การเห็น การได้ยิน เป็นวิบากจิตเกิดขึ้นได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถึงคำถามของ
ผู้ฟัง ที่ละเอียดขึ้นอีกว่า การที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ซึ่งเป็นวิบากเป็นผลของกรรม เช่น เสียงที่ได้ยินปรากฏได้อย่างไร น่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีสภาพที่ได้ยินเสียงนี้เลย แม้เสียงจะมี และจิตก็เกิดขึ้นทำกิจได้ยินโดยไม่ใช่เรา แต่ก่อนนั้นก่อนที่วิถีจิตทั้งหลายจะเกิดต้องเป็นภวังค์ ถูกต้องไหม เป็นภวังค์ และทันทีที่วิบาก คือจิตเห็นจะเกิดทันทีต่อจากภวังคจิตไม่ได้ ต้องมีการสิ้นสุดกระแสของภวังค์ก่อน จากภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ นับไม่ถ้วนเลย และเมื่อมีรูปกระทบกับจักขุปสาทหรือโสตปสาท แสดงว่ารูปนั้นเกิด และจักขุปสาทหรือโสตปสาทก็ต้องเกิดด้วย อาศัยการเกิดของทั้ง ๒ อย่างซึ่งยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยที่จะให้วิถีจิตเกิดรู้เสียงนั้น หรือสีนั้น หรือกลิ่นนั้น ก็ตามแต่ละทวาร แต่ว่าขณะที่รูปทั้ง ๒ เกิด ยังเป็นภวังค์ และก็เมื่อรูปกระทบกัน ภวังค์ไหวเพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ ก่อนที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ ๑ ขณะ จากภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ ก็เป็นภวังคจลนะในภาษาบาลี จะจำหรือไม่จำก็ไม่เป็นไร แต่ก็มีภวังคจิตก่อนที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ ๑ ขณะ คือภวังคจลนะ เมื่อดับไปแล้วก็ยังมีอีก ๑ ขณะคือภวังค์สุดท้ายของกระแสภวังค์เป็นภวังคุปัจเฉทะ แสดงว่าหลังจากนี้แล้วต้องเป็นวิถีจิต ก่อนนั้นเป็นภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ แล้วก็ภวังคจลนะ แล้วเมื่อใดที่ภวังคุปัจเฉทะเกิด เมื่อนั้นที่ภวังคุปัจเฉทะดับ วิถีจิตแรกต้องเกิดแล้วเป็นวิถีจิต
ผู้ฟัง คำว่า “วิถีจิตเกิดขึ้น” มีคำว่า “อาวัชชนะ” เข้ามาอีกคำหนึ่ง อยู่ด้วยกันหรือเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
ท่านอาจารย์ อาวัชชนะเป็นกิจของจิต เพราะฉะนั้นจิตทุกดวง ทุกขณะ ทุกประเภทต้องเกิดขึ้นทำกิจ แม้แต่ภวังคจิตก็เป็นกิจของวิบาก วิบากที่ทำกิจปฎิสนธินั่นแหละทำภวังคกิจ วิบากที่เห็นทำภวังคกิจหรือไม่ ไม่ทำ ฉะนั้นวิบากมีหลากหลาย แต่เมื่อกล่าวถึงภวังคจิต ก็หมายความถึงวิบากที่กระทำภวังคกิจสืบต่อจากปฏิสนธิ ฉะนั้นก่อนที่วิถีจิตจะเกิดต้องเป็นอะไร เป็นภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถีจิตแรกเรายังไม่บอกว่าชื่ออะไร แต่ต้องเป็นวิถีจิตขณะแรกแน่นอนที่สืบต่อจากภวังคุปัจเฉทะ แล้วจิตนี้ทำหน้าที่อะไร เพราะว่าจิตต้องเกิดขึ้นทำกิจการงาน จิตนี้ทำอาวัชชนกิจ หมายความถึงถ้าแปลโดยศัพท์คือรำพึงถึง แต่จริงๆ แล้วก็คือเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร แล้วแต่ว่าทวารหนึ่งทวารใด
ทวารหรือทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ กี่ภพกี่ชาติก็มีเพียง ๖ ไม่เกิน ๖ เลย คือ จักขุทวารต้องเป็นรูป ได้แก่ จักขุปสาทรูปเป็นทางที่จะทำให้สามารถรู้รูปที่กระทบกับตาได้ รูปอื่นที่กระทบตาไม่ได้จะไม่สามารถปรากฏทางตาได้เลย ต้องเป็นรูปที่กระทบตาได้เท่านั้นขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นจักขุทวารก็คือจักขุปสาทรูป ถ้ารูปนี้ไม่มี ต้องตาบอด สีสันใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย จักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดจากอะไร เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น การจำแนกประเภทของรูป คือ รูปประเภทใดเกิดจากกรรม รูปประเภทใดเกิดจากจิต รูปประเภทใดเกิดจากอุตุ รูปประเภทใดเกิดจากอาหาร
