จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041


    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ จะทำสมาธิ หรือจะอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ถาม อบรมเจริญปัญญาครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอบรมเจริญปัญญา ปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้นจากการฟัง เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เข้าใจ อย่าทำอะไรเป็นอันขาด เพราะเหตุว่าต้องทำผิด ในเมื่อยังไม่มีความเข้าใจแล้ว ถ้าทำอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ทำด้วยความไม่รู้ ก็ทำผิด เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ว่าขณะใดสติเกิด และขณะใดหลงลืมสติ และรู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เป็นของจริงในขณะนี้ ถ้าหลับตาในขณะนี้ และสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นของจริงตามปกติ นั่นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน

    ถ้าไม่ใช่ของจริงตามปกติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องรู้ของจริงที่กำลังปรากฏ คราวหน้ายังจะมีลมหายใจอีกไหมคะ

    ผู้ถาม ... (ไม่ได้ยิน)

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทำให้สติระลึกค่ะ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด แล้วก็ไม่อยากจะเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ใช่ไหมคะ ถึงได้ถามว่าทำอย่างไรจึงจะหายไป ก็ไม่ต้องไปทำอย่างที่เคยทำ เพราะว่าทำแล้วก็เกิด ไม่ต้องทำก็ไม่เกิด แต่ว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ จะไม่มีสติที่ผิดปกติเกิดขึ้น

    7544 ปสาทรูปเห็นไม่ได้ แต่กระทบรูปได้ แล้วรู้ปสาทรูปได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เชิญค่ะ

    ถาม ปสาทรูปเห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ ผมอยากถามอาจารย์ว่า ปสาทรูปรู้ได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่สติจะระลึกได้ไหม

    ผู้ถาม สติระลึก แต่ไม่เคยรู้สักที

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของปสาทรูป

    ผู้ถาม ระลึกครับ

    ท่านอาจารย์ ระลึก คือ นึกค่ะ ไม่ใช่ระลึกลักษณะของปสาทรูป

    ผู้ถาม ลักษณะมีอะไรบ้างครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะกระทบกับรูปารมณ์

    ผู้ถาม อย่างเดียวหรือครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ

    ผู้ถาม ถ้าไม่ได้ยิน ไม่เคยได้ฟัง ก็เลยระลึก ก็ระลึกที่ตา แล้วก็นึกว่า เห็นก็เป็นจักขุวิญญาณ ไม่ใช่ปสาทรูป เพราะฉะนั้นที่ว่าจะรู้จักปสาทรูป ปัญญาจะต้องถึงขั้นไหน ถึงจะรู้ปสาทรูปได้

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงตั้งใจเจาะจงอีกแล้ว จะรู้โน่น จะรู้นี่ จะรู้นั่น แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่สนใจเลย แต่ว่าอยากจะรู้ลักษณะของรูปที่สนใจ

    7545 ลักษณะของจักขุปสาทรูป

    ขอกล่าวถึงลักษณะเป็นต้นของ “จักขุ” เพื่อที่จะได้ทราบว่า จักขุปสาทรูปมีลักษณะอย่างไร ที่กล่าวว่าระลึก แต่ไม่รู้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ระลึกลักษณะของจักขุปสาทรูป เพียงแต่นึกถึงลักษณะของจักขุปสาทรูป

    ข้อความในอัฏฐสาลินี แสดงลักษณะเป็นต้นของ “จักขุ” มีข้อความว่า

    “จักขุ” มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูป อันควรแก่การกระทบรูป ซึ่งหมายความถึง รูปารมณ์ มีสีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา

    ถ้าพูดถึงสีสันวรรณะ ก็อย่าคิดถึงสีแดง สีเขียว สีเหลืองอะไรนะคะ เพราะเหตุว่าทรงแสดงศัพท์ไว้หลายศัพท์ เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า แม้จะกล่าวว่า แสง หรือแม้จะกล่าวว่า สี ก็ตาม ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    เช่น ในขณะนี้ ในห้องนี้มีแสง หรือมีสี แสงมีไหมคะ ถ้าไม่มี ก็ไม่เห็น ใช่ไหมคะ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องนึกถึงแสง หรือว่านึกถึงสี เขียว ดำ แดงต่างๆ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ทันต้องนึกถึงคำว่า แสง หรือสี แต่ว่าไม่ว่าจะแสง หรือสีก็ตาม ปรากฏทางไหน ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก ไม่ปรากฏทางลิ้น ไม่ปรากฏทางกาย แต่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องสงสัย หรือกังวลจนเกินไปนัก ในเรื่องคำที่เคยใช้ หรือว่าเคยเข้าใจ เช่น จะใช้แสงดี หรือจะใช้สีดี หรือว่าจะใช้วัณณะ หรือจะใช้คำว่า รูปะ หรือรูปารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วแต่ว่าวิชาการสาขาไหนจะใช้ศัพท์อะไรก็ตามแต่ แต่สภาพธรรมที่เป็นจริง คือ มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เพราะกระทบกับจักขุปสาท

