กัมมปัจจัย - เจตนาเจตสิก
ท่านอาจารย์ ก็จะเห็นได้ว่าการที่จะศึกษาหรือมาฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ถ้าได้ยินคำไหนก็คงต้องให้เข้าใจขึ้นๆ ไม่ใช่ว่าผ่านไป เพราะว่าจากการที่ฟังเบื้องต้น และก็จะได้ฟังต่อไปก็คือเรื่องนั้นเอง แต่ว่าเข้าใจขึ้น เช่น ปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรก เรารู้แล้วทุกคนว่าเมื่อจิตเกิดขณะแรกสืบต่อจากชาติก่อน แต่จิตนี้ต้องมีปัจจัย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่จะเกิดจะปราศจากปัจจัยไม่ได้เลย จำไว้ได้เลยว่าทุกอย่างที่เกิดต้องอาศัยปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะมาดูว่าปฏิสนธิจิตอาศัยปัจจัยอะไรบ้างซึ่งไม่ใช่ปัจจัยเดียว เพียงจิตหนึ่งขณะที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก ใครก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นเกิดหลายปัจจัย แต่ถึงเวลาดับ ดับหมดเลย จิตขณะนั้นดับ เกิดมาแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็คิดถึงปฏิสนธิจิตซึ่งมีปัจจัยหลายปัจจัยแต่ปัจจัยหนึ่งคือ กัมมปัจจัย เราก็ได้ยินคำว่า “กรรม” บ่อยมาก มีใครบ้างไหมที่ไม่เคยได้ยินคำว่ากรรม คงไม่มี กรรมหมายความถึงการกระทำ โดยทั่วไปเราก็ใช้คำนี้ กรรมคือการกระทำ แต่ว่าการกระทำที่เป็นกัมมปัจจัยต้องหมายความถึงเจตนาที่จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำกรรม ซึ่งเจตนาหรือความจงใจตั้งใจเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นสภาพของเจตนาที่เกิดกับจิตแต่ละดวงก็ต้องต่างกัน เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็ต้องต่างกับเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตซึ่งก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิตก็ต้องต่างกับเจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต และก็มีเจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตซึ่งก็ต้องต่างกับเจตนาที่เกิดกับกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิต นี่คือความละเอียดของชีวิตประจำวัน ทุกคนไม่ว่าจะเกิดภพไหน ภูมิไหน ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสำหรับปฏิสนธิจิตมีกรรมเป็นปัจจัยได้แก่เจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ก็ต้องถึงความจงใจ ตั้งใจที่จะเป็นกุศล ที่จะกระทำให้สำเร็จ หรือเป็นอกุศลที่จะกระทำอกุศลกรรมให้สำเร็จก็จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ใครทราบบ้างว่าเราทำกรรมมามากน้อยแค่ไหน มากใช่ไหมถ้านับดูถอยหลังไปแสนโกฏิกัปป์ กรรมเหล่านั้นถ้าพร้อมด้วยองค์ ๕ คือสำเร็จก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ในวันหนึ่งวันใดซึ่งเราก็ทราบไม่ได้ที่ชาติต่อไปของเราก็จะต้องมีปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุติจิตของชาตินี้ อาจจะเป็นกรรมที่ได้กระทำในชาตินี้ กุศลกรรมขณะที่ฟังพระธรรม หรือว่าเข้าใจธรรมในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีลหรืออกุศลกรรมก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะว่าชีวิตของเราสั้นมาก ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลยว่าจะถึงการสิ้นสุดของชาตินี้เมื่อไหร่ อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้
