สุเมธดาบส - ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
สำหรับบารมีข้อต่อไป สุเมธดาบสก็ได้เลือกเฟ้นว่า บารมีใดจะเป็นบารมีต่อไป ข้อความใน อรรถสาลินี มีว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หาไม่ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบเนกขัมมบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ในกาลก่อนได้บำเพ็ญอบรมมา อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๓ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๓ นี้ สมาทานให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ คนได้รับความลำบากอยู่นานในเรือนจำ ย่อมไม่ชอบอยู่ในเรือนจำเป็นอย่างยิ่ง แสวงหาแต่การพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด เธอก็จงเป็นเหมือนฉะนั้น จงเห็นภพทั้งปวงดุจเรือนจำ มุ่งแต่เนกขัมมะเพื่อรอดพ้นจากภพอยู่เถิด
ยากใช่ไหม เนกขัมมะจริงๆ คือ การที่จะพ้นไปจากเรือนจำ คือ ภพ ไม่ใช่เรือนจำเล็กๆ กว้างใหญ่เหลือเกิน ทุกแห่งที่มีการเกิด เป็นภพ พ้นยาก แต่ว่าการที่จะพ้นได้จริงๆ ต้องค่อยๆ พ้นทีละเล็กทีละน้อย จากขณะที่จิตเป็นทาสของความยินดี ต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจนเกินสมควร มากเกินไป ลองพิจารณาดูว่า เป็นอย่างนั้นไหม พอที่จะเริ่มรู้จักพอ และละคลายการติดในวัตถุทั้งหลายลงบ้างได้ไหม ค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ เริ่มทีละเล็กละน้อยจนกว่าจะเป็นเนกขัมมะได้จริงๆ คือ สามารถที่จะพ้นไปได้โดยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่พิจารณา ไม่คิด และไม่สังเกต ก็ย่อมจะไม่ทราบว่า ขณะนี้พ้นได้ไหม หรือว่าขณะนี้พ้นไม่ได้ แต่บางขณะพ้นได้เป็นครั้งๆ คราวๆ เพราะยังไม่มั่นคง แต่ก็ยังดีที่เริ่มพิจารณาแล้ว
ข้อความต่อไปมีว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบปัญญาบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๔ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงบำเพ็ญปัญญาบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๔ สมาทานให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ภิกษุผู้ที่ขอภิกษาไม่เว้นตระกูลทั้งชั้นต่ำ ชั้นสูง และชั้นกลางอย่างนี้ ย่อมได้อาหารพอเลี้ยงชีวิต ฉันใด เธอก็เหมือนกัน เที่ยวถามท่านผู้รู้อยู่ทุกเมื่อ บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้วจักได้บรรลุสัมโพธิญาณ
ปัญญาเสมือนอาหารที่เลี้ยงชีวิต ที่จะให้เจริญเติบโตในทางธรรม เพราะถ้าปราศจากปัญญา ย่อมไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และการแสวงหาปัญญานี้ก็ไม่ควรพอใจว่า พอแล้ว หรือว่าเข้าใจแล้ว เพราะว่ายิ่งแสวงหามากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยให้ปัญญาคมกล้า สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
บารมีข้อต่อไปมีข้อความว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เธอจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นธรรมในกาลนั้น ได้พบวิริยบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๕ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงบำเพ็ญวิริยบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๕ นี้ สมาทานให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ราชสีห์ย่อมมีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีใจอันความเพียรประคองไว้ทุกเมื่อในการนั่ง การยืน และการเดิน ฉันใด เธอก็เหมือนฉะนั้น จงประคองความเพียรให้มั่นทุกภพ บำเพ็ญวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณแล
ทุกภพ ทุกชาติที่เกิด ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ไม่ท้อถอย ไม่คิดว่ายากเกินไปเมื่อไรจะบรรลุสักที หรืออะไรอย่างนั้น แต่รู้ว่าสภาพธรรมที่จะรู้แจ้ง คือ ขณะนี้ที่กำลังปรากฏความเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีวิริยะ คือ มีความเพียร ระลึกศึกษาที่จะเข้าใจรู้ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้นทุกชาติทุกภพไป นั่นจึงจะเป็นวิริยบารมี ไม่ใช่เพียรสักหน่อยหนึ่ง เดือนหนึ่ง สองเดือน สามเดือน หรือปีหนึ่ง แต่ว่าทุกภพทุกชาติ
ข้อความต่อไปมีว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นธรรมในกาลนั้น ได้พบขันติบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งแสวงหาซึ่งคุณใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ ๖ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ ให้มั่นคงต่อไป เธอมีใจไม่เป็นสองในบารมีนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณ อันธรรมดาแผ่นดินย่อมอดทนสิ่งที่สะอาด และไม่สะอาดทุกชนิดที่เขาทิ้งลง ย่อมไม่ทำความยินดียินร้าย ฉันใด แม้เธอก็เช่นกัน เป็นผู้อดทนต่อความนับถือ และความดูหมิ่นของคนทุกประเภท บำเพ็ญขันติบารมีแล้ว จักได้บรรลุสัมโพธิญาณแล
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 736
ความอดทนนี้มีมากมายหลายประการ ร้อนไป หนาวไป ไม่สะอาด หรืออะไรอย่างนี้ก็แล้วแต่ ที่จะไม่อดทน ในอาหารที่ไม่อร่อย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส หรืออดทนต่อความนับถือ และความดูหมิ่นของคนทุกประเภท ต้องมีความอดทน และท่านที่มีความอดทนแล้ว จะเห็นคุณของความอดทนจริงๆ ว่า ขณะใดที่มีความอดทน ขณะนั้นจิตไม่หวั่นไหว เป็นจิตที่คงที่ ไม่เดือดร้อนไปด้วยอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์
ในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะได้ยินคำว่า อภิภายตนะ แต่โดยมากท่านจะได้ยินคำว่า อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางที่จะรู้อารมณ์ที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ต่างๆ ทางใจ แต่ว่าอายตนะที่เป็น อภิภายตนะ คือ ขณะที่ไม่หวั่นไหวในขณะที่กระทบกับอารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ สามารถที่จะมีกำลัง ครอบงำอายตนะได้ด้วยความไม่ยินดียินร้าย ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ด้วยการเจริญภาวนากุศล เพราะว่าจิตย่อมหวั่นไหวไปได้ทุกขณะ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้โผฏฐัพพะบ้าง รู้เรื่องราวต่างๆ บ้าง จิตหวั่นไหวอยู่เสมอ บางครั้งเป็นโลภะ บางครั้งเป็นโทสะ ถ้าจิตไม่สงบ ไม่มั่นคง ก็ย่อมจะหวั่นไหว
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่จิตจะไม่หวั่นไหวในความยินดียินร้ายทั้งหลายนั้น ก็ต้องเป็นไปในขั้นของภาวนากุศล ซึ่งเป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
คำว่า ภาวนา ไม่ใช่ท่องบ่น แต่ว่าเป็นการอบรมทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นความมั่นคงขึ้น
