วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร


    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต มีข้อความที่สรรเสริญความอดทนไว้มาก เช่น วิโรจนอสุรินทสูตรที่ ๘ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเข้าที่พักกลางวัน ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดากับท้าววิโรจนะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ยืนพิงบานพระทวารองค์ละข้าง ฯ

    ลำดับนั้นแล ท้าววิโรจนะจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

    เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์งดงามอยู่ที่ความสำเร็จ นี้เป็นถ้อยคำของวิโรจนะ ฯ

    ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสว่า

    เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์ทั้งหลายงดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์อื่นยิ่งกว่าขันติไม่มี ฯ

    ความสำเร็จจะมีไม่ได้เลยถ้าขาดความอดทน เข้าใจความหมายของความอดทนหรือยังว่า ความอดทนนั้นคืออย่างไร โดยเฉพาะสำหรับการอบรมเจริญปัญญา ขณะเมื่อครู่นี้อาจจะผ่านไปด้วยการหลงลืมสติ แต่ว่าอดทน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่ว่าเพียงระลึก และไม่ใช่ว่า เมื่อระลึกแล้วรู้ทันที เป็นไปไม่ได้ ไม่มีปัญญาขั้นไหนซึ่งคมกล้าที่จะเกิดขึ้นเองโดยขาดการศึกษา ขาดการอบรม เพราะฉะนั้น ทางตาที่ว่ายากแสนยาก ก็จะต้องรู้ได้ในวันหนึ่ง ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เริ่มระลึกได้ตามปกติในขณะนี้ พร้อมทั้งศึกษา คือ เริ่มเข้าใจ เริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ถ้ายังไม่เกิดความรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ศึกษาให้เข้าใจว่า ที่กำลังปรากฏนี้เป็นลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง โดยไม่หลงลืมที่จะรู้อย่างนี้

    ในขณะที่เห็น ยังเป็นความรู้ไม่ชัด ก็ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะชินในลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้นเอง จนภายหลังปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และรู้ความต่างกันของขณะที่เพียงเห็น กับขณะที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    นี่คือความอดทนอย่างยิ่ง อดทนพร้อมทั้งการศึกษา คือ การเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่หลงลืม

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692


    นาที 3:50

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต สุภาษิตชยสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ฯลฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างพวกเทวดากับอสูรได้ประชิดกันแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกะ ท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะ จอมเทวดา เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด ฯ

    ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสว่า แน่ะ ท้าวเวปจิตติ ตกลง เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ฯ

    ชีวิตในสวรรค์ ในวันหนึ่งๆ เทพบุตรทั้งหลายเหล่านั้น ท่านจะทำอะไรกัน ก็มีการชักชวนกันทำสงคราม ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกเทวดาและพวกอสูรได้ร่วมกันตั้งผู้ตัดสินว่า ผู้ตัดสินเหล่านี้ จักรู้ทั่วถึงคำสุภาษิต คำทุพภาษิต ฯ

    แม้ในสวรรค์ก็ต้องมีผู้ตัดสินว่า คำของใครเป็นสุภาษิต และคำของใครเป็น ทุพภาษิต

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะจอมเทวดา ท่านจงตรัสคาถา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้ ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า แน่ะ ท้าวเวปจิตติ ในเทวโลกนี้ท่านเป็นเทพมาก่อน ท่านจงกล่าวคาถาเถิด ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้แล้ว ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า พวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าหากบุคคลไม่ตัดรอนเสีย ฉะนั้น นักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง ฯ

    เห็นด้วยไหมที่ว่า เมื่อคนพาลโกรธ ถ้าไม่เอาชนะหรือไม่ตัดรอนเสีย คนพาลก็ยิ่งแสดงอำนาจหรือความโกรธมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้น จะต้องกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง กระทำสิ่งที่รุนแรงเพื่อที่จะให้คนพาลนั้นพ่ายแพ้ไป คือ เอาชนะด้วยอาญาที่รุนแรง

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถาแล้ว เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะจอมเทวดา ท่านจงกล่าวคาถาเถิด ฯ