เพราะฉะนั้นก็ไม่ประมาทเลยในการที่เมื่อมีโอกาสของกุศลกรรมก็สะสมกุศลกรรมเพื่อจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งอาจจะเป็นกรรมในชาตินี้หรือกรรมในชาติก่อนๆ ก็ได้ เห็นกำลังของกรรมไหมว่าสามารถที่จะทำให้เกิดบนสวรรค์ก็ได้ ในโลกมนุษย์ก็ได้ มีสภาพลักษณะต่างๆ กันไปก็ได้ โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยเหตุนี้จึงทำเราสามารถที่จะเห็นความเป็นอนัตตา เมื่อเข้าใจลักษณะของปัจจัยของสภาพธรรมซึ่งก็ได้แก่จิต เจตสิก รูป นั่นเอง จิตเป็น กรรมหรือเปล่า ถ้ากล่าวโดยเจาะจง กรรมต้องได้แก่เจตนาเจตสิกเท่านั้น นี่ก็เป็นหนึ่งกรรม เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงไม่เลือกเลยว่าจะเกิดกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต ด้วยเหตุที่เจตนานั้นต้องเกิดกับจิตทุกดวงจึงเป็นสหชาตปัจจัยของจิตทุกดวง หมายถึงว่าเกิดร่วมกันกับจิต เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันด้วย โดยที่ว่าไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล วิบาก กิริยา ก็เป็นสหชาตปัจจัย
เพราะฉะนั้น สำหรับเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิตเป็นสหชาตปัจจัยทำให้จิตเกิด แล้วก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีรูปเกิดด้วยหรือไม่มีรูปเกิดด้วย แต่ถ้าเป็นปฏิสนธิจิตจะไม่มีรูปเกิดจากปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย เพราะเหตุว่าเพิ่งเป็นขณะแรก เพราะฉะนั้นจิตตชรูปจะเกิดหลังจากที่เป็นปฏิสนธิจิตดับแล้ว แต่ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย นี่คือความละเอียดซึ่งแยกให้เห็นว่ารูปที่เกิดเป็นกัมมชรูปก็อย่างหนึ่ง เป็นจิตตชรูปก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจก็ไม่เป็นไร หมายความว่าเราฟังธรรมไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรม และมีโอกาสฟังอีกก็พิจารณาเข้าใจอีก ไม่ใช่คิดว่าจะยากเกินไป แต่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า “สหชาตปัจจัย" และเจตนาเป็นกรรม เราสามารถจะเรียกปัจจัยนี้ได้ว่า “สหชาตกัมมปัจจัย” ก็คือแปลเป็นภาษาไทยหรือพูดอย่างภาษาไทย ก็หมายถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เป็นเจตนาที่เกิดกับสหชาตธรรมได้แก่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันจึงเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นผลของปัจจัยนี้ก็คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดเพราะเจตนาเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ชื่ออาจจะยาก และเพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าเข้าใจความหมายแล้วก็ไม่เป็นไร ชื่อเรานึกถึงทีหลังก็ได้ และเราก็กล่าวเองก็ได้ ถ้าจะกล่าวถึงกัมมปัจจัยซึ่งเป็นสหชาตก็เรียกว่า “สหชาตกัมมปัจจัย” นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับปฏิสนธิจิตที่จะต้องมีเจตนาเจตสิก และเวลาที่กล่าวถึงกัมมปัจจัยสำหรับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว ไม่ได้หมายความถึงตัวเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต แต่ปฏิสนธิจิตนี่ต่างหากที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น เจตนาที่ได้กระทำกรรมสำเร็จแล้วในอดีตให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันอย่างสหชาตกัมมปัจจัย ฉะนั้นเจตนาที่ได้กระทำไปแล้วให้ผลต่างขณะจึงมีชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” หมายถึงว่าเหตุได้สำเร็จลงไปแล้วในอดีตทำให้ผลเกิดขึ้นภายหลัง ก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย นี่กล่าวถึงปฏิสนธิจิต แต่ก็เช่นเดียวกับจิตอื่นที่เป็นวิบาก เช่น จิตเห็นมีสหชาตกัมมะไหม มี แล้วก็เป็นวิบากหรือไม่?