเรื่องต่างๆ ขณะนั้นจิตมีอารมณ์หรือเปล่าคะ.

ส. ที่คุณวันทนานั่งรถ แล้วก็แทนที่จะดูสองข้างทางก็มัวคิดอะไรเพลิน ใช่ไหมคะ?

ว. ค่ะ.

ส. ขณะนั้นคุณวันทนามองเห็นอะไรบ้างคะหรือมองไม่เห็นอะไรเลย?

ว. เห็นค่ะ แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไร!

ส. ถึงจะไม่ทราบว่าเป็นอะไร เพียงเห็นสีต่างๆ ที่ปรากฏขณะนั้นเป็นจิตที่มีรูปสีเป็นอารมณ์ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเห็นอะไร ขณะใดมีสีปรากฏขณะนั้นก็จะต้องมีจิตที่เห็นสีนั้นด้วย สีนั้นเป็นอารมณ์ของจิตและขณะที่คิดถึงเรื่องอื่น โดยไม่สนใจกับสิ่งที่มองเห็นขณะคิดเรื่องอะไร เรื่องนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิต.

ว. ก็หมายความว่า อารมณ์ของจิตสลับกัน อาจจะเห็นแล้วก็นึกคิด.

ส. ค่ะ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตคือ สิ่งที่จิตรู้ในขณะนั้น

ขอเชิญอ่านกระทู้ด้านล่าง

ต้องแยกให้ออก!

ความจริง รูปเกิดดับรวมกันหลายรูปตอนที่ ๑

ความจริง รูปเกิดดับรวมกันหลายรูปตอนที่ ๒


แล้วลองใช้วิจารณญาณ พิจารณาตามสมควรเถิดขออนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
choonj
วันที่ 12 ก.ย. 2551

มีเจตสิกหนี่งคือ มนสิการเจตสิกเป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ นำสัมปยุตธรรมมุ่งสู่อารมณ์ ถ้าขณะที่เห็นแล้วมนสิการเจตสิกเกิด แต่ไม่ปรากฏ ก็ไม่รู้ว่าเห็นอะไรเหมือนกับการเหม่อลอย เข้าใจอย่างนี้น่าจะถูกครับ จิตเขาทำหน้าที่รู้อย่างเดียว เป็นธาตุรู้ ส่วนที่จะรู้เป็นอะไร อย่างไรเป็นหน้าที่ของเจตสิกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 12 ก.ย. 2551

ลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ หมายถึงจิตซึ่งมีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น ชั่วขณะที่เห็นเกิดขึ้นมีเพียงเจตสิก ๗ ประเภทที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิตทำหน้าที่ของตนของตนเท่านั้นคือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ชีวิตินทรีย์ มนสิการและ เอกัคคตา จิตทุกดวงมีเจตสิกอย่างน้อย ๗ ประเภทเกิดร่วมด้วย ขณะที่รูปมากระทบ เจตสิกทั้ง ๗ ประเภทซึ่งเกิดกับจิตทุกดวงก็ทำหน้าที่ของตน จิตเห็นซึ่งเกิดพร้อมเจตสิกทั้ง ๗ ประเภทก็เกิดขึ้นเพียงรู้แจ้งอารมณ์คือ เพียงรู้รูปารมณ์ หรือเพียงสิ่งที่ปรากฎทางตาเท่านั้น จิตเห็นเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ชั่วขณะนั้นเป็นเพียงการเห็น เป็นเฉพาะโลกของการเห็นซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ เพราะขณะนั้นเพียงเห็น ซึ่งต่างจากขณะที่คิดซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ประเภทดังกล่าวเช่นมี วิตก วิจาร ซึ่งตรึกไปในอารมณ์ต่างๆ จึงนึกถึงรูปร่าง สัญฐาน สัตว์ บุคคลต่างๆ ถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นความสำคัญแต่อย่างใด

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 13 ก.ย. 2551

จาก ค.ห. ๕

อยากให้เขียนเป็น diagram หรือรูปภาพ โชว์ลำดับให้เข้าใจจังครับ แล้วอยากให้ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกัน ระหว่างคนเหม่อ ระหว่างพระอรหันต์ ระหว่างคนไข้สมอง พิการหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ระหว่างแมงกระพรุนที่ไม่มีลูกตา ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 13 ก.ย. 2551

ขณะนี้เป็นจิตอะไร ขณะนี้เข้าใจหรือเปล่าว่าเป็นกุศลหรือกุศล หรือเป็นเรื่องราวที่คิด ถ้ายังไม่รู้ว่าธรรมะคืออะไร ก็จะไม่รู้ว่าหลงลืมสติกับมีสติต่างกันอย่างไร สติเกิดพร้อมกับสัมปชัญญะเป็นกุศลต่างกับขณะที่เหม่อลอย เป็นโมหะ เป็นกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปริศนา
วันที่ 13 ก.ย. 2551

จากความเห็นที่ ๗

"ขณะนี้จิตเป็นอะไร?" "ขณะนี้ เข้าใจหรือเปล่าว่าเป็นกุศลหรืออกุศล?" "หรือเป็นเรื่องราวที่คิด?" "หลงลืมสติกับมีสติต่างกันอย่างไร?"

น่าพิจารณามากค่ะ! เพราะ "เป็นประโยชน์" ถ้าเข้าใจเรื่องราวบางอย่าง มีประโยชน์ เพื่อออกจากสังสารวัฏฏ์ เรื่องราวบางอย่างไม่มีประโยชน์ มิใช่เพื่อออกจากสังสารวัฎฏ์ ถ้าเข้าใจก็จะทราบได้ว่า"เป็นประโยชน์" คืออะไร.

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 15 ก.ย. 2551

อยากเข้าใจ ความคิดเห็นที่ ๕ จังครับ ถ้าอธิบายให้ละเอียดและให้ง่ายขึ้นได้จะช่วยได้มากเลยครับ อยากรู้เรื่อง "ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ชีวิตรินทรีย์ มนสิการและเอกัคคตา " ครับ แต่ละอย่างคืออะไร ต่างกันอย่างไร? ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wirat.k
วันที่ 15 ก.ย. 2551

ค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจทีละเล็กๆ น้อยๆ โดยเริ่มต้นจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัย

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
somlukar
วันที่ 15 ก.ย. 2551

sensory organ เปรียบเหมือน อายตนะภายใน ตา หู จมูก...ใจ

external stimuli หรือ อายตนะภายนอก

รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และมนสิการเจตสิก จะเป็น กุศล อกุศล วิบาก กิริยา ขึ้นกับว่าเกิดร่วมกับจิตชนิดใด sensory organ ที่บกพร่องเช่น semicoma น่าจะเป็น อกุศล คือโมหมูลจิตจึงแตกต่างจากจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นกุศล วิบาก กิริยา ส่วนแมงกระพรุนไม่มีลูกตาก็ขาดจักขุประสาทที่จะรับรูปารมณ์อยู่แล้ว ค่อยๆ ทบทวนดูคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pornpaon
วันที่ 15 ก.ย. 2551

เมื่อเช้าวันนี้เองเพิ่งได้ยินจากวิทยุ สทร.

ท่านอาจารย์กล่าว ความโดยสรุปประมาณว่า มีคนที่รู้ว่า ต้นไม้ต้นหนึ่งเติบโตเป็นต้นใหญ่ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี แล้วไปคิดคำนวนว่า สิบๆ ปีนั้น ควรใช้น้ำรดไปเป็นปริมาณเท่าไร แล้วใช้น้ำจำนวนเท่ากันนั้น รดไปที่ต้นไม้ที่เพิ่งปลูกนั้นในคราวเดียว ต้นไม้นั้นก็ไม่สามารถจะเติบโตงอกงามเป็นต้นใหญ่ทันทีได้เลย ทั้งที่ใช้น้ำจำนวนเท่ากัน

ปัญญาความเข้าใจในพระธรรมก็เช่นกัน เติบโตช้า อาศัยเวลาอย่างมากและต้องมีความอดทนอย่างยิ่งด้วย แม้จะอธิบายละเอียดอย่างไร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจได้ทันที เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมเพื่อการรู้แจ้งเห็นจริงในสภาพธรรมอย่างละเอียด ไม่มีปิดบังแม้แต่น้อย แต่พวกเราก็ใช่ว่าจะเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น

เป็นเรื่องของการค่อยๆ สะสม อบรม ขัดเกลา

จิรกาลภาวนาค่ะ (นาน.............น มาก)

