การเลิกคบคน

 
ดรุณี
วันที่  7 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23013
อ่าน  7,332

การเลิกคบคนที่ทรยศหักหลัง พาไปในทางตกต่ำ หรือโกหกหลอกลวงและปอกลอก การที่เลิกติดต่อ เลิกคุย ไม่ยุ่งด้วย ไม่เห็น ไม่รับรู้ เพราะถ้าไปรับรู้แล้วโกรธขึ้นมาอีก ก็จะให้อภัยไม่ได้ แต่มีคนแนะนำว่าถ้าจะฝึกให้อภัยและฝึกขันติ ต้องทำตัวปกติเหมือนเดิมและไปคลุกคลีเหมือนเดิม จนกว่าขันติจะมีกำลังและให้อภัยได้ ท่านวิทยากรมีความเห็นว่าอย่างไรคะ (แต่ในสถานการณ์บางอย่างและสำหรับคนบางคน ถ้ายังไปรับรู้หรือเข้าไปเสพคุ้นเหมือนเดิม ดูเหมือนว่าอกุศลจะกำเริบขึ้นเรื่อยๆ )


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ดรุณี
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

และมีคำกล่าวที่ว่า “ถ้าเราเป็นมิตรที่ดี ต้องอดทนและให้อภัยเมื่อมิตรทำไม่ดีกับเรา ถ้ามิตรเผลอทำชั่วทำผิดแค่”ครั้งเดียว” แล้วเราเลิกคบ แสดงว่าเราไม่ใช่มิตรแท้” ได้ยินประโยคนี้เลยสงสัยว่า การเลิกคบใคร บ่งบอกว่าเรานั้นไม่ใช่มิตรแท้หรือ เมื่อใครทำสิ่งไม่ดีที่บ่งบอกว่าเขาเป็นมิตรไม่ดี มิตรที่ไม่ควรคบ หากเราจะเป็นมิตรที่ดี ก็ไม่ควรเลิกคบเขาและให้อภัยเขาและอดทนคบต่อไปใช่หรือไม่ (แต่คำว่า "ครั้งเดียว" เห็นจะไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่คนเราก่อนจะเลิกคบใคร มักจะมีการอดทนและให้อภัยหลายครั้ง โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าผิดอะไร เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองผิด)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นโดยรวม ดังนี้ ครับ

ประโยชน์จริงๆ อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีแต่ธรรม เท่านั้น ที่เป็นคนไม่ดี เป็นคนหักหลัง หลอกลวง ...ฯลฯ.. ก็เพราะบุคคลนั้นมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ขณะที่เราเข้าใจตามความเป็นจริงว่า บุคคลที่มีกาย วาจา อย่างใด ก็เป็นไปตามการสะสมของบุคคลนั้นเอง ซึ่งสะสมมาที่จะคิด พูด หรือกระทำอย่างนั้นๆ ถ้าเป็นการคิด พูด และกระทำในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศลของเขา เมื่อเขาเป็นอย่างนี้ควรอย่างยิ่งที่เราจะสงสารเขา ไม่ควรซ้ำเติมเขา ถ้าจะเป็นมิตรกับเขาได้ นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ดี โดยที่ไม่ใช่การไปคลุกคลี แต่มุ่งประโยชน์แก่เขา แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ช่วยเท่าที่จะช่วยได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ขณะนั้นความเป็นมิตรความเป็นเพื่อนก็เกิดมีในเรา เพราะเหตุว่า ความเป็นมิตร มิได้เจาะจงที่จะเป็นมิตร เฉพาะกับคนที่ดี เท่านั้น แต่ทั่วไปหมดทุกคน

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีข้อความที่อุปมาเปรียบเทียบไว้ว่าบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี เลวทราม เปรียบเหมือนกับที่เป็นไข้หนัก ไม่มีคนดูแลรักษา ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มียารักษาโรค และเราสามารถที่จะช่วยเขาให้มีกำลังพอที่จะสามารถเดินต่อไปได้ ก็ควรที่จะช่วยเหลือ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ก็แสดงให้เห็นว่า ความเป็นมิตร สามารถที่จะขยายกว้างออกไป เพราะว่า ความเป็นมิตร ย่อมไม่โกรธ ย่อมไม่หวังร้าย ซึ่งเป็นการเตือนให้รู้จักว่า "มิตรแท้จริงๆ ก็คือ กุศลธรรม นี้เอง"

