วินัยพระกับเณร

 
pong2
วันที่  29 ม.ค. 2556
หมายเลข  22412
อ่าน  45,989

วินัยพระกับเณรต่างกันอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยศัพท์คำว่า สามเณร หมายถึงเหล่ากอ หรือเชื้อสายของสมณะ สามเณรมีสิกขาบท ๑๐ คือ

-งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

-งดเว้นจากการลักทรัพย์

-งดเว้นจากการประพฤติอพรหมจรรย์ (การเสพเมถุน)

-งดเว้นจากการพูดเท็จ

-งดเว้นจากดื่มสุราเมรัย

-งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

-งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น

-งดเว้นจากการลูบทา ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว

-งดเว้นจากการนั่งและการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

-งดเว้นจากการรับเงินทอง

เมื่อสามเณรก้าวล่วงสิกขาบท ข้อที่ ๑ ถึง ข้อที่ ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อนั้นย่อมขาดจากความเป็นสามเณรทันที (เหมือนปาราชิกของพระภิกษุ) ย่อมควรแก่การนาสนะคือขับไล่ออกจากวัด แต่เมื่อก้าวล่วงสิกขาบท ๕ ข้อหลัง ควรแก่การลงโทษบางอย่างตามสมควรแก่พระวินัย แต่สามเณรที่ขาดจากความเป็นบรรพชิตแล้ว เมื่อกลับตัวกลับใจ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ พระภิกษุท่านให้สรณะและศีลใหม่ ความเป็นสามเณรก็ยังคงเหมือนเดิมเมื่ออายุครบก็บวชเป็นพระภิกษุได้ ซึ่งต่างจากพระที่ว่าเมื่อปาราชิกแล้ว จะกลับมาบวชเป็นพระภิกษุใหม่อีกไม่ได้

สรุป คือ ปาราชิกของสามเณรกับปาราชิกของพระภิกษุไม่เหมือนกัน อนึ่ง สามเณรมีปาราชิก ๒ ประเภท คือ ประเภทแรกที่กล่าวไป กลับมาบวชใหม่ได้ แต่ปาราชิกอีกประเภทหนึ่งบวชใหม่อีกไม่ได้ เช่น สามเณรข่มขืนพระภิกษุณี หรือฆ่าพระอรหันต์ เป็นต้น กลับมาบวชเป็นสามเณร หรือพระภิกษุอีกไม่ได้

ดังนั้น สำหรับสามเณร ไม่ได้มีอาบัติดังเช่นพระภิกษุ ไม่มีอาบัติสังฆาทิเสส แต่สามารถขาดจากการเป็นสามเณรได้ และ มีการลงโทษตามสมควรกับพระวินัยได้ ครับ เมื่อสามเณรไม่ได้มีอาบัติสังฆาทิเสสเช่นพระ จึงไม่ต้องอยู่ปริวาส ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่ครับ

เกี่ยวกับสามเณร

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pong2
วันที่ 29 ม.ค. 2556

ขอบคุณครับ ตอนบวชพระทำสังฆาทิเสสแล้วสึกมา ไม่ได้แก้ ถ้ากลับไปบวชเป็นสามเณรจะได้หรือเปล่า ความผิดเดิมจะต้องทำอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 29 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

เมื่อคราวบวชเป็นพระ ไม่ว่าจะต้องอาบัติข้ออะไร หากสึกออกมาแล้ว เป็นเพศคฤหัสถ์ ย่อมไม่มีอาบัติตติดตัวมา ครับ และ ก็สามารถบวชเป็นสามเณรได้ และ อาบัติ มีสังฆาทิเสส เป็นต้น ก็ไม่ติดตามมาด้วย ไม่ต้องทำปลงอาบัติสังฆาทิเสส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pong2
วันที่ 29 ม.ค. 2556

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 29 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยบัญญัติแต่ละสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้นๆ อันจะเป็นไปเพื่อฝึกหัด กาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะล่วงละเมิดสิกขาบท ก็ย่อมจะมีได้มาก รวมถึงต้องอาบัติสังฆาทิเสสด้วย ซึ่งเมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ต้องแก้ไขด้วยการประพฤติวุฏฐานวิธี (อยู่กรรม) ตามพระวินัย จึงจะพ้นจากอาบัติสังฆาทิเสสได้ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผลนิพพาน และถ้ามรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ถ้าได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เป็นเครื่องกั้น

สำหรับสามเณร ไม่มีอาบัติสังฆาทิเสส แต่ขึ้นชื่อว่าสิ่งไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต เช่น จับต้องกายหญิง พูดเกี้้ยวหญิง เป็นต้น แม้สามเณรก็ไม่ควรกระทำ เป็นสิ่งที่จะมีแต่จะเพิ่มโทษให้ตนเองโดยส่วนเดียว

ถ้าหากว่าลาสิกขาแล้ว ก็ไม่ใช่เพศบรรพชิตอีกต่อไป แต่เป็นคฤหัสถ์ สามารถเป็นคนดี ในเพศคฤหัสถ์ได้ โดยไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่กระทำในเพศบรรพชิต เพราะเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไม่ใช่เพศบรรพชิตอีกต่อไป ก็ควรที่จะเป็นคนดี ควบคู่ไปกับการฟังพระธรรมให้เข้าใจให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 29 ม.ค. 2556

พระภิกษุกับเณร ศีลก็ต่างกันแล้ว พระภิกษุ ๒๒๗ ข้อ เณร ๑๐ ข้อ เณรหุงหาอาหารได้ แต่พระทำไม่ได้ เณรไม่ต้องอยู่ปริวาส เพราะไม่ต้องถือศีลมากเหมือนพระภิกษุสงฆ์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 30 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