พื้นฐานพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน
ผู้ฟัง พื้นฐานอภิธรรมเป็นอย่างไรในขณะนี้
อ.อรรณพ ขณะนี้มีจิตไหม
ผู้ฟัง มี
อ.อรรณพ และจิตเกิดโดยปราศจากเจตสิกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีเจตสิกด้วย ขณะนี้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย บางขณะก็ได้ยินสิ่งที่ปรากฏทางหู นั่นคือรูป ฉะนั้นจิต เจตสิก รูป ก็คือพื้นฐานจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ความละเอียดของจิต เจตสิก รูปก็มีมากมาย ฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมความเข้าใจจริงๆ ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่พ้นจากสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต และสภาพรู้เกิดประกอบกับจิตก็คือเจตสิก และรูปซึ่งเป็นอารมณ์บ้าง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงรูปที่เป็นทางหรือทวารในการที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นคือพื้นฐานพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน
อ.ธิดารัตน์ พื้นฐานของพระอภิธรรมก็หมายถึงธรรมที่ละเอียดยิ่ง ก่อนที่เราจะสามารถเข้าใจธรรมที่ละเอียดยิ่งได้ก็ต้องเริ่มเข้าใจตั้งแต่ว่าความจริงในขณะนี้มีอะไรบ้างซึ่งความจริงทุกๆ อย่างก็เป็นพระอภิธรรม สิ่งที่เราควรจะรู้ ก็อย่างเช่นท่านอาจารย์ได้แนะนำจิต จิตมีอยู่กับเราในชีวิตประจำวันที่เรายังมีชีวิตยู่ ทุกคนก็ต้องมีจิต ก็ให้เข้าใจลักษณะของจิตที่มีอยู่กับตัวเราเท่าที่จะเข้าใจได้ นี่คือเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐาน
อ.กุลวิไล สำหรับอภิธรรม ซึ่งในอภิธัมมัตถสังคหะท่านให้ความหมายว่าเป็นธรรมอันวิเศษยิ่งโดยความเป็นปรมัตถ์ที่แท้จริง ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก่อนที่จะศึกษาธรรมเราอยู่ในโลกของบัญญัติ แต่ประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรมก็คือเข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เพราะถ้าเป็นปรมัตถธรรมแล้วไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน นั่นคือสภาพธรรมแต่ละอย่าง ฉะนั้นพื้นฐานของพระอภิธรรมจึงมีความสำคัญ ที่จะเป็นเครื่องให้กุศลจิตเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเรามีความเข้าใจถูกในพื้นฐานพระอภิธรรม การที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราไม่มีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมก็จะคลาดเคลื่อนจากเราแน่นอน เพราะว่าท่านแสดงถึงความเป็นอนัตตา ก็คือไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน นั่นคือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นจิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้มีลักษณะ เราสามารถจะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องจากการศึกษา จากการฟัง และจากการพิจารณาสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมจึงมีความสำคัญ ถ้าหากเราไม่มีความเข้าใจถูกสำหรับพื้นฐานพระอภิธรรมแล้ว ถึงแม้เราอ่านพระสูตร ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดเห็นเป็นความเป็นอัตตาตัวตนได้ เพราะฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมจึงมีความสำคัญมาก
ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ใช่เป็นเพียงชื่อที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ แต่เป็นสิ่งที่มีจริง และ “อภิ” ก็หมายความถึงละเอียดยิ่งสำหรับผู้ที่รู้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่สนใจเลยแม้แต่สิ่งที่มีในขณะนี้เป็นธรรม อาจจะเข้าใจผิดแล้วก็ไปแสวงหาธรรม ทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้เห็นธรรมหรือว่าเกิดธรรม แต่ความจริงขณะนี้เป็นธรรมที่มี แต่ว่ารู้ธรรมนี้แล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่จะเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเรื่องสิ่งที่มีจริง จากการที่คนไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจละเอียดขึ้นๆ จนถึงการรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่คือปัญญาที่สมบูรณ์ที่สามารถที่จะอบรมเจริญได้ที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ มิฉะนั้นแล้วไม่มีหนทางอื่นเลย ถ้าไม่ใช่ด้วยปัญญาของเราเอง ที่ฟังแล้วก็ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะไปอาศัยการทำอย่างอื่น หรือทำตามคำอื่นที่ไม่ใช่เป็นทางที่จะให้ปัญญาของเราเริ่มเกิด เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีทีละเล็กทีละน้อย แต่ด้วยความมั่นคงที่จะต้องพิจารณาว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังถูก แต่ความเห็นของเราในสิ่งที่กำลังมี ที่เป็นธรรมถูกหรือยัง เรื่องถูกคือเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ขณะนี้กำลังเห็นยังเป็นเราหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เราก็ยังไม่ต้องอบรมเจริญอะไรอีกแล้วใช่ไหม แต่ถ้าเป็นผู้ตรงก็คือยังรู้ว่าแม้จะทรงแสดงสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นชั่วขณะที่เล็กน้อยมากเมื่อปรากฏขณะที่จิตเห็น และจิตเห็นนั้นก็ดับไป
นี่ก็แสดงถึงความห่างไกลของเราที่เมื่อยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ก็ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจเป็นอุปนิสัย เป็นการที่ปัญญาจะค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะไม่มีทางเลยที่จะเป็นพระอริยบุคคลโดยไม่รู้อะไร หรือโดยไม่ได้อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นเครื่องแสดงให้เรารู้ว่า เรามีความเข้าใจในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังในระดับไหน ระดับสุตมยปัญญา คือ ฟังเข้าใจ แต่ว่าการไตร่ตรองของเราบางครั้งก็มี บางครั้งก็ไม่มี ก็อาจจะน้อยมาก เราจะมีการไตร่ตรองในขณะที่เราฟัง แต่หลังจากที่ฟังแล้วก็เป็นอื่นไป ออกจากห้องนี้ไปก็เป็นเรื่องอื่น กลับไปถึงบ้านก็เป็นเรื่องอื่น แต่เมื่อถึงกาละที่จะได้ฟัง เราก็ฟังมีปัจจัยจะให้ฟัง นี่คือการสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกที่ละเอียดขึ้นๆ จนกว่าจะสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา แม้ขั้นการฟังจนกระทั่งถึงการที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมในขณะไหนก็ได้ ในขณะนี้ก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะให้มีการระลึก และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้อง
เพราะฉะนั้น การที่เราฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นธรรม มีแสดงไว้โดยละเอียดในส่วนที่เป็นพระอภิธรรมปิฎก แต่ใครก็ตามที่ไม่มีพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ไม่มีทางที่จะเข้าใจข้อความในพระอภิธรรมปิฎกได้
ถ้าทุกคนจะพิสูจน์ก็ได้ สักครู่หนึ่งก็ออกไปข้างนอกแล้วก็ขอหนังสือที่เป็นพระอภิธรรมปิฎกอ่าน จะรู้ได้เลยว่าถ้าไม่มีพื้นฐานไม่สามารถที่จะเข้าใจความหมายของ กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา หรือธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นอัพยากตะ เพราะเป็นเราจะเข้าถึงความหมายของธรรมได้อย่างไร ถ้ายังคงเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาฟัง เป็นผู้ที่เป็นสาวก เป็นผู้ที่ฟัง เป็นผู้ที่พิจารณาจนกว่าจะเกิดปัญญาของตัวเองที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนี้
ที่มา ...