นาวาสูตร


    นาวาสูตรที่ ๘ มีข้อความว่า ก็ บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้น เหมือนเทวดา บูชาพระอินทร์ ฉะนั้นการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะมีความนอบน้อมเคารพในครูอาจารย์ หรือว่าผู้ที่ให้ความเข้าใจเรื่องธรรมนั้น ก็จะต้องกระทำในฐานะที่สมควรด้วย เพราะเหตุว่าบางท่านนั้นเคารพในครูอาจารย์เกินพระรัตนตรัย ต้องขอประทานโทษ ที่จะใช้คำนี้ เพราะเหตุว่า บางท่านไม่สนใจที่จะสอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย แล้วแต่ว่าผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้นจะกล่าวว่าอย่างไร ก็พึงพอใจในเหตุผลของผู้นั้นโดยที่ไม่เทียบเคียงเหตุผล ไม่สอบทานกับพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุการที่จะเคารพบุคคลที่เป็นครูอาจารย์นั้น ก็ต้องเคารพในส่วนที่เป็นครูอาจารย์ ไม่เหนือกว่าการเคารพในพระรัตนตรัย คือในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์

    เพราะฉะนั้น ก็เคารพครูอาจารย์ในความเมตตาที่ท่านอนุเคราะห์แสดงธรรม อุปการะเกื้อกูลให้ได้เข้าใจธรรม แต่ว่าจะต้องสอบทานธรรมนั้นกับพระธรรมวินัย จนกระทั่งให้ได้เหตุผล แต่ไม่ใช่จะไปลบหลู่ครูบาอาจารย์ ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนกับพระธรรมวินัยที่ได้สอบทานแล้ว ในที่นี้จึงกล่าวว่า ก็บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้นเหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น บุคคลผู้ที่เคารพนอบน้อมบุคคลที่เป็นครูอาจารย์ก็เป็นผู้ที่มีคุณความดี ก็เปรียบได้กับเทวดา ส่วนครูอาจารย์ที่ให้ความรู้ในทางธรรมนั้น ก็เปรียบได้กับพระอินทร์ซึ่งเป็นหัวหน้าของเทวดา ไม่ใช่ให้สูงกว่าพระรัตนตรัย ไม่ใช่ให้สูงกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ให้พึงบูชาเหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์และมีข้อความต่อไปว่า

    ผู้อันเตวาสิกบูชาแล้ว มีจิตเลื่อมใสในอันเตวาสิกนั้น ย่อมชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง นี่ก็ต้องทั้บุคคลซึ่งจะพึงเป็นที่เคารพบูชานั้น บุคคลนั้นเป็นพหูสูต งสองฝ่าย คือทั้งผู้ที่ชี้แจงธรรมและผู้ที่รับฟังธรรมด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับการนอบน้อมก็ต้องมีจิตเลื่อมใสในผู้รับฟังธรรม แล้วก็ชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้งเป็นการอุปการะด้วย บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาทคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น กระทำธรรม นั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้งแสดงธรรม และเป็นผู้ละเอียด

    พยัญชนะในพระไตรปิฏกละเอียดมาก เวลาที่จะแสดงธรรมในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็มีอรรถพยัญชนะสมบูรณ์ในข้อความนั้น แม้แต่ผู้ที่เป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่ประมาทคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น ก็ต้องกระทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ การที่จะกระทำธรรมให้มีประโยชน์ ก็คือใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้ง แสดงธรรมแก่บุคคลอื่น และเป็นผู้ละเอียด เมื่อรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ก็ไม่พึงเป็นผู้ที่ไม่แสดงธรรมนั้นแก่ผู้อื่น ควรที่จะแสดงธรรมที่ได้ศึกษา ได้ใคร่ครวญ ได้พิจารณา ได้เข้าใจแล้วนั้นต่อๆ ไป ด้วยความเป็นผู้ละเอียด อย่าเป็นผู้ที่ฟังเผินๆ หรือว่าจับข้อความจากธรรมเพียงเผินๆ ไม่ใคร่ครวญพิจารณาให้รอบคอบก่อน แล้วแสดงแก่ผู้อื่น เพราะเหตุว่าอันนี้ก็จะเป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิดตามไปด้วย ข้อความต่อไปมีว่า

    อันเตวาสิก ส้องเสพอาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย เป็นคนเขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย นี่ก็เป็นอันตรายอีกเหมือนกัน ที่ว่าอันเตวาสิกส้องเสพอาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย ผู้เป็นคนเขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย เพราะว่าธรรมนั้นไม่สามารถจะอุปการะให้พ้นจากความตาย ให้พ้นจากการที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าผู้นั้นไม่เป็นผู้เขลา ไม่เป็นผู้ที่มีธรรมน้อย ก็ย่อมจะอุปการะสามารถที่จะทำให้อันเตวาสิกผู้ที่เป็นศิษย์นั้นบรรลุประโยชน์ และพ้นจากความตายได้ ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งแล้ว ไม่ใคร่ครวญเนื้อความในสำนักแห่ง บุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้ด้วยตนเอง ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ จะสามารถให้ผู้อื่นเพ่งพินิจได้อย่างไร เหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชื่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ จะสามารถช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้อย่างไร ฉะนั้น ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น เป็น ผู้ฉลาดมีสติ พึงช่วยผู้อื่นแม้มีจำนวนมากในเรือนั้น ให้ข้ามได้แม้ฉันใด ผู้ใดไปด้วยมัคคญาณทั้ง ๔ อบรมตนเป็นพหูสูตร ไม่มีความหวั่นไหวเป็นธรรมดา ผู้นั้นแลรู้ชัดอยู่ พึงยังผู้อื่นผู้ตั้งใจสดับและสมบูรณ์ด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสสัย ให้เพ่งพินิจได้ ก็ฉันนั้น

