ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
การดำเนินชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ เป็นการเจริญกุศลที่ละเอียดทุกทาง และทุกท่านที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่กำลังดำเนินรอยตามพระโพธิสัตว์ คือ จะต้องอบรมเจริญปัญญาทุกประการเพื่อดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ควรพิจารณาถึงชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระองค์เป็นผู้ที่มีสัจจะ คือ ความจริงใจ ในการเจริญกุศลเพื่อละคลายและ ขัดเกลากิเลส
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความที่กล่าวถึงจริยา คือ ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ในระหว่างทรงบำเพ็ญพระบารมี ซึ่งผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็ควรจะพิจารณาเพื่อประพฤติตามจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และต้องเป็นผู้ที่จริงใจในการประพฤตินั้นๆ ด้วย ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ
พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น
พึงไม่พูดผิดความจริง
พึงแผ่เมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เจาะจง
การเกิดขึ้นแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งจะพึงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย พึงหวังการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้นไว้ในตน
อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง
ข้อความในพระไตรปิฎกเป็นข้อความสั้นๆ ซึ่งท่านผู้ฟังสามารถได้สาระ โดยการพิจารณาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าผ่านข้อความนี้ไปก็ไม่มีอะไรเลยที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าพิจารณาข้อความที่ว่า พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ จะทำให้ผู้ที่ระลึกได้ เป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรจะไม่ช่วยคนอื่นเลย
การช่วยกิจธุระของคนอื่น หรือช่วยแบ่งเบาภาระของคนอื่น ช่วยคนอื่นเท่าที่จะช่วยได้ ขณะนั้นรู้สึกตัวได้ทันทีว่า ต้องมีความเพียรจึงจะทำได้ มิฉะนั้นแล้วจะทำทำไม ใช่ไหม ลำบากเปล่าๆ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสต้องมีความประพฤติอย่างพระโพธิสัตว์ด้วย คือ พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ ไม่ว่าจะมีใครที่ผ่านมาในชีวิตซึ่งท่านสามารถเกื้อกูลได้แม้ด้วยวาจา แม้ด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์
แต่ขณะนั้นถ้าเป็นคนที่เบื่อ ขี้เกียจ ไม่ใช่เรื่องของท่าน ก็ไม่ได้เจริญกุศลที่จะขัดเกลากิเลส ก็ยังเป็นผู้ที่มีความเห็นแก่ตัว คือ มีแต่ความสบาย ความสุขของตนเอง แต่ถ้าถึงแม้ท่านจะลำบากสักนิดหน่อย ชีวิตของคนอื่นจะเจริญในทางกุศลอีกมาก ท่านก็กระทำได้ นั่นคือผู้ที่ปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ คือของคนอื่น
พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น
ขณะใดที่มีความลุ่มหลงมัวเมาที่ถึงระดับรู้ตัวเองว่า ไม่ใช่เพียงความพอใจตามปกติแต่ถึงขั้นเพิ่มขึ้นเป็นความลุ่มหลงมัวเมาเพลิดเพลินไป ก็ควรที่สติสัมปชัญญะจะเกิดและระลึกได้ว่า พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น