ข้อความต่อไปใน อรรถสาลินี มีว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจะมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบสัจจบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ ๗ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงสมาทานสัจจบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๗ นี้ให้มั่นต่อไป เธอมีถ้อยคำไม่เป็นสองในบารมีนั้น จักได้บรรลุสัมโพธิญาณ อันดาวประจำรุ่งย่อมเป็นดาราประจำวิถีในโลกนี้ทั้งเทวโลก ไม่โคจรละลงจากวิถีทุกสมัย ทุกฤดู หรือทุกปี ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน อย่าเดินละลงจากวิถีในความสัตย์ บำเพ็ญสัจจบารมีแล้วจักได้บรรลุสัมโพธิญาณแล
สัจจะมีความสำคัญมาก เป็นเรื่องจริง ไม่ควรจะยาก หรือคำจริง คำสัตย์ ก็ไม่ควรจะยากที่จะกล่าว ความตรงไปตรงมา ความจริงใจ ไม่ควรที่จะยาก แต่อะไรทำให้หลายคนไม่จริงใจ ไม่ตรง
อกุศลธรรม คือ โลภะ ความยึดมั่นในความเป็นตัวตนมีมาก ความใคร่ ความปรารถนาทุกสิ่งทุกประการเพื่อตัว สามารถที่จะหลอกได้แม้ตัวเอง ไม่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เป็นปัญญาก็อยากจะให้เป็นปัญญา เพราะความเป็นตัวตนที่ยึดมั่น ที่ต้องการสิ่งที่ดีเสมอสำหรับตนเอง แม้ว่าขณะนั้นรู้ว่าไม่ถูก แต่เพราะความต้องการในหนทางข้อปฏิบัติอย่างนั้น ก็ทำให้ยึดมั่นไม่ยอมที่จะละคลาย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความตรง เพราะฉะนั้น สัจจบารมีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะทำให้สามารถที่จะรู้แจ้งในสัจธรรมของนามธรรม และรูปธรรมได้
เวลาที่เจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น บางคนกล่าวว่า รู้ตัวเองว่าขณะใดมีมายาหรือมารยาในขณะที่พูดคำที่ไม่จริง และรู้ด้วยว่าเกิดอาการอย่างนั้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย
นี่เป็นสภาพธรรมที่จะต้องละ อกุศลธรรมทั้งหลายต้องละ ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมจริงๆ มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะยังมีอกุศลธรรมที่ทำให้คลาดเคลื่อนไป เป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อสภาพธรรม
ถ. การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้านั้น เราจะใช้คำว่า พุทโธ พุทโธ ท่องในใจเพียงเท่านี้ จะชื่อว่าระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าหรือยัง
สุ. ถ้าไม่พูดพุทโธ ระลึกถึงพระคุณได้ไหม ก็ได้ แต่เวลาที่กำลังพูดพุทโธ มีเวลาที่จะระลึกถึงพระคุณหรือเปล่า
ถ. ขณะที่ท่องคำว่า พุทโธ พุทโธ ก็ระลึกในตัวเสร็จ
สุ. เร็วอย่างนั้นเชียวหรือ
ถ. คำว่า พุทโธ พุทโธ หมายถึงชื่อของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เราพูดถึงพระพุทธเจ้า เราเรียกพระพุทธเจ้า หรือเรียกพุทโธ ก็อย่างเดียวกัน
สุ. เพราะฉะนั้น แต่ละคนต่างกัน อย่างสุเมธดาบสก็ระลึกถึง กล่าวถึง พุทโธ แต่ปีติของท่านในขณะนั้นที่ท่านรู้คุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ท่านเกิดปีติได้ถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะนึกถึงคำว่า พุทโธ หรือความเป็นพระพุทธเจ้า ก็แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นของแต่ละท่านเป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน ต่างกัน ไม่เหมือนกัน บางคนพูดไปเฉยๆ บางคนพยายามสักเท่าไรที่จะให้ระลึกถึงพระคุณ ก็นึกไม่ออก เพราะว่าไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยเข้าใจธรรม ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม จะระลึกถึงคุณได้อย่างไร
