ท้าวสักกะ (๖) รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ความริษยา และความตระหนี่มีอารมณ์เป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด อันเป็นแดนเกิด เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยา และความตระหนี่จึงมี เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยา และความตระหนี่จึงไม่มี ฯ
ถ้าไม่มีอารมณ์ซึ่งเป็นที่รัก ก็คงจะไม่มีการติด และคงจะไม่มีการหวงแหน แต่ว่าไม่ใช่เพียงอารมณ์อันเป็นที่รักเท่านั้นที่เป็นสมุทัยของความริษยา และความตระหนี่ ยังมีอารมณ์อันไม่เป็นที่รักด้วยเป็นกำเนิด เป็นแดนเกิดของความริษยา และความตระหนี่ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ความริษยาเกิดขึ้น จะริษยาในบุคคลซึ่งท่านไม่รักหรือว่าไม่เป็นที่รักของท่าน ถ้าบุคคลที่เป็นที่รักมีความเจริญรุ่งเรือง ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ท่านจะดีใจปลาบปลื้ม หรือว่าจะริษยา เพราะฉะนั้น ความริษยา มีอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นสมุทัยด้วย
ความตระหนี่ก็เช่นเดียวกัน ความหวงแหนสิ่งที่ท่านมี ไม่สามารถที่จะสละ แบ่งปันให้กับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก แต่กับบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ไม่มีการหวงแหน ไม่มีการตระหนี่เลย
เมื่อท้าวสักกะจอมเทพได้ฟังแล้ว ก็ได้ทูลถามถึงเหตุของอารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก เพราะจะเป็นเพียงอารมณ์ธรรมดาๆ เท่านั้นไม่ได้หรือ เพราะเหตุใด เหตุของความริษยา และความตระหนี่จึงต้องเป็นอารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร จอมเทพ อารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีความพอใจ เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อความพอใจมี อารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี ฯ
นี่เป็นชีวิตประจำวันซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบว่า ทำไมเวลาที่อารมณ์ปรากฏ จึงไม่รู้ในสภาพของอารมณ์นั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่ามีกิเลสเป็นผู้ประมาณอารมณ์นั้นให้เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รัก ตามลักษณะของกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพจึงตรัสถามพระผู้มีพระภาคถึงเหตุของอารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักนั้นว่าคืออะไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบว่า อารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีความพอใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย
ทันทีที่เห็น แทนที่จะเห็นเป็นเพียงอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจตามความเป็นจริง แต่กลับมีความพอใจเป็นเหตุให้อารมณ์นั้นเป็นที่รักทันที เป็นที่พอใจทันที เป็นที่ติดข้องทันที ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบไหมว่า ทันทีที่เห็นในขณะนี้มีความพอใจ หรือไม่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า ซึ่งตามปกติย่อมมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นประจำ แม้ว่าอารมณ์จะเกิดดับอย่างรวดเร็วสักเพียงไรก็ตาม ผู้ที่ยังมีอวิชชาอยู่เป็นปัจจัย ย่อมทำให้เกิดความยินดีในขณะที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สติไม่เกิด
ขอให้พิจารณาถึงเสียงที่กำลังปรากฏ ดูเหมือนว่าเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ความไม่รู้เสียงยังมี เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่เสียงปรากฏ ย่อมมีจิตซึ่งยินดีพอใจในเสียงที่ปรากฏ ถ้าขณะนั้นสติไม่ระลึกรู้ในลักษณะของเสียงที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วก็หมดไป
ไม่รู้เลยใช่ไหม ในวันหนึ่งๆ แต่ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าสติไม่เกิด วันหนึ่งๆ จิตเป็นไปในอกุศลอย่างมากทีเดียว
ข้อความต่อไป ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามต่อไปถึงเหตุของความพอใจว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ความพอใจมีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความพอใจจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความพอใจจึงไม่มี ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร จอมเทพ ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจจึงไม่มี ฯ
ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ตลอดทางที่จะมาฟังธรรม หรือว่าขณะที่เดินผ่านไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง เห็นสิ่งนั้นบ้าง เห็นสิ่งนี้บ้าง บางครั้งก็ไม่ได้สังเกต ไม่ได้สนใจในสิ่งที่เห็นเลย เกือบจะไม่รู้ด้วยว่าเห็นอะไร ถ้าท่านผู้ฟังไปตามแถวที่มีของขายมากมาย ท่านเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่วางขาย หรือว่าบางอย่างก็ไม่เห็นเลย อาจจะเข้าไปในร้านหนึ่งที่มีของขายหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้เห็นทั่วหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแต่เพียงบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น ในขณะนั้นอาจจะไม่ทราบว่า มีความพอใจในการเห็น ในสิ่งที่เห็นเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพว่า ดูกร จอมเทพ ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด
ความตรึก คือ ความคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิสูจน์ธรรมได้ว่า เป็นความจริงอย่างนั้นไหม ที่บางครั้งเห็นเหมือนไม่เห็น เพราะว่าไม่ได้สนใจ และไม่ได้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่เวลาที่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ขณะนั้น เพราะรู้ในรูปร่างสัณฐาน คือ ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง รู้ว่าในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ปัญญาจะรู้ละเอียดจริงๆ คือ พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง รู้ว่าในขณะที่เห็นไม่ใช่ในขณะที่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และถ้ามีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ลักษณะของความยินดีพอใจนั้นก็เกิดเมื่อมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ
(นาที9.37)
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 799
ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อไป เพื่อที่จะได้รู้ถึงเหตุอันแท้จริงว่า ความตรึกซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความพอใจนั้น ความตรึกนั้นมีอะไรเป็นเหตุ
ท่านผู้ฟังเคยพิจารณาคิดอย่างละเอียดอย่างนี้ไหม ในขณะที่มีความยินดีพอใจไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เคยใคร่ครวญถึงเหตุของเหตุที่จะทำให้เกิดความพอใจนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะดับความยินดีพอใจนั้นได้ เพราะไม่รู้เหตุ แม้แต่ท้าวสักกะจอมเทพก็ยังกราบทูลถามว่า ความตรึกมีอะไรเป็นเหตุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร จอมเทพ ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด ฯลฯ
สัญญา คือ ความจำ ปปัญจธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าในการเจริญกุศล สัญญา ความจำ เกิดกับจิตทุกขณะ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศลสัญญา ถ้าเกิดกับกุศลก็เป็นกุศลสัญญา ขณะใดที่เกิดร่วมกับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ว่าเที่ยง ขณะนั้นสัญญานั้นก็เป็นอัตตสัญญา นิจจสัญญา และเป็นสุขสัญญาด้วย เวลาที่เกิดกับสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา
เมื่อไรจะมีสัญญาที่ไม่ใช่อกุศลสัญญา ที่เป็นอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญาตามความเป็นจริง เพราะสัญญาจะต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสติไม่เกิด การตรึกก็ตรึกไปในรูปร่างสัณฐาน และก็มีการยึดถือจดจำว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ และสัญญาก็จำอย่างนั้นมาเรื่อยๆ ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น การที่จะให้เกิดสัญญาที่ถูกต้อง ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กุศลสัญญาจะต้องเกิดกับสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กำลังปรากฏ พร้อมปัญญาที่ศึกษาเริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนขณะใด สัญญาในขณะนั้นจึงจำลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นอนัตตสัญญา และการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์อนิจจลักษณะ คือ สภาพที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้น และก็ดับไป เมื่อนั้นก็จะเป็นอนิจจสัญญา
เพราะฉะนั้น สัญญามีมาก แต่ว่าเมื่อเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลสัญญา (นาที 13.31)
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 800
ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และบังเกิดขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นพวกอื่น ปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว ด้วยประการดังนี้ เพราะฉะนั้น คำว่า สักกปัญหา จึงเป็นชื่อของไวยากรณภาษิตนี้ ฉะนี้แล ฯ
จบ สักกปัญหสูตรที่ ๘
เรื่องธรรมธรรมดา ซึ่งท่านผู้ฟังก็มีโอกาสจะได้ฟังเหมือนกับที่ท้าวสักกะได้รับฟังเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค จากพระโอษฐ์ของพระองค์ แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้ว ในขณะนั้นเอง เป็นปกติอย่างนั้น ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดสภาพธรรมที่เกิดดับรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่อย่าลืมว่า ต้องอบรมมานานมาก เพราะฉะนั้น ก็ปกติธรรมดาอย่างนี้ กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง หรือว่ากำลังเห็น กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ (นาที 19.05)
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 810
การอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ปกติเป็นอย่างไร ปัญญาก็รู้ความจริงของสภาพธรรมตามปกติอย่างนั้น ไม่ใช่ไปฝืน ไม่ใช่ไปกั้น ไม่ใช่ไปห้าม ไม่ใช่ไปทำ เพราะไม่มีผู้ใดที่สามารถจะทำอะไรได้นอกจากมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งโดยปกติคือองค์ ๕ ได้แก่ สัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ เกิดขึ้นกระทำกิจ คือ อบรมเจริญจนกระทั่งสามารถที่จะเพิ่มความรู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้น
ถ้าท่านอ่านพระไตรปิฎก แม้ใน สักกปัญหสูตร ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ท้าวสักกะจอมเทพได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสบังคับไม่ให้ท้าวสักกะคิด หรือว่าไม่ได้ตรัสบังคับให้ท้าวสักกะออกไปจากที่เฝ้าเพื่อที่จะไปเจริญสมณธรรมหรืออะไรเลย แต่ไม่ว่าท้าวสักกะจะกราบทูลถามปัญหาใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมตอบปัญหาที่ท้าวสักกะทูลถามจนแจ่มแจ้ง ท้าวสักกะจึงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล
ไม่ได้ให้ไปทำอะไรที่ไหนเลย แต่เพราะความแจ่มแจ้งของธรรมที่ได้ฟัง ประกอบด้วยปัญญาที่ได้สะสมอบรมมาแล้ว เป็นปัจจัยทำให้สามารถที่จะแทงตลอดแม้ในขณะที่กำลังสดับธรรมจากพระผู้มีพระภาค
การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นเรื่องปกติ ในขณะนี้เอง ขณะที่กำลังฟังเรื่องของนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่กำลังเข้าใจเรื่องของรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และขึ้นอยู่กับปัญญาที่ได้อบรมว่า พร้อมที่จะรู้แจ้งแทงตลอด ประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรมไหม
นามธรรมต้องมีลักษณะ และนามธรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น เวลานี้เข้าถึงอรรถ ความหมายของคำว่าสภาพรู้ในขณะที่กำลังเห็นนี้หรือยัง นี่คือปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่า ลักษณะของสภาพรู้ไม่ใช่ชื่อว่านามธรรม แต่ว่าเป็นลักษณะที่น้อมไปสู่อารมณ์ จึงทรงบัญญัติเรียกสภาพนั้นว่านามธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และสิ่งที่ปรากฏที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม
ขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้ได้ว่า เสียงมีจริง เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่นี่หรือที่ไหนก็ตาม เวลาที่มีการกระทบกันของวัตถุที่แข็งย่อมเป็นปัจจัยให้เสียงเกิดแม้ว่าจะมีการได้ยินหรือไม่มีการได้ยิน แต่ขณะใดที่เสียงเกิดปรากฏ ขณะนั้นหมายความว่ามีสภาพที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏในขณะนั้น
จะมีเสียงปรากฏโดยไม่มีสภาพรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ลักษณะของสภาพรู้เป็นอย่างไร นี่คือผู้ที่จะหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะหมดความสงสัยในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียงทางหู ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่กำลังคิดนึก ที่กำลังเข้าใจในแต่ละคำที่ได้ยิน
การอบรมเจริญปัญญาในขั้นต้น เป็นการที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมว่าไม่ใช่รูปธรรม และรู้ลักษณะของรูปธรรมว่าไม่ใช่นามธรรมในขณะที่ปรากฏ เป็นปกติ ไม่ว่าจะเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ภพนี้ หรือว่าใครจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กำลังฟังธรรมเรื่องอะไรจากเทพชั้นนั้นๆ ก็ตามแต่ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ต้องเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละขณะ เพราะชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้นเอง ซึ่งการที่จะรู้ความจริง ก็ต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ถ้าเป็นขณะนี้ ก็ต้องรู้ขณะนี้ เพราะอนาคตยังไม่มาถึง อดีตก็ผ่านไปแล้ว ถ้าขณะนี้ล่วงไปจนถึงอีก ๒,๐๐๐ ปีข้างหน้า สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ปัญญาก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในภพนั้น ในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะรอ แต่เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ ที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บางท่านอาจจะเคยได้ยินว่า ควรจะมีความเพียร อบรมเจริญปัญญาในขณะนี้ให้เหมือนกับบุคคลที่เหมือนมีไฟไหม้บนศีรษะ แต่นั่นไม่ใช่ขณะอื่น ถ้าจะเป็นไฟไหม้บนศีรษะ ก็คือเดี๋ยวนี้ ไฟกำลังไหม้อยู่ ในขณะที่สติไม่เกิด ไม่ใช่ว่าต้องรอให้ไปถึงสถานที่หนึ่งสถานที่ใดเพื่อที่จะไปดับไฟ ถ้าไฟกำลังไหม้ศีรษะ ก็คือ ขณะที่สติไม่เกิดขณะใด ขณะนั้นคือไฟกำลังไหม้ศีรษะ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงเป็นในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ (นาที 25.22)
สำหรับอนุสสติ ๑๐ ที่เป็นฉอนุสสติ คือ พุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ ซึ่งผู้ที่จิตจะสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิได้เมื่อระลึกถึงอนุสสติเหล่านี้ ก็มีแต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น เพราะศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาของท่านมั่นคงในพระรัตนตรัย โดยการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ท่านมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตสงบมากเวลาที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ หรือว่าระลึกถึงศีล ระลึกถึงจาคะ ระลึกถึงเทวดา ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีคุณเสมอกับเทวดาทั้งหลาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนไม่ควรจะระลึก แม้ผู้ที่เป็นปุถุชนก็ควรที่กุศลจิตจะเกิดแทนที่อกุศลจิตจะเกิด แต่ว่าไม่ใช่การบังคับ
สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า สมถภาวนาจะเกิดขึ้นโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่โดยนัยของผู้ที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ไม่เป็นผู้ที่บังคับ แต่เป็นผู้ที่แล้วแต่ขณะนั้นจิตจะน้อมระลึกถึงสิ่งใด ก็รู้ในเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดระลึกถึงในสิ่งนั้น ถ้าขณะนั้นเป็นสติที่จะทำให้สงบขั้นสมถะ ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานก็รู้ว่า สติขั้นนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเป็นเพียงความสงบ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เป็นสภาพรู้ ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม
การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเกื้อกูลกับสติทุกขั้น แม้ในขั้นของการระลึกเป็นไปในเรื่องของจาคะ การสละความตระหนี่ หรือว่าเป็นไปในเรื่องของศีล คือ การวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา และยังเป็นผู้ที่ละเอียดสามารถที่จะรู้โทษซึ่งแม้ว่ายังไม่ล่วงเป็นทางกาย ทางวาจา แต่อกุศลจิตที่น่ารังเกียจก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ควรวิรัติ ละเอียดยิ่งกว่าการที่จะงดเว้นเพียงศีล ๕
นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นในการสวดมนต์กราบพระ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมรู้ลักษณะของจิตตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นสงบ หรือไม่สงบ เป็นกุศล หรือไม่เป็นกุศล เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่า ไม่มีอกุศลเลยในขณะที่สวดมนต์ไหว้พระ อาจจะกระทำไปด้วยความรีบร้อน หรือว่าเพียงแต่กล่าวคำภาษาบาลี แต่ไม่ใช่ความสงบเพราะระลึกถึงพระพุทธคุณจริงๆ พระธรรมคุณจริงๆ พระสังฆคุณจริงๆ (นาที 28.50)
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 810
การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ธัมมวิจยะ คือ การที่ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะที่เป็นอกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม และขณะใดที่เป็นกุศลก็เป็นกุศลแม้ว่าจะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน ปัญญาย่อมเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตสงบขึ้นมากกว่าก่อนที่ยังไม่ได้เจริญ สติปัฏฐาน และเมื่อสงบขึ้น ก็ไม่ได้ยึดถือความสงบนั้นว่าเป็นเรา เมื่อไม่ยึดถือสภาพที่ความสงบว่าเป็นเรา ก็ยิ่งสงบขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้สงบ และปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงลักษณะของจิตที่สงบ หรือเป็นลักษณะของความสงบที่สงบขึ้นเพราะเหตุใด และยังละการยึดถือความสงบในขณะนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้สมถภาวนาโดยนัยของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะต่างกับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจะมีความเข้าใจเพียงขั้นที่ว่า ขณะนั้นที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามปกติ จิตสงบ หรือไม่สงบ และรู้เหตุที่จะทำให้สงบขึ้น แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ถึงปัจจัยว่า ในขณะนั้นสงบหรือไม่สงบเพราะอะไร หรือว่าเมื่อสงบแล้วสงบขึ้นอีกเพราะอะไร และก็ไม่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ที่มา ...