เรื่องของ...ปาณาติบาต

 
พุทธรักษา
วันที่  16 ก.ย. 2551
หมายเลข  9868
อ่าน  6,181

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


แนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๓๔๑ บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ศีลข้อที่ ๑

ทุกคนคงทราบแล้วใช่ไหม ได้แก่เจตนา ที่งดเว้นการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต"ปาณาติปาตาเวรมณี"

ในสัทธัมมปกาสินี อรรถกถา มีข้อความว่า บรรดาคำเหล่านี้ คำว่า ปาณาติปาต สํวรเฐนด้วยการ สำรวมปาณาติบาต ได้แก่ด้วยการปิดการทำสัตว์มีปาณให้ตกล่วงไป ชื่อว่า เป็นศีล ปาณ คือ ลมหายใจ ได้แก่ สัตว์ที่มีชีวิตนั่นเอง

เพราะฉะนั้น การสำรวมปาณาติบาต ไม่ล่วงการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป ชื่อว่า เป็นศีล ข้อความต่อไปมีว่าที่ว่า ศีล นั้น คืออย่างไร

การงดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่า ศีลและการงดเว้นจากปาณาติบาตนั้น สำรวมอยู่ซึ่งปาณาติบาตนั้น นั่นเอง ไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ศีล เพราะอรรถว่าไม่ก้าวล่วง แต่ในคำว่า ปาณาติปาตํ เป็นต้น การทำสัตว์มีปราณ (ลมหายใจ) ให้ตกล่วงไปในบรรดาอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีคำอธิบายว่าการฆ่าสัตว์มีปราณ คือ มีปาณคือ การประหารสัตว์มีปราณ ชื่อว่า ปาณาติบาต

ก็คำว่า ปาณ นี้ โดยโวหาร ได้แก่สัตว์ โดยปรมัตถ์ ได้แก่ ชีวิตินทรีย์ การทำปาณาติบาตนั้นอันบุคคลให้เป็นไปแล้วในสัตว์เล็ก บรรดาสัตว์ทั้งหลายมีเดรัจฉาน เป็นต้น ที่เว้นจากคุณ มีโทษน้อย ที่เป็นไป ในสัตว์ใหญ่ มีโทษมาก

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า เพราะมีความพยายามมาก เมื่อมีความพยายามมากพอประมาณก็มีโทษเหมือนกันเพราะเป็นวัตถุใหญ่

ปาณาติบาต ที่เป็นไปใน สัตว์มีคุณน้อยในบรรดามนุษย์ด้วยกัน ที่มีคุณด้วยกัน มีโทษน้อยที่เป็นไปในสัตว์ที่มีคุณมาก มีโทษมากแต่เมื่อรูปร่าง และคุณเสมอกัน เพราะกิเลส มีความพยายามอ่อนปาณาติบาต ก็พึงทราบว่า มีโทษน้อยเพราะกิเลสและความพยายามแรงกล้าปาณาติบาติ ก็พึงทราบว่า มีโทษมาก

ท่านผู้ฟังก็จะได้พิจารณาถึงการฆ่าสัตว์ว่าเป็นกรรม ที่มีกำลัง มากน้อย ต่างกันก็เพื่อ วัตถุประสงค์ประการหนึ่ง คือ สัตว์ที่ถูกฆ่านั้น เป็นผู้ที่ มีคุณน้อย หรือมี คุณมากถ้าสัตว์นั้นมีคุณน้อย ก็ย่อมเป็นกรรมที่ แรงน้อยกว่า สัตว์ที่มีคุณมากหรือว่า ถ้าพูดถึงรูปร่าง ขนาด สัตว์เล็ก ก็ย่อมเป็นกรรม ที่มีความแรงน้อยกว่าการฆ่าสัตว์ใหญ่ ที่มีรูปร่างขนาดใหญ่

ท่านจะต้องพิจารณาถึงความพยายาม และกิเลสของท่านด้วยว่าขณะนั้น กิเลสมีกำลังกล้า หรือมีกำลังอ่อนแล้วมี ความพยายามมากหรือมี ความพยายามน้อย ในการฆ่า

คนอื่นจะทราบได้ไหม?เป็นเรื่องของตัวท่านเองจริงๆ ถ้าจะมีการล่วงทุจริตทางกายคือ ปาณาติบาต คือการฆ่าสัตว์อื่นท่านจะทราบได้ในขณะนั้น ด้วยวัตถุว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณมาก หรือน้อยสัตว์ใหญ่ หรือสัตว์เล็ก

แล้วตัวท่านเองนั้นมี (กำลัง) กิเลสมากหรือน้อยมี (กำลัง) ความพยายามมาก หรือน้อย.
แต่ว่าหากว่า ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านจะรู้ได้ ตามความเป็นจริง

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และสรรพสัตว์



สัจธรรม คือ ความเป็นจริง เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยเหตุย่อมตรงกับผลเสมอ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงแต่ไม่มีข้อความใดเลย ในพระไตรปิฎกที่ส่งเสริมให้เกิดอกุศลจิตแม้เพียงเล็กน้อย มิต้องกล่าวถึงการฆ่าสัตว์อื่นที่เป็นอกุศลกรรมบถ การฆ่าสัตว์อื่น แม้จะมีโทษน้อยหากกระทำบ่อยๆ เนืองๆ จนเป็นอุปนิสัยย่อมสั่งสมใน "จิต" เป็นเหตุเป็นปัจจัย แก่การฆ่าสัตว์อื่นที่เป็นโทษมากขึ้นเรื่อยๆ


ชื่อว่า "จิต" เป็นธรรมชาติสั่งสมสันดานด้วยควมสามารถแห่งชวนวิถี (ปรมัตถธรรมสังเขป หน้า ๘๖ บทที่ ๓)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 17 ก.ย. 2551

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงแต่ไม่มีข้อความใดเลย ในพระไตรปิฎกที่ส่งเสริมให้เกิดอกุศลจิตแม้เพียงเล็กน้อย

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 17 ก.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 ก.ย. 2551

ถ้ายังไม่มีคุณธรรมเบื้องต้นคือศีล จะอบรมเจริญสติปัฏฐานยิ่งยากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 18 ก.ย. 2551

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pornpaon
วันที่ 18 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 6 ก.ย. 2564

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

สัพพลหุสสูตร

(๑๓๐) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากแห่งปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นผู้มีอายุน้อยให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์ ฯ

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

บทว่า ปาณาติปาโต ได้แก่ เจตนาเป็นเหตุทำสัตว์มีปราณให้ล่วงไป.

บทว่า สพฺพลหุโส แปลว่า เพลากว่าวิบากทั้งหมด.

บทว่า อปฺปายุกสํวตฺตนิโก ความว่า เป็นผู้มีอายุน้อยเพราะกรรมวิบากนิดหน่อยนั้น หรือเมื่อพอให้ปฏิสนธิ สัตว์ที่อยู่ในท้องมารดา หรือสัตว์ผู้พอออกจากท้องมารดาแล้วย่อมย่อยยับ.

ความจริง วิบากเห็นปานนี้ไม่ใช่เป็นวิบากเครื่องไหลออกจากกรรมอะไรๆ อื่น นี้เป็นทางไปเฉพาะปาณาติบาตเท่านั้น.....

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

ตัณหาสูตร

[๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่าสติปัฏฐาน ๔ แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓ แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ แม้การสำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ แม้สติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหารก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ ....

การได้รับความทุกข์ทางกายที่ไม่ดี เกิดจากเหตุที่ทำไม่ดีทางกายแก่ชีวิตอื่นมาก่อน การให้ผลของกรรมเที่ยงตรงเสมอ ทั้งหมดเป็นไปด้วยสภาพธรรมฝ่ายเหตุและผลที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาได้

การศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นจากพระสูตร พระอภิธรรม ที่พระพุทธองคทรงแสดงเป็นไปเพื่อความเข้าใจเรื่องของเหตุและผลทั้งสิ้น

ศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกที่

อาหารของสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ

อินทรียสังวร สุจริต 3 สติปัฏฐาน [อรรถกถากุณฑลิยสูตร]

เราเองทำกรรมและรับผลของกรรม

กรรมเป็นเรื่องละเอียด

กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และขอบพระคุณยินดีในกุศลธรรมทานทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