    ด้วยเหตุนี้ “จักขุ” มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูป อันควรแก่การกระทบรูป คือ รูปารมณ์ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นลักษณะบ้าง มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูป อันมีสมุฏฐานแต่กรรม ซึ่งมีความประสงค์จะดู เป็นเหตุ เป็นลักษณะบ้าง

    อันนี้แสดงจนกระทั่งถึงสมุฏฐานที่ก่อตั้งให้เกิดจักขุปสาทว่า มีสมุฏฐานแต่กรรม ซึ่งมีความประสงค์จะดูเป็นเหตุ เป็นลักษณะ

    ทุกท่านมีความประสงค์ที่จะดู ยังไม่มีความประสงค์ที่จะพ้นจากรูปทั้งหมด ให้เหลือแต่เฉพาะอรูป คือ นามขันธ์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ ต้องมีทั้งนามและรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน และอาศัยกันเป็นไป ไม่มีใครในโลกนี้ ในภูมินี้ ซึ่งเป็นภูมิของขันธ์ ๕ ที่จะเกิดมาแล้วปราศจากรูป มีแต่เฉพาะนาม

    เพราะฉะนั้นนามธรรมและรูปธรรมอาศัยกันและกัน เพราะว่าแม้จิตจะเป็นสภาพรู้ แต่เมื่อไม่มีจักขุปสาท ไม่อาศัยจักขุปสาท ก็ไม่เห็นอะไร ถ้าไม่มีรูป คือ โสตปสาท ก็จะไม่ได้ยินอะไร

    เพราะฉะนั้นจักขุปสาท ขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง เป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัย เป็นอินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ เป็นประธานในการที่จะเกิดการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    มีความชักมาที่รูป เป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีความเป็นที่รองรับแห่งจักขุวิญญาณ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งประสงค์จะดู เป็นเหตุ เป็นปทัฏฐาน

    นี่คือลักษณะของจักขุปสาท ซึ่งจะรู้ลักษณะของจักขุปสาทได้ตรงตามความเป็นจริง โดยความเป็นปสาทแห่งภูตรูป อันควรแก่การกระทบกับรูป เป็นลักษณะ ไม่ใช่กระทบอย่างอื่นเลย ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เอง มีจักขุปสาทซึ่งกระทบกับรูป เพราะฉะนั้นจึงเป็นรูปที่กระทบได้ แต่เห็นไม่ได้

    7546 อบรมปัญญาไม่ใช่เพียงคิดนึกตาม แต่ที่ฟังเพื่อให้เห็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ จะอบรมเจริญปัญญายังไงคะ ไม่ใช่เพียงคิดนึกตาม แต่ว่าที่ฟังนี้ เพื่อให้เห็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็นเสียก่อน ถ้ายังไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเห็น ก็อย่าไปเจาะจงที่จะรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใด หรือว่านามหนึ่งนามใด เช่น บางท่านอาจจะอยากรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น นั่นก็ยังคงเป็นชื่อ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าสภาพธรรมที่เป็นผัสสะมีจริง แต่เมื่อไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมเสียก่อน จะรู้ได้อย่างไรว่าลักษณะไหนเป็นผัสสะ เพราะเหตุว่าผัสสะไม่ใช่รูปกระทบรูป แต่ผัสสะเป็นนามธรรม เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ทำกิจกระทบอารมณ์ที่จิตเกิดขึ้นเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก

    เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการเจาะจงที่จะรู้ลักษณะของนามหนึ่งนามใดโดยเฉพาะ หรือว่ารูปหนึ่งรูปใดโดยเฉพาะ แต่ในขณะที่เห็นนี้ ไม่หลงลืมที่จะพิจารณาน้อมที่จะรู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    7547 ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ เชิญค่ะ

