ความเจ็บป่วย...เป็นผลของกรรมเก่าหรือไม่ ?

 
พุทธรักษา
วันที่  10 มี.ค. 2552
หมายเลข  11575
อ่าน  7,766

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คนที่เจ็บป่วยเสมอๆ นั้น มีอาจารย์บางท่านบอกว่า เป็นเพราะไม่รักษาสุขภาพให้ดี ถึงเวลากิน ก็ไม่กิน ถึงเวลานอน ก็ไม่นอน หรือเวลาหนาว ก็ไม่ปกปิดร่างกายให้อบอุ่นพอ เป็นต้น ท่านไม่ได้เอ่ยถึงกรรมเก่าเลย ทั้งนี้เพราะว่าท่านองค์นั้น ไม่เชื่อ ว่ามีชาติก่อน และชาติหน้า ท่านพูดเสมอ ว่า ตายแล้วก็สิ้นสุดกันเท่านี้ อยากทราบว่า ที่ท่านพูดนี้ ถูกต้องประการใด

สำหรับเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอัตตทัณฑสูตร มหานิเทศ ข้อ ๗๙๒ มีข้อความตอนหนึ่งว่า อาพาธ คือ มีดีเป็นสมุฏฐาน (เหตุ) ก็มี อาพาธ มีเสมหะเป็นเหตุให้เกิด ก็มีอาพาธ มีลมเป็นเหตุให้เกิด ก็มีอาพาธ เกิดจากฤดูแปรปรวน ก็มี อาพาธ เกิดจากการบริหารตน ไม่สม่ำเสมอ ก็มี อาพาธ เกิดจากความเพียรเกินกำลัง ก็มี อาพาธ เกิดเพราะ "ผลของกรรม" ด้วยความร้อน ความหนาว ความหิวความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ก็มี

จากข้อความ ที่ยกมานั้น ผู้ถามก็จะทราบได้ว่าอาพาธ คือ ความเจ็บป่วย หรือ โรคภัยไข้เจ็บ นั้น เกิดจากเหตุหลายอย่าง รวมทั้งเกิดจากกรรมด้วย โรคทางกายทุกอย่าง ที่ทำให้กาย เป็นทุกข์ เดือดร้อนนั้น ล้วนเป็นผลของกรรมทั้งสิ้น เพราะว่า จิต ที่ได้รับทุกขเวทนาทางกาย มีชื่อว่า "ทุกขสหคตะกายวิญญาณจิต" อันเป็น จิต ที่เป็น ผลของอกุศลกรรม คือ อกุศลวิบาก นั่นเอง ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม จะเข้าใจได้ดี ว่าเมื่อใด ที่จิตดวงนี้เกิดขึ้น ก็ทราบได้ว่า ขณะนั้น อกุศลกรรม กำลังให้ผลแล้ว

ส่วนโรค ที่เกิดจากสาเหตุ อื่นๆ ที่นอกจากกรรม อาจจะรักษาให้หาย ก็ได้ หรือบางที ไม่ต้องรักษาก็หาย แต่ถ้าเป็น โรคที่เกิดจากกรรม รักษาเท่าไร ก็ไม่หาย เว้นเสียแต่ว่าจะสิ้นกรรม หรือกรรมนั้นหมดโอกาสให้ผลแล้ว

อันที่จริง เรื่องของการรักษาโรคนั้น โดยเฉพาะ ถ้าเป็นบ่อยๆ เช่น เจ็บออดๆ แอดๆ อยู่เสมอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นผลของการเบียดเบียนสัตว์อื่น ให้ลำบากเดือดร้อน (จะเป็นผลของกรรมชาตินี้ หรือในอดีตชาติก็ได้) และอีกประการหนึ่ง คนที่เป็นโรคนั้น แม้ไม่ใช่โรค ที่เกี่ยวกับ ผลของกรรม อันได้แก่ การเบียดเบียนสัตว์ เป็นต้น เช่น ผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศ ฝนตกทีไร เป็นหวัดอยู่เสมอ เป็นต้น อันนี้ ก็เป็นโรค ที่เกิดจากอุตุ อันได้แก่ ความเย็น ความร้อน ฯลฯ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่คงที่

ถึงอย่างนั้น เมื่อเวลาที่เป็นโรค ทุกขเวทนาทางกายก็เกิดขึ้น จิต ที่ประกอบด้วย ทุกขเวทนาทางกาย เป็น อกุศลวิบากจิต ซึ่ง เป็นผล ของอกุศลกรรม ที่ได้กระทำแล้วในอดีต

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร แม้ไม่มีกรรม เป็นเหตุเกิด เช่น โรคที่เกิดจากอุตุ ถึงกระนั้น ก็จะต้องมีกรรมในอดีต มาเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมสนับสนุนด้วย เพราะถ้าหากว่า ไม่มีกรรมในอดีต มาเป็นปัจจัยสนับสนุนแล้ววิบากจิต ที่ประกอบด้วยทุกขเวทนาทางกาย ย่อมไม่เกิด

ด้วยเหตุนี้ ความอาพาธ หรือ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจากโรคใดๆ เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด จะต้องมีอดีตกรรม เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนเสมอ เพราะฉะนั้น อดีตกรรม อันเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย จึงเป็นเหตุปัจจัย ที่ทำให้ได้รับทุกขเวทนาทางกาย มากบ้างน้อยบ้าง สุดแต่อำนาจของกรรมที่ให้ผลว่าเป็น กรรมที่หนัก หรือ เป็นกรรมที่เบา ถ้ากรรมมีกำลังมาก ก็ทุกข์มาก ถ้ากรรมมีกำลังน้อย ก็ทุกข์น้อย แต่ที่จะพ้นไปจากกรรม ไม่มีเลย



ข้อความบางตอนจากหนังสือ "คุยกันวันพุธ" เล่มที่ ๒๑ "ที่พึ่งอันประเสริฐ" โดย คณะสหายธรรม

ขออนุโมทนา

คำอธิบาย เรือง "ปกตูปนิสสยปัจจัย"

ท่านอาจารย์ (จิตประเภทต่างๆ) จะมีกำลังหรือ ไม่มีก็ตามแต่เมื่อเกิดแล้ว แสดงว่ามีกำลังพอจึงเกิดได้ ส่วนกำลังจะมาก หรือ น้อย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เกิดแล้ว แสดงว่า มีกำลังพอ จึงเกิด แม้แต่วิบากกรรมต่างๆ คือ ผลของกรรม ในชาตินี้ก็จะเห็นได้ว่า ขณะใด ที่ได้รับผลของกรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถึงแม้จะไม่รู้ ว่า เป็นเพราะกรรมอะไร

แต่กรรมนั้นต้องเป็น อุปนิสสยปัจจัย และ เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย แล้ว จึงสามารถเป็นปัจจัย ทำให้ วิบากประเภทนั้นๆ เกิดได้เพราะเหตุว่า ว่า กรรม มีมากมายเหลือเกิน แต่กรรมใด ซึ่งสามารถทำให้วิบากเกิดได้กรรมนั้น จะต้องเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยจึงทำให้ วิบากจิตนั้นๆ เกิดขึ้นได้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 มี.ค. 2552

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 190

๑๐. อาพาธสูตร

ว่าด้วยทรงแสดงสัญญา ๑๐ ประการแก่พระคิริมานนท์ผู้อาพาธ

[๖๐] สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่คิริมานนท์ภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนท์ภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

สัญญา ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑.

ดูก่อนอานนท์ ก็อนิจจสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้ เรียกว่า อนิจจสัญญา.

ดูก่อนอานนท์ ก็ อนัตตสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตาเสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฎฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะ ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา.

ดูก่อนอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องต่ำ แต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มโดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตาเปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา.

ดูก่อนอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรค กาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคิดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐานอาพาธ มีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา.

ดูก่อนอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมด สิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่ง อกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดูก่อนอานนท์นี้เรียกว่า ปหานสัญญา.

ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 10 มี.ค. 2552

โรคทางกายทุกอย่าง ที่ทำให้กายเป็นทุกข์เดือดร้อนนั้นล้วนเป็นผลของกรรมทั้งสิ้น.

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 10 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2552
อ่านดีมากครับ ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 11 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
captpok
วันที่ 26 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
คนบ้านนอก
วันที่ 26 มี.ค. 2552
กราบอนุโมทนาในธรรมและผู้แสดงธรรม ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
worrasak
วันที่ 14 ก.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