ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปังกธาสูตร ข้อ ๕๓๑ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ได้ยินว่า สมัยนั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุชื่อกัสสปโคตรเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ ปังกธานิคม ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบท
ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบทอยู่ ภิกษุกัสสปโคตร ได้เกิดความขัดใจไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปังกธานิคมตามควรแก่พระอภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกกลับไปทางพระนครราชคฤห์ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์
ครั้งนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตรเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปได้ไม่นาน ได้เกิดความรำคาญเดือดร้อนว่า เราผู้เกิดความขัดใจไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีถกาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขา ชื่อว่าเป็นอันหมดลาภ ไม่มีลาภ ได้ชั่ว ไม่ได้ดีแล้วหนอ ถ้ากระไรเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ แล้วพึงแสดงโทษโดยความเป็นโทษในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด
ลำดับนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตรเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หลีกไปทางพระนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แล้วกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด
แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงความคิด ยังไม่กล่าววาจาหรือแสดงด้วยกาย ก็ทำให้เดือดร้อนรำคาญใจได้ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้วิธีที่จะทำให้หมดความเดือดร้อนรำคาญใจ โดยพระวินัยจะเห็นได้ว่า ถ้าเห็นโทษโดยความเป็นโทษและขอโทษ จะทำให้ความเดือดร้อนรำคาญใจนั้นหมดไปได้ ไม่ต้องมีกุกกุจจะในเรื่องนั้นอีก แต่การขอโทษก็เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับบางคน แม้ว่าจะเห็นโทษของตัวเองแล้ว ก็ยังมีอกุศลที่ทำให้ไม่สามารถขอโทษได้ แต่ก็พยายามแก้ตัวใหม่ด้วยการประพฤติสำรวมระวังต่อไป ซึ่ง ควรจะพิจารณาว่า เพราะอะไรทำให้ขอโทษไม่ได้ และถ้ายังขอโทษไม่ได้ในชาตินี้ ในชาติต่อๆ ไปก็เป็นผู้ที่ขอโทษยากอยู่นั่นเอง
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
ปุปผรัตตชาดก เริ่มนาที 03:48
ข้อความใน อรรถกถาชาดก เอกนิบาต อรรถกถาบุปผรัตตชาดกที่ ๗ มีว่า
ณ พระวิหารเชตะวัน พระผู้มีพระภาคตรัสอดีตชาติของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งประสงค์จะลาสิกขาบทกลับไปหาภรรยาเก่าผู้มีรสมืออร่อย จนภิกษุนั้นไม่อาจจะพรากจากกันได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ในอดีตชาตินานมาแล้วนั้น ภรรยาเก่าของภิกษุนั้น ก็ได้นำทุกข์อย่างใหญ่หลวงมาให้ภิกษุนั้น
ในสมัยที่พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี ครั้งนั้น ในพระนครพาราณสีมีมหรสพกลางคืนวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ ผู้คนพากันตบแต่งบ้านเรือนสวยงามราวกับเทพนคร คนทั้งปวงก็มุ่งจะเล่นมหรสพ
มีคนเข็ญใจคนหนึ่ง มีผ้าเนื้อแน่นอยู่คู่เดียวเท่านั้น เขาเอามาซักให้สะอาด ฟาดลงเลยขาดเป็นริ้วเป็นรอยนับร้อยนับพัน ครั้งนั้นภรรยาพูดกับเขาว่า ฉันอยากจะนุ่งผ้าย้อมดอกคำสักผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง กอดคอท่านเที่ยวตลอดงานประจำราตรี เดือนกัตติกะ
เขากล่าวว่า นางผู้เจริญ เราเข็ญใจจะมีผ้าย้อมดอกคำได้ที่ไหน เธอจงนุ่งผ้าขาวเที่ยวเล่นเถิด
นางกล่าวว่า เมื่อไม่ได้ผ้าย้อมดอกคำ ฉันจักไม่เล่นกีฬาในงานมหรสพละ เธอพาหญิงอื่นเล่นกีฬาเถิด
เขากล่าวว่า นางผู้เจริญ ทำไมจึงคาดคั้นฉันนักเล่า เราจักได้ผ้าย้อมดอกคำมาจากไหน
นางกล่าวว่า เมื่อความปรารถนาของลูกผู้ชายมีอยู่ มีหรือจะชื่อว่าไม่สำเร็จ ดอกคำในไร่ดอกคำของพระราชามีมากมิใช่หรือ
