ความต่างระดับกันของจิตโดยชาติและโดยภูมิต่างๆ
เหตุที่เรากล่าวถึงเรื่อง "ภูมิ" ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพจิต เพราะว่าจิตมีถึง ๘๙ ประเภท เหมือนกันหมด หรือไม่ ถ้าเหมือนก็ไม่ต้องจำแนก ความต่างโดยประการใหญ่ๆ นอกจากที่เรากล่าวถึงแล้วโดยชาติ จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบากก็มี จิตที่เป็นกิริยาก็มี ถ้ากล่าวโดยชาติจะลืม ๔ คำนี้ไม่ได้ ก็หมายความเฉพาะจิต และเจตสิก รูปมีชาติ หรือไม่ รูปเป็นอกุศลมี หรือไม่ ไม่มี เป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา ไม่มี
เพราะฉะนั้น รูป จะไม่มีชาติเป็นกุศล อกุศล วิบาก หรือกิริยา แต่สำหรับปรมัตถธรรมไม่ได้มีแต่จิต และ เจตสิก เพราะรูปก็มี นิพพานก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงภูมิของจิต เพราะว่าจิตหลากหลาย จิตขั้นต่ำที่สุดก็คือขั้นกามาวจรจิต ในนรก มีเห็น หรือไม่ ได้กลิ่น หรือไม่ เจ็บ หรือไม่ ก็ต้องอาศัยตาเห็นสิ่งต่างๆ อาศัยหูได้ยินเสียงต่างๆ อาศัยจมูกได้กลิ่น อาศัยลิ้นลิ้มรส อาศัยกายกระทบสัมผัส ยังเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งความหมายของ"กาม" ก็คือรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จริงๆ ก็มีความหมายตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว ถ้าหมายความถึง"กิเลสกาม" ก็คือความใคร่ ความยินดี ความติดข้อง ได้แก่โลภเจตสิก ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๕๒ ประเภทไม่ได้หมายความถึงเจตสิกอื่น หมายเฉพาะโลภเจตสิก และวัตถุกามกว้างกว่านั้นมาก คือ อะไรก็ตามที่เป็นที่พอใจของโลภะเป็นวัตถุกามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูป ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นเจตสิก เป็นที่พอใจของโลภะขณะใด สิ่งนั้นก็เป็นวัตถุกามขณะนั้น
เมื่อกล่าวถึงจิต จะต้องรู้ว่าจิตของเรา จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความต่างกันอย่างไร ไม่อย่างนั้นบางคนก็คิดว่าพระองค์ก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เหมือนคนที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ธรรมดา แต่สิ่งที่ต่างเป็นการต่างด้วยระดับของจิต เพราะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีจิตที่เป็นกามาวจรจิต เพราะฉะนั้น "กามาวจรจิต" ความหมายกว้าง และตรงที่สุดก็คือ จิตที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ หรือจิตที่ยังวนเวียนอยู่คิดนึกไปในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นระดับที่ต่ำสุด พิสูจน์ได้ด้วยตัวของเรา จิตมีทั้งหมด ๔ ระดับ
กามาวจรจิตต่ำที่สุด แล้วจะสามารถขึ้นไปถึงจิตอื่นได้ หรือไม่ นี้คือต่ำสุด แต่สูงกว่านี้มี คือจิตที่ไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเห็นโทษ เพราะฉะนั้น จึงอบรมเจริญความสงบซึ่งต้องเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นไปด้วยโลภะ ด้วยความจดจ้อง ให้สมาธิมั่นคง นั้นไม่ใช่ แต่เพราะต้องประกอบด้วยปัญญาที่สามารถรู้ขณะจิตที่ต่างว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ซึ่งการที่จะให้จิตมั่นคงในความสงบ จนกระทั่งลักษณะของสมาธิปรากฏเป็นขั้นอุปจาระก่อน แล้วถึงขั้นอัปปนาซึ่งใช้คำว่าฌาณจิต แล้วขณะนั้นจึงเป็นรูปาวจรจิต เป็นจิตอีกระดับหนึ่งซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เห็นขณะนี้ ไม่ใช่ได้ยินอย่างนี้ ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่คิดนึกอย่างที่เราคิดนึกทุกวัน แต่ขณะนั้นเป็นจิตที่มั่นคงแนบแน่นในกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต
ก็แสดงให้เห็นว่าระดับของจิตแม้จะไม่ปรากฏ แต่บุคคลที่ถึงระดับนั้นมี อานิสงค์ หรือผลก็คือว่า ถ้าเป็นผลของรูปาวจรจิต ไม่เกิดในภูมิมนุษย์ ไม่เกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น แต่เกิดในพรหมโลก พรหมโลกอยู่สูงขึ้นไปจากเทวโลก เทวโลกเป็นผลของกุศลขั้นกามาวจร เป็นไปในทาน ในศีล แต่ถ้าเป็นผลของรูปาวจรจิต ก็จะเกิดในพรหมโลก และสูงไปกว่านั้นอีกก็จะเกิดในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งเราคงไม่ต้องกล่าวถึง แต่ให้ทราบว่ามี และเพื่อเราจะได้ไม่คิดว่าใครก็ถึงง่ายๆ ใครบอกว่าคนนั้นได้ฌาณ แล้วเราเชื่อ หรือไม่ ถ้าเขาไม่ได้แสดงเหตุผลว่าอบรมเจริญอย่างไรจึงบอกว่าฌาณ หรือเป็นฌาณจิต เพราะว่าส่วนใหญ่จะใช้คำ แต่ไม่ตรงกับความจริง เช่น ใช้คำว่า ฌาณ หรืออุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิไม่ตรงตามความเป็นจริง คิดเอง เข้าใจเองว่าขณะนั้นเป็นฌาณจิต เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะทำให้เราเข้าใจในเหตุผล และในหนทาง แม้ว่าฌาณจิตไม่เกิด แต่ก็จะรู้ว่าความสงบที่เกิดจากกุศลจิตเพิ่มขึ้นขณะไหน เมื่อไร อย่างไร ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าขณะนั้นก็ไม่ใช่ฌาณจิต เพราะฉะนั้นก็จะมีการเข้าใจถูกในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นจริง
ที่มา ...