อีกอย่าง

พระธรรมนั้น แม้โดยพยัญชนะมองเห็นว่าเป็นคำง่าย อ่านออก ไม่น่าเข้าใจยากโดยแท้จริงแล้วพยัญชนะ (คำ อักษร) ตื้น อรรถะ (ความหมาย) ลึกและมีความหมายเป็นหลายนัย แม้ในพยัญชนะเพียงคำเดียว ความคิดเห็นของท่านทั้งหลายในคำถามนี้ของคุณ ก็เพื่อเกื้อกูลคุณจริงๆ การสนทนาสอบถาม ก็เป็นเรื่องที่ควรทำเมื่อรู้สึกสงสัย ไม่ควรคิดเอาเอง เพราะอาจคิดหลงทางไปไกล

ส่วนนี้ ขออนุโมทนาคุณสิ่งสมมติค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
choonj
วันที่ 16 ก.ย. 2551

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เป็นธาตุรู้ ทำหน้าที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อย่างเดียว คือแค่รู้ เจตสิกก็เป็นสภาพรู้เหมือนกัน คือรู้ตามเจตสิกนั้นๆ จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน คือมีจิตก็ต้องมีเจตสิก มีเจตสิกก็ต้องมีจิต จะมีอย่างเดียวไม่ได้ จึงต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าจิตรู้อย่างไร เจตสิกรู้อย่างไร ก่อนที่จะเข้าใจเจตสิกที่ถามมา ที่เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงดังนี้

ผัสสะ เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์เกิดขี้น เช่น ทางตา สีซี่งเป็นรูปภายนอกกระทบประสาทรูปตาเป็นรูปภายในทำให้จิตเกิด สามอย่างเมื่อประชุมกัน เรียกว่ากระทบถูกต้องอารมณ์ สภาพธรรมที่เกิดขณะนั้นเรียกว่าผัสสะ ซี่งจะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดต่อไปอีก เวทนา เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ เมื่อผัสสะเกิดก็จะเป็นปัจจัยให้เวทนา ๕ เกิด คงไม่ต้องอธิบายเวทนา ๕ นะว่ามีอะไรบ้าง สัญญา เป็นธรรมชาติที่จำอารมณ์ สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเป็นเจตสิกที่จะต้องเกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตต้องเกิดตลอดเวลา เจตสิกทั้ง ๗ ดวงนี่ก็ต้องเกิดตลอดเวลา สัญญาจีงเกิดตลอดเวลา คือจำตลอดเวลา เมื่อสุขเวทนาเกิดสัญญาก็จำแล้วเรียกร้องบ่อยๆ จนกลายเป็นกิเลส เจตนาเป็นธรรมชาติที่จักแจงสภาพธรรมที่เกิดกับตนไว้ในอารมณ์ คือมีหน้าที่ภาวะกระตุ้นเตือนธรรมะที่เกิดกับตนนั้นตั้งใจทำกิจของตนๆ เข้าใจยากหน่อยนะ เจตนาก็คือกรรมนั้นแหละ เอกัคคตาเป็นธรรมชาติที่สงบและทำให้สภาพธรรมที่เกิดอยู่อยู่ในอารมณ์เดียว เช่น ผู้ที่ชอบนั่งสมาธิ ชีวิตินทรีย์เป็นธรรมชาติที่รักษาสภาพธรรม คือทำให้มีชีวิตอยู่ได้หายใจได้ มนสิการเป็นธรรมชาติที่นำสภาพธรรมมุ่งสู่อารมณ์ เช่น ในขณะที่เห็นเกิดผัสสะเกิด มนสิการก็นำจิตและเจตสิกต่างๆ ที่เกิดในขณะนั้นมุ่งสู่อารมณ์ หวังว่าคงเข้าใจนะครับ อ่านแล้วเทียบเคียงกับที่อื่นด้วยนะครับจะได้เข้าใจได้ถูกต้องขี้น

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ปริศนา
วันที่ 16 ก.ย. 2551

เรียน คุณสิ่งสมมติ ทราบ

เข้าใจว่า คำถามของคุณ คือเรื่องของเจตสิกซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ละเอียดมากๆ และท่านอาจารย์สุจินต์ได้กรุณาเรียบเรียงไว้ในหนังสือ
ปรมัตถธรรมสังเขปจิตตสังเขป และ ภาคผนวก

(โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์)


กรุณาค้นคว้าเพิ่มเติมในส่วนของ ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท

คำถามที่คุณสงสัย มีคำตอบอยู่ในหนังสือเล่มนี้ค่ะ.