ถ. ในพระสูตรหลายเรื่อง เช่น ท่านพระพาหิยะ ได้ยินคำว่า พุทโธ ก็เกิดปีติยินดี โดยยังไม่ได้นึก เพียงได้ยินเท่านั้น ปีติของท่านก็เกิดได้ ซึ่งหมายความว่า ถ้าได้ยินคำว่า พุทโธ ต้องได้ชื่อว่า ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว
สุ. ท่านพระพาหิยะจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น คำว่า พุทโธที่ท่านเคยได้ยินมา เคยระลึกมา เคยเข้าใจมา เคยปีติมา มากมายนับไม่ถ้วนในครั้งก่อนเป็นปัจจัยที่จะให้หยั่งถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทันทีที่ได้ยินคำว่าพุทโธ เพราะว่าท่านจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ แต่คนอื่นได้ยินว่าพุทโธ จะเหมือนความรู้สึกของท่านพระพาหิยะได้ไหม ถ้าไม่ได้อบรม
ถ. ก็ไม่เหมือนกัน ปีติอาจจะไม่เกิด แต่ผมอยากรู้ว่า ขณะนั้นชื่อว่า ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าหรือยัง
สุ. ใครจะตอบได้ นอกจากตัวท่านเอง ถ้าไม่รู้เรื่องของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถึงแม้ว่าจะได้ยินคำว่า พุทโธ ก็ผ่านไปโดยที่ไม่ทราบว่าจะระลึกอย่างไร เพราะฉะนั้น ยิ่งฟังมาก ยิ่งศึกษามาก ยิ่งรู้ประวัติโดยละเอียดของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยิ่งทำให้เห็นพระคุณของพระองค์ และเวลาที่ระลึกถึงพุทโธ ก็จะมีความปลาบปลื้มผ่องใสในจิตใจ ด้วยการน้อมระลึกถึงพระคุณทันที
เพราะฉะนั้น แล้วแต่แต่ละขณะของแต่ละบุคคล ขณะหนึ่งๆ ก็ไม่เหมือนกัน ในขณะที่ระลึกถึงคำว่า พุทโธ ในวันหนึ่งๆ แต่ละขณะก็ยังต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็ยิ่งต่างกันไป
ข้อความต่อไปใน อรรถสาลินี มีว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบอธิษฐานบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๘ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงสมาทานอธิษฐานบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๘ นี้ ทำให้มั่นต่อไป เธอเป็นผู้คงที่ในบารมีนั้น จักได้บรรลุสัมโพธิญาณ ภูเขาศิลาล้วนย่อมตั้งดำรงคงที่ไม่หวั่นไหวเพราะลมที่แรงกล้า ดำรงอยู่ในที่เดิมเทียว ฉันใด เธอก็เหมือนกัน จงเป็นผู้คงที่ในอธิษฐานบารมีทุกเมื่อ บำเพ็ญอธิษฐานบารมีแล้วจักบรรลุได้สัมโพธิญาณแล
ในขณะที่สุเมธดาบสได้เลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณนี้ ท่านผู้ฟังเคยคิดไหมว่า ท่านผู้ฟังจะบำเพ็ญกุศล หรือว่าเจริญกุศลประการใดบ้าง เพราะรู้ว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนี้แสนยาก เมื่อเป็นธรรมที่ต้องใช้ความอดทนในการที่จะบำเพ็ญกุศล วันหนึ่งๆ ก็น่าคิดว่า เราจะทำกุศลอะไรบ้าง เพื่อที่จะให้เป็นบารมีเกื้อกูลในการรู้แจ้งอริยสัจธรรม
สำหรับบารมีข้อหนึ่ง คือ อธิษฐานบารมี การตั้งใจมั่นในกุศล ไม่เปลี่ยนใจไปตามกิเลส ซึ่งถ้าจะสังเกตดูในวันหนึ่งๆ บางทีคิดเรื่องกุศล แต่อกุศลก็ทำให้เปลี่ยนใจได้ บางครั้งก็บ่อยๆ หรือเรื่อยๆ เคยมีไหมที่ตั้งใจว่าจะทำกุศล อาจจะเป็นการฟังธรรม หรือการเกื้อกูลสงเคราะห์อนุเคราะห์บุคคลอื่น แต่พอมีอกุศลเกิดขึ้นแทรกแซง ก็เปลี่ยนใจไปตามอกุศลนั้นอย่างรวดเร็ว ลืมเรื่องกุศลที่คิดไว้หรือว่าตั้งใจไว้แล้ว