ขณะที่เป็นกุศลจิต คิดไม่ดีต่อคนอื่น ตรงกันข้ามกับมิตรอย่างสิ้นเชิง ขณะนั้นมีศัตรูที่ใกล้ที่สุด อยู่ที่จิตของตนเอง และกำลังทำร้ายตนเองโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า ต่อไปถ้าศัตรูนี้มีกำลังมากขึ้นก็จะทำอันตรายได้มากกว่านี้อีก กุศลนี้เอง เป็นศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างแท้จริง ควรอย่างยิ่งที่จะขัดเกลาละคลายให้เบาบาง

ไม่เคยมีใครไม่เคยทำผิด แม้แต่ตัวเราเองก็เคยทำผิดมาเหมือนกัน เวลาทำผิดแล้ว เราเองก็อยากจะให้คนอื่นเขาเห็นใจ ไม่ต้องการการซ้ำเติม ฉันใด คนอื่น ก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นแล้ว ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน สำคัญที่สุด เกื้อกูลเท่าที่จะเกื้อกูลได้ อดทน เพื่อที่จะให้เขาเป็นคนดี แต่การโกรธ การเบียดเบียนตอบ ย่อมไม่ควรโดยประการทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ ความเป็นมิตร ต้องอยู่ที่จิตและต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล นั่นเอง ครับ ก็ขอให้คุณดรุณี หนักแน่นมั่นคงในคุณความดีต่อไป นะครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มิตร หมายถึง ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ซึ่งมิตรที่ควรคบก็มี มิตรที่ไม่ควรคบก็มี มิตรที่ควรคบ คือ มิตรที่ดี มีคุณธรรม ไม่ใช่คนเทียมมิตร เป็นมิตรที่ให้ความจริงใจ ไม่ประทุษร้าย และ ประกอบด้วยคุณธรรมอันดีงาม ที่เป็นมิตรแท้ เช่น อดทนสิ่งที่ทน ได้ยาก เป็นผู้ให้อนุเคราะห์มิตร หวังดี โดยไม่มีผลตอบแทน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๓ ควรคบ องค์ ๓ คืออะไร? คือ

ทุทฺทท ททาติ ให้สิ่งที่ให้ยาก ๑

ทุกฺกร กโรติ ทำสิ่งที่ทำยาก ๑

ทุกฺขม์ ขมติ ทนสิ่งที่ทนยาก ๑

และ มิตรที่ดี โดยนัยอื่นๆ ก็มีดังนี้

ท่านอ.สุจินต์ ... มีเพื่อนเยอะไหมคะ แต่ละท่านมีเพื่อนเยอะไหม เพื่อนเป็นกัลยาณมิตร หรือเปล่า ตอนนี้มาถึงเพือนแล้วนะคะ ถ้าเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรเป็นยังไง หมายความ ว่ายังไง เป็นผู้ที่หวังดี หวังดีให้เราได้ลาภ ได้ยศหรือยังไงคะ หรือว่าหวังดีให้เราเกิด กุศล ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ให้เข้าใจถูก นั่นแหละค่ะคือเพื่อนดีจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้า ไม่มีเพื่อนดีนะคะ เราสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ไหม เพราะว่าเรามีเพื่อนดีที่ช่วยให้เรา สนุกสนานและก็ให้ได้ลาภ ได้ยศได้อะไร ได้อะไรต่างๆ แต่ว่าให้เราเข้าใจธรรม ให้ เข้าใจความจริง ให้ละอกุศลต่างๆ หรือเปล่า เพราะฉะนั้นความเป็นเพื่อนที่ดีนะคะ คือ เกื้อกูลให้เกิดกุศล เพื่อนคนไหนแนะนำให้เกิดกุศลรู้ได้เลยค่ะว่าเป็นเพื่อนที่ดี แต่ว่าจะ เป็นกุศลมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ว่าทำให้เกิดปัญญามากน้อยแค่ไหนด้วย

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ลักษณะกัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร หมายถึงเพื่อนที่ดี ไม่เกี่ยวกับทางธรรมได้หรือไม่

กัลยาณมิตร ... บรรณาการที่ประเสริฐที่สุด

กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

ความมีมิตรดี [ทุติยเสขสูตร]

ส่วนลักษณะของมิตรที่ไม่ควรคบ ที่เป็นลักษณะของคนเทียมมิตร เช่น มิตรปอกลอก หวังประโยชน์ในการคบ มิตรที่ประทุษร้ายมิตร ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอีกอย่าง คนหัว ประคบ คนที่อนุเคราะห์ในทางที่ผิด แนะนำในสิ่งที่ผิด เช่น เป็นผู้มีความเห็นผิด และ ชักชวนไปในทางเสื่อม รวมความว่า

เป็นผู้ที่เป็นคนพาล ไม่มีคุณธรรม บุคคลเหล่านี้ไม่ควรคบ คำว่า คบ จึงจะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าหมายถึงอะไร การคบ คือ การเข้าไป สนิทสนม คุ้นเคย พูดคุย ด้วยกายและ วาจา เป็นต้น ชื่อว่า คบ การไม่คบ คือ การ ไม่ไปพูดคุย สนิทสนม คุ้นเคย ชื่อการไม่คบ

ดังนั้น การไม่คบคนพาล เป็นมงคลข้อที่ หนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก สำหรับการจะได้ความ เจริญ ที่เป็นมงคล หรือ ความเสื่อม เพราะ เมื่อได้ เข้าไปคบ คนที่เป็นคนพาล คนที่ เป็นศัตรู ไม่หวังดี มากไปด้วยอกุศล และ เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เป็นต้น สมดังที่ พระโพธิสัตว์ เมื่อเป็น อกิตติดาบสกล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า

ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไร ท่านจึงไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร พระคุณเจ้าจึงไม่ปราถนาที่จะเห็นคนพาล

คนพาลย่อมแนะนำสี่งไม่ควรแนะนำ ย่อมขวนขวายในกิจอันไม่ใช่ธุระ คนพาลแนะนำ ให้ดีได้ยาก พูดดีหวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐกลับโกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย การ ไม่ เห็นคนพาลได้เป็นความดี

ดังนั้น หากคบกับบุคคลที่เป็นคนพาล ก็ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมประการต่างๆ อัน เป็นมงคลข้อที่ หนึ่ง คือ การไม่คบคนพาล ย่อมนำมาซึ่งความเจริญ และ ในชาดก อื่นอีก พระโพธิสัตว์ ก็กล่าวว่า ไม่ควรอยู่ในสำนักของศัตรู แม้คราวเดียว เพราะ ศัตรู ย่อมนำภัยมาให้

การไม่คบ จึงไม่ได้หมายถึง การไม่ให้อภัยไม่มีเมตตา แต่ การไม่คบ เพื่อประโยชน์ ของตนที่จะไม่นำความเสื่อมมาให้กับตนเอง แต่ แม้ไม่คบกับบุคคลนั้น ก็สามารถมี เมตตา ด้วยการอนุเคราะห์ ช่วยเหลือแต่ไม่เสพคุ้นได้ ครับ สมดังบัณฑิตทั้งหลาย กล่าวว่า คนพาล ไม่คบ แต่ อนุเคราะห์บุคคลเหล่านั้นได้ ครับ

เปรียบดังเช่น งูเห่า เมื่อยามเจ็บป่วยก็สามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็น สัตว์ไม่ซื่อ พร้อมที่จะทำร้ายทุกเมื่อ แต่ ก็ช่วยเหลือ อนุเคราะห์เมื่อสัตว์นั้นประสบภัย และ เมื่อช่วยเหลือแล้ว ก็ไม่เสพคุ้น คือ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเอางูเห่ามาอยู่ด้วย มาเสพคุ้น เพราะ จะนำม่ซึ่งภัย กับตนเอง แต่ ก็หลีกไป ปล่อยงูเห่าไป เพราะได้ทำ หน้าที่ของมิตร คือ ความหวังดีด้วยกาย วาจาแล้วในขณะนั้น

ฉันใด บุคคลที่เป็นคนพาล ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ขันติเจริญ โดยการไปคบคน พาล เพราะ ต้องไม่ลืมว่า ปุถุชนหนาด้วยกิเลส โดยมากแล้วก็ย่อมไหลไปตามกิเลส ได้ง่ายเป็นธรรมดา เพราะ ยังไม่มีปัญญาที่มั่นคงเพียงพอ เพราะฉะนั้น บุคคลคบคน เช่นไรก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ - หน้าที่ 217

ข้อความบางตอนจาก ...

