จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005


    บางคนไม่ยอมค่ะ ยังต้องโกรธอยู่ พอใจ มีฉันทะในการที่จะต้องโกรธในการที่จะต้องดูหมิ่น ในการที่จะต้องถือตัว แม้ว่าเอามาแลกกับนิพพานว่า ถ้าไม่มีอกุศลนั้นๆ ในขณะนั้นก็สามารถที่จะถึงนิพพานได้ ท่านที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างแรงกล้า ก็คงจะไม่สามารถที่จะกระทำได้

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้ทันที ที่ทุกท่านจะพิจารณาได้ ไม่ใช่ว่าท่านจะเป็นผู้ไม่มีสิ่งใดที่จะหวงแหน แต่ท่านยังมีสิ่งที่ท่านยังหวงแหนอยู่ บางอย่างก็สละให้ได้ แต่บางอย่างก็สละให้ไม่ได้ แต่การที่จะสามารถสละให้ได้ แม้แต่สิ่งที่ยังสละไม่ได้ ก็จะต้องค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ อบรมให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการดับกิเลสจริงๆ ก็จะต้องรู้ว่า จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะทานอย่างเดียว แล้วยังหวงเก็บอกุศลอื่นๆ ไว้ แล้วก็หวังรอแต่ว่า เมื่อไรจึงจะถึงนิพพาน

    6822 ทันทีที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ

    บางท่านก็อยากจะสงบ รู้ว่า วันหนึ่งๆ กระสับกระส่ายมาก กระวนกระวายมาก คิดถึงเรื่องนั้นก็โกรธ คิดถึงเรื่องนี้ก็ยุ่ง มีแต่เรื่องเดือดร้อนใจ รำคาญใจ เพราะเหตุว่าไม่ได้พิจารณาจิตในขณะนั้น แต่พิจารณาบุคคลซึ่งท่านโกรธ เมื่อพิจารณาบุคคลอื่นในแง่ที่จะทำให้ท่านเกิดอกุศลขึ้น จิตก็ย่อมจะกระสับกระส่าย กระวนกระวาย เดือดร้อน เมื่อรู้ว่ากำลังเดือดร้อน ก็อยากจะสงบ แต่ไม่รู้หรอกว่า ถ้าไม่โกรธเสียในขณะนั้น ก็จะสงบทันที ไม่ต้องไปท่องบ่นอะไรเลย ใช่ไหมคะ กำลังโกรธ เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เพราะเหตุว่าเพราะในขณะนั้นไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ กังวลใจ เพราะฉะนั้นเพียงแต่เกิดเมตตาในขณะนั้นเท่านั้น ก็สงบแล้ว ไม่ต้องไปท่องบ่นอะไร ซึ่งถ้าไปท่องบ่นเพราะอยากสงบ แต่ว่าเวลาที่เกิดโกรธขึ้นมา แล้วไม่มีโยนิโสมนสิการที่จะพิจารณาโดยแยบคายว่า “สมถะ” หมายความถึง ความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ

    เพราะฉะนั้นถ้าในขณะนั้นโทสะเกิด ไม่สงบ ถ้าขณะนั้นพิจารณาบุคคลอื่นในแง่ที่จะทำให้เกิดเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง อุเบกขาบ้าง สงบแล้วค่ะ สงบทันที เพราะเหตุว่าในขณะนั้น ที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้นก็สงบ เร็วไหมคะ ไม่ต้องไปเสียเวลาท่องบ่น หรือคอยเลย ทันทีที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ

    ทำได้ไหมคะ ถ้าต้องการดับกิเลส

    6823 การเจริญสติปัฏฐานคือไม่ให้มาปนกัน ติดต่อกันใช่หรือไม่

    ถาม การเจริญสติปัฏฐานนี้ หมายความว่าการระลึกถึงลักษณะ ไม่ปนกัน ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ ตามปกติ ที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ไม่ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนรวมกัน ระลึกแต่ละลักษณะทางตาลักษณะหนึ่ง ทางหูลักษณะหนึ่ง ไม่ให้รวมกันหรือติดต่อกัน หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ห้ามไม่ได้เจ้าค่ะ แต่เวลาที่สติระลึก จะเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ตาก็มีจริง มีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย มีสภาพเห็น คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง อย่างเห็นจิตขณะหนึ่งแล้ว รู้ว่าเห็นอีกขณะหนึ่ง คนละขณะ อย่างเห็นพระพุทธรูปนี้ก็เห็น เพียงแค่เห็น รู้ว่าเป็นรูปร่างลักษณะ ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ

    สามเณร สามเณรอยู่สมุทรสาคร วัดธรรมาภิรมย์ มาวัดปากน้ำ เลยหาโอกาสแวะมาฟัง เพราะเลื่อมใส เคยฟังรายการวิทยุมานานแล้ว ฟังแล้วก็เกิดสติปัญญาว่องไวขึ้นมาก สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของจิตเป็นกุศลและอกุศลได้ เมื่อก่อนจิตหยาบ เดี๋ยวนี้จิตค่อยละเอียดขึ้น ระลึกรู้จิตที่เป็นกุศลและอกุศลได้มากขึ้น

    6824 การปฏิบัติวิปัสสนาทำยังไง

    วันนี้ท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะ ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และในเรื่องปรมัตถธรรม ถ้าไม่มี ขอกล่าวถึงคราวก่อน มีท่านผู้ฟังจากต่างจังหวัด ถามว่า การปฏิบัติวิปัสสนาจะทำอย่างไร

    ซึ่งแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน คงจะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปกราบทูลถามว่า การปฏิบัติวิปัสสนาทำอย่างไร แต่ว่าไปฟังธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจ แล้วก็ไม่ได้เคยฟัง ไม่ได้เคยศึกษามาก่อน ให้เข้าใจยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้นในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไมใช่เรื่องการคิดจะทำ โดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย แต่การที่จะปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง หมายความว่า มีความรู้มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเสียก่อน แล้วจึงจะรู้ว่า ขณะใดเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการที่โดยไม่เข้าใจอะไรเลย ก็คิดว่าจะทำวิปัสสนา หรือว่าการทำวิปัสสนานั้น จะทำอย่างไร

    ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ใครจะทำวิปัสสนาได้ จะทำอย่างไรคะ ที่จะให้เป็นวิปัสสนา ที่จะทำให้เกิดความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็จะต้องเริ่มต้นจากการฟัง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้ระลึกรู้ ศึกษา น้อมพิจารณา จนกว่าจะเข้าใจชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริง

    ขณะใดที่สติระลึกและศึกษา น้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นมีความเข้าใจถูกต้องว่า การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็เพราะระลึกได้ จึงศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่จะต้องมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเสียก่อน แล้วจึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย แล้วจะทำวิปัสสนา ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย และบางท่านเวลาที่ฟังเรื่องลักษณะต่างๆ ของจิต ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ท่านก็คิดว่า ในขณะนั้นท่านกำลังฟังปริยัติธรรม แยกกันว่าปริยัติเป็นส่วนหนึ่ง และปฏิบัติเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่เข้าใจว่าเป็นปริยัติ คือ กำลังฟังเรื่องลักษณะประการต่างๆ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเห็นในขณะที่กำลังฟัง หรือว่าลักษณะของจิตที่กำลังได้ยินในขณะที่กำลังฟัง ลักษณะของจิตที่คิดนึกในขณะที่กำลังฟัง แต่ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ มีทั้งจิตเห็น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังได้ยินนี้ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้เสียง แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ตามเสียงต่างๆ ที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด เป็นปริยัติธรรม และเป็นปฏิบัติธรรมด้วย ถ้าขณะที่กำลังฟังนี้ สติเกิดระลึกพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปริยัติและปฏิบัติไม่ได้แยกกัน ไม่ใช่ว่าเวลาที่กำลังศึกษาธรรมเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก แล้วก็จะไปทำวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ในขณะที่กำลังฟังเข้าใจ สติอาจจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟัง และกำลังปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นธรรมซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ เช่น “สติ” ซึ่งเป็นองค์หนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น ระลึกได้ที่จะพิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้เอง แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่เห็นแจ้งในลักษณะอาการต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือว่าเกิดได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใดขึ้น สติก็อาจจะเกิดขึ้น เพราะในขณะนั้นรู้ว่า สติเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของเสียงต่างๆ ที่ปรากฏทางหู ขณะนี้มีเสียงปรากฏแน่นอน เสียงต่างๆ พอที่จะรู้ว่า เป็นเสียงพัดลมก็มี เสียงเด็กวิ่งเล่นก็มี นั่นเป็นเสียงต่างๆ เป็นลักษณะอาการต่างๆ ที่จิตรู้แจ้งในลักษณะอาการต่างๆ ของเสียงต่างๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจในอรรถในลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ต่างๆ เวลาที่อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น สติสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกได้ทันทีว่า เป็นจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะคิดว่า ปริยัติและปฏิบัติแยกกัน

