ท้าวสักกะ (๕) สักกปัญหสูตร


    สำหรับเรื่องของเทวตานุสสติ เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงชีวิตของชาวสวรรค์บนสวรรค์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ถ้าท่านมีคุณธรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเทวดา ท่านจะเป็นเทพที่เหมือนอย่างเทวดาในพระไตรปิฎกที่ทรงแสดงไว้หรือไม่ ซึ่งใน ทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัญหสูตร ข้อ ๒๔๗ เมื่อครั้งที่พระอินทร์ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในตอนต้นเพื่อตรัสถามปัญหา และพระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์เรื่องความริษยา และความตระหนี่ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนคร ราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ฯ

    ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพได้บังเกิดความขวนขวายเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงพระดำริว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเห็น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่ง พราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า

    ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ในแคว้นมคธ ถ้ากระไรพวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว ฯ

    ถ้าเป็นเทวดาที่สนใจในธรรม ก็ย่อมขวนขวายที่จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อที่จะได้ฟังธรรม เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นในธรรม แต่ก็คงจะมีเทวดาอีกมากเหมือนกันเช่นเดียวกับในโลกมนุษย์ซึ่งไม่ได้สนใจในธรรม และไม่ได้ขวนขวายที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วย

    ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาตรัสว่า

    ดูกร พ่อปัญจสิขะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ในแคว้นมคธ พวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว ถือเอาพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูมคอยตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพแวดล้อมไปด้วยพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีปัญจสิขคันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้หายไปในชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ในแคว้นมคธ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดออกเข้า ฉะนั้น ฯ

    ก็สมัยนั้น เวทิยกบรรพต และพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์สว่างไสวยิ่งนักด้วย เทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย และได้ยินว่าพวกมนุษย์ในหมู่บ้านโดยรอบพากันกล่าวอย่างนี้ว่า วันนี้ไฟติดเวทิยกบรรพตเข้าแล้ว วันนี้ไฟไหม้เวทิยกบรรพต วันนี้เวทิยกบรรพตไฟลุกโพลง เพราะเหตุไรเล่า วันนี้เวทิยกบรรพต และพราหมณคามชื่อ อัมพสัณฑ์จึงสว่างไสวยิ่งนัก มนุษย์พวกนั้นพากันตกใจ ขนพองสยองเกล้า ฯ

    สมัยนี้ไม่มีโอกาสได้เห็นอย่างนี้อีกแล้ว ไม่มีบรรดาเทวดาทั้งหลายมาเฝ้า พระผู้มีพระภาค เพราะทรงปรินิพพานแล้ว และถ้าเป็นบุคคลอื่น ก็ไม่ใช่บุคคลที่ควรจะมาเพื่อที่จะได้พบ ไม่เหมือนกับการอุตส่าห์มาจากทางไกล คือ จากสวรรค์ เพื่อที่จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า

    ดูกร พ่อปัญจสิขะ พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้เพ่งฌาน ทรงยินดีในฌาน ในระหว่างนั้นทรงเร้นอยู่ อันผู้เช่นเรายากที่จะเข้าเฝ้า ถ้ากระไรพ่อควรจะให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยก่อน พ่อให้พระองค์ทรงพอพระหฤทัยก่อนแล้ว ภายหลังพวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ

    ผู้ที่เป็นเทพย่อมรู้กาละที่สมควรว่า เมื่อไรควรจะเฝ้า และเมื่อไรไม่ควรจะเฝ้า เพราะว่าในขณะนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงหลีกเร้นอยู่ คือ เป็นผู้ทรงยินดีในฌาน (นาที 5.54)


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 808

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว จึงถือเอาพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูมเข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ครั้นแล้วประมาณดูว่า เพียงนี้ พระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ไม่ไกล ไม่ใกล้เรานัก และจักทรงได้ยินเสียงเรา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปัญจสิขคันธรรพบุตรยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ถือพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูมบรรเลงขึ้น และได้กล่าวคาถาเหล่านี้อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกามว่า

    ถ้าท่านผู้ฟังจะไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำเหมือนอย่างพวกเทวดานี้ไหม หรือว่าจะทำคนละอย่าง แต่สำหรับเทพเป็นผู้ที่พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ปัญจสิขคันธรรพบุตรก็ถือพิณซึ่งมีสีเหลืองดังผลมะตูมบรรเลงขึ้น และได้กล่าวคาถาเหล่านี้อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม เพื่อที่จะให้พระองค์ตรัสธรรม หรือทรงแสดงธรรมกับปัญจสิขคันธรรพบุตร ซึ่งข้อความที่ปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าว แสดงให้เห็นถึงจิตของผู้ที่ยังมีความยินดีติดข้องอยู่ในกาม พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการแสดงถึงสภาพของจิตตามความเป็นจริงว่า ถ้าบุคคลใดยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงแม้ว่าจะมีศรัทธาในพระรัตนตรัยมากเพียงไรก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็ยังมีทั้งกิเลสกาม และศรัทธาในพระรัตนตรัยด้วย

    ข้อความที่ปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าวคาถาพร้อมกับบรรเลงพิณ เป็นข้อความที่กล่าวถึงเทพธิดาสุริยวัจฉสาผู้เป็นที่รักที่ปรารถนาของปัญจสิขคันธรรพบุตร เป็นคาถาที่เทียบความยึดมั่นในกามของปัญจสิขคันธรรพบุตรกับความมั่นคงในศรัทธาใน พระรัตนตรัย ซึ่งปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าวคาถาว่า ความต้องการ และความปรารถนาที่ปัญจสิขคันธรรพบุตรมีต่อเทพธิดาสุริยวัจฉสา เหมือนลมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ หรือน้ำดื่มเป็นที่ปรารถนาของผู้ระหาย คล้ายกันกับธรรมเป็นที่รักของเหล่าพระอรหันต์ ฉะนั้น

    เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างธรรมซึ่งเป็นที่รักของเหล่าพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส ซึ่งย่อมมั่นคงมาก เพราะพระอรหันต์ย่อมไม่มีศรัทธาที่มั่นคงในธรรมอื่น นอกจากธรรมซึ่งดับกิเลส และพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีความปรารถนาในกามอยู่ มีความรู้สึกเหมือนหรือคล้ายกับธรรมเป็นที่รักของเหล่าพระอรหันต์ ฉันใด เทพธิดาสุริยวัจฉสาก็เป็นที่ปรารถนาของปัญจสิขคันธรรพบุตร ฉันนั้น

    เป็นเรื่องของจิตใจของผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าวว่า ฉันไม่อาจกลับดวงจิตที่แปรปรวนไปแล้ว เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเสียแล้ว

    ท่านผู้ฟังจะพบข้อความจำนวนมากในพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงถึงสภาพที่แท้จริงของจิต เพราะผู้ใดก็ตามที่เกิดความยินดีพอใจในรูป ธรรมดาปกติทางตาที่กำลังเห็น ในเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี หรือเสียงอะไรก็ตาม ในกลิ่นหอม ในรสอร่อย ในสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่สบายที่กระทบกาย ขณะนั้นทรงแสดงว่า เหมือนปลาที่ติดเบ็ด เพราะกามทั้งหลายย่อมมีโทษ แต่ปลาทั้งหลายก็กินเบ็ด กินเหยื่อที่เบ็ด ซึ่งก็เป็นโทษสำหรับปลา

    นี่เป็นข้อความโดยย่อ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังต้องการฟังคาถาเพลงขับของปัญจสิขคันธรรพบุตรโดยตลอด ก็จะอ่านได้ใน สักกปัญหสูตร ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความบางประการ ที่เป็นการเทียบความติดในกามสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส กับความมั่นคงในพระรัตนตรัยสำหรับผู้ที่ดับกิเลสแล้ว

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าวว่า

    ความใคร่ของฉันในเธอผู้มีผมเป็นลูกคลื่น ถึงจะมีน้อยก็เกิดผลมาก เหมือนทักษิณาที่ถวายในพระอรหันต์ ฉะนั้น

    ความปรารถนาของปัญจสิขคันธรรพบุตร คือ ขอผลบุญอำนวยให้กับตัวท่านเอง และเทพธิดาสุริยวัจฉสาด้วย และกล่าวว่า ความปรารถนาของตนในเทพธิดา สุริยวัจฉสานั้นเหมือนพระศากยบุตรพุทธเจ้าทรงเข้าฌานอยู่พระองค์เดียว มี พระปัญญารักษาพระองค์ (คือ ไม่ได้สนใจในเรื่องอื่นเลย) ทรงมีพระสติเป็นมุนี ทรงแสวงหาอมตะ พระผู้จอมปราชญ์ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว พึงชื่นชม ฉันใด (คือ ชื่นชมพระโพธิญาณ) ปัญจสิขคันธรรพบุตรก็ชื่นชมเทพธิดาสุริยวัจฉสาฉันนั้น

    เปรียบเทียบถึงอย่างนั้น สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบอะไรได้ยิ่งกว่านั้น แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาในเทพธิดาสุริยวัจฉสาอย่างมั่นคงถึงเพียงนั้น

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๒๔๙

    เมื่อปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า

    ดูกร ปัญจสิขะ เสียงสายของท่านเทียบได้กับเสียงเพลงขับ และเสียงเพลงขับของท่านเทียบได้กับเสียงสาย ก็เสียงสายของท่านไม่เกินเสียงเพลงขับ และเสียงเพลงขับไม่เกินเสียงสาย

    ต้องไพเราะกว่าดนตรีใดๆ ในโลกมนุษย์ พร้อมทั้งเสียงของปัญจสิขคันธรรพบุตรก็เป็นเสียงสวรรคด้วย ไม่ใช่เสียงในโลกนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ก็คาถาเหล่านี้อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม ท่านประพันธ์ขึ้นเมื่อไร ฯ

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประพันธ์ขึ้นเมื่อสมัยที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้นไม้อชปาลนิโครธ แทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ

    ถ้าท่านผู้ฟังมีโอกาสที่จะได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน และเป็นผู้ที่ระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ก็จะได้ทราบว่า ณ สถานที่แห่งนั้นมีอะไรที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงพระดำริว่า ปัญจสิขคันธรรพบุตรได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ทรงปราศรัยกับปัญจสิขคันธรรพบุตร ดังนี้แล้ว ตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาตรัสว่า

    พ่อปัญจสิขะ พ่อจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ และบริษัท ขอถวายบังคม พระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

    ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ และบริษัท ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ปัญจสิขะ ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ และบริษัท จงมีความสุขอย่างนั้นเถิด เพราะว่าพวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และชนเป็นอันมากเหล่าอื่นใดซึ่งปรารถนาสุขมีอยู่ ฯ

    นี่คือทรงอนุญาตให้ท้าวสักกะได้เฝ้าเพราะตรัสว่า ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ และบริษัทจงมีความสุขอย่างนั้นเถิด

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสประทานพรเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่เห็นปานนั้นอย่างนี้แล

    ท้าวสักกะจอมเทพอันพระผู้มีพระภาคตรัสประทานพรแล้ว เสด็จเข้าไปยังถ้ำอินทสาละของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถึงปัญจสิขคันธรรพบุตรก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    สมัยนั้น ถ้ำอินทสาละซึ่งมีพื้นไม่สม่ำเสมอ ก็สม่ำเสมอ ซึ่งคับแคบ ก็กว้างขวางขึ้น ความมืดในถ้ำหายไป ความสว่างเกิดขึ้นด้วยเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ฯ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพว่า

    นี้เป็นของน่าอัศจรรย์ของท่านท้าวโกสีย์ นี้เป็นเหตุไม่เคยมีของท่านท้าวโกสีย์ คือการที่พระองค์ผู้มีกิจมาก มีกรณียะมากเสด็จมาในที่นี้ ฯ

    ไม่ได้มาเฝ้าบ่อย เพราะเป็นเทพก็ย่อมมีชีวิตอย่างเทพ และเป็นเหตุที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับพระอินทร์ที่ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งตอนจบของสูตรนี้ จากการได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคในครั้งนี้ คือ พระองค์บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล

    ท้าวสักกะจอมเทพทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะมาเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคตั้งแต่นานมาแล้ว แต่มัวสาละวนด้วยกิจกรณียะบางอย่างของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงมิสามารถมาเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคได้

    เมื่อยังไม่ถึงกาลสมควรที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ย่อมจะยังคงหมกมุ่นอยู่ในกรณียกิจของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ แต่ว่าเมื่อถึงโอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีเหตุที่ทำให้ท้าวสักกะใคร่ที่จะได้มาเฝ้า และกราบทูลถามปัญหา

    ท้าวสักกะกราบทูลต่อไปว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สลฬาคาร ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไปยังพระนครสาวัตถีเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ด้วยสมาธิบางอย่าง นางปริจาริกาของท้าวเวสวัณมหาราชนามว่าภุชคี เป็นผู้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค นางยืนประนมมือนมัสการอยู่ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะนางภุชคีว่า ดูกร น้องหญิง ขอท่านจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำขอของเราว่า ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว นางภุชคีได้ตอบข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ มิใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นเสียแล้ว ข้าพระองค์จึงสั่งไว้ว่า ดูกร น้องหญิง ถ้าอย่างนั้นเมื่อใดพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธิแล้ว เมื่อนั้นท่านจงกราบบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้องหญิงนั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของข้าพระองค์แล้วหรือ พระผู้มีพระภาคยังทรงระลึกถึงคำของน้องหญิงนั้นได้อยู่หรือ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร จอมเทพ น้องหญิงนั้นไหว้อาตมภาพแล้ว อาตมภาพระลึกได้ถึงคำของน้องหญิงนั้น และอาตมภาพออกจากสมาธิเพราะเสียงกงรถของพระองค์ ฯ

    ท้าวสักกะจอมเทพทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่าใดที่เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ก่อนพวกข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ยินมา ได้รับมาต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นว่า เมื่อใดพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติในโลก เมื่อนั้นทิพยกายย่อมบริบูรณ์ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ข้อนี้ข้าพระองค์ได้เห็นพยานแล้วว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ฯ

    เพราะเมื่อทรงแสดงธรรมแล้ว ก็ย่อมจะมีผู้ที่บรรลุมรรคผล และด้วยผลของกุศลที่ได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดในสวรรค์มากกว่าที่จะเกิดในภูมิอื่น ซึ่งท้าวสักกะเองได้เห็นเป็นพยานว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ คือ ผู้ที่เกิดในสวรรค์ย่อมมีมาก อสุรกายย่อมเสื่อมไป

    ท้าวสักกะกราบทูลต่อไปว่า

    ในเมืองกบิลพัสดุ์นี้เอง ได้มีศากยธิดานามว่าโคปิกา เป็นคนเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บำเพ็ญศีลบริบูรณ์ นางคลายจิตในความเป็นสตรี อบรมจิตในความเป็นบุรุษ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถึงความอยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของข้าพระองค์ พวกเทวดาในดาวดึงส์นั้นรู้จักเธออย่างนี้ว่า โคปกเทวบุตรๆ

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุอื่นสามรูปประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ คนธรรพ์พวกนั้นเพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บำเรออยู่ มาสู่ที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ โคปกเทวบุตรได้ตักเตือนคนธรรพ์พวกนั้นผู้มาสู่ที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ เอาหน้าไปไว้ที่ไหน พวกท่านรวบรวมพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นไว้ เราเป็นแต่สตรีเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บำเพ็ญศีลบริบูรณ์ คลายจิตในความเป็นสตรี อบรมจิตในความเป็นบุรุษ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถึงความอยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของท้าวสักกะจอมเทพ แม้ในที่นี้พวกเทวดารู้จักเราว่า เป็นโคปกเทวบุตรๆ ส่วนพวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ พวกเราได้เห็นสหธรรมิกที่เข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ นับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูแล้ว

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคนธรรพ์พวกนั้นถูกโคปกเทวบุตรตักเตือนแล้ว เทวดาสององค์กลับได้สติในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต ส่วนเทวดาองค์หนึ่งคงตกอยู่ในกามภพ ฯ (นาที24.37)


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 809

    ท้าวสักกะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นในท่ามกลางหมู่เทวดาแล้ว ได้ทรงสลดพระทัย เมื่อท้าวสักกะเกิดสลดพระทัยเพราะทรงพิจารณาเทวดาเหล่านั้น โคปกเทวบุตรได้ทูลท้าววาสพะ คือ พระอินทร์ว่า

    พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมชน มีอยู่ในมนุษยโลก ทรงครอบงำกามเสียได้ ปรากฏพระนามว่าพระศากยมุนี เทวดาพวกนั้นเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้เว้นจากสติแล้ว อันข้าพระองค์ตักเตือนกลับได้สติ บรรดาท่านทั้ง ๓ นั้น ท่านผู้หนึ่งคงเข้าถึงกายคนธรรพ์อยู่ในภพนี้ อีก ๒ ท่านดำเนินตามทางตรัสรู้ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว จะเย้ยพวกเทวดาก็ได้ การประกาศธรรมในพระวินัยนี้เป็นเช่นนี้ บรรดา พระสาวกมิได้มีสาวกรูปไรสงสัยอะไรเลย เราทั้งหลายขอนอบน้อมพระชินพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมชน ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ทรงตัดความสงสัยได้แล้ว บรรดาคนธรรพ์ทั้ง ๓ นั้น คนธรรพ์ ๒ คนนั้นรู้ธรรมอันใดของพระองค์แล้วถึงความเป็นผู้วิเศษ เข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต บรรลุคุณวิเศษแล้ว

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอประทานพระวโรกาส ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น หากพระองค์ทรงกระทำโอกาสแล้ว จะขอทูลถามปัญหา ฯ

    เพราะความสลดใจเรื่องภิกษุ ๓ รูป ทำให้ท้าวสักกะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อที่จะได้ทูลถามปัญหาที่ยังไม่แจ่มแจ้งสำหรับพระองค์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ท้าวสักกะนี้เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน จักตรัสถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งกะเรา ท้าวเธอจักถามปัญหานั้นทุกข้อ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่ถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อนึ่ง เราอันท้าวเธอตรัสถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความใด ท้าวเธอจักทรงทราบข้อความนั้นได้พลันทีเดียว ฯ

    ถ้าเป็นคนอื่นก็ไม่ทราบว่า คนที่มาถามนี้จะสามารถเข้าใจคำที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ได้มากน้อยแค่ไหน แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท้าวสักกะเป็น ผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน หมายความว่าเป็นผู้ที่เคยอบรมบารมีมา เพราะฉะนั้น เมื่อตรัสถามแล้ว พระองค์ทรงพยากรณ์ข้อความใด ก็สามารถเข้าใจข้อความนั้นได้ทันที

    ข้อความต่อไป

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพด้วยพระคาถาว่า

    ดูกร ท้าววาสพะ พระองค์ปรารถนาไว้ในพระทัยเพื่อจะตรัสถามปัญหาข้อไร ก็จงตรัสถามปัญหาข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ แก่พระองค์ ฯ

    ท้าวสักกะก็ได้ทูลถามธรรมเป็นเครื่องผูกใจของพวกเทวดา ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ธรรมซึ่งเป็นเครื่องผูกพันใจของพวกเทพไว้ คือ ความริษยา และความตระหนี่ (นาที28.14)


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 810

    พระอินทร์ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคว่า ความริษยา และความตระหนี่มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความริษยา และความตระหนี่จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความริษยา และความตระหนี่จึงไม่มี ฯ

    ผู้ที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะละความริษยา ความตระหนี่ หรือกิเลสต่างๆ ได้ เพราะไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นสมุทัย คือ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความริษยา และความตระหนี่จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความริษยา และความตระหนี่จึงไม่มี

    คงไม่มีใครอยากจะมีความริษยา และความตระหนี่มากๆ รู้ว่าความตระหนี่เป็นอกุศล อยากจะให้หมด แต่ตรงกันข้าม หมดไม่ได้ มีแต่ความพอใจ มีแต่ความ ติดข้อง มีแต่ความหวงแหน มีแต่การที่ไม่สามารถจะสละให้ จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ในเหตุของความตระหนี่ และต้องอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ความริษยา และความตระหนี่มีอารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด อันเป็นแดนเกิด เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยา และความตระหนี่จึงมี เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยา และความตระหนี่จึงไม่มี ฯ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 799


    หมายเลข 1069
    6 ก.ย. 2567