อรรถกถาวิภังคสูตร สัจจะ ๔


    ท่านผู้ฟังทราบว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏ แน่นอน ระลึกอย่างนี้หรือเปล่า เพียงแค่นี้ก็เป็นการระลึกได้ไม่ลืมว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อหลงลืมสติ จึงไม่ได้ระลึก และไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐาน เพื่อให้ระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้ศึกษาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะรู้โดยง่าย เพราะแม้สภาพธรรมปรากฏ ก็ลุ่มลึก และเห็นยาก

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาวิภังคสูตร มีข้อความว่า

    ในสัจจะ ๔ เหล่านี้ (หมายถึงทุกขสัจจะ ๑ ทุกขสมุทยสัจจะ ๑ ทุกขนิโรธสัจจะคือนิพพาน ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาหรือมรรคสัจจะ ๑ รวมเป็นอริยสัจ ๔) สัจจะ ๒ (คือ ทุกขสัจจะ และทุกขสมุทยสัจจะ) ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก สัจจะ ๒ (คือ ทุกขนิโรธสัจจะ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาหรือมรรคสัจจะ) เห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก

    ท่านผู้ฟังจะเห็นความละเอียดของการแสดงธรรมว่า แม้สัจจะ ๔ เป็นของที่ ลุ่มลึก และเห็นยากทั้ง ๔ แต่แม้กระนั้นข้อความใน อรรถกถาวิภังคสูตร ก็ยังได้กล่าวว่า สัจจะ ๒ (ทุกขสัจจะ และทุกขสมุทยสัจจะ) ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก แต่ส่วน สัจจะ ๒ (ทุกขนิโรธสัจจะ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาหรือมรรคสัจจะ) เห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก

    ถ้าท่านผู้ฟังจะคิดเอง คงต้องเสียเวลานานมากที่จะเข้าใจในข้อความตอนนี้ แต่ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    จริงอยู่ ทุกขสัจจะก็ปรากฏได้ เพราะความเกิดขึ้นย่อมถึงแม้ซึ่งอันตนพึงกล่าวว่า ทุกข์หนอ ในการกระทบด้วยตอ และหนามเป็นต้น

    คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักทุกข์ ใช่ไหม และทุกวันนี้อาจจะบอกว่า มีทุกข์มากมายเหลือเกิน เพิ่มขึ้นทุกวันๆ แต่ว่าทุกคนที่เป็นทุกข์หรือว่ามีทุกข์เกิดขึ้นนี้ น่าจะเห็นว่า ทุกข์นั้นๆ มี เพราะเกิดขึ้น ใช่ไหม ถ้าทุกข์นั้นๆ ไม่เกิด จะมีทุกข์ไหม ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กาย ทุกข์ใจ จะหิว จะปวด เจ็บ เมื่อย หรือแม้แต่เบื่อ รำคาญ ร้อน หนาว ทุกข์อื่นๆ ทั้งหมดที่มี ถ้าพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้น ในขณะนั้น ย่อมจะเห็นความลุ่มลึกของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นธรรมที่เห็นยากว่า การเกิดขึ้นของธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์

    เกิดขึ้นแปลว่า มีแล้ว เมื่อมีแล้วก็ต้องเห็นใช่ไหม แต่ไม่เห็น เพราะอะไรเพราะลุ่มลึก จึงเห็นยาก

    มีก็มี ทุกข์ก็เกิดอยู่เรื่อยๆ ก็เกิดไป และก็ดับไป และก็เกิดไป และก็ดับไป แต่ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์เลย เพราะไม่เห็นว่า การเกิดนั้นเป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้น ทุกขสัจ และทุกขสมุทยสัจ จึงเป็นธรรมที่ชื่อว่าลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก แม้ว่าเกิดมีขึ้นให้เห็น ก็ไม่เห็น เพราะว่าเป็นสภาพที่ลุ่มลึก

    แม้ทุกขสมุทัย คือ ความโลภ ความติด ความพอใจ ความต้องการมีมากไหม ปรากฏได้เพราะเกิดขึ้น ไม่มีใครเลยที่จะไม่มีโลภะ ทุกคนมีโลภะ เพราะฉะนั้น โลภะต้องปรากฏแน่ๆ เพราะว่าโลภะเกิดบ่อยๆ มีความอยากบ่อยๆ เช่น อยากเคี้ยวกิน มีไหม อยากบริโภคใช้สอยสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ว่า โดยการแทงตลอดถึงลักษณะทุกขสัจจะ และ สมุทยสัจจะ แม้ทั้ง ๒ ก็เป็นธรรมลุ่มลึก เพราะว่าแม้จะเกิดบ่อย แม้จะมีปรากฏ แต่ ก็เห็นได้ยาก จึงชื่อว่า ลุ่มลึก เพราะเห็นยาก

    สำหรับสิ่งที่เกิดมีอยู่เป็นประจำ เช่น ความทุกข์ หรือโลภะซึ่งเป็นสมุทัย แม้ว่าจะเกิดอยู่บ่อยๆ ก็ยังเห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ ไม่เกิดหรือว่าไม่เกิดบ่อยๆ จะเห็นได้ยากเพราะลุ่มลึกสักแค่ไหน ที่ว่าเห็นได้ยากเพราะว่าไม่เกิด อย่างนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม สังขารธรรมทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพธรรมที่เกิดจึงปรากฏ แต่ก็ลุ่มลึก เห็นได้ยาก ส่วนสภาพธรรมที่ไม่เกิด จะเห็นยากเพราะลุ่มลึก ใช่ไหม เพราะไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็น จึงเห็นยาก และลุ่มลึก

    และสำหรับมรรคมีองค์ ๘ คือ สติปัฏฐาน เกิดบ่อยไหม เมื่อไม่บ่อย ก็ย่อมจะต้องเห็นยากเพราะลุ่มลึก ไม่ใช่มีง่ายๆ เกิดบ่อยๆ ให้รู้ว่านี่คือสติที่ระลึกเป็นไปทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ในขณะที่กำลังเห็น นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า แม้มรรคสัจเอง ก็ต้องเป็นสิ่งที่ลุ่มลึกมากทีเดียว

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ความพยายามเพื่อต้องการเห็นสัจจะทั้งสอง ย่อมเป็นเหมือนการเหยียดมือไปเพื่อจับภวัคคพรหม

    ไกลสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น การพยายามเพื่อที่จะเห็นสัจจะทั้ง ๒ นี้ ย่อมเหมือนกับการเหยียดมือเพื่อจับภวัคคพรหม เหยียดไปเถอะ เมื่อใดจะได้จับ ภวัคคพรหม คือ อกนิฏฐาพรหม ซึ่งเป็นภพที่ยิ่งใหญ่สูงสุดของรูปพรหม นั่น ทางฝ่ายกุศล แต่ถ้าทางฝ่ายต่ำ เหมือนการเหยียดเท้าไปเพื่อถูกต้องอเวจี ก็ไม่มีทางที่จะเหยียดไปถึงอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สัจจะทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก

    สำหรับโพธิปักขิยธรรม เริ่มด้วยสติปัฏฐาน เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องศึกษา และพิจารณาโดยละเอียด โดยรอบคอบจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดพลาด เพราะว่าการศึกษา และการปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน ซึ่งการศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรมต้องถูกต้องตรงกันโดยตลอด

    อย่างท่านผู้ฟังที่กล่าวว่า เวลาสติระลึกที่แข็ง ซึ่งโดยมากทุกท่านจะรู้สึกว่า สติของท่านระลึกที่แข็งได้บ่อยๆ แต่ในขณะที่ระลึกที่แข็งนั้น ไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างไร เป็นเพียงแข็งเท่านั้นเอง ขณะนั้นลืมแล้ว ใช่ไหม สาตถกสัมปชัญญะ ตามที่ได้ศึกษามา คือ ประโยชน์ของสติปัฏฐานที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกลวงให้เห็นว่า การระลึกที่แข็งไม่เป็นประโยชน์ เพราะว่าเพียงแข็งเท่านั้นจะเป็นประโยชน์อะไร

    แต่ถ้าระลึกถึงธรรมที่ได้ฟังโดยละเอียด เช่น สาตถกสัมปชัญญะ ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของสติ รู้ว่าขณะที่กำลังระลึกที่แข็งที่กำลังปรากฏ จะต้องมีการน้อมไปเพื่อที่จะศึกษาพิจารณารู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพแข็ง และนามธรรมที่รู้แข็ง จนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเพียงขณะสองขณะไม่สามารถที่จะ ประจักษ์ได้

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ระลึกที่แข็ง และกำลังน้อมไปที่จะรู้ว่า เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งกำลังรู้แข็ง ขอให้พิจารณาว่า สตินั้นก็ดับ และก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ ซึ่งสติจะต้องตามระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏต่อไปโดยไม่เลือก เป็นปกติ จนกว่าจะรู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1220


    หมายเลข 13237
    6 พ.ย. 2567