    เพราะเหตุนั้นแล บุคคลควรคบสัปบุรุษผู้มีปัญญา เป็นพหูสูตร บุคคลผู้คบบุคคลเช่นนั้น รู้ชัดเนื้อความนั้นแล้ว ปฏิบัติอยู่รู้แจ้งธรรมแล้ว พึงได้ความสุข เป็นข้อความในพระไตรปิฏก ซึ่งได้กล่าวเตือนถึงในเรื่องการใคร่ครวญธรรม เพราะเหตุว่าอุปมาเหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชื่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ ย่อมไม่สามารถจะช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้ แต่ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น ถึงแม้เราจะได้ฟังเรื่องของมรรค์มีองค์ ๘ ว่าในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น จะต้องเจริญสติ จะต้องเป็นผู้เจริญมรรค์มีองค์ ๘ แต่ถ้าไม่พิจารณาไม่ใคร่ครวญในมรรค์ทั้ง ๘ นั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ด้วยความแยบคายคือด้วยความสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผล ก็เท่ากับผู้ที่ไม่รู้อุบายในเรือ มีเรือจริงมีของหลายอย่างในเรือนั้น แต่ไม่ทราบว่าของนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ก็ไม่สามารถจะใช้เรือนั้นให้เป็นประโยชน์ได้ ฉันใด ในเรื่องของ มรรค์มีองค์ ๘ ก็เช่นเดียวกัน คือจะต้องมีการศึกษาให้เข้าใจเรื่องของมรรค์มีองค์ ๘ ไม่ให้คลาดเคลื่อนไข้วเขวแล้วจึงจะเป็นผู้ที่รู้อุบายในเรือนั้น สามารถที่จะใช้ประโยชน์ให้เรือนั้นถึงฝั่งได้

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าท่านผู้ใด มีพระธรรมวินัยเป็นศาสดา แล้วก็มีคูรบาอาจารย์ที่อุปการะให้ความรู้ความเข้าใจ แต่ว่าผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งธรรมนั้น ถ้ามีความมั่นใจในบุคคลโดยที่ไม่สอบทานธรรม ซึ่งได้ฟังจากบุคคลนั้น กับพระธรรมวินัยก็ย่อมเป็นอันตรายได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ทราบถึงความลึกซึ้งของธรรม แล้วก็อาจจะเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนไป

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะฟังธรรมจากใคร ก็ควรที่จะได้พิจารณาใคร่ครวญสอบทานอยู่เสมอ จนกระทั่งได้เหตุผลที่สมบูรณ์ ถ้าท่านศึกษาหรือว่าอ่านในพระไตรปิฏกจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่ท่านข้องใจ จะมีคำอธิบายอย่างละเอียด และอีกประการหนึ่งบางทีท่านอาจจะไม่ทราบว่า บุคคลในครั้งโน้นท่านมีความสงสัยกันเรื่องอะไร ท่านสนทนากันเรื่องอะไร เพราะว่าการสนทนาธรรมมีเรื่องที่จะสนทนามากมายหลายประการ จะสนทนาเรื่องอริยสัจจ์ ๔ จะสนทนาเรื่องปฏิจจสมุปปาทะ จะสนทนาเรื่องมรรคมีองค์ ๘ จะสนทนาเรื่องญาณ จะสนทนาเรื่องอะไรก็มีมากมายหลายเรื่อง และบุคคลในครั้งโน้นท่านคิดอย่างไร ท่านถามอย่างไร ก็เป็นการที่ว่าถ้าท่านศึกษาพระไตรปิฎกมากขึ้น ท่านก็จะได้ความรู้ความแจ่มแจ้งมากขึ้นด้วย แต่ว่าจะเห็นได้ว่า บุคคลซึ่งศึกษาธรรมมีความเข้าใจธรรม จะไม่เห็นว่าตนเองนั้นสำคัญ แต่ว่าสิ่งสำคัญคือพระธรรมวินัย สิ่งสำคัญคือพระรัตนตรัย ท่านเหล่านั้นจะไม่คิดว่าท่านเป็นใหญ่ ไม่คิดถึงว่าให้ใครๆ มาเคารพกราบไหว้นับถือเป็นครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีศิษย์ หรือมีผู้ฟังธรรมมากๆ ท่านเหล่านั้นจะไม่คิดถึงตัวท่านเลย แต่จะคิดถึงพระธรรมวินัยและคิดถึงพระรัตนตรัยเป็นใหญ่


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 24


    หมายเลข 13444
    14 เม.ย. 2568