    ถาม ครั้งแรกที่พอเห็นภาพ เช่น เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง สิ่งแรกที่เห็น อย่างที่อาจารย์บอกว่า ไม่จำเป็นต้องบอกว่า เป็นสี หรือว่าเป็นอะไร พอเห็นตอนแรก ก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหม ว่าเป็นลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นนี่คะ หมายความว่า ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ถาม ทีนี้ขอเรียนถามอาจารย์ คำว่า “ผัสสะ” ตอนไหนครับที่เป็น “ผัสสะ”

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องละเอียดและช้าๆ หน่อย อย่างที่ได้กล่าวมาถึงเมื่อกี้นี้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หยุดอยู่เพียงแค่นี้ค่ะ พิจารณาให้เข้าใจความหมายที่ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จริงไหมคะ

    ผู้ถาม ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ใช่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนะคะ เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่า ตามความเป็นจริงซึ่งทุกคนข้ามไปว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะลืมความจริงว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นเอง นี่คือการที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงแต่ละทางว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา มี อย่าข้ามไป และอย่าหลงลืมจนกระทั่งยึดถือสัณฐาน อาการที่เกิดดับสืบต่อกันปรากฏว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ควรที่จะมีสติระลึกได้ ยั้งคิดที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ จะไม่รู้ลักษณะของผัสสะ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ผัสสะมีจริง มิฉะนั้นแล้วรูปารมณ์จะไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่ารูปารมณ์มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แต่ขณะใดที่สิ่งนั้นไม่กระทบจักขุปสาท สิ่งนั้นจะไม่ปรากฏทางตา

    ผู้ถาม อันนี้ใช่ไหมครับ ที่เรียกว่า “ผัสสะ”

    ท่านอาจารย์ ค่ะ โดยชื่อนะคะ โดยที่จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ละอย่าง

    7549 อรรถกถาแสดงขัดแย้งกับพระไตรปิฎกหรือไม่

    ถาม ผมสงสัยในอรรถกถา อ่านแล้ว บางทีก็คิดว่า จะไปขัดกับพุทธพจน์หรือไม่ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผลของกุศลกรรมนี้จะต้องให้ผลเป็นสุข แต่ในอรรถกถา สารัตถปกาสินี มีข้อความตอนหนึ่งบอกว่า พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นโบสถ์ก็ดี เห็นพระเจดีย์ก็ดี แล้วไม่ชอบ ปิดตา แสดงความไม่พอใจ แต่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่ว่าจิตที่เห็นก็เป็นกุศลวิบาก กุศลวิบากนี้ทำให้ท่านไม่ชอบ ต้องปิดตา แสดงว่าไม่เป็นสุขนี่ครับ เพราะฉะนั้นอรรถกถาบทนี้จะขัดกับพุทธพจน์หรือไม่ครับ

