ท้าวสักกะ (๔) ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง
คนในวงธรรมเคยรบกันบ้างไหม เพราะฉะนั้น หลีกเลี่ยงการรบไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นการรบในลักษณะใด เพราะว่าท่านที่มีฉันทะต่างกัน ก็มุ่งหวังที่จะให้บุคคลอื่นมีความเห็นคล้อยตามความคิดเห็นของตน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ยังมีอกุศลธรรมแรงกล้า ก็อาจจะถึงกับส่งบุคคลอื่นมารุกราน หรือว่ามากระทำการใดๆ เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นขาดความสนใจที่จะศึกษา สักการะในผู้ที่แสดงธรรมที่ท่านไม่เลื่อมใส โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความถูกความผิดในข้อธรรมเลยก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ตามความเป็นจริง ให้เห็นชีวิตจริงๆ ให้เห็นสภาพธรรมแต่ละขณะ เพราะว่าการเจริญปัญญาที่จะละกิเลส จะต้องรู้สภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปทำให้ผิดปกติขึ้นมารู้
ขณะนี้ใจกำลังเป็นอย่างไร ที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล คือ สติเกิดขึ้น ระลึก ศึกษา รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นไปอย่างนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นลักษณะหนึ่งของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลยจริงๆ แม้แต่ความคิดของแต่ละคน ซึ่งเปลี่ยนไป ก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ทราบความดำริของท้าวสักกะจอมเทวดาด้วยใจของตนแล้ว เข้าไปหาท้าวสักกะจอมเทวดาจนถึงที่ประทับ ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ทอดพระเนตรเห็นท้าวเวปจิตติจอมอสูรผู้มาแต่ไกลทีเดียว ครั้นแล้วจึงตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า หยุดเถอะ ท่านท้าวเวปจิตติ ท่านถูกจับเสียแล้ว ฯ
เห็นไหม เมื่อครู่นี้คิดอย่างนั้น พอท้าวเวปจิตติไป ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ พระอินทร์ตรัสกับท้าวเวปจิตติอย่างนี้ เฉพาะกาลจริงๆ ชั่วขณะจริงๆ ตามความเป็นจริง พระอินทร์ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นพระอริยะ ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่า แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ท้าวเวปจิตติซึ่งเคยเป็นข้าศึกนี้มาทำไม
ข้อความต่อไป
ท้าวเวปจิตติตรัสถามว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านละทิ้งความคิดเมื่อก่อนของท่านเสียแล้วหรือ ฯ
ท้าวสักกะตรัสว่า ท้าวเวปจิตติ ก็ท่านจงสาบานเพื่อที่จะไม่ประทุษร้ายต่อเรา ฯ
ท้าวเวปจิตติตรัสคาถาว่า
แน่ะท้าวสุชัมบดี บาปของคนพูดเท็จ บาปของคนผู้ติเตียนพระอริยะเจ้า บาปของคนผู้ประทุษร้ายต่อมิตร และบาปของคนอกตัญญู จงถูกต้องผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่าน ฯ
นี่เป็นคำสาบานของท้าวเวปจิตติ เป็นเรื่องของอกุศล ซึ่งต่างก็ยังมีอยู่ จะให้เป็นคนดีตลอดกาล ไม่ใช่เฉพาะกาลๆ นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าอกุศลธรรมยังไม่ได้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เป็นชีวิตจริงของแต่ละท่านด้วย เรื่องราวของท่านจะซ้ำกับพระอินทร์หรือว่าไม่ซ้ำ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานมาก แต่ให้ทราบว่า เฉพาะกาลจริงๆ ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล จนกว่าอกุศลธรรมจะดับหมดเป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น ควรที่จะระลึกรู้สภาพธรรมซึ่งแต่ละท่านสะสมมาตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ไม่ประมาท เพราะบางท่านอาจคิดว่า ท่านดีมากแล้ว ดีมากจนกระทั่งคิดว่าดีที่สุดแล้ว ดีกว่านี้อีกไม่ได้แล้ว แต่นั่นไม่ถูก เวลาที่อกุศลธรรมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ก็จะเกิดขึ้นปรากฏให้เห็นจริงๆ ว่า ยังดีไม่พอ จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้แต่พระอินทร์ ก็ยังไม่ได้ดับอกุศลธรรมหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะว่าพระอินทร์เป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมจึงยังมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้
ที่ท้าวเวปจิตติตรัสคาถาว่า แน่ะท้าวสุชัมบดี บาปของคนพูดเท็จ บาปของคนผู้ติเตียนพระอริยเจ้า บาปของคนผู้ประทุษร้ายต่อมิตร และบาปของคนอกตัญญู จงถูกต้องผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่าน นั้น หมายความว่า ใครประทุษร้ายต่อผู้ที่ทรงคุณความดีย่อมได้รับผลร้าย
ความโกรธนี้เกิดง่ายหรือยาก สำหรับทุกท่านตามความเป็นจริง ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ต่อให้มีความรู้ คือ มีตาทิพย์ มีหูทิพย์อย่างไร ก็ไม่ใช่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เวลาที่สภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว ก็ยังมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะประมาทอกุศลธรรมเลย ใครที่เป็นคนดี จะดีไปได้นานเท่าไร ก็เฉพาะตราบที่อกุศลยังไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่อกุศลทั้งหลายที่จะดับไปได้ ก็ด้วยการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามปกติด้วย และที่ว่าปัญญาคมกล้านี้ ไม่ใช่รู้อื่น แต่เป็นปัญญาที่น้อมมารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ทุกลักษณะ ในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง
คงจำกันได้ที่ว่า ในครั้งหนึ่ง มียักษ์ตนหนึ่งที่มีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะแห่งท้าวสักกะจอมเทพ และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็ตำหนิติเตียนด้วยประการต่างๆ ซึ่งยักษ์นั้นก็ยิ่งเป็นผู้ที่มีรูปงาม น่าดู น่าชม น่าเลื่อมใสยิ่งขึ้น พวกเทวดาก็สงสัย พากันไปเฝ้าพระอินทร์จนถึงที่ประทับ และได้กราบทูลให้ทรงทราบ ซึ่งพระอินทร์ไม่ได้โกรธ และไม่ได้ยกโทษตำหนิติเตียนยักษ์ตนนั้นเลย แต่ได้เสด็จเข้าไปหายักษ์ผู้มีความโกรธเป็นอาหารนั้นจนถึงที่อยู่
ครั้นแล้ว ทรงห่มผ้าเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงคุกพระชานุมณฑลเบื้องขวาลง ณ พื้นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางที่ยักษ์ตนนั้นอยู่ แล้วประกาศพระนาม ๓ ครั้ง ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระนามด้วยประการใดๆ ยักษ์ตนนั้นยิ่งมีผิวพรรณทราม และต่ำเตี้ยพุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิม ยักษ์นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทราม และต่ำเตี้ยพุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิมแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม โดยตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์แล้ว เมื่อจะทรงยังพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้ยินดี จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ไว้ในเวลานั้นว่า
เราเป็นผู้มีจิตอันโทสะไม่กระทบกระทั่ง เป็นผู้อันความหมุน (มาร) นำไปไม่ได้ง่าย เราไม่โกรธมานานแล ความโกรธย่อมไม่ตั้งอยู่ในเรา ถึงเราโกรธ ก็ไม่กล่าวคำหยาบ และไม่กล่าวคำไม่ชอบธรรม เราเห็นประโยชน์ของตน จึงข่มตนไว้ ฯ
พระอินทร์เป็นอย่างนั้น ท่านผู้ฟังเป็นอย่างไหน โกรธง่ายหรือโกรธยาก โกรธง่ายมากใช่ไหม ทางตาเห็นนิดเดียวที่ไม่ถูกใจ ก็โกรธแล้ว ทางหู ผิดคำไปนิดเดียว ผิดเสียงไปนิดเดียว ก็โกรธแล้ว ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่โกรธง่าย ซึ่งความโกรธนั้นไม่เป็นภัยกับคนอื่น นอกจากตัวท่านผู้โกรธเอง
เมื่อพระอินทร์เห็นโทษของอกุศลธรรม คือ ความโกรธ แม้ว่าพระอินทร์ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เพราะผู้ที่จะดับความโกรธเป็นสมุจเฉท ไม่มีความโกรธเกิดขึ้นอีกเลยต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่แม้กระนั้น ผู้ที่เห็นโทษของความโกรธ ก็อบรมการที่จะไม่เป็นผู้ที่โกรธง่าย และก็ไม่ผูกโกรธ ถ้าเป็นผู้ที่อดทน และระงับความโกรธไว้บ่อยๆ ด้วยการมีสติ มีเมตตาต่อผู้ที่ประทุษร้ายหรือว่าล่วงเกินต่อท่าน ในภายหลังก็จะเป็นผู้ที่โกรธไม่ง่ายอย่างบุคคลอื่น
จะเห็นได้ว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์อื่นๆ โกรธง่าย เวลาที่ยักษ์ตนนี้นั่งบนอาสนะของพระอินทร์ ก็โกรธแล้ว แต่ว่าพระอินทร์ อาสนะเป็นของพระอินทร์เอง แต่ไม่โกรธ แม้ว่ายักษ์ตนนั้นจะนั่งที่อาสนะของพระองค์
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม ที่จะต้องเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่ในเรื่องของความโกรธ ก็ไม่ควรจะเป็นผู้ที่โกรธง่าย เพราะว่าขณะนั้นหวั่นไหวไปแล้วด้วยกำลังของโทสะ (นาที 10.57)
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 698
ในคราวก่อน ได้กล่าวถึงเรื่องการอุทิศส่วนกุศล ซึ่งได้กล่าวว่า กุศลทุกประเภทที่ทุกท่านกระทำแล้ว สามารถอุทิศให้บุคคลอื่นอนุโมทนาได้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน หรือในศีล ในการฟังธรรม และการแสดงธรรม ซึ่งมีท่านผู้ฟังได้ไปขอให้ดิฉันอุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรมให้ท่านอนุโมทนา
ที่จริงแล้ว ตามปกติดิฉันก็ได้อุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรม เวลาที่กล่าวบูชาคุณพระรัตนตรัยหลังจากการบรรยาย และสำหรับท่านผู้ฟังเอง ก็ควรอุทิศส่วนกุศล ในการฟังธรรมของท่านให้ผู้อื่นอนุโมทนาด้วย
ท่านที่ได้ไปขอให้ดิฉันอุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรมให้ท่านอนุโมทนา ท่านได้อ่านจาก พระธัมมปทัฏกถา อรรถกถา ตัณหาวรรควรรณนา เรื่องท้าวสักกะเทวราช ซึ่งมีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สัพพทานัง เป็นต้น
เรื่องมีว่า ในสมัยหนึ่ง เทวดาในดาวดึงส์เทวโลกประชุมกันแล้ว ตั้งปัญหาขึ้น ๔ ข้อว่า บรรดาทานทั้งหลาย ทานชนิดไหนหนอแลบัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม บรรดา รสทั้งหลาย รสชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่ายอด บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่าเลิศ ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุด เพราะเหตุไร
ทุกท่านทำทาน ควรที่จะได้รู้ว่า ทานชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม ทุกท่านบริโภครส ก็จะได้รู้ว่ารสชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่ายอด ทุกท่านมีความยินดี วันหนึ่งๆ ยินดีดีใจในแต่ละเรื่อง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง แต่ใน บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่าเลิศ ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุดเพราะเหตุไร
ทุกคนไม่อยากจะหมดโลภะ แต่ ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่า ประเสริฐที่สุด
ทุกท่านยังต้องการมีโลภะ แต่ควรรู้ว่า ถ้าหมดโลภะได้ประเสริฐที่สุด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่หมด แต่ขอให้รู้ความจริงว่า ถ้าหมดได้ประเสริฐที่สุด
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการเห็นโทษของโลภะ และเห็นประโยชน์ของธรรมที่ดับโลภะ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาสามารถดับโลภะได้จริงๆ
เมื่อเทวดาในชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายไม่อาจวินิจฉัยปัญหานี้ได้ ก็ได้ประชุมกัน แล้วได้ไปสำนักของท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง ๔ ท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง ๔ ก็ได้ให้เทวดาไปทูลถามท้าวสักกะ เพราะว่าท่านเองไม่สามารถอธิบายอรรถของปัญหาธรรม ๔ ข้อนั้น
ท้าวสักกะทรงทราบว่า ปัญหานี้คนอื่นย่อมไม่รู้เนื้อความ เพราะเป็นวิสัยของพระผู้มีพระภาค จึงพาเทวดาเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเชตวัน ในเวลากลางคืน และได้กราบทูลถามปัญหานั้นต่อพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดีละ มหาบพิตร ตถาคตบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ บริจาคมหาบริจาค ๕ คือ บริจาคอวัยวะ ๑ บริจาคทรัพย์ ๑ บริจาคบุตร ๑ บริจาคภรรยา ๑ บริจาคชีวิต ๑ แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็เพื่อตัดความสงสัยของชนผู้เช่นพระองค์นี่แหละ ขอพระองค์จงทรงสดับปัญหาที่พระองค์ถามแล้วเถิด
บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานเป็นเยี่ยม บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง (นาที 16.35)
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1496
คำอธิบายต่อไปมีว่า
บทว่า สัพพทานัง เป็นต้น ความว่า ก็ถ้าบุคคลพึงถวายไตรจีวรเช่นกับใบตองอ่อน (คือ เป็นไตรจีวรอย่างดี) แด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ทั้งหลายผู้นั่งติดๆ กันในห้วงจักรวาลตลอดถึงพรหมโลก การอนุโมทนา ที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงทำด้วยพระคาถา ๔ บาทในสมาคมนั้นประเสริฐ
ก็ทานนั้น หามีค่าถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพระคาถานั้นไม่ การแสดงก็ดี การกล่าวสอนก็ดี การสดับก็ดีซึ่งธรรม เป็นของใหญ่ ด้วยประการฉะนี้
อนึ่ง บุคคลใดให้ทำการฟังธรรม (คือ จัดให้มีการฟังธรรม) อานิสงส์เป็น อันมากก็ย่อมมีแก่บุคคลนั้นแท้ ธรรมทานนั่นแหละที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นให้เป็นไปแล้ว แม้ด้วยอำนาจอนุโมทนา โดยที่สุดด้วยพระคาถา ๔ บาท ประเสริฐที่สุดกว่าทาน ที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยบิณฑบาตอันประณีตแล้วถวายแก่บริษัทเห็นปานนั้น นั่นแหละบ้าง ประเสริฐกว่าเภสัชทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยเนยใส และน้ำมันเป็นต้นแล้วถวายบ้าง ประเสริฐกว่าเสนาสนทานที่ทายกให้สร้างวิหารเช่นกับมหาวิหาร และปราสาทเช่นกับโลหปราสาทตั้งหลายแสนแล้วถวายบ้าง ประเสริฐกว่าการบริจาคที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้นปรารภวิหารทั้งหลายแล้วทำบ้าง เพราะเหตุไร
เพราะว่าชนทั้งหลาย เมื่อจะทำบุญเห็นปานนั้น ต่อฟังพระธรรมแล้วเท่านั้น จึงทำได้ ไม่ได้ฟังก็หาทำได้ไม่ ก็ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายไม่พึงฟังธรรมไซร้ เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูประมาณกระบวยหนึ่งบ้าง ภัตประมาณทัพพีหนึ่งบ้าง เพราะเหตุนี้ธรรมทานนั่นแหละ จึงประเสริฐที่สุดกว่าทานทุกชนิด
ประโยชน์ของธรรมทานต่อไป คือ
อีกอย่างหนึ่ง เว้นพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเสีย แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้นผู้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถนับหยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกัปทั้งสิ้น ก็ยังไม่สามารถบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้นโดยธรรมดาของตนได้ ต่อฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้นแสดงแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เพราะเหตุแม้นี้มหาบพิตร ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุด เพราะเหตุนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่า สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ (นาที 19.50)
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1497
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๒ ที่ว่า
บรรดารสทุกชนิด รสพระธรรมเป็นยอด
ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า
อนึ่ง รสมีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด โดยส่วนประณีตแม้รสอาหารทิพย์ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และกล่าวคือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการนี้แหละ ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัพพรสัง ธัมมรโส ชินาติ
ทุกคนได้รสอาหารอยู่ทุกวัน แม้เป็นรสที่ประณีตถึงขั้นอาหารทิพย์ของเทวดา ก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ตกไปในสังสารวัฏฏ์
การบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันแต่ละครั้งที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นบริโภคด้วยความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะสมอกุศลซึ่งจะทำให้ ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้
วันนี้ทุกท่านต้องมีทุกข์แน่ๆ เพียงแต่จะสังเกตหรือไม่ได้สังเกต อาจจะเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่ทันจะรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่แท้ที่จริงสภาพธรรมทุกขณะเกิดขึ้น และดับไป ซึ่งนั่นเป็นทุกข์จริงๆ แต่ขณะใดได้ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์ และถ้าสังเกตจะรู้ว่า มีมาก แม้แต่ว่าความขุ่นใจทางตาที่เห็น เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหูที่ได้ยินแล้วเกิดขุ่นใจ รำคาญใจ เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจคิดเรื่องที่ไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรสที่ประณีตทั้งหลาย ก็ยังไม่สามารถช่วยทำให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากพระธรรมรส คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว และโลกุตตรธรรม ๙ นี้แหละประเสริฐกว่ารส ทั้งปวง เพราะว่าไม่ทำให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ หรือเสวยทุกข์
เวลาที่ท่านผู้ฟังศึกษาพระธรรม และมีความเข้าใจ มีศรัทธาปสาทะ มีความรู้สึกซาบซึ้ง ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง
ต่อไปเป็นอรรถแห่งปัญหาธรรมข้อที่ ๓ ที่ว่า
บรรดาความยินดีทุกชนิด ยินดีในธรรมประเสริฐ
ซึ่งข้อความมีว่า
แม้ความยินดีในบุตร ความยินดีในธิดา ความยินดีในทรัพย์ ความยินดี ในสตรี และความยินดีมีประเภทมิใช่อย่างเดียว อันต่างด้วยความยินดีในการฟ้อน การขับ การประโคม เป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนความอิ่มใจซึ่งเกิดขึ้นภายในของผู้แสดงก็ดี ผู้ฟังก็ดี ผู้กล่าวสอนก็ดีซึ่งธรรม ย่อมให้เกิดความเบิกบานใจ ให้น้ำตาไหล ให้เกิดขนชูชัน ความอิ่มใจนั้น ย่อมทำที่สุดแห่งสังสารวัฏฏ์ มีพระอรหัตเป็นปริโยสาน ความยินดี ในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัพพรติง ธัมมรติ ชินาติ
วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็แสวงหาความเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินยินดีในธิดา ในบุตร ในทรัพย์ ในการเล่น ในการฟ้อน การขับประโคมดนตรีต่างๆ แต่ว่าความยินดีนั้นๆ ทั้งหมด ยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ต่างกับความยินดีของผู้แสดงธรรมก็ดี ผู้ฟังธรรมก็ดี ผู้กล่าวสอนธรรมก็ดี ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง
ต่อไปเป็นอรรถของปัญหาธรรมข้อที่ ๔ ที่ว่า
ความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุ พระอรหัต
มีข้อความอธิบายว่า
ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหา คือ พระอรหัต ซึ่งเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งตัณหา พระอรหัตนั้นประเสริฐกว่าทุกอย่างแท้ เพราะครอบงำวัฏฏทุกข์แม้ทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตัณหักขโย สัพพทุกขัง ชินาติ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเนื้อความแห่งพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้อยู่นั่นแล บุคคลเป็นจำนวนมากได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เป็นปกติ ในขณะที่กำลังฟัง ฟังด้วย พิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏด้วย สติเกิดแทรกคั่น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
สำหรับผู้ที่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานมามากแล้ว มีเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาย่อมสามารถแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้
แม้ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วทูลว่า
พระเจ้าข้า เพื่อประโยชน์อะไร พระองค์จึงไม่รับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวก ข้าพระองค์ในธรรมทานอันชื่อว่าเยี่ยมอย่างนี้ จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกกับภิกษุสงฆ์ แล้วรับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน แล้วตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พวกเธอทำการฟังธรรมใหญ่ก็ดี การฟังธรรมตามปกติก็ดี กล่าวอุปนิสินนกถาก็ดี โดยที่สุดแม้การอนุโมทนา แล้วพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง (นาที 27.52)
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1498
เมื่อท้าวสักกะกราบทูลถามว่า ทานใดเป็นทานอันเลิศ และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทานเป็นทานอันเลิศ จึงเป็นเหตุให้พระอินทร์ทูลถามว่า เมื่อธรรมทานเป็นเลิศแล้ว เหตุใดเมื่อได้ฟังธรรมก็ดี หรือได้แสดงธรรมก็ดี ไม่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา ซึ่งการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดทั้งสิ้นสามารถอุทิศได้ หรือผู้อื่นก็สามารถอนุโมทนาได้
ท่านผู้ฟังอาจจะเคยแผ่เมตตาหลังจากฟังธรรม แต่เรื่องของการแผ่เมตตา ยังแผ่ไม่ได้ จนกว่าจะอบรมเจริญเมตตาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำแผ่เมตตา ซึ่งการแผ่เป็นเรื่องที่ยาก คือ จะต้องระลึกถึงบุคคลที่ควรจะแผ่ก่อน ได้แก่ ผู้มีคุณเสมอด้วยมารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น และแผ่ไปถึงบุคคลอื่นในภายหลัง และ ต้องเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเห็นกันบ่อยๆ หรือมีเรื่องที่จะติดต่อกัน ถ้ายังมีความไม่เข้าใจ หรือมีจิตใจที่ขุ่นข้อง ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่า มีเมตตาในบุคคลนั้นมากน้อยเพียงใด และก่อนที่จะแผ่ไปถึงสัตว์ทั้งปวงได้ จะต้องค่อยๆ แผ่ไปทีละบุคคล จนกระทั่งสามารถที่จะแผ่ไปในเขตบ้าน และแผ่กว้างออกไป
แต่สำหรับกุศลอื่น เช่น การฟังธรรม เมื่อได้กระทำแล้วก็อุทิศส่วนกุศลใน การฟังธรรมให้บุคคลอื่นอนุโมทนาได้ทันที
ที่มา ...