มหานารทกัสสปชาดก

[๘๖๒] ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่น ใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีลหรืออสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล เขาย่อม ตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น บุคคลกระทำคนเช่นใด ให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อม เป็นเช่นคนนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น ได้ ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อย่อมติดนิสัย ผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง ฉะนั้น.

ดังนั้น ก็ไม่ควรเสพ ตามมงคลข้อที่ หนึ่ง และ อนุเคราะห์ในเวลาอันสมควร เพราะ การคบคนพาล นำมาซึ่งโทษมากมาย ดังเช่น พระเจ้าอชาตศัตรู คบกับพระเทวทัต ก็ทำให้เสื่อมจากคุณธรรมและฆ่าพระราชบิดา ก็ทำให้ไปอบายภูมิ เพราะ การคบคน พาลเป็นสำคัญ

การเสพคุ้น คุ้นคย จึงต้องพิจารณาถึงบุคคลที่คบว่า ควรเสพคุ้นหรือไม่ เพราะ ขันติจะเจริญไม่ได้หมายความว่าจะต้องประสบกับคนพาลบ่อยๆ เพราะ จะทำให้อกุศล เจริญมากกว่า กุศล แต่ ขันติ ที่เป็นความอดทนจะเจริญขึ้นได้ สำคัญ คือ ปัญญาความ เข้าใจพระธรรมที่เจริญขึ้น เมื่อมีปัญญามากขึ้น ขันติ เมตตา กุศลธรรมประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้น เหตุให้เกิดขันติ คือ การงดเว้นคบกับคนพาล และเสพคุ้นกับบัณฑิตที่ประเสริฐสูงสุด คือ พระพุทธเจ้าที่แสดงพระธรรม ให้สัตว์ โลกได้ศึกษาและฟังพระธรรม อันเป็นเหตุให้เกิดปัญญา เกิดความเข้าใจพระธรรม ย่อมจะเป็นปัจจัยให้คิดถูก และ อดทน มีขันติมากขึ้นในทางกุศล เพราะ ปัญญา เจริญขึ้นจากการฟังพระธรรม และ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ย่อมรู้ทางที่ควรเสพ ทาง ที่ไม่ควรเสพ เหมือนพ่อค้า รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่ค้าขาย ควรเข้าไปในทางไหน ทางไหน เป็นทางที่มีโจรก็หลีกเส้นทางนั้น ปัญญารู้ว่าอะไรควร ไม่ควร ปัญญา จึงรู้ว่า ไม่ควรคบคนพาล ควรคบบัณฑิต และ อนุเคราะห์ได้ทุกคน แม้ไม่คบก็ มีเมตตา และ กุศลจิตในบุคคลที่เป็นคนไม่ดีได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"เราอยากมีมิตรที่ดี หรือ เราจะเป็นมิตรที่ดี"

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
bsomsuda
วันที่ 8 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 8 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 9 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
SOAMUSA
วันที่ 11 มิ.ย. 2556

ขออนุญาติออกความคิดเห็นค่ะ

ในคนธรรมดาอย่างเราๆ นี้ การที่เราจะคบกับคนพาลนั้น มี 2 อย่างที่เกิดกับเราคือ ไม่เสมอตัว ก็ติดลบ ส่วนจะให้กุศลเกิดได้เมื่ออยู่ใกล้คนพาลนั้นยากมากที่สุด

ถ้าจะคบเพราะสงสารเค้า ก็ประคองตนให้ดีอย่าให้ติดลบ เรื่องที่กุศลจะเกิดกับตัวเรานั้นยากมากๆ หรือไม่มีเลย เพราะการคบกับคนพาลย่อมนำเรื่องเดือดร้อนกายใจมาให้เราไม่ว่างเว้น

ใครที่เคยมีญาติ หรือเคยคบหากับเพื่อนที่ติดการพนัน คงจะเข้าใจได้ไม่ยากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 14 มิ.ย. 2556

ในพระไตรปิฏกก็มีแสดงไว้ ถ้าเจอคนพาล คนไม่ดีไม่มีคุณธรรม ก็ให้ไปโดยไม่ต้องลา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 28 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 10 ก.ย. 2560

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