ความต่างกันของคำว่า วาระ - วิถี - ขณะ
ท่านอาจารย์ คุณธิดารัตน์ช่วยให้ความหมายสำหรับผู้ที่มาใหม่ เพราะว่าคงต้องการทราบความต่างกันของคำว่า “วาระ" “วิถี” และ “ขณะ” คำว่า “ขณะ” ก็ดูจะยังไม่ค่อยพูดถึง เช่นทางปัญจทวารมี ๗ วิถี ๑ วาระ แต่ว่าวิถีแต่ละวิถีกี่ขณะ
อ.ธิดารัตน์ คำว่า “ขณะ” หมายถึงจิตที่เกิดขึ้น และก็ต้องมีดับด้วย ทรงแสดงว่ามีอนุขณะ ๓ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป นี้คือลักษณะการเกิดขึ้นของจิต ทั้ง ๓ อนุขณะ รวมเป็น ๑ ขณะจิต ส่วนคำว่า “วิถี” คือทางที่จิตนั้นเกิดขึ้นแล้วจะเป็นทางที่รู้อารมณ์ วิถีก็คือทาง ทวารหมายถึงประตูที่จิตนั้นจะรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เช่น ทวาร ท่านจะมุ่งถึงปสาทรูปซึ่งเป็นรูปธรรม คือ จิตนั้นอาศัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้อารมณ์ วิถีก็คือ เป็นจิตขณะเดียวก็ได้ หรือหลายขณะก็ได้ซึ่งใช้คำว่าวิถี เช่นปัญจทวารวัชชนจิต เป็นจิตหนึ่งขณะ แล้วก็เป็นจิตหนึ่งวิถี ทวิปัญจวิญญาณไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส ซึ่งเกิดต่อ ก็เกิดขึ้นหนึ่งขณะจิตแล้วก็เป็นหนึ่งวิถี สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะก็เป็นหนึ่งขณะ หนึ่งวิถีเหมือนกัน โวฏฐัพพนะวาระท่านจะใช้คำว่ามีอารมณ์เล็กน้อยเป็นโวฏฐัพพนวาระ ถ้าชวนวาระก็จะเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นตทาลัมพนวาระก็เรียกว่าชัดเจนมากก็คือมีจิตเกิดขึ้นครบทั้ง ๗ วิถี ส่วนชวนวิถีมีจิตเกิดดับซ้ำๆ กันถึง ๗ ขณะแต่ก็เรียกว่าเป็น๑ วิถี ส่วนตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นด้วยกัน ๒ ขณะเป็นหนึ่งวิถี
ท่านอาจารย์ รู้ไม่ได้เลยใช่ไหม ฟังได้ แล้วค่อยๆ เข้าใจได้ในความเป็นอนัตตา แต่ว่าเราก็ต้องมีความชัดเจนในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเพื่อความไม่สับสน ถ้ากล่าวถึงขณะจิต ไม่ใช่ขณะของรูปๆ หนึ่งเลย แต่เป็นจิตหนึ่งขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วแต่ว่าขณะใดก็ตามจะทำหน้าที่ใดก็ตามแต่จิตจะเกิดขึ้นทีละ๑ ขณะ จะไม่มีจิตของใครที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ ขณะได้เลย เพราะว่าจิตเป็นอนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัย "วิคตปัจจัย" หมายความว่าเมื่อสิ่งนั้นปราศไปแล้ว สิ่งอื่นจึงจะเกิดต่อไปได้ สำหรับจิตที่เป็นอนันตรปัจจัย รวมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ก็คือสภาพของจิตเป็นปัจจัยโดยที่ว่า ทันทีที่จิตนั้นดับ อนันตรปัจจัยที่เป็นจิตนั้นในขณะนั้น ก็จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิก เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย นี่เป็นเหตุที่จิตเกิดขึ้นแล้วไม่จบ มีจิตของใครจบบ้างไหม ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยจบเลยเพราะเหตุว่าจิตที่เกิดก็คือหนึ่งขณะดับ เช่น ปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเพียงขณะเดียวที่สืบต่อ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าปฏิสนธิจิตเพราะทำปฏิสนธิกิจ ๑ ขณะ นี่คือความหมายของขณะ และเมื่อปฏิสนธิจิต ๑ ขณะดับไปแล้ว ต้องมีจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะว่าจิตดวงก่อนขณะก่อนเป็นอนันตรปัจจัย