ความติดในเวทนา
อ.อรรณพ จริงๆ สะท้อนให้เห็นเลยว่าเรามีความติดในเวทนาขนาดไหน เราแสวงหาเวทนาที่เป็นสุขหรือเป็นโสมนัส แล้วเราก็ไม่อยากได้รับทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนา หรือถ้าไม่ได้จริงๆ อุเบกขาก็ยังดี นี่คือความติดในเวทนาอย่างมากๆ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพความรู้สึกว่าเป็นเพียงแค่สภาพความรู้สึกเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วแต่สติปัฏฐานจะเกิด คงจะไม่มีใครห้ามสติปัฏฐานได้ว่าถ้าในขณะที่เจ็บปวด สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ แต่เพียงว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดแล้ว ไม่ใช่หมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่อกุศลวิบากทางกายจะเกิดอีก อกุศลวิบากทางกายก็เกิดอีกได้ แม้พระอรหันต์ที่ท่านดับกิเลสได้แล้ว ท่านก็มีทุกข์กาย ซึ่งท่านก็ไม่สามารถบังคับที่จะไม่ให้ทุกข์กายเกิดได้ตลอดเวลาแม้ท่านจะมีฌาณจิต หรือว่ามีเหตุปัจจัยที่จะเกื้อหนุนให้ท่านรับอกุศลวิบากทางกายไม่มากหรือไม่เต็มที่เท่ากับผู้ที่ไม่ได้ฌาณ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยท่านก็ต้องได้รับทุกขเวทนาทางกาย ท่านก็ไม่ได้หวั่นไหว แต่ก็ไม่ใช่ทุกขเวทนาจะไม่เกิดอีก แม้ท่านพระสารีบุตรในขณะที่ท่านใกล้ปรินิพพาน เวทนาของท่านใช้คำว่าปางตายเลย ที่ท่านถ่ายออกมาเป็นโลหิต ภาชนะหนึ่งเต็มแล้วก็ต้องอีกภาชนะหนึ่งมารอง ท่านก็มีทุกข์ทางกาย แต่จะไม่มีอะไรไปจำกัดปัญญาที่จะไม่ให้ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะไปบังคับไม่ห้เหตุปัจจัยไม่ให้ทุกขเวทนาเกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดหรือไม่
ที่มา ...