    6825 ฟังเรื่องของจิต นี่คือเรียนพระอภิธรรม

    แล้วก็มีท่านผู้หนึ่งท่านบอกว่า มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งก็บอกให้ท่านไปเรียนพระอภิธรรม เวลาที่ฟังเรื่องของจิตนี้ ท่านก็บอกว่าต้องไปเรียนพระอภิธรรม ซึ่งความจริงในขณะที่กำลังพูดถึงเรื่องลักษณะต่างๆ ของจิต นี่คือ อภิธรรม กำลังฟังอยู่ เรื่องของจิต ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และฟังเพื่อให้พิจารณา เพื่อให้เข้าใจให้ชัดเจน จนกระทั่งสติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต เพราะว่าจิตมีลักษณะอาการต่างๆ ที่พอที่จะรู้ได้ว่า จิตมีลักษณะอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของจิตประการต่างๆ

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่กำลังฟังนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ได้เรียนพระอภิธรรม กำลังเรียนอยู่ แล้วก็เรียนอย่างละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจชัดในลักษณะของจิตปรมัตถ์เป็นเบื้องต้น เพื่อที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต

    มีท่านผู้ฟังสงสัยในเรื่องปริยัติและปฏิบัติบ้างไหมคะ

    6826 กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิตสั่งสมสันดาน

    สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ ในจิตตุปปาทกัณฑ์ อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ มีข้อความว่า

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ในคราวก่อน ท่านผู้ฟังได้ทราบอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๑ คือ อธิบายว่า “รู้แจ้งอารมณ์” ซึ่งหมายความถึง รู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ แต่ว่าจิตก็ไม่ได้มีแต่เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังมีจิตที่เป็นกุศลและอกุศล

    เพราะฉะนั้นความหมายประการที่ ๒ ก็คือ

    ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน

    คำว่า “สันดาน” ในภาษาไทยนี้ มาจากคำว่า “สนฺตาน” ในภาษาบาลี หรือคำว่า “สนฺตติ” การเกิดดับสืบต่อกัน ซึ่งเวลาที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นยังไม่ใช่กุศลจิต ยังไม่ใช่อกุศลจิต ยังไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะเหตุว่าการเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี การได้กลิ่นก็ดี การลิ้มรสก็ดี การกระทบสัมผัสก็ดี เป็นจิตที่เป็นวิบากจิต หมายความว่าเป็นผลของอดีตกรรม

    เวลาที่กรรมใดจะให้ผล หมายความว่าถึงพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทุกท่านจะต้องเห็นต่อไปอีกมากมายนานเหลือเกิน ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป แต่ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้าง ท่านยังจะต้องได้ยินอีกมากมาย ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อไป จะต้องได้กลิ่น จะต้องลิ้มรส จะต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทั้งในชาตินี้อีกนานและในชาติต่อๆ ไปด้วย แต่ไม่ทราบว่าขณะไหนจะเห็นอะไร เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกรรมเดียวในชาติเดียว ในสังสารวัฏฏ์ที่เนิ่นนาน แล้วแต่ว่ากรรมใดพร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะทำให้ผลของกรรม คือ วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นอะไร ในขณะไหน ในชาติไหน

    เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่ทุกท่านทราบว่า ท่านจะต้องเห็นอีกนานตลอดชั่วชีวิตนี้ แต่ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้างในชั่วชีวิตนี้ต่อจากขณะนี้ เพราะว่าแล้วแต่กรรมหนึ่งกรรมใดจะเป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ให้ทราบว่า กรรมนั้นสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือ ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ จึงทำให้การเห็นเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้ยินเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้กลิ่นต่างๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการลิ้มรสต่างๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว สุข ทุกข์ ทางกายแต่ละขณะ ซึ่งเป็นวิบากจิต และวิบากจิตเหล่านี้ไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะเหตุว่าเป็นเพียงวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมที่เกิดขึ้น เพราะกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจความหมาย ซึ่งเป็นอรรถ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า

    กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ก็จะต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตเสียก่อนว่า วิถีจิต คือ จิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร รวมทั้งจะต้องเข้าใจความหมายของชวนวิถี ซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตน เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง หรือว่าสำหรับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจต่างๆ กัน เพราะสั่งสมสันดานของตน

    6827 ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตเสียก่อนว่า หมายถึงจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จิตใดก็ตาม ซึ่งต่อไปก็จะได้ยินชื่อของจิตประเภทต่างๆ จิตใดก็ตามซึ่งไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้ว เป็นวิถีจิตทั้งหมด

    ท่านผู้ฟังก็ทราบว่า ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว คือ ขณะที่ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพียงขณะเดียวที่เป็นปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่ากระทำปฏิสนธิกิจ ขณะนั้นไม่มีการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในโลกนี้ ไม่มีการได้ยินเสียงที่ปรากฏในโลกนี้ ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ถ้าเป็นการเกิดในมนุษย์ภูมิ เช่นทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเป็นมหาวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ว่าปฏิสนธิจิตไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ยังไม่ได้หยุดการให้ผลเพียงแค่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แต่ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกัน คือ ในภูมิที่เป็นมนุษย์ ที่ไม่ใช่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด ก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิต ๑ ดวง ซึ่งเป็นผลของมหากุศลจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจสืบต่อความเป็นบุคคลซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะจุติ

    เวลานี้ยังไม่จุติ เพราะฉะนั้นทุกท่านก็มีภวังคจิต ซึ่งกระทำกิจสืบต่อความเป็นบุคคลนี้ไว้ ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึก

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นปฏิสนธิจิต เป็นภวังคจิต ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต

    เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็คือ ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวันนี่เอง แต่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะจำแนกออกได้ว่า เป็นจิตประเภทไหน เกิดขึ้นในขณะไหน ต่างกับขณะที่เป็นภวังคจิตอย่างไร

    ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตทำกิจดำรงภพชาติ ขณะที่ไม่เห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้ยินเสียงต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้กลิ่นต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้ลิ้มรสต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายในโลกนี้

    ยังไม่ถึงจุติจิต ใช่ไหมคะ พอที่จะรู้ลักษณะของภวังคจิต เวลาที่ภวังคจิตเกิดสืบต่อกันนานๆ ได้ เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่นอะไร ไม่ได้ลิ้มรสต่างๆ ของโลกนี้ ไม่ได้กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่ปรากฏในโลกนี้ ไม่ได้คิดนึกเรื่องราวต่างๆ

    เพราะฉะนั้นในขณะที่นอนหลับสนิท ภวังคจิตเกิดสืบต่อ จนกว่าจะมีการเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่ปรากฏ ในขณะที่จิตทำกิจปฏิสนธิและภวังคกิจ โลกนี้ไม่ปรากฏเลย โลกนี้จะเป็นโลกมนุษย์ มีลักษณะอย่างไรก็ไม่ปรากฏทั้งสิ้น ในขณะที่จิตเป็นภวังค์ กำลังกระทำภวังคกิจ

    ถ้ามีใครกำลังนอนหลับเดี๋ยวนี้ เห็นไหมว่า ในที่นี้มีใครบ้าง มีเสียงอะไรบ้าง มีกลิ่นอะไร มีรสอะไร มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำลังปรากฏ ก็ไม่รู้เลย ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่ปรากฏกับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต

    6852 วิถีจิต

    เคยมีความทรงจำเกี่ยวกับโลกนี้ เกี่ยวกับบุคคลต่างๆ ที่เคยพบเห็นในโลกนี้ แต่ก็ไม่ปรากฏเลย แม้แต่ความจำในขณะที่เป็นภวังคจิต ตัดขาดจากอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในโลกนี้ทั้งหมด ในขณะที่กำลังเป็นภวังคจิต

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ที่กำลังเห็นไม่ใช่ภวังคจิต แต่ว่าเป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นเห็น หรือว่ารู้ หรือว่ายินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จิตขณะนั้นทั้งหมดเป็นวิถีจิต ขณะที่มีการได้ยินเสียงในขณะนี้ แล้วก็รู้ลักษณะของเสียง แล้วก็มีความพอใจ ไม่พอใจ เป็นกุศลและอกุศลที่กำลังรู้เสียงนั้น ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ขณะนั้นเป็นวิถีจิต แต่เมื่อเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียง วิถีจิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นรู้เสียง จึงเป็นโสตทวารวิถีจิต นั่นเป็นภาษาบาลี แต่ตามความเป็นจริงก็คือเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงทางหู

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้กำลังมีสภาพธรรมที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นวิถีจิตเกิดขึ้น ทางตาทั้งหมดเป็นจักขุทวารวิถีจิต ทางหูทั้งหมดที่ได้ยินเสียงเป็นโสตทวารวิถีจิต ทางจมูกทั้งหมดก็เป็นฆานทวารวิถีจิต ทางลิ้นที่ลิ้มรส รู้รส พอใจในรส ไม่พอใจในรสทั้งหมดก็เป็นชิวหาทวารวิถีจิต ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัสอารมณ์ของโลกนี้ ที่กำลังเย็น กำลังร้อน กำลังอ่อน กำลังแข็ง ก็เป็นกายทวารวิถีจิต

    เพราะฉะนั้นก็คงจะเข้าใจในความหมายของวิถีจิตได้ว่า ขณะใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จิตนั้นๆ เป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถีจิต หรือโสตทวารวิถีจิต หรือฆานทวารวิถีจิตที่รู้กลิ่น หรือชิวหาทวารวิถีจิตที่รู้รส หรือกายทวารวิถีจิต ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย หรือมโนทวารวิถีจิตที่รู้อารมณ์ต่างๆ ทางใจ

    6853 ภวังคจิตเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตหรือไม่

    ถาม ผมอยากทราบว่า ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตเกิดพร้อมกันหรือว่า ...

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันไม่ได้ค่ะ จิตของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นทีละขณะ เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว จิตดวงที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ชื่อ ปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่ากระทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ขณะนั้นทำกิจสืบต่อขณะที่เกิดในภพนี้ เป็นการเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ขณะเดียวแล้วก็ดับไป และกรรมซึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ยังไม่ได้สิ้นสุดการให้ผลเพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตที่ดับไป แต่ว่าจิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทำภวังคกิจ และชื่อว่า “ปฐมภวังค์” เพราะเป็นภวังคจิตดวงแรกต่อจากปฏิสนธิจิต

    ผู้ฟัง ภวังคจิตเป็นจิตที่เกิดจาก ...

    ท่านอาจารย์ ต่อจากปฏิสนธิจิต แล้วก็เกิดสืบต่อไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่วิถีจิตไม่เกิดขึ้น ขณะใดที่ไม่มีการเห็น เป็นภวังคจิต เวลาที่ยังไม่มีการได้ยิน ก็เป็นภวังคจิต

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าจิตที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีจิต จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้ว จิตนั้นๆ เป็นวิถีจิต เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่รู้อารมณ์ในโลกนี้ ถ้านอนหลับสนิท โลกนี้ไม่ปรากฏเลย โลกนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะเย็น หรือจะร้อน จะมีเสียงอะไร เสียงฟ้าร้อง เสียงฝนตก เสียงลมพัด ของโลกนี้ทั้งหมดไม่ปรากฏในขณะที่เป็นภวังคจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