อธิษฐานบารมี คือ การตั้งใจมั่นในกุศล ถ้าไม่มีความมั่นคงจริงๆ ปัญญายังไม่คมกล้า ก็ไม่สามารถที่จะสู้กับกิเลสอกุศลได้ และในวันหนึ่งๆ ลองสังเกตดูว่า อกุศลชนะบ่อยไหม หรือว่ากุศลชนะมากกว่า ถ้าเป็นผู้ที่กุศลชนะมากกว่า ก็แสดงถึงความตั้งใจมั่นในกุศลที่จะไม่ยอมเปลี่ยนไปตามกิเลส
เพราะฉะนั้น อธิษฐานบารมีจึงเป็นกุศลประการหนึ่ง ซึ่งเมื่อตั้งใจมั่นคงในกุศล ทำให้มีกำลังขึ้น ก็จะประกอบการกุศลนั้นได้สำเร็จตามความตั้งใจอย่างมั่นคง และย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่จะเป็นบารมีที่สามารถจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 737
ข้อความต่อไปมีว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบเมตตาบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ ๙ สอนตนว่าดังนี้
เธอจงสมาทานเมตตาบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๙ นี้ ทำให้มั่นต่อไป เธอจงเป็นคนที่ไม่มีใครเสมอด้วยเมตตา ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ชื่อว่าน้ำย่อมแผ่ความเย็น ล้างมลทิน คือ ธุลี ในคนทั้งดี และชั่วสม่ำเสมอกัน ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเจริญเมตตาสม่ำเสมอในคน ทั้งผู้ที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูล เธอบำเพ็ญเมตตาบารมีแล้วจักได้บรรลุสัมโพธิญาณแล
ในขณะที่สุเมธดาบสคิดอย่างนี้ ถ้าท่านผู้ฟังจะตั้งใจอย่างนี้ด้วย ก็จะเป็นบารมีประการหนึ่ง เพราะว่า ชื่อว่าน้ำ ย่อมแผ่ความเย็น ล้างมลทิน คือ ธุลี ในคนทั้งดี และชั่วสม่ำเสมอกัน ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเจริญเมตตาสม่ำเสมอในคน ทั้งผู้ที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูล ไม่เลือก เมตตาเป็นกุศลซึ่งทำให้บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดได้รับความผาสุกทั้งกาย และใจ เพราะว่าเป็นเหตุให้มีความเกื้อกูลอนุเคราะห์สงเคราะห์กัน ซึ่งโลกจะผาสุกอยู่ได้ก็ด้วยเมตตา ในวันหนึ่งๆ ลองคิดดู ที่ได้รับความสุขนี้เป็นเพราะเมตตาซึ่งกัน และกัน ใช่หรือมิใช่
เพราะฉะนั้น สำหรับบารมีข้อที่ ๙ ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกท่านได้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก และเจริญขึ้นในกุศลด้วย
เคยคิดที่จะเมตตาสม่ำเสมอในคน ทั้งที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูลไหม คือหมายถึง ทุกคน ไม่เลือก ถ้าเลือก ยังไม่ใช่เมตตาที่สม่ำเสมอ
สำหรับประการต่อไป มีข้อความว่า
อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ก็ได้พบอุเบกขาบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ครบ ๑๐ ได้สอนตนว่าดังนี้
ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑๐ นี้ให้มั่นคงต่อไป เธอเป็นผู้คงที่มั่นคง จักบรรลุสัมโพธิญาณ ชื่อว่าแผ่นดิน ย่อมเว้นจากความยินดี และยินร้าย วางเฉย ในคนที่ทิ้งของที่ไม่สะอาดหรือสะอาดทั้งสองพวก ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเป็นผู้คงที่ในสุข และทุกข์ทุกเมื่อ เธอบำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้วจักบรรลุโพธิญาณได้แล