รูปที่เกิดจากกรรม คือ จักขุปสาทรูป ไม่ใช่นามธรรม เพราะยังไม่เห็น และสีสันวัณณะต่างๆ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นวัณณธาตุ ไม่เหมือนธาตุแข็ง ธาตุแข็งไม่มีทางที่จะปรากฏทางตาเลย แต่จะปรากฏได้ทางกายเมื่อกระทบสัมผัสเท่านั้น ถ้ายังไม่กระทบสัมผัสธาตุแข็งก็ปรากฏไม่ได้ ฉะนั้นธาตุทั้งหมดที่เป็นรูปธาตุ นามธาตุก็เป็นเฉพาะอย่าง ถ้าเป็นรูปธาตุ คือ รูปารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริงๆ แต่เป็นวัณณธาตุ คือ ธาตุที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏเป็นสีสันวัณณะให้เห็นเป็นสีสันวัณณะต่างๆ นี่คือลักษณะของรูปธาตุ หรือถ้าจะใช้คำว่ารูปารมณ์ก็ได้ เพราะคำว่า “รูปธาตุ” ต่อไปจะพบว่ากว้าง ใช้หมายถึงอย่างนี้ก็ได้ อย่างนั้นก็ได้ สำหรับทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตก็เป็นรูปารมณ์ ธาตุชนิดนี้กระทบจักขุปสาทรูปต่อรูป ขณะนั้นภวังค์ไหว และภวังคุปัจเฉทะดับ รูปที่กระทบกันยังไม่ดับ เพราะทั้งจักขุปสาทรูป และวัณณธาตุจะมีอายุ ๑๗ ขณะจิต
เพราะฉะนั้นเมื่อกระทบภวังค์แรกเพื่อที่จะแสดงอายุของรูปว่าเกิดเมื่อใด และดับเมื่อใด เราก็เรียกภวังค์ที่รูปนั้นกระทบว่า อตีตภวังค์ ๑ ขณะ ภวังคจลนะที่เกิดสืบต่อขณะที่ ๒ ภวังค์คุปัจเฉทขณะที่๓ ทั้ง ๒ รูปนี้ยังไม่ดับเลย และเมื่อหมดกระแสภวังค์แล้ววิถีจิตแรกเนื่องจากเป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จิตนี้เกิดขึ้นรู้ได้ ๕ ทาง "ปัญจ" คือ ๕ "ทวาร" คือทาง "อาวัชชนะ" คือทำกิจรำพึงถึงหรือรู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใด เป็นจิตหนึ่งประเภทที่ทำกิจนี้ จิตนี้ไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต ถ้าวิบากแล้วจะรู้อารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าเป็นกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แต่กิริยาจิตคือปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ทั้ง ๕ ทวาร เป็นกิริยาจิต นี่คือความละเอียด ถ้าโดยสังเขปที่เราพูดก็คือเห็นแล้วพอใจไม่น่าพอใจ แต่ก่อนเห็น เป็นจิตอะไร และวิบากคืออะไรบ้าง ก่อนวิบากต้องมีกิริยาจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก วิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิตก่อน
ผู้ฟัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของพระอรหันต์
ท่านอาจารย์ ทุกคน สัตว์ นก อะไรก็ตาม ก่อนเห็นต้องเป็นภวังค์ นี่คือปรมัตถธรรมเหมือนกันทั้งหมด บนสวรรค์ ในนรก หรือที่ไหนก็ตาม ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทาง ๖ ทวาร ต้องเป็นภวังค์ก่อน วิถีจิตแรกหมดไปแล้วไม่สงสัยใช่ไหม
ผู้ฟัง จากนี้ก็มาถึงกุศล อกุศล
ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึง เพราะเพิ่งเป็นกิริยาจิต ๑ ขณะดับ ยังไม่เห็น ต้องจิตนี้ดับก่อน แล้วทางตาจิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนี้เห็น
ผู้ฟัง แล้วมีภวังค์คั่นหรือไม่
ท่านอาจารย์ ยังไม่คั่น ต้องหมดกระแสของวิถีจิตก่อน หมดวาระของวิถีจิต เพราะว่าวิถีจิตจะเกิดขึ้น ๑ ขณะไม่ได้ ต้องเกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกันจนกว่าจะสิ้นสุดการรู้อารมณ์นั้นเป็นวาระหนึ่ง ภวังค์จึงจะคั่นได้
เพราะฉะนั้นเพียงปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีแรกดับไปแล้ว ต่อไปเป็นวิถีจิตเกิดสืบต่อจนกว่าจะหมดการรู้อารมณ์หนึ่งที่เป็นอารมณ์เดียวกันแล้วภวังค์ถึงจะคั่นได้ เพราะฉะนั้นหลังจากกิริยาจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกดับไปแล้ว ตอนนี้เองวิบากจิตเกิดเห็น หรือ ได้ยินเช่นขณะนี้ หรือได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่จริงๆ ก็คือสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับอย่างเร็วมาก ซึ่งนามธรรมดับเร็วกว่ารูปธรรมมาก รูปๆ หนึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะซึ่งก็เร็วอยู่แล้ว ไม่มีใครจะคิดเองได้ว่าขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น วัณณธาตุอายุแค่ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ แล้วก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะวิบากจิตที่เห็น ก่อนจิตเห็นต้องเป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นเราจะรู้ว่าไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไรได้ยินอะไรก็คือผลของกรรมที่เราเองเป็นผู้กระทำแล้ว
ที่มา ...