ถ้าทุกคนค่อยๆ อดกลั้นทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งจะปรากฏลักษณะเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อสถานการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจาของคนอื่น หรือ ในเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม จะหนาว จะร้อน จะลำบาก จะไม่บ่น ซึ่งแสดงถึงความอดทน แต่ถ้าเริ่มบ่นสักนิดหนึ่ง ก็น่าจะระลึกแล้วว่า อดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่ น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาหรือเปล่า
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าอย่างนี้ยังทำไม่ได้ จะดับกิเลสหมดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทน มีความเพียรในประโยชน์ของคนอื่น และอดกลั้นสิ่งซึ่งทำให้ลุ่มหลงมัวเมา ต้องเป็นผู้ที่สามารถรู้จักระงับใจไม่ให้ถึงความ ลุ่มหลงมัวเมาหรือเพลิดเพลินไป
ประการต่อไป คือ พึงไม่พูดผิดความจริง
ข้อนี้จะเห็นได้ว่า เริ่มระวังตัวขึ้นอีก เพราะแม้จะระวังตัวสักเท่าไรก็ตาม อาจจะมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติให้รู้ว่า ผิดอีกแล้ว อกุศลมีกำลังอีกแล้ว หรือยังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ ถ้าเป็นคนดี พูดตรงตามความ เป็นจริง ถ้าเป็นคนไม่ดี พูดผิดจากความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่พูดผิดจากความเป็นจริง เป็นเครื่องตรวจสอบตนเองได้แล้วว่า เป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว
พึงแผ่เมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เจาะจง
โดยมากจะได้ยินท่านผู้ฟังมีเมตตาต่อคนดี เมื่อถึงคนไม่ดีจะได้ยินข้อความที่เหมือนไม่เมตตาเขาเลย แสดงให้เห็นว่า ความเมตตาของท่านหรือความกรุณา ของท่านยังไม่ทั่วไปในสัตว์ทั้งปวง เฉพาะคนดีเท่านั้นที่สามารถเมตตาได้ แต่แม้ใคร ก็ตามที่เป็นคนไม่ดี ก็คือนามธรรมที่สะสมมาในทางอกุศลจนกระทั่งสามารถกระทำอกุศลกรมนั้นๆ ที่น่ารังเกียจ ซึ่งบุคคลที่เจริญเมตตาแล้วสามารถเมตตาในบุคคลนั้น แทนที่จะมีโทสะในบุคคลนั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ได้ว่า สิ่งใดควร และสิ่งใดไม่ควร
ถ้าโกรธ ไม่พอใจ ดูหมิ่นคนชั่ว หรือคนที่ทำไม่ดี ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล จิตของท่านเองก็เท่ากับคนอื่นที่ไม่ดี เพราะว่าดูหมิ่นคนที่เป็นอกุศล ด้วยเหตุนี้ แม้จะเป็นพระธรรมเพียงเล็กน้อยสั้นๆ แต่ก็สามารถทำให้เป็นผู้มีสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น และรู้สภาพของตนเองขึ้นว่า ควรที่จะเจริญกุศลเพิ่มขึ้นด้วย
แม้ข้อความที่ว่า
อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง
เพียงเท่านี้ก็เตือนแล้ว ถ้าอนุโมทนาไม่ได้ หรือไม่อนุโมทนา ขณะนั้นจิต เป็นอย่างไร ต้องเป็นอกุศลแน่นอนจึงอนุโมทนาไม่ได้ แต่ขณะใดที่เห็นใครทำกุศล หรือเป็นกุศลแล้วอนุโมทนา ขณะนั้นเป็นความจริงใจที่ยินดีด้วยในกุศลของคนอื่น แม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำกุศลนั้นเองก็ตาม
เรื่องของสัจจบารมีเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความที่แสดงความสำคัญของ สัจจบารมีตอนหนึ่งว่า
อนึ่ง พึงพิจารณาความถึงพร้อมแห่งสัจจบารมี โดยนัยมีอาทิว่า เพราะเว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา เพราะรวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะก้าวล่วงสัจจธรรม เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควรยึดถือต่อไปมาพูด เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์ เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรมทั้งปวง เพราะเป็นผู้สามารถบำเพ็ญโพธิสมภารทั้งปวง ให้บริสุทธิ์ได้ เพราะกระทำกิจแห่งโพธิสมภารทั้งปวงโดยไม่ให้ผิดสภาวธรรม และเพราะสำเร็จในการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ดังนี้
ไม่ทราบท่านผู้ฟังเห็นความไพเราะของสัจจะไหม เว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้ พูดไม่จริง ทำไม่จริง ทุกอย่างก็ไม่จริง เพราะอะไรจึงพูดไม่จริง เป็นอกุศล ใช่ไหม
เพราะไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา
ปฏิญญา คือ ความตั้งใจจริง มั่นคง เมื่อพูดไม่จริง ขณะนั้นก็ไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา
ข้อความต่อไปก็มีความไพเราะที่ว่า เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควรยึดถือต่อไปมาพูด ต่อให้พูดอีกสักเท่าไรก็เชื่อถือไม่ได้ เพราะคนนั้นพูดไม่จริง ใช่ไหม
ผู้ฟัง มีคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกข้อหนึ่งที่ว่า ผู้ที่พูดโกหกที่จะไม่ทำ ความชั่วอื่นย่อมไม่มี ซึ่งก็ตรงกัน เรื่องความไม่จริง
ท่านอาจารย์ เพราะข้อความมีว่า รวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะการก้าวล่วง สัจจธรรม และข้อความต่อไปมีว่า เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม ทั้งปวง เพราะเป็นผู้สามารถบำเพ็ญโพธิสมภารทั้งปวงให้บริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนจะเห็นความสำคัญของสัจจบารมี คือ ความจริงใจต่อการขัดเกลากิเลส
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
นาที 12:06
สำหรับชีวิตประจำวันของทุกท่าน บางท่านอาจจะไม่ได้สังเกตว่า ความประพฤติของคนที่ดีโดยละเอียดนั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าศึกษาความประพฤติที่ดีของ พระโพธิสัตว์ก่อนที่พระองค์จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง ก็จะได้ประพฤติตามอย่างชีวิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีความละเอียด ในเรื่องของความดี
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความว่า
อนึ่ง พึงทราบลำดับแห่งการปฏิบัติศีลบารมีต่อไป
มหาบุรุษผู้ประสงค์จะตบแต่งสัตว์ทั้งหลายด้วยเครื่องประดับ คือ ศีลของ พระสัพพัญญู ควรชำระศีลของตนตั้งแต่ต้นก่อน
อนึ่ง ศีลย่อมบริสุทธิ์โดยอาการ ๔ อย่าง คือ โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑ โดยการสมาทาน ๑ โดยไม่ก้าวล่วง ๑ และโดยทำให้เป็นปกติเมื่อมีการก้าวล่วง ๑
นี่คือการตรวจสอบชีวิตประจำวันของทุกท่านในเรื่องศีล เพราะแต่ละท่าน ย่อมทราบดีว่า ท่านมีศีลบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์
ข้อความต่อไปมีว่า
จริงอยู่ บางคนมีตนเป็นใหญ่ เพราะอัธยาศัยบริสุทธิ์ รังเกียจบาป ยังหิริให้ปรากฏในภายใน แล้วมีสมาจารบริสุทธิ์ด้วยดี
อนึ่ง บางคนมีการสมาทาน ถือโลกเป็นใหญ่ สะดุ้งต่อบาป ยังโอตตัปปะ ให้ปรากฏ เป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ด้วยดี
นี่สำหรับผู้ที่สมาทานโดยถือโลกเป็นใหญ่
ด้วยประการฉะนี้ คนเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ในศีล เพราะไม่ล่วงแม้ทั้งสองอย่าง (คือ ทั้งอัธยาศัยของตนเองและทั้งสมาทาน) ก็แต่ว่าบางคราว เพราะหลงลืมไป ศีลก็จะพึงขาดเป็นต้น กระทำศีลที่ขาดไปนั้นให้เป็นปกติโดยเร็ว ด้วยการอยู่กรรม เป็นต้น เพื่อความถึงพร้อมแห่งหิริโอตตัปปะตามที่กล่าวแล้วนั้น
