ในปัญญา ๔ อย่าง ขณะที่สติเกิดจะมีครบทุกข้อหรือไม่


    คำถามสุดท้าย ข้อ ๓ ในปัญญา ๔ อย่าง มีสาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ และอสัมโมหสัมปชัญญะ ขณะที่สติเกิดจะมีครบทุกข้อหรือไม่

    ขณะที่ปัญญาพิจารณาถูกต้อง ครบ แต่ถ้าทีละข้อๆ ไม่ครบแน่ ใช่ไหม เช่น บางท่านคิดถึงสาตถกสัมปชัญญะ รู้ประโยชน์ของการที่จะเจริญกุศลว่า กุศลเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และการอบรมเจริญปัญญาก็เพื่อละคลายการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ในขณะนี้สติยังไม่เกิด ยังไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็ชื่อว่ามีแต่สาตถกสัมปชัญญะ แต่ขณะใดที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นเป็นการรู้ที่ถูกต้อง ก็ต้องพร้อมทั้งสัมปชัญญะ ๔ เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่ รู้ประโยชน์ของสติ และต้องรู้ด้วยว่าสัปปายะจริงๆ คือ ลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่เที่ยง ที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปแสวงหาอย่างอื่นเลย

    ในสัปปายสูตรที่ได้เคยกล่าวถึง สภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงของรูป ของนาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสัปปายะ เป็นสิ่งที่ควรจะทำให้ปัญญาสามารถเกิดขึ้นรู้ความจริงได้ และขณะที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกำลังปรากฏ และสติระลึกที่อารมณ์นั้น อารมณ์นั้นก็เป็นโคจรสัมปชัญญะเป็นปัญญาที่รู้ว่า ไม่ต้องไปแสวงหาอารมณ์อื่น ไม่ต้องทำอย่างอื่น เพียงระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1527

    บางท่านกล่าวว่า เวลาที่ท่านไม่ได้ฟังธรรม จิตใจของท่านเพลิดเพลินไปใน เรื่องอื่น หลงลืมสติอย่างมาก จำเป็นต้องสวดมนต์ก่อนจิตจะได้มั่นคงขึ้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่ท่านระลึกอย่างนั้น และทำอย่างนั้น เพราะว่าเคยชินต่อการ ที่จะสวดมนต์ เพราะฉะนั้น จะเรียกว่าสวดมนต์หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ท่านท่องคาถา เช่น คาถาชินบัญชร ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นการสวดมนต์หรือเปล่า แต่ความคุ้นเคยต่อการที่เคยท่องก็ทำให้คิดว่า จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก่อน นี่เป็นการขาดสัปปายสัมปชัญญะ เพราะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิดนึก เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยว เป็นทุกข์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควร เป็นสัปปายะที่จะให้เกิดการระลึกได้ แต่เมื่อยังเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้น้อย ไม่ชำนาญเท่ากับคาถาที่เคยสวดอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้น การเสพคุ้นของการกระทำเช่นนั้น ก็ทำให้เกิดความคิดที่จะต้องสวดมนต์ก่อน

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าวันก่อนๆ นั้น สติจะเกิดมากสักเท่าไร หรือว่าสติจะเกิดน้อยสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องของวันก่อนๆ และไม่ต้องคิดถึง วันข้างหน้าด้วย เพราะว่าขณะนี้มีสิ่งที่สติจะระลึก ศึกษา เพื่อจะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ใช่เรา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในวันหนึ่งๆ จะมีอุปสรรคขัดขวางจากการที่เคยสะสมการกระทำอย่างอื่นๆ มาแล้วหลายประการ เช่น อาจจะคิดว่าต้องทำสมาธิก่อน นี่อย่างหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสจริงๆ จะ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันที เพื่อเป็นการเสพคุ้นกับ สติปัฏฐานที่จะให้มีกำลังขึ้น ไม่ว่าจิตใจจะเดือดร้อนระส่ำระสาย กระวนกระวาย ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจนชินแล้ว จะไม่คิดเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย แต่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นทันทีได้

    เพราะฉะนั้น จะพิจารณาได้ว่า การกระทำอย่างไรเป็นข้อปฏิบัติที่ตรง ที่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และการกระทำอย่างไรซึ่งยังติดอยู่ และไม่ใช่เป็นหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ทุกอย่างต้องอาศัยการอบรม แล้วแต่ว่าจะอบรมทางไหน จะคุ้นชินกับการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งจะพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันว่า มักจะกระทำอย่างนั้น แต่ถ้าเป็น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทำอย่างอื่นเลย เมื่อสติเกิดก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ทันที

    มีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ในคำถามข้อที่ ๓

    การที่จะรู้สภาพของกุศลจิต กับการที่จะรู้ว่านี่เป็นผลของกุศล อย่างไหนจะง่ายกว่ากัน

    ขณะนี้หรือทุกวันๆ ก็ได้ ธรรมเป็นเรื่องที่พิจารณาได้ และคำตอบก็ตรง ต้องเป็นจริงอย่างนั้น วันหนึ่งๆ มีกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็มีกุศลจิตบ้าง แต่การที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นผลของกุศลกับการที่จะรู้ลักษณะของกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ อย่างไหนจะรู้ได้ง่ายกว่ากัน ในชีวิตประจำวัน เวลาที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้างก็ได้ ทราบได้โดยความเป็นอนัตตาว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะทุกคนอยากจะได้สิ่งที่ดีทั้งนั้น ทุกคนอยากจะได้สิ่งที่น่าพอใจทั้งนั้น แต่บางกาลก็ได้ บางกาลก็ไม่ได้ ตามเหตุ คือ อดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคน เห็นสิ่งที่น่าพอใจมาก ก็รู้ว่าเป็นผลของกุศลที่มาก ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจน้อย ก็รู้ว่าเป็นผลของกุศลที่น้อย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จึงมีสิ่งที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายน้อย

    มีสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ที่จะให้รู้ว่า อดีตกุศลที่ได้กระทำแล้ว มีมากหรือมีน้อยอย่างไร

    แต่กุศลจิต ขณะที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ รู้ยากไหม ขณะที่สงบจากอกุศล


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1528


    หมายเลข 13107
    18 ก.ย. 2567