คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
ดูกร มารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว และชนเหล่าใดสำรวมดีแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาร ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้เดินตามหลังมาร
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง
ข้อความธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับมาร คงจะเป็นสิ่งที่เตือนใจให้ทราบว่าการที่มารจะขัดขวางได้ ก็ขัดขวางได้เฉพาะบุคคลที่ไม่สำรวมกาย วาจา ใจ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า และชนเหล่าใดสำรวมดีแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาร ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้เดินตามหลังมาร
จะสังเกตได้ว่า เวลาที่มารใคร่ที่จะให้พระผู้มีพระภาคเกิดความกลัว ความครั่นคร้าม วิธีของมาร คือ แสดงเพศต่างๆ หลากหลาย ทั้งที่งาม ทั้งที่ไม่งาม แล้วแต่อัธยาศัยว่าใครจะหวั่นไหวในเพศ ในลักษณะอย่างใดที่ปรากฏ คนที่ยังมีกิเลส หรือคนที่ไม่สำรวม คนที่ไม่เจริญสติ คนที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ย่อมหวั่นไหวเวลาเห็นสิ่งที่งาม และเวลาเห็นสิ่งที่ไม่งาม ก็ย่อมจะตกใจ ครั้นคร้าม หวาดกลัว เพราะว่าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ้าประจักษ์ในลักษณะของขันธ์ ในลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน บุคคลอื่นจะทำให้หวั่นไหวได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานไม่ว่าจะประสบอารมณ์ที่งามหรือไม่งาม ไม่ว่าจะประสบกับมาร หรือเทพ มีค่าเท่ากันไหม หรือว่าพอพบเทพก็หวั่นไหวดีใจ ใคร่ที่จะได้ปราศรัย ตื่นเต้น ผูกพัน หรือว่าพอประสบกับสิ่งทำให้ครั่นคร้ามของมารก็ตกใจ ขวัญหาย นั่นเป็นผู้ที่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง
เมื่อพระภิกษุทั้งหลายเกิดความกลัวเพราะการกระทำของมาร พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทให้ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นอะไร จะเกิดขึ้นเพราะอะไร จะเป็นเทพ หรือว่าจะเป็นมาร จะเป็นสิ่งที่งาม หรือเป็นสิ่งที่ไม่งาม ถ้าขณะนั้นสติระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และก็หมดไปเท่านั้น ไม่มีบุคคลอื่นที่จะมาทำให้ปัญญาของท่านไม่เจริญ หรือว่าจะทำให้ท่านตกอยู่ในอำนาจของกิเลส คือ ความยินดียินร้ายได้
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องของมาร ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ไม่หลงลืมสติ เมื่อท่านประสบกับอารมณ์ต่างๆ จะด้วยการกระทำของบุคคลใดที่เป็นเทพ ที่เป็นมาร ที่เป็นมนุษย์ก็ตาม ถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้น และปัญญาของท่านเจริญขึ้น ก็ไม่มีบุคคลอื่นที่สามารถจะขัดขวางการเจริญปัญญาของท่านได้
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
นาที 4.22
อันตรธาน
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาวรรคที่ ๑๐ มีข้อความแสดงเรื่องอันตรธาน ๕ คือ
อธิคมอันตรธาน อันตรธานแห่งการบรรลุอริยสัจจธรรม ๑
ปฏิปัตติอันตรธาน อันตรธานแห่งหนทางปฏิบัติ ๑
ปริยัตติอันตรธาน อันตรธานแห่งปริยัติ ๑
ลิงคอันตรธาน อันตรธานแห่งเพศ ๑
ธาตุอันตรธาน อันตรธานแห่งพระธาตุ ๑
นี่ก็อีกนาน เพราะว่าการอันตรธานจะอันตรธานไปตามลำดับ
อันตรธานที่ ๑ อธิคมอันตรธาน อันตรธานแห่งการบรรลุอริยสัจจธรรม คือ การบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖
จะเห็นได้ว่า คุณวิเศษนอกจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่น ปฏิสัมภิทา วิชชา และอภิญญา ซึ่งปฎิสัมภิทา คือ ธรรมปฎิสัมภิทา อรรถปฎิสัมภิทา ปฏิภาณปฎิสัมภิทา นิรุตติปฎิสัมภิทา เสื่อมก่อน
พวกคุณวิเศษต่างๆ จะเสื่อม เหลือแต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และจะเสื่อมลงจากการบรรลุเป็นพระอรหันต์ ถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ถึงการบรรลุเป็นพระสกทาคามีบุคคล ถึงการบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล
ความสิ้นไปแห่งชีวิตของพระอริยบุคคลผู้โสดาบันชั้นต่ำสุดชื่อว่า อันตรธานแห่งอธิคม
เมื่อไรที่พระโสดาบันท่านสุดท้ายสิ้นชีวิต ไม่มีพระโสดาบันอีกเลย นั่นคือ อธิคมอันตรธาน ซึ่งจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ตามกาล และตามเหตุปัจจัย
อันตรธานที่ ๒ ปฏิปัตติอันตรธาน
คือ ไม่มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้แต่เพียงรักษาศีลเท่านั้น ในกาลนั้นชื่อว่า อันตรธานแห่งข้อปฏิบัติ
เมื่อภิกษุ ๑๐๐ รูปบ้าง ๑,๐๐๐ รูปบ้าง ผู้รักษาอาบัติปาราชิกยังทรงชีพอยู่ การปฏิบัติชื่อว่ายังไม่อันตรธาน
เพราะว่ายังมีการรักษาจตุปาริสุทธิศีลอยู่
จะอันตรธานไป เพราะภิกษุรูปสุดท้ายทำลายศีล หรือสิ้นชีวิต
ก่อนนั้นก็มีการย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากสิกขาบทเล็กน้อยจนถึงปาจิตตีย์ จนถึงถุลลัจจัย จนถึงครุกาบัติ คือ อาบัติหนัก
อันตรธานที่ ๓ ปริยัตติอันตรธาน
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถทรงจำอรรถไว้ได้ ทรงจำไว้ได้แต่พระบาลีเท่านั้น และเมื่อกาลล่วงไปอีก ก็ไม่สามารถทรงพระบาลีไว้ได้ทั้งสิ้น พระอภิธรรมปิฎกย่อมเสื่อมก่อนตั้งแต่ท้ายลงมา คือ คัมภีร์ปัฏฐานย่อมเสื่อมก่อน ต่อจากนั้นก็คัมภีร์ยมก คัมภีร์กถาวัตถุ คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ธาตุกถา วิภังค์ และธัมมสังคณี ต่อจากนั้นพระสุตตันตปิฎกก็เสื่อมตั้งแต่ท้ายมา จะทรงไว้แต่เฉพาะชาดกกับพระวินัยปิฎกเท่านั้น
ภิกษุผู้เป็นลัชชีเท่านั้นทรงพระวินัยปิฎก ส่วนพระภิกษุผู้หวังในลาภคิดว่า แม้เมื่อกล่าวแต่พระสูตรก็ไม่มีผู้ที่จะกำหนดได้ จึงทรงไว้เฉพาะชาดกเท่านั้น เมื่อเวลาล่วงไปๆ แม้แต่ชาดกก็ไม่สามารถที่จะทรงไว้ได้ บรรดาชาดกเหล่านั้น เวสสันดรชาดกเสื่อมก่อน ชาดกอื่นๆ ก็เสื่อมไปๆ เมื่อชาดกเสื่อมไปอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายย่อมทรงไว้เฉพาะพระวินัยปิฎกเท่านั้น และเมื่อกาลล่วงไปๆ ก็ไม่สามารถจะทรงไว้แม้แต่พระวินัยปิฎก แต่นั้นก็เสื่อมตั้งแต่ท้ายมา โดย คัมภีร์ปริวารเสื่อมก่อน ต่อแต่นั้น ขันธกะ ภิกษุณีวิภังค์ก็เสื่อม ทรงไว้แต่เพียงอุโบสถขันธกะเท่านั้น แม้ในกาลนั้น ปริยัติก็ชื่อว่ายังไม่เสื่อม
ก็คาถา ๔ บาทยังหมุนเวียนอยู่ในหมู่มนุษย์เพียงใด ปริยัติก็ยังชื่อว่า ยังไม่อันตรธานเพียงนั้น
เมื่อถึงกาลสมัยที่พระศาสนาจะเสื่อม ชนผู้รู้คาถาแม้เพียง ๔ บาทก็ไม่มี ถึงแม้ว่าพระราชาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทรงให้ใส่ถุงทรัพย์ถึงหนึ่งแสนลงในผอบทอง ตั้งบนคอช้าง และให้ตีกลองร้องประกาศไปในพระนครหาคนที่จะรู้คาถา ๔ บาท ก็ไม่มี ราชบุรุษทั้งหลายจึงให้ขนถุงทรัพย์หนึ่งแสนนั้นกลับสู่ราชตระกูลตามเดิม ในกาลนั้น ปริยัตินั้นชื่อว่าย่อมเสื่อมไป ดังนี้ชื่อว่า การอันตรธานแห่งปริยัติ
เรื่องการอันตรธานของการศึกษาพระธรรม จะเห็นได้ว่า แม้มีตัวหนังสือจารึกไว้ก็จริง แต่ถ้าไม่มีใครสามารถเข้าใจอรรถ พระธรรมนั้นก็เหมือนกับค่อยๆ อันตรธานไปทุกที เพราะมีบางสำนักที่ประกาศว่า ทีนี่ไม่มีปริยัติ
บุคคลใดก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมต้องอาศัย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วอย่างดีโดยละเอียดด้วยความรอบคอบ จึงจะสามารถเข้าใจธรรมได้ แต่ถ้าประกาศว่า สำนักนี้ไม่มีปริยัติ ซึ่งบุคคลนั้นก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติของสำนักนั้น ถูกต้องไม่ได้ เพราะว่าเมื่อไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้หนทางปฏิบัติที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้อย่างไร
นี่เป็นความสำคัญยิ่งสำหรับในกาลที่ปริยัติยังไม่อันตรธาน ซึ่งจะทำให้บุคคลที่อยู่ในกาลนี้ยังมีโอกาสได้ฟัง และได้พิจารณาจนปัญญาเจริญขึ้น
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
นาที 12.00
อันตรธานต่อไป คือ การอันตรธานแห่งเพศของบรรพชิต
ข้อความต่อไปใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาวรรคที่ ๑๐ มีว่า
เมื่อกาลล่วงไปๆ การรับจีวร การรับบาตร การคู้ การเหยียด การดู การเหลียวดู ไม่เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ปลายแขน ถือเที่ยวไป เหมือนสมณนิครนถ์ถือบาตรน้ำเต้าเที่ยวไป แม้ด้วยอาการเพียงเท่านี้ เพศก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธาน
เมื่อกาลล่วงไปๆ เอาบาตรลงจากปลายแขน หิ้วไปด้วยมือ หรือด้วยสาแหรกเที่ยวไป แม้จีวรก็ไม่ทำการย้อมให้ถูกต้อง กระทำให้มีสีแดงใช้ เมื่อกาลล่วงไป การย้อมจีวรก็ดี การตัดชายผ้าก็ดี การเจาะรังดุมก็ดี ย่อมไม่มี ทำเพียงเครื่องหมายแล้วใช้สอย ต่อมากลับเลิกรังดุม ไม่ทำเครื่องหมาย ต่อมาไม่กระทำทั้ง ๒ อย่าง ตัดชายผ้าเที่ยวไปเหมือนพวกปริพาชก
เมื่อกาลล่วงไปก็คิดว่า พวกเราจะต้องการอะไรด้วยการกระทำเช่นนี้ จึงผูกผ้ากาสายะชิ้นเล็กๆ เข้