มนสิการเจตสิกมีความสำคัญอย่างไร


    ผู้ฟัง มนสิการสำคัญอย่างไรจึงเป็นปัจจัยให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วยตรึกอย่างวิจิตรไม่สิ้นสุดด้วย

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าเจตสิกมี ๕๒ ประเภท และก็แต่ละประเภทก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ สำหรับมนสิการเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เคยขาดมนสิการเจตสิกเลย สำหรับเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท เรียกว่า "สัพพจิตตสาธารณเจตสิก" จะใช้ภาษาไทยก็ได้ เมื่อสักครู่นี้เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นชาติอะไร ภูมิอะไร แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ใชำคำว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก สาธารณะ คือ ทั่วไป สัพพจิตตสาธารณเจตสิก "สัพพจิตต" คือ จิตทั้งหมดทั่วไปต้องมีเจตสิกนี้เกิดร่วมด้วย ขณะจิตเกิดก็ต้องมีมนสิการเจตสิกทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นเจตสิกแต่ละประเภทก็ต้องทำหน้าที่ตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เช่น โสภณเจตสิก ปัญญาเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิกต้องทำหน้าที่ของตน สำหรับมนสิการเจตสิกขณะใดที่เกิดไม่ว่ากับจิตอะไร เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ ตรงนี้ต้องไม่ลืม ต้องแยกลักษณะแท้ๆ ของมนสิการเจตสิก คือเป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ ต่างกับเจตนาเจตสิก เจตนาเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย ขณะที่เราจงใจขวนขวายก็มีใช่ไหม

    ขณะที่เราใส่ใจสนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งแต่ละคนก็สนใจแต่ละอย่าง แต่ขณะใดก็ตามจะสนใจเมื่อไหร่อย่างไรก็คือ มนสิการเจตสิก หรือแม้ไม่ใช่ขณะที่กำลังสนใจใส่ใจก็เป็นมนสิการเจตสิก ที่จิตรู้อารมณ์ใดมนสิการเจตสิกนั่นเองเป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์นั้น แม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อย เช่น ขณะที่จิตเห็นขณะนี้สั้นมาก เพียงแค่เห็นแล้วก็ดับไป แต่ก็ต้องมีเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก มนสิการเจตสิก ถ้าจะกล่าวทั้งหมดก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ซึ่งต่างก็เป็นแต่ละประเภท ไม่ใช่ประเภทเดียวกันเลย แค่เห็นใส่ใจในอะไร ใส่ใจในอารมณ์ ในสิ่งที่กำลังปรากฏสั้นมาก แต่เมื่อเกิดบ่อยๆ ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของความใส่ใจซึ่งไม่ใช่เฉพาะเกิดกับจิตเห็น แต่เกิดกับจิตทุกขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ไม่ว่าจะในขณะที่พอใจอยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เราไปซื้อของ เริ่มมีความอยากได้ต้องการจะซื้อ เราดูสิ่งที่เราซื้อด้วยความใส่ใจไหม ตรงนี้เป็นยังไง ตรงนั้นเป็นยังไง ถ้าเป็นเสื้อตะเข็บเป็นยังไง นี่ก็คือลักษณะของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ทำกิจร่วมกันอย่างรวดเร็ว แต่ละขณะสามารถจะให้ปรากฏรู้ลักษณะของเจตสิกนั้นได้เมื่อถึงกาละนั้น แต่ในขณะที่จักขุวิญญาณจิตเห็นกำลังเห็น เกินวิสัยที่เราจะไปรู้ลักษณะของมนสิการเจตสิกซึ่งกำลังใส่ใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่เจตนาก็ขวนขวายจงใจกระตุ้นสหชาตธรรมให้กระทำกิจ

    เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงรู้สึก ไม่ต้องไปมนสิการ ไม่มีจงใจอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่เมื่อจิตกระทบอารมณ์รู้อารมณ์ใด เวทนาก็รู้สึกในอารมณ์นั้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 65

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66


    หมายเลข 6837
    20 ม.ค. 2567