    ท่านอาจารย์ ยาวไปหลายเรื่อง แล้วก็ปนรวมกันหลายทวาร การที่จะเข้าใจสภาพลักษณะสภาพธรรมได้ต้องช้าๆ หน่อยไงคะ แล้วก็ทีละทวารจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องของทวารตา คือ จักขุทวาร ก็อย่าเพิ่งผ่านไปจนกระทั่งถึงมโนทวาร มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่เข้าใจลักษณะของจักขุทวาร เพราะเหตุว่ารวมผสมปนกับทางมโนทวารแล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องทวารก็มีประโยชน์ที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้สามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้ แต่ต้องมีความเข้าใจถูก แม้แต่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ไมใช่ทางใจ ต่างกันอย่างไร สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่ทางใจ ต่างกันอย่างไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรม คือ นามธรรม จิตและเจตสิก เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดูเหมือนนั่งอยู่อย่างนี้ แล้วก็เห็นด้วย ได้ยินด้วย แต่ละทวารที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็สืบต่อกับทางใจ จนกระทั่งไม่สามารถรู้ลักษณะแท้ๆ ของจิตที่เกิดขึ้นทางจักขุทวาร เห็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับทางใจเลย ยังไม่ถึงทางใจ แต่ว่าปกติธรรมดา เวลาที่จักขุทวาร คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร ดับหมดไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ คั่น แล้วมโนทวาร คือ จิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากทางจักขุทวาร แต่ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร สืบต่อจากทางจักขุทวาร เป็นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จนไม่สามารถจะรู้ความต่างกันของจักขุทวารและมโนทวาร โสตทวารและมโนทวาร ชิวหาทวารและมโนทวาร ฆานทวารและมโนทวาร กายทวารและมโนทวารได้ จึงอยู่ในโลกของสมมติสัจจะเรื่อยมา ทั้งๆ ที่ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของแท้แน่นอน เพราะเหตุว่ากำลังปรากฏ จะเปลี่ยนสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ก็ยังไม่รู้ความจริงของเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าทางใจเกิดขึ้นสืบต่อรับรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา แล้วก็จดจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จนลืมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ สติปัฏฐานไม่ใช่ไปรู้ลม แล้วเห็นสิ่งต่างๆ ที่ผิดจากปกติในขณะนี้ แต่ว่าสติปัฏฐานคือ เมื่อไม่รู้ เพราะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นคือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา สติปัฏฐาน คือ ระลึกได้ ที่จะพิจารณาว่า สภาพธรรมทางตากำลังปรากฏ เป็นของจริงอย่างหนึ่ง จนกว่าจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เมื่อนั้นจึงชื่อว่า รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แล้วทางตาเปรียบเหมือนสมุทร กว้างใหญ่จริงๆ ไม่เต็ม สามารถจะเห็นถึงพระจันทร์ พระอาทิตย์ ดาวต่างๆ ซึ่งอยู่แสนไกล ถ้ามองไปก็กระทบกับจักขุปสาท แล้วก็ปรากฏได้ เพราะฉะนั้นจึงทำให้ดูเหมือนว่า เป็นโลกซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุ จักรวาล สัตว์ บุคคลต่างๆ เต็มไปหมด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว นั่นคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีจริง แล้วสมมติเป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลต่างๆ เป็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นดาวต่างๆ แต่ถ้ากระทบสัมผัสทางกาย สิ่งที่ปรากฏ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    7550 เมื่อไม่ประจักษณ์การเกิดดับ จึงยึดถือและจำสิ่งที่ปรากฏไว้รวมกัน

    และสำหรับผู้ที่ตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงประจักษ์ว่า เป็น “โลก” คือ แตก เกิดดับอย่างรวดเร็ว ไม่มีสภาพธรรมใดซึ่งจะเกิดขึ้นแล้วจะไม่ดับไปเลย แต่เมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดดับ แล้วก็ไม่ได้รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางจักขุทวารแท้ๆ เป็นอย่างไร ทางมโนทวารก็จดจำสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา จำเสียงสูงต่ำ ซึ่งเป็นคำบัญญัติความหมายอรรถของสิ่งต่างๆ ทางหู เป็นเรื่องเป็นราว ทางจมูก ก็จำกลิ่น รวมกับรูปที่เห็นทางตา และรสที่ลิ้มทางลิ้น ก็ปรากฏเป็นรสของวัตถุต่างๆ เป็นรสเกลือ รสน้ำตาล เป็นรสผลไม้นานาชนิด เพราะเหตุว่านึกถึงรูปร่างสัณฐาน นึกถึงกลิ่น แต่ถ้าเป็นเพียงขณะที่กำลังลิ้มรสจริงๆ ขณะนั้นรสเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงเป็นแต่เพียงรส เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางลิ้น และที่จะรู้รสได้ ก็เพราะเหตุว่ามีชิวหาปสาท มีรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษ ซึ่งสามารถกระทบกับรส ถ้ารูปนั้นไม่มี รสใดๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่รสปรากฏ มีลิ้น หรือชิวหาปสาทเป็นที่รองรับให้จิตเกิดขึ้นที่นั่น เพื่อที่จะลิ้มรสที่กระทบกับชิวหาปสาท รสต้องกระทบกับชิวหาปสาท ถ้ารสไม่กระทบชิวหาปสาท แต่รสกระทบกายปสาทส่วนอื่น จะไม่ปรากฏรสเลย

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่รสปรากฏ เวลารับประทานอาหารมีรสปรากฏแน่นอน ขณะใดที่รสปรากฏให้รู้ว่า ขณะนั้นกระทบกับชิวหาปสาท รสนั้นกำลังกระทบกับชิวหาปสาท จึงปรากฏกับชิวหาวิญญาณ จิตที่ลิ้มรสเกิดที่ชิวหาปสาท ลิ้มรสที่กระทบชิวหาปสาท รสก็ดับ ชิวหาปสาทก็ดับ จิตที่ลิ้มรสก็ดับ แต่ละขณะ