เป็น เพราะฉะนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ตัวเจตนาขณะที่เกิดร่วมด้วยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ตัวเจตนาในอดีตที่ได้กระทำแล้วเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้ามีข้อสงสัยก็ซักถามได้เพราะว่าทั้งหมดคือการสนทนาธรรมเพื่อจะให้มีความเข้าใจเป็นของเราเองแต่ละคน ซึ่งไม่ต้องไปท่อง และก็ไม่ลืม ถ้าสงสัยตอนไหนก็เชิญซักถามได้
เวลาที่ได้ยินชื่อว่ากรรม เราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นเจตสิก และเจตสิก มี ๕๒ เจตสิกอะไรที่เป็นกรรม ก็ต้องได้แก่ เจตนาเจตสิก เจตสิกอะไรที่เป็นกรรมใน ๕๒ ประเภทนั้น ก็ได้แก่เจตนาเจตสิกประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นกรรม และเมื่อเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นจึงเป็นกัมมปัจจัย เพราะคำว่า “ปัจจัย” หมายความถึง สภาพที่อุปการะ เกื้อกูล สนับสนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิด หรือดำรงอยู่ เพราะฉะนั้นปัจจัยนี้จะต้องมีปัจจยุบบัน เพราะว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้ปัจจยุบบันเกิด หรือเวลาที่สิ่งนี้เกิดเป็นปัจจยุบบันของปัจจัยอะไร ต้องคู่กันเสมอ จะมีปัจจัยโดยไม่มีปัจจยุบบันไม่ได้ และจะมีปัจจยุบบันโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย แม้แต่จิต ๑ ขณะก็ยังมีทั้งปัจจัย และปัจจยุบบัน
ผู้ฟัง ปัจจยุบบันก็คือผลที่เกิดจากปัจจัยนั้น
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงเจตนาเจตสิกในปฏิสนธิจิตที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบันของเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต เจตนาเป็นกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นในขณะที่เจตนาเจตสิกเกิดกับปฏิสนธิจิต ปฎิสนธิจิตต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต ยกขึ้นมาเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบันในจิตขณะนั้นที่เกิด ดวงเดียวนั้นเอง จิตขณะนั้นเป็นปัจจยุบบัน และเจตสิกอื่นๆ ก็เป็นปัจจยุบบันด้วย โดยเจตนาเจตสิกตัวเดียวที่เรายกขึ้นมาเป็นกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นขณะปฏิสนธิจิตเกิด เจตนาเจตสิกเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพิ่มคำว่า “สห”
ผู้ฟัง มีหลายชื่อ
ท่านอาจารย์ เพิ่มคำว่า “สห” ภาษาไทยคือเกิดพร้อมกัน จะพูดภาษาไทยก็ได้ และเกิดพร้อมกัน แต่ถ้าเป็นบาลีก็สหชาตกัมมปัจจัยแก่ปฏิสนธิ และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ปฏิสนธิจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจยุบบันของเจตนาเจตสิก เราค่อยๆ เข้าใจไปไม่ต้องท่องเลย ถ้าเข้าใจแต่ละปัจจัย ต่อไปเราก็จะเข้าใจปัจจัยที่เรากล่าวถึงด้วย เป็นอย่างไรบ้างแค่ปัจจัยเดียวแต่ ๒ อย่างคือ สหชาตกัมมปัจจัยกับนานักขณิกกัมมปัจจัย ถ้าเป็นชื่อภาษาไทยไม่ยากใช่ไหม กรรมที่ให้ผลต่างขณะกับกรรมที่ให้ผลทันทีที่เกิดพร้อมกัน ทันทีที่เกิดพร้อมกันก็เป็นสหชาตกัมมปัจจัยเกิดกับจิตทุกขณะไม่เลือกเลย ถ้าเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยก็หมายถึงกุศลกรรม และ อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ยังไม่ได้ให้ผลทันที ไม่มีกรรมใดที่จะให้ผลในขณะที่เกิดพร้อมกับเจตนานั้น ที่เป็นนานักขณิกกัมมะ ต้องให้ผลต่างขณะ
ที่มา ...