เวลาที่ท่านมีเมตตาใคร่ที่จะให้คนอื่นได้เป็นสุข แต่ถ้าไม่สามารถจะเป็นไปอย่างนั้นได้ ก็ไม่ควรจะให้เป็นอกุศลจิต คือ ความยินดียินร้าย หรือความโทมนัสเกิดขึ้น เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาบารมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เวลาที่ผู้ที่เป็นที่รักหรือว่าบุคคลทั้งหลาย เหตุการณ์ทั้งหลาย ไม่เป็นไปอย่างที่ท่านคิดว่าสมควร หรือว่าอย่างที่ท่านต้องการ
ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กำลังใส่ใจพิจารณารู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นจะเป็นปัญญาที่ทำให้ไม่ยินดียินร้าย และเกื้อกูลต่อการที่จะเกิดอุเบกขาได้มากขึ้น เพราะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นแต่เพียงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
แต่ถ้าลืมไป คิดว่าสามารถบังคับบัญชาได้ จะอุเบกขาไหม ก็ย่อมต้องเดือดร้อนในขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ หรือว่าบุคคลทั้งหลายไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา แต่เมื่อปัญญารู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ละความยินดียินร้าย สามารถที่จะวางเฉย มั่นคง เป็นผู้คงที่ในสุข และทุกข์ทุกเมื่อ
ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้จริงๆ ว่า บารมีทั้ง ๑๐ นี้ เป็นสิ่งที่จำเป็น และเกื้อกูลในการที่จะเจริญกุศล
ข้อความต่อไปมีว่า
ธรรมเครื่องบ่มโพธิญาณในโลกมีจำนวนเท่านี้แล นอกจากนี้แล้วไม่มีอะไรอีก เธอจงตั้งมั่นอยู่ในธรรมเหล่านั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นธรรมอันมีสภาวะหน้าที่ และลักษณะเหล่านี้อยู่ ด้วยเดชแห่งธรรม พสุธาได้หวั่นไหวทั่วไปทั้งหมื่นโลกธาตุ แผ่นดินไหวเสียงลั่นดุจเครื่องยนต์หีบอ้อยที่ถูกบีบฉะนั้น แผ่นดินย่อมหมุนอย่างเดียวกันกับจักรเครื่องยนต์น้ำมันหมุนฉะนั้นแล
บริษัทที่อยู่ในที่อังคาสพระพุทธเจ้านั้น ย่อมโงนเงนเป็นลมล้มนอนอยู่ ณ ภาคพื้นในที่นั้น หม้อน้ำหลายพัน และกระถางหลายร้อย ย่อมกระทบซึ่งกัน และกันแตกละเอียดอยู่ในที่นั้น มหาชนสะดุ้งตกใจกลัว ตื่นเต้น มีใจอันหวาดหวั่น มาประชุมกันเฝ้าพระทีปังกรพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า
ความร้ายหรือดีจักมีแก่โลก โลกย่อมปั่นป่วนทั่วกันทั้งหมด ขอพระองค์ผู้มี พระจักษุ จงได้โปรดบรรเทาความปั่นป่วนนั้น
พระมหามุนีทีปังกรพุทธเจ้าตรัสให้ชนเหล่านั้นทราบในเวลานั้นว่า
พวกท่านจงวางใจเถิด อย่ากลัวเลย เพราะเรื่องแผ่นดินไหวนี้ ดาบสที่เราทำนายไว้ในวันนี้ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกนั้น เธอเลือกเฟ้นธรรมที่พระชินเจ้าบำเพ็ญกันมาแต่ครั้งก่อนๆ เมื่อเธอเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นภูมิของพระพุทธเจ้าโดยหาส่วนเหลือมิได้แล้ว แผ่นดินที่ไหวทั่วหมื่นโลกธาตุรวมทั้งเทวโลกนี้ ย่อมเกิดด้วยเหตุนั้นแล
เพราะได้ฟังคำของพระพุทธเจ้า ใจของเขาย่อมสงบลงทันที เขาทั้งหมดเข้าไปอภิวาทเราอีกครั้งหนึ่ง เราสมาทานพระพุทธคุณ ทำใจให้มั่น นมัสการพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะในเวลานั้นแล
นี่เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบส ซึ่งพระองค์จะต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นคุณค่าของพระธรรมว่า กว่าที่จะได้รับฟังจากพระโอษฐ์ มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีมากถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
ที่มา ...