    นี่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งจะรู้ได้ต่อเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ ถ้าไม่มีทวารต่างๆ เลย ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ แต่ว่าต้องอาศัยรูปด้วย ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องอาศัยจักขุปสาท จิตเห็นจึงจะเกิดขึ้นเห็นโลก เห็นรูปารมณ์ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ ต้องมีโสตปสาทรูป จิตได้ยินจึงจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงได้ ต้องมีฆานปสาทรูป คือ รูปซึ่งสามารถรับกระทบกลิ่น กลิ่นจึงจะกระทบและปรากฏได้ ต้องมีชิวหาปสาทรูปสำหรับกระทบกับรส รสจึงจะปรากฏได้ ต้องมีกายปสาทรูปที่จะรับกระทบกับโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว จึงจะปรากฏได้ และนอกจากนั้นก็มีใจที่คิดนึกอยู่ตลอดเวลา หลังจากที่ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบโผฏฐัพพะ ทางใจคิดนึกถึงอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้ามิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของจิต ถ้าไม่มีทวาร

    7551 ประโยชน์ของการรู้เรื่องทวาร ๖ กับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    มีข้อสงสัยไหมคะ ในเรื่องของทวาร ๖

    จักขุทวาร กำลังเห็น โสตทวาร กระทบเสียง จิตได้ยินเกิดขึ้นที่โสตปสาท แล้วก็ดับ ดับแล้ว การรู้เรื่องทวารมีประโยชน์กับการอบรมเจริญสติปัฏฐานไหมคะ ถ้าจะให้ไปนั่งจดจ้องเป็นสมาธิอยู่ที่ลมหายใจ จะรู้เรื่องทวารไหมคะ เมื่อไม่รู้ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส หรือในขณะที่คิดนึก

    7552 ตาเปรียบเหมือนงู

    ขอกล่าวถึงคำอุปมาเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบถึงชีวิตในวันหนึ่งๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าอย่างไร

    “ตา” เปรียบเหมือน “งู”

    คงจะเคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    “งู” ย่อมไม่ชอบอยู่ในที่ๆ ชื้นแฉะและราบเรียบในภายนอก แต่เวลาที่เลื้อยเข้าไปยังที่เป็นกองหยากเยื่อที่รกไปด้วยหญ้า ใบไม้ และจอมปลวกเท่านั้น แล้วนอน ย่อมชอบใจ ย่อมถึงความสงบฉันใด แม้จักขุนี้ก็เหมือนฉันนั้นทีเดียว พอใจในที่ๆ ไม่ราบเรียบ ย่อมไม่ชอบใจในที่ๆ เกลี้ยงเกลา มีฝาทองคำ เป็นต้น ไม่ปรารถนาแม้เพื่อที่จะแลดูทีเดียว แต่ในที่ๆ พราวไปด้วยรูป และพราวไปด้วยดอกไม้และเครือเถา เป็นต้นทีเดียวย่อมชอบ เพราะสถานที่เช่นนั้น คนเราเมื่อดวงตายังไม่พอ ยังแถมแม้อ้าปาก อยากจะมองดู

    ที่อุปมาว่าตาเหมือนงูนี่นะคะ เพราะเหตุว่าไม่ชอบที่เรียบๆ จริงไหมคะ แต่ชอบที่ๆ พราวไปด้วยรูปและพราวไปด้วยดอกไม้และเครือเถา มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีจิตรกรรม เพราะว่าโล่งไปหมด ใช่ไหมคะ แต่โล่งไปหมดนี้ไม่ชอบ ต้องมีลวดลาย ต้องมีสัณฐาน ให้เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ สนใจที่จะดู นั่นคือลักษณะของตา หรือจิตซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งต่างๆ แล้วพอใจในรูปร่างสัณฐานต่างๆ ในที่ๆ พราวไปด้วยสัณฐานต่างๆ

    เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ ในชีวิตประจำวัน ท่านดูอะไร ลองคิดดูค่ะ หรือว่าไปดูอะไร หรือมีอะไรให้ดูบ้าง สิ่งที่จะให้ดู ไม่ใช่เป็นพื้นโล่งๆ แต่จะต้องมีลวดลาย มีสัณฐาน พราวไปด้วยสิ่งต่างๆ ให้ทราบลักษณะของจักขุ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำในวันหนึ่งๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