นี่คือศีลบริสุทธิ์ด้วยอาการ ๔ อย่าง โดยอัธยาศัย มีตนเป็นใหญ่ เพราะคิดว่าตนควรเป็นผู้มีความประพฤติดี เป็นผู้มีคุณธรรม จึงรักษาศีล บางท่านมีการสมาทาน เพราะถือโลกเป็นใหญ่ สะดุ้งต่อบาป เกรงว่าคนอื่นจะรังเกียจติเตียน เพราะฉะนั้น ก็ตั้งมั่นอยู่ในศีลด้วยเหตุ ๒ ประการ แต่แม้กระนั้นบางคราวก็ล่วงศีลไป แต่เมื่อล่วง ไปแล้วก็ระลึกได้ กระทำศีลที่ขาดไปนั้นให้เป็นปกติโดยเร็ว เพราะถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
16:17
เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้เป็นคนดียิ่งขึ้น ประพฤติตามธรรมยิ่งขึ้น
ข้อความต่อไปใน จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีว่า การปฏิบัติที่ดีของพระโพธิสัตว์
เมื่อพูดก็พูดคำพอประมาณ เป็นคำจริง มีประโยชน์ น่ารัก และกล่าวธรรมตามกาล ไม่โลภ ไม่พยาบาท ไม่เห็นวิปริต ประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ มีศรัทธามั่นคงในการปฏิบัติชอบ มีความเมตตามั่นคงในที่ทั้งปวง เพราะไม่พูดเท็จ จึงเป็นประมาณของสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่เชื่อถือไว้ใจได้ มีถ้อยคำควรถือได้ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของทวยเทพ มีปากหอม รักษา กายสมาจาร วจีสมาจาร ย่อมได้ลักษณะวิเศษ และตัดวาสนาอันเป็นกิเลสได้
นี่สำหรับพระโพธิสัตว์
เพราะไม่พูดส่อเสียด จึงมีกายไม่แตกแยก มีบริวารไม่แตกแยก แม้ด้วยความพยายามของคนอื่น มีเสียงไม่แตกแยกในพระสัทธรรม มีมิตรมั่นคง เป็นที่รักของ สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนเดียวดุจสะสมไว้ในระหว่างภพ มากด้วยความไม่เศร้าหมอง
เพราะไม่พูดหยาบ จึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย มีปกติอยู่ เป็นสุข พูดเพราะ น่ายกย่อง เสียงของเขาประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมเกิดขึ้น
เพราะไม่พูดเพ้อเจ้อ จึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าเคารพ น่ายกย่องของ สัตว์ทั้งหลาย มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ พูดพอประมาณ มีศักดิ์และอานุภาพมาก ฉลาดในการแก้ปัญหาด้วยปฏิภาณฉับพลัน สามารถในการแก้ปัญหามากมายของสัตว์ทั้งหลาย หลายภาษาด้วยคำคำเดียวเท่านั้นในพุทธภูมิ
เพราะเป็นผู้ไม่โลภ จึงมีลาภที่ต้องการ ได้ความชอบใจในโภคะมากมาย เป็นที่ยอมรับของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น ข้าศึกครอบงำไม่ได้ ไม่ถึงความเป็น ผู้มีอินทรีย์พิกลพิการ และเป็นบุคคลหาผู้เปรียบไม่ได้
ท่านผู้ฟังได้ทราบเรื่องของการเจริญกุศลโดยไม่หวังผล แต่ผลย่อมมีตามควร แก่กุศลนั้นๆ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่พูดเพราะ และเวลาพูดก็นึกถึงคนฟังว่าคนฟัง จะเดือดร้อนไหม สบายใจไหม ถ้ามีสติสัมปชัญญะจะทำให้วิรัติคำซึ่งแม้ไม่ใช่คำเท็จ แต่คำนั้นอาจจะทำให้คนฟังไม่สบายใจไปหลายวันก็ได้ เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะ ที่แต่ละท่านมีและเกิดขึ้น ทำให้มีวาจาที่ไพเราะ ที่น่าฟัง แม้ท่านไม่ได้หวังผลอะไรเลย เพราะถ้าหวังผลว่าจะเกิดในสวรรค์ หรือจะได้ทรัพย์สมบัติมากมาย นั่นคือโลภะ แต่การกระทำดีโดยที่ไม่หวังผลของความดี ก็มีผลตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ที่มา ...
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร