วิสัยหชาดก ความยากจนไม่เป็นเหตุให้ทําชั่ว


    อีกชาดกหนึ่ง ทำให้เห็นถึงผู้ที่มีความมั่นคงในการขัดเกลากิเลสด้วยการให้ทาน

    วิสัยหชาดก มีข้อความว่า

    ดูกร พ่อวิสัยหะ แต่ก่อนท่านได้ให้ทาน ก็เมื่อท่านให้ทานอยู่อย่างนั้น ความเสื่อมได้มีแก่ท่านแล้ว ต่อแต่นี้ไป ถ้าท่านจักไม่ให้ทาน เมื่อท่านไม่ให้ทาน โภคะทั้งหลายก็คงกลับมีอยู่ตามเดิม

    นี่เป็นคำชักชวน หรือคำพูดที่จะพิสูจน์จิตใจของผู้ที่มั่นคงในทาน เมื่อให้ไปๆ ทรัพย์สมบัติก็หมดไปๆ เพราะฉะนั้น ก็ชักชวนว่า ถ้าไม่ให้ทาน ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย โภคะทั้งหลายก็คงกลับมีอยู่ตามเดิม เห็นว่าให้แล้วก็หมดไปเรื่อยๆ ควรจะหยุดให้เสีย แต่ลืมไปว่า ท่านไม่ได้คิดถึงเหตุ และผลที่ได้มาว่า เป็นผลของบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว ส่วนที่จะวิบัติไป เสื่อมไป ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของบุญ ของกุศลแล้ว มีแต่จะให้เกิดผลที่เป็นวิบากที่เป็นสุข แต่ไม่ใช่ว่า กุศลที่ทำไปแล้วทำให้เกิดความเสื่อมหรือความวิบัติ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเหตุ และผลถูกต้อง ก็จะเป็นผู้ที่มั่นคงในการให้ จะไม่คิดว่าที่หมดไปนี้เพราะให้ แต่จะรู้ว่าที่หมดไปนั้นเพราะอกุศลกรรม

    ข้อความต่อไป ผู้ที่มั่นคงในการให้ทาน ท่านก็กล่าวตอบว่า

    ข้าแต่ท้าวสหัสเนตร พระอริยะทั้งหลายท่านกล่าวถึงบาปกรรมว่า อันอารยชน ถึงจะเป็นคนยากจนเข็ญใจก็ไม่ควรทำ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทวยเทพ ข้าพระบาทจะพึงเลิกศรัทธาเพราะเหตุการบริโภคทรัพย์อันใด ทรัพย์อันนั้นอย่าได้มีเลย

    นี่เป็นความมั่นคงของผู้ที่เชื่อในเรื่องของกุศล

    ชีวิตจริงๆ จะเป็นอย่างนี้บ้างไหม บางท่านมีศรัทธา คิดว่าถ้าได้เงินมาจะแบ่งบริจาคเป็นการกุศลจำนวนหนึ่ง เวลานี้ไม่มีโภคสมบัติที่จะบริจาค แต่คิดว่า ถ้าได้มาเป็นจำนวนมากพอที่จะบริจาคได้ ก็จะแบ่งทรัพย์สมบัตินั้นบริจาคสักส่วนหนึ่ง คิดเวลาที่ยังไม่ได้ แต่พอได้มาแล้ว ชักจะเสียดายส่วนหนึ่งที่คิดไว้ ขอให้ดูว่าเป็นส่วนนั้นที่คิดไว้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าพอได้มาจริงๆ ส่วนนั้นก็เล็กลง ศรัทธาก็น้อยลง หรือเห็นว่าส่วนนั้นมากไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่บริจาคจริงๆ ก็บริจาคเพียงเล็กน้อย ไม่ตรงตามที่คิดไว้ บางทีก็ไม่บริจาคเลย

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 209

    สำหรับผู้ที่มั่นคงในทาน ท่านกล่าวว่า

    ข้าพระบาทจะพึงเลิกศรัทธาเพราะเหตุการบริโภคทรัพย์อันใด ทรัพย์อันนั้น อย่าได้มีเลย

    เคยคิดว่าจะบริจาคเป็นการกุศล ถ้าจะไม่บริจาค ขออย่าให้ได้ทรัพย์นั้นมาเลย นั่นเป็นผู้ที่มั่นคงในการให้ กิเลสนี้เหนียวแน่นเหลือเกิน แม้แต่วัตถุก็ยังสละยากถึงปานนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดในสภาพนามธรรม และรูปธรรมจนกระทั่งไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น จะยิ่งยากกว่าการสละวัตถุสักเท่าไร ถ้าไม่พิจารณา ไม่พิสูจน์จากชีวิตจริงๆ ท่านจะไม่รู้จักตัวท่านเองอย่างละเอียดว่า การละกิเลสนั้นจะต้องละอย่างไร และยากอย่างไร ท่านคิดข้ามๆ เพียงแต่ว่า ท่านเห็นนามรูปเกิดดับได้ก็จะหมดกิเลส แต่ว่าความจริงแล้ว กิเลสเป็นเป็นเรื่องละเอียด และจะต้องรู้แจ้งจริงๆ

    ข้อความต่อไป ที่ท่านผู้มีความมั่นคงในการให้ทาน ท่านกล่าวว่า

    รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็แล่นไปทางนั้น ข้าแต่ท้าววาสวะ วัตรที่ข้าพระบาทบำเพ็ญมาแล้วแต่ครั้งก่อน ขอจงเป็นไปเหมือนอย่างนั้นเถิด ถ้ายังมี ยังเป็นอยู่ ข้าพระบาทก็จะให้ เมื่อไม่มี ไม่เป็น จะให้ได้อย่างไร แต่ถึงจะเป็นอย่างนี้แล้วก็ตาม ก็จะต้องให้ เพราะข้าพระบาทจะลืมทานเสียมิได้

    เป็นเรื่องของผู้ที่ถึงแม้ว่าท่านจะมีทรัพย์น้อย มีอาหาร หรือมีเสื้อผ้า มีเครื่องนุ่งห่มน้อย แต่ว่าจิตใจของท่านที่เป็นผู้มักสละสิ่งที่ท่านมีอยู่แม้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ก็สามารถที่จะสละอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรได้ คงจะเคยเห็นผู้ที่มีทรัพย์น้อย แต่ว่าเกื้อกูลกันเสมอทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีปกติให้ที่ได้สะสมมาแล้ว


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 210


    หมายเลข 13274
    17 พ.ย. 2567