และเป็นวิคตปัจจัยก็คือแม้ว่าจะเป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ก็จริงแต่ก็ต้องเมื่อจิตนั้นปราศไปคือหมดไปเสียก่อน จะเกิดมาซ้อนพร้อมกันไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นขณะจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ทำภวังคกิจดำรงภพชาติ ๑ ขณะที่เกิดก็คืออนุขณะ ๓ ขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ขณะที่ดับไป ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าขณะเกิด คือ อุปาทขณะ ขณะดับ คือ ภังคขณะ ระหว่างที่ยังไม่ดับเป็นฐีติขณะ ซึ่งไม่ใช่รูป แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างเร็วมาก ก็ยังต่างเป็น ๓ อนุขณะย่อย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นจิตในภพใด ภูมิใด ของใคร แม้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือจิตของบุคคลที่เกิดในนรก เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ปรมัตถธรรมเปลี่ยนไม่ได้เลย เป็นความจริงตามที่ทรงตรัสรู้ว่าทุกขณะจิตหรือทุกจิตทีละ ๑ จิตทีละ ๑ ขณะจะต้องมีอนุขณะ ๓ เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคจิต ๑ ขณะดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น และเป็นวิคตปัจจัยด้วย คือต้องปราศไปก่อนแล้วจิตขณะต่อไปจึงเกิดขึ้น จะเป็นแบบนี้ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยทีละ ๑ ขณะๆ เรื่อยๆ ไป
ขณะใดที่ไม่ใช่การรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่วิถีจิต เพราะไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เช่น ในขณะนี้ต้องอาศัยจักขุปสาท จิตเห็นจึงเกิด ขณะที่ได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท จิตได้ยินจึงเกิด แม้ขณะที่คิดนึกก็ต้องมีทวารหรือทาง ถ้าเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ คิดไม่ได้เลยในขณะที่เป็นภวังค์ แต่ชีวิตจริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย แม้นอนหลับก็ยังมีฝันหรือตื่นขึ้นมาในขณะที่ไม่ใช่หลับสนิท แต่ละวาระของการรู้อารมณ์จะต้องมีภวังคจิตคั่น นี่แสดงให้เห็นว่าการรู้อารมณ์ของแต่ละทวารสั้นมากแค่ไหน โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆ แล้วจิตเกิดขึ้นมารู้อารมณ์นิดเดียวเหมือนฟ้าแลบ และต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ แล้วก็รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดเหมือนฟ้าแลบแล้วก็เป็นภวังค์คั่น แล้วก็รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเหมือนฟ้าแลบแล้วก็เป็นภวังค์คั่น นี่คือชีวิตจริงๆ ซึ่งไม่มีเรา ไม่มีตัวตน เพราะว่าสิ่งใดที่เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีก ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เช่นจิตได้ยินขณะก่อนดับแล้ว ไม่มีการที่จะกลับมาอีกเลย ขณะนี้ที่ได้ยินก็เป็นขณะใหม่
เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงว่าใหม่ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าเก่าก็ดับไป แล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด ฉะนั้นก็จะมีความต่างกันของคำว่า “ขณะ” คือทุกขณะจิต คือ ๑ ขณะจิต ส่วนคำว่า “วาระ” คือขณะที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุทวารวิถี จิตที่เกิดขึ้นรู้ เมื่อรูปนั้นเกิดแล้วยังไม่ดับเป็น ๑ วาระ เมื่อรูปนั้นดับไปแล้ว จิตจะรู้รูปนั้นต่อไปไม่ได้เพราะเป็นภวังคจิต ฉะนั้นภวังคจิตไม่ใช่วาระของการรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดเลย แต่วาระจิตที่กล่าวว่ามีสั้นบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ก็เพราะเหตุว่าบางครั้งรูปกระทบหลายๆ ขณะ โดยที่จิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตจริงของเราวันหนึ่งๆ เราเห็นทุกอย่างเหมือนกันไหม เวลาที่เราง่วงมากๆ แล้วก็มีใครมาปลุก เขย่าตัวนิดหน่อย แล้วเราก็รู้นิดเดียวแล้วเราก็หลับไปแล้วไม่รู้เป็นใคร มาพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เขาจะเรียกอะไรก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นเมื่อขณะนั้นมีจะให้วาระเท่ากันทั้งหมดก็ไม่ได้ จึงมีการแสดงว่า วาระต่างๆ ตามวิถีจิตที่เกิดมากน้อยต่างกัน
ถ้าเป็นวิถีจิตมากแต่ไม่ได้หมายความถึงขณะ ถ้าขณะจิต คือ ๑ ขณะ ถ้าเป็นวิถีจิตคือขณะที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเป็นวิถีจิตทั้งหมด จักขุวิญญาณจิตเห็นขณะนี้เป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะซึ่งเกิดต่อก็เป็นวิถีจิตเพราะเหตุว่ามีรูปที่ยังไม่ดับทางตาเป็นอารมณ์ สันตีรณะที่มีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ก็เป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็คือจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเป็นวิถีจิตทั้งหมด ซึ่งสำหรับทางตาจะมีวิถีจิตเพียง ๗ วิถี วิถีจิตแรกคือปัญจทวารวัชชนจิตเป็นวิถีจิตหรือไม่ เป็น เพราะไม่ใช่ภวังค์ แล้วก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งขณะ นี่คือความต่างของการที่เราจะต้องกล่าวเรื่องขณะจิต วิถีจิต และวาระ ให้รู้ว่าสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดได้เพียงหนึ่งขณะเท่านั้น จะไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ๒ ขณะ หรือ ๓ ขณะเลย แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นวิถีจิตไม่ใช่ภวังคจิต ซึ่งก็เกิดได้ ๑ ขณะเท่านั้นในวาระหนึ่งๆ คือระหว่างที่รูปเกิดแล้วยังไม่ดับ จะมีจิตอื่นๆ เกิดสืบต่อเพื่อที่จะรู้รูปที่ยังไม่ดับ แต่ละวิถีจิต คือแต่ละประเภทของจิต ซึ่งจิตทั้งหมดที่รู้อารมณ์ทางทวารเป็นวิถีจิตทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตเกิด ๑ ขณะ มีข้อสงสัยเรื่องวิถีจิตกับขณะจิต หรือไม่ เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัย ที่ทำให้ปัญจวิญญาณจิตเกิดต่อ ซึ่งความจริงจะเพิ่มอีกปัจจัยหนึ่งก็ได้คือ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าจิตจะเกิดตามใจชอบไม่ได้เลยต้องตามลำดับจริงๆ ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตดับจะให้ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ไหม ไม่ได้ เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย และวิคตปัจจัยให้ปัญจวิญญาณจิต สำหรับปัญจทวาราวัชชนะดับไปแล้ว ถ้าเป็นทางตาเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิด จิตอื่นเกิดไม่ได้เลย และจักขุวิญญาณก็เกิด ๑ ขณะเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะเข้าใจความหมายของวิถีจิตกับขณะจิต และเมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว ๑ ขณะ ก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดต่อทำสัมปฏิจฉันนกิจ ๑ ขณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสำหรับปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะเป็นทีละ ๑ ขณะ เกิดได้ไม่มากกว่านั้น เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ ๑ ขณะเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในวิถีจิตหรือวาระหนึ่งๆ จะมีวิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานกี่ขณะก็แล้วแต่ประเภทของวาระนั้นๆ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังกล่าวถึงทีละหนึ่งขณะ คือเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ขณะดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไป สันตีรณะเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไป แต่ถ้าเป็นขณะที่เราไม่ค่อยจะรู้สึกตัวเมื่อถูกปลุกขึ้นมา และไม่รู้ว่าใครพูดอะไรแล้วก็หลับต่อไปเป็นภวังค์ต่อไป โวฏฐัพพนะก็จะเกิดขึ้น ๒ - ๓ ขณะ แสดงให้เห็นว่าเป็นวาระที่ต่างกับวาระขณะนี้ที่เรามีเห็น เรารู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เพียงแค่โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วก็ดับไป ตรงนี้ก็พูดเกินที่ควรจะทราบในตอนต้น แต่เมื่อมาถึงคำว่า “ขณะจิต” กับ “วาระจิต” ก็จะให้ทราบว่าเมื่อเป็นวาระหนึ่งนั้นจะประกอบด้วยวิถีจิตหลายขณะ และเมื่อพูดถึงวิถีจิตก็แล้วแต่ว่าวิถีจิตนั้นจะเกิดกี่ขณะ เช่น ถ้าเป็นขณะนี้ โวฏฐัพพนะจิตดับไปแล้ว จิตที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตไม่มีใครยับยั้งได้เลยที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลในรูปที่กำลังปรากฏ แม้ว่าเราจะไม่รู้เลยแค่เห็นนิดเดียว ไม่ใช่กำลังหลับ แต่กำลังตื่น และเห็นตามปกติ เพียงแค่เห็นก็เป็นกุศลจิต และอกุศลจิตเมื่อโวฏฐัพพนจิตดับตามการสะสม มีใครสะสมมาที่เมื่อเห็นแล้วก็เป็นกุศลจิตบ้างไหม ก็จะได้ทราบวาระของการที่จิตรู้อารมณ์แต่ละทางจะคั่นด้วยภวังค์ ระหว่างที่ภวังคจิตยังไม่เกิด และก็วิถีจิตเกิดสืบต่อกันทางทวารหนึ่งทวารใด เมื่อมีภวังค์เกิดคั่นเมื่อไหร่ก็นับว่าเป็นวาระหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้นวิถีจิตทางตาวาระหนึ่ง ไม่ปนกับวิถีจิตทางหู เพราะว่าทางตาจะมีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นวิถีจิตกี่ขณะก็ตามซึ่งเกิดขึ้น ถ้าภวังคจิตยังไม่คั่นก็ยังไม่หมดวาระนั้น ก็ยังคงเป็นวิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันโดยตลอดโดยทางนั้นทางเดียว เมื่อมีภวังคจิตคั่นเมื่อใดก็สิ้นสุดวาระหนึ่งๆ ซึ่งจะมีวิถีจิตเกิดมากน้อยต่างกัน ในขั้นต้นนี้ก็คงจะไม่ต้องกล่าวถึงโดยละเอียด เพียงแต่ให้ทราบว่าการใช้คำว่า “วาระ” หมายความว่าวิถีจิตเกิดดับสืบต่อกันเมื่อไหร่ที่ภวังคจิตเกิดคั่นเมื่อนั้นก็เป็นวาระหนึ่ง และสำหรับวิถีจิตที่เป็นทางจักขุทวาร เมื่อรู้อารมณ์ทางจักขุทวารดับไป จะกี่ขณะจิตหรือจะกี่วิถีประเภทของจิตนั้นๆ ก็ตามแต่ เมื่อภวังค์เกิดคั่นเมื่อใด ก็หมดวาระของจักขุทวารวิถี และเมื่อเริ่มทางหูก็เป็นวิถีจิตที่เกิดสืบต่อกันรู้เสียง หมดเมื่อใดก็มีภวังค์คั่นจึงเป็นวาระหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจความหมายของ ขณะ วิถี และวาระ
ที่มา ...