สามารถรับหนังสือเล่มนี้ได้ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา.


ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ปริศนา
วันที่ 16 ก.ย. 2551

เรียน คุณ choonj ทราบเมื่อได้ไปค้นคว้าจาก หนังสือปรมัติถธรรมสังเขป เพิ่มเติมเข้าใจว่า ในส่วนความหมายของเจตสิกที่คุณอธิบายอาจยังมีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียดอยู่นะคะเช่น เอกัคคตาเจตสิก เป็นต้น. ข้าพเจ้าเองก็เคยข้ามรายละเอียดไปจนทำให้ความเห็นคลาดเคลื่อนบ่อยๆ ลองเทียบเคียงและพิจารณาดู เพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไปค่ะ

ด้วยความเคารพค่ะขออนุโมทนา.

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
เมตตา
วันที่ 17 ก.ย. 2551

เรียนคุณ สิ่งสมมติ ค่ะ

สิ่งสำคัญในการศึกษาพระธรรมนั้นควรฟังให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง สภาพธรรมะที่มีจริงที่อยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอบรมให้เข้าใจมากกว่าน่ะค่ะ การศึกษาพระธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องราวที่นึกคิดไป ยิ่งเขียนเป็น diagram หรือเป็นรูปภาพ ยิ่งจะคิดนึกไปกับเรื่องราวต่างๆ จึงต้องอบรมความเข้าใจให้มั่นคงในสภาพธรรมที่ปรากฎในขณะนี้จึงเป็นปัจจัยให้สติปัฎฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตรงตามเป็นจริง ซึ่งต้องอบรมยาวนานมาก จิรกาลภาวนาค่ะ

การเหม่อลอยก็เป็นเพราะความไม่รู้ (อวิชชา) ไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ส่วนคนที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองแตกหรือป่วยสมองพิการนั้น แม้จะมองเห็นสีสันต่างๆ แต่เขาไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎทางตา ทั้งสองประเด็นนี้ต้องปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ตามความเป็นจริงค่ะ

สำหรับเจตสิก ๗ ดวงมีชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภทและทุกขณะที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย เชิญอ่านรายละเอียดจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และ ภาคผนวก

โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ หน้า ๓๘๔ ค่ะมีอธิบายเจตสิกทั้ง ๗ ดวงอย่างละเอียดซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจมากค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
choonj
วันที่ 17 ก.ย. 2551

เรียน คุณปริศนา

จุดประสงค์ของการแสดงความคิดเห็นในเว็ปนี้ก็คือ ต้องการทราบความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อมีคนเข้าเว็ปมาก โอกาสที่จะเข้าใจถูกต้องก็ต้องมีมากด้วย และถ้าผู้ที่เข้าใจถูก จะกรุณาแสดงความเห็นบอกก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่รู้ ให้ผู้อื่นร่วมอนุโมทนาคุณปริศนามีประสพการณ์ของรายละเอียดข้อความที่ถูกต้องจากที่ผมแสดงไว้ ขอความกรุณาแสดงเป็นวิทยาทานในฐานะเป็นมิตรทางเว็ป เพราะถ้าให้ผมหาเองอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่มีประสพการณ์

ด้วยความเคารพ ครับชุณห์

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ajarnkruo
วันที่ 17 ก.ย. 2551

ขอแสดงความเห็นส่วนตัว ดังนี้ครับ

เอกัคคตาเจตสิก (สมาธิ) เป็นสภาพธรรมะที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกๆ ดวง ไม่เว้น ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ของอกุศลจิต แต่เป็นการตั้งมั่นผิด จึงเรียกเอกัคตตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงว่าเป็น มิจฉาสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็ตั้งมั่นในอารมณ์ของกุศลจิต เอกัคคตตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต มีความตั้งมั่นคงยิ่งกว่าเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดอกุศลจิต การที่จะเรียกเอกัคคตาเจตสิกว่าเป็นสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ได้ ก็ต่อเมื่อเจตสิกดวงนี้เกิดร่วมกับจิต + เจตสิกอื่นๆ ที่เป็นองค์ของมรรคอีกอย่างน้อย ๕

การจะเห็นกำลังของสมาธิได้ชัดเจน จนถึงขั้นไม่ใช่บุคคล สัตว์ ตัวตน ก็ด้วยปัญญาของผู้ที่สามารถเจริญฌานจิตควบคู่ไปกับการเจริญสติปัฏฐานอย่างเป็นปรกติ (ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญามากด้วย) ไม่ใช่การเห็นคนนั่งสมาธิครับ เพราะว่านามธรรมไม่มีรูปร่างปรากฏให้เห็น เหมือนกับรูปธรรมที่เป็นสีซึ่งปรากฏทางตาได้ สมาธิเป็นนามธรรมรู้ได้ทางใจเท่านั้น แต่ขณะที่กำลังเห็นคนกำลังนั่งทำสมาธิ ขณะนั้นไม่ได้เห็นนามธรรม เป็นแต่เพียงโลกของการคิดนึกถึงสมมติบัญญัติจากสัณฐานต่างๆ ซึ่งแท้ที่จริงก็มาจากสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
เมตตา
วันที่ 17 ก.ย. 2551

เรียนพี่ ชุณห์ ที่เคารพ อย่างที่พี่ชุณห์ว่า

จุดประสงค์ของการแสดงความคิดเห็นในเว็บนี้ก็คือ ต้องการทราบความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อมีคนเข้าเว็บมาก โอกาสที่จะเข้าใจถูกต้องก็ต้องมีมากด้วย และถ้าผู้ที่เข้าใจถูกจะกรุณาแสดงความเห็นบอกก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่รู้ ให้ผู้อืนร่วมอนุโมทนา

ข้อความข้างต้นถูกต้อง ถ้าผู้นั้นมีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ก็จะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าผู้นั้นยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามพระธรรมแล้วไปแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจคลาดเคลื่อนในพระธรรมมีโทษมากน่ะค่ะ ที่คุณปริศนากรุณาแนะนำจึงเป็นสิ่งที่ดีที่กัลยาณามิตรควรเกื้อกูลกัน เพราะเมตตาก็อ่านและศึกษาจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปจิตตสังเขป และ ภาคผนวก
(โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์)
........................................

หนังสือเล่มนี้ควรอ่านบ่อยๆ หลายๆ ครั้งจะให้ความเข้าใจมากค่ะ ได้อ่านความคิดเห็นที่ ๑๓ ของคุณชุณห์ แล้วความเข้าใจในเจตสิกแต่ละดวงที่พี่ชุณห์แสดงไว้มีความหมายคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมมากค่ะ จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้ค่ะ

ขอยกธรรมเตือนใจให้พิจารณากันน่ะค่ะ

อดทนศึกษาให้เข้าใจธรรม ทุกท่านต้องมีความอดทนที่จะศึกษาให้เข้าใจธรรม อดทนฟังและศึกษาเป็นปี เป็นหลายๆ ปีแล้วก็ตลอดชีวิตด้วย ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้ว่าที่เคยเข้าใจว่าธรรมไม่ต้องศึกษา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ศึกษาแล้ว กว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นในขั้นของการฟังจนกระทั่งมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

ธรรมเตือนใจวันที่ ๐๕-๑๐-๒๕๔๗

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ



 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
suwit02
วันที่ 17 ก.ย. 2551

ขอศึกษาด้วยคน

ขออนุญาตพี่เมตตาทำลิ้งค์ดาวน์โหลดหนังสือที่พี่แนะนำครับ

ขอเชิญคลิกอ่านรายละเอียดที่นี่...

หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และ ภาคผนวก

โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ หน้า ๓๘๔

มีอธิบายเจตสิกทั้ง ๗ ดวง

อย่างละเอียดซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจมาก

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ปริศนา
วันที่ 17 ก.ย. 2551

ธรรมชาติที่สงบ

คือขณะที่จิตเป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา เท่านั้น ความสงบจริงๆ คือสภาพจิตที่เป็นกุศลที่เป็นไปในทาน ศีล หรือภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
choonj
วันที่ 17 ก.ย. 2551

สวัสดี น้องเมตตา ผ่าน คุณปริศนา

ความคิดเห็นที่ ๑๓ เป็นการแสดงเพื่อให้เห็นเจตสิก ๗ ดวงนี้เท่านั้น ว่าเขารู้อารมณ์อย่างไร ไม่ได้แสดงว่าเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซี่งถ้าจะแสดงว่าเกิดกับกุศลเป็นอย่างไร อกุศลเป็นอย่างไรก็จะยาวและไม่ตรงคำถาม และที่ว่าคลาดเคลื่อนนั้น เมตตาว่าผิดอย่างไรลองบอกให้รู้หน่อย เพื่อจะได้รู้ถูกขี้นและที่ผมแสดงนั้น ก็บอกให้ตรวจสอบกับที่อื่นด้วยจะได้เข้าใจดีขี้น เราผู้ศีกษาก็ต้องผิดเป็นธรรมดา ส่วนอาจารย์ที่ดูแลเว็บ เขาก็จะแก้ไขให้ไม่ยอมให้ผิดหรอก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
เมตตา
วันที่ 18 ก.ย. 2551

สวัสดีค่ะ พี่ชุณห์ ที่บอกว่าพี่ชุณห์แสดงความหมายของเจตสิกคลาดเคลื่อนนั้น

ขอยกตัวอย่างผัสสเจตสิกที่พี่แสดงไว้ดังนี้

ผัสสะ เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์ เกิดขี้น เช่น ทางตา สีซี่งเป็นรูปภายนอกกระทบประสาทรูปตาเป็นรูปภายในทำให้จิตเกิด สามอย่างเมื่อประชุมกัน เรียกว่ากระทบถูกต้องอารมณ์ สภาพธรรมที่เกิดขณะนั้นเรียกว่า ผัสสะ ซี่งจะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดต่อไปอีก

ทั้งหมดที่่พี่ชุณห์แสดงความหมายนั้นไม่ใช่ความหมายของ ผัสสเจตสิกเลยค่ะ

การประชุมของสี ประสาทรูปตาและจิตอย่างที่พี่ว่าสามอย่างเมื่อประชุมกัน สภาพธรรมที่เกิดขึ้นขณะนั้นก็ไม่ใช่เรียกว่า ผัสสะ

ผัสสเจตสิก เป็นเจตสิกที่กระทบอารมณ์ ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใดก็เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น กระทำกิจการงานตามหน้าที่ของจิตและเจตสิกนั้นๆ ในอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบ จิต ผัสสเจตสิกและเจตสิกอื่นๆ เกิดขึ้นกระทำกิจการงานของตนๆ พร้อมกันแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว การกระทบอารมณ์ของผัสสเจตสิกจึงทำให้อารมณ์ปรากฎ พร้อมด้วยอาการของเจตสิกต่างๆ ที่เป็นไปในอารมณ์นั้น เช่น พอใจ (โลภ) หรือไม่พอใจ (โทสะ) ในอารมณ์นั้นๆ เป็นต้น

และขอยกตัวอย่าง เอกัคคตาเจตสิกที่พี่ชุณห์แสดงไว้ว่า

เอกัคคตา เป็นธรรมชาติที่สงบและทำให้สภาพธรรมที่เกิดอยู่อยู่ในอารมณ์เดียว เช่น ผู้ที่ชอบนั่งสมาธิ

ความหมายของเอกัคคตาเจตสิกที่พี่ชุณห์แสดงไว้นี้ก็ไม่ถูกต้องค่ะ เอกัคคตาไม่ใช่ธรรมชาติที่สงบ แต่เป็นเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เอกัคคตาเจตสิกก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น

พี่ชุณห์ศึกษาจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปเพิ่มเติมนะคะ มีรายละเอียดอีกมากเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
choonj
วันที่ 18 ก.ย. 2551

เมตตา ขอบใจที่แสดงตอบ อ่านดูแล้วมันเข้าใจก้ำกี่งนะ แต่ก็เข้าใจดีขี้นขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
pornpaon
วันที่ 18 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาพี่เมตตาค่ะ (เป็นคนมีเมตตา สมชื่อจริงๆ )

อนุโมทนาคุณชุณห์ที่เข้าใจเพิ่มขึ้นด้วยนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
เมตตา
วันที่ 18 ก.ย. 2551

ยินดีมากเลยค่ะพี่ชุณห์ เดี๋ยวนี้ที่มูลนิธิฯมีบรรยายธรรมจากหนังสือ

ปรมัตถธรรมสังเขปจิตตสังเขป และ ภาคผนวก

(โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์)

เริ่มตั้งแต่ ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. ค่ะ ขออนุโมทนาพี่ชุณห์ด้วยที่มีความเพียรศึกษา พระธรรม และ ขออนุโมทนาในกุศลจิต ที่พี่เอื้อเฟื้อรับส่งสหายธรรมหลายคน มาฟังพระธรรมที่มูลนิธิฯค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