    แม้ในมนุษย์ก็เหมือนกัน ต้องมีผู้ที่มีความเห็นต่างกันเป็นสองพวก ถ้าเห็นคนโกรธ หรือแสดงความโกรธ ก็ต้องเอาชนะเขาด้วยการกระทำที่รุนแรง เพราะว่าเขาเป็นคนพาล ถ้าไม่กระทำสิ่งที่รุนแรง ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเอาชนะคนพาลได้ พวกหนึ่งเห็นอย่างนี้ แต่คำอย่างนี้จะเป็นทุพภาษิต หรือว่าจะเป็นสุภาษิต ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละท่าน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อท้าวเวปจิตติได้ตรัสคาถาเหล่านี้ เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา แต่ว่าพวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง

    มีผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานในสวรรค์ไหม ในขณะนั้น ขอให้คิดถึงในขณะนั้น จริงๆ ว่า จะมีท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไหม มีไหมในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในโลกมนุษย์นี้มีไหม มี เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็มี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ตรง เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก แม้ในความคิด และแม้ในคำพูดว่า คำพูดเช่นใดเป็นสุภาษิต คำพูดเช่นใดเป็นทุพภาษิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถานี้ว่า ฯ ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ เราเห็นว่าการระงับไว้ได้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อท้าวสักกะจอมเทวดาได้ภาษิตคาถาแล้ว พวกเทวดาพากันอนุโมทนา เหล่าอสูรต่างก็นิ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า ดูกร ท้าวเวปจิตติ ท่านจงตรัสคาถาเถิด ฯ

    ท่านผู้ฟังเป็นพวกเทวดาหรือพวกอสูร พวกเทวดา แน่ทุกครั้งหรือเปล่า หรือบางครั้งก็เปลี่ยน เห็นด้วยกับพวกอสูรไปเสียแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้ ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า ดูกร ท้าววาสวะ เราเห็นโทษของการอดกลั้นนี่แหละ เพราะว่าเมื่อใดคนพาลสำคัญเห็นผู้นั้นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้นคนพาลผู้ทรามปัญญายิ่งข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไป ฉะนั้น ฯ

    ถ้าเป็นพวกที่เห็นผิด ไม่เห็นคุณของความอดกลั้น หรือคุณของความอดทนต่อการกระทำของคนพาล หรือความโกรธของคนพาล แต่กลับเห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไรที่เป็นสิ่งที่รุนแรงแล้ว คนพาลก็ยิ่งข่มขี่ เพราะคิดว่าผู้ที่อดกลั้นต่อความโกรธของตนนั้น เพราะความกลัวตน

    นี่เป็นความเข้าใจผิด แทนที่จะเห็นว่า ผู้ที่อดทนต่ออกุศลธรรมเป็นผู้ที่สามารถอดกลั้นความโกรธของบุคคลอื่นได้ ควรที่จะอนุโมทนา แต่พวกคนพาลกลับเห็นผิด เข้าใจผิดว่า คนอื่นนั้นกลัว จึงได้อดกลั้น จึงได้อดทน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรภาษิตคาถาแล้ว เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็นิ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะ จอมเทวดา ท่านจงตรัสคาถาเถิด ฯ


    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรตรัสเช่นนี้ ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า

    บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามทีประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลังอดกลั้นต่อคนทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นไว้ได้ของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลย่อมจะอดทนอยู่เป็นนิตย์ บัณฑิตทั้งหลายเรียกกำลังของผู้ที่มีกำลังอย่างคนพาลว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวโต้ ต่อผู้ที่มีกำลังอันธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้นโทษอันลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว

    บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนผู้ที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและคนอื่นว่า เป็นคนโง่ ดังนี้ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะจอมเทวดาได้ภาษิตคาถาเหล่านี้แล้ว พวกเทวดาพากันอนุโมทนา เหล่าอสูรต่างก็นิ่ง ฯ

    ประโยชน์ที่สุด คือ ไม่ให้เป็นผู้แพ้ต่อกิเลสของตนเอง คือ ให้ตนเองเกิดโกรธขึ้น ถึงแม้ว่าคนอื่นจะโกรธ ก็ไม่ควรที่จะเอาชนะความโกรธของคนอื่นโดยให้ความโกรธของตนเองเกิดขึ้นโกรธตอบ แต่ว่าเมื่อคนอื่นโกรธ เอาชนะกิเลสของตนเองโดยไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธตน นั่นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

    ถ้าขณะที่นิ่ง สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็สามารถที่จะอดทน อดกลั้น และนิ่งต่อไปได้ ตราบใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็เห็นประโยชน์ทั้งหลาย มีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