นี่ไม่ใช่คำกล่าวตรงๆ เพียงพูดแนะเท่านั้นเอง
สามีกล่าวว่า นางผู้เจริญ ที่นั่นมีการป้องกันแข็งแรง เราไม่อาจเข้าไปใกล้ ได้ดอก เธออย่าชอบใจเลย จงยินดีตามที่ได้มาเท่านั้นเถิด
นี่ก็เห็นกำลังของโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่ายังไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิดใดๆ ในเรื่องของโลก ในเรื่องของชีวิต ในเรื่องของกรรม ในเรื่องวิบากเลย แต่ก็เป็นความพอใจซึ่งมีอยู่ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะมีกำลังแรงในขณะไหน เมื่อไร ซึ่งภรรยาก็ไม่ละความปรารถนา และไม่ละความพยายาม ได้กล่าวกับสามีว่า
เมื่อความมืดในยามรัตติกาลมีอยู่ ขึ้นชื่อว่าสถานที่ที่ลูกผู้ชายจะไปไม่ได้ ไม่มีเลย
คือ แนะนำกลายๆ ให้แอบไปในตอนกลางคืน ท่านผู้ฟังคิดว่า ความปรารถนาในผ้าย้อมดอกคำผืนหนึ่ง อกุศลจิตชวนะต้องเกิดมากมายเท่าไร ยังไม่ทันจะได้มาเลย เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคน ทันทีที่เกิดความปรารถนา ความต้องการ ไม่ว่าจะต้องการรูป ต้องการเสียง ต้องการกลิ่น ต้องการรส ต้องการสัมผัสใดๆ ก็ตาม ให้ทราบว่า กว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จได้แต่ละครั้งๆ อกุศลชวนจิตเกิดมากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครละ ไม่มีใครเลิก ยังมีคนพยายามที่จะให้ความหวังหรือความต้องการนั้นสำเร็จไป แม้ว่าอกุศลจะมากมาย สักเท่าไรก็ตาม
เมื่อภรรยาพูดเซ้าซี้อยู่บ่อยๆ อย่างนี้ เขาก็เชื่อถือถ้อยคำของนางด้วยอำนาจกิเลส พอถึงเวลากลางคืน ก็เสี่ยงชีวิตออกจากพระนครไปสู่ไร่ดอกดำของหลวง ปีนรั้วเข้าไปในไร่ พวกคนเฝ้าไร่ได้ยินเสียงต่างร้องว่า ขโมย ขโมย แล้วล้อมจับไว้ได้ ช่วยกันรุมจับทำร้าย มัดไว้ ครั้นสว่างแล้วก็พาไปมอบพระราชา
พระราชารับสั่งว่า ไปเถิดพวกเจ้า จงเอามันไปเสียบเสียที่หลาว
คนเหล่านั้นมัดเขาไพล่หลัง พาออกจากเมือง โดยมีคนตีกลองประกาศโทษประหารตามไปด้วย แล้วเอาไปเสียบที่หลาว เขาเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส
คิดดู ถูกเสียบหลาวทั้งเป็น
ฝูงกาพากันไปเกาะที่ศีรษะ จิกนัยน์ตาด้วยจะงอยปากอันคมเหมือนปลายคีม เขาไม่ได้ใส่ใจทุกข์แม้จะสาหัสเพียงนั้น คิดถึงแต่หญิงนั้นอย่างเดียว รำพึงว่า เราพลาดโอกาสจากงานประจำราตรีในเดือนกัตติกะ กับนางผู้นุ่งผ้าย้อมด้วยดอกคำ แล้วกล่าวคาถามีความว่า ที่เราถูกหลาวเสียบนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ ที่ถูกกาจิกเล่าก็ ไม่เป็นทุกข์ เราทุกข์อยู่แต่ว่า นางผิวทองจักไม่ได้นุ่งห่มผ้าย้อมดอกคำ เที่ยวงานประจำราตรีแห่งเดือนกัตติกะ ดังนี้
นี่คือความทุกข์ใจ ทุกข์กายที่ว่ามีมากบางคนทนได้ แต่ว่าทุกข์ใจ ก็ยังคง คร่ำครวญพร่ำเพ้อบ่นถึงภรรยาอยู่อย่างนี้จนตายไปเกิดในนรก
เพราะฉะนั้น น่าจะเห็นโทษ แต่ก็ไม่เห็นจริงๆ จนกว่าปัญญาจะเกิดและรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับกิเลสตามลำดับขั้น ซึ่งยังไม่ใช่ การดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ต้องดับ ความยินดีในความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมรูปธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และความเห็นผิดอื่นๆ ทั้งหมดก่อน มิฉะนั้น จะไม่สามารถดับกิเลส ใดๆ ได้เลย
ยังคงเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม ทุกคน ชีวิตของท่านต้องได้รับความทุกข์ทางกาย แต่ทุกข์ใจยังคงมีอยู่มากกว่าทุกข์กายได้ เปรียบเทียบดูว่า ถ้ากลัวทุกข์กายอย่างนั้น จะดับได้อย่างไร เพราะแม้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังมี อกุศลวิบากทางกาย หรือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น จนกว่าจะปรินิพพาน
เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นโทษจริงๆ ก็จะเป็นอนุสสติที่เตือนให้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีได้ นี่เป็นโทษของโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็ยังทำให้เกิดการกระทำที่เป็นอกุศลกรรม
ที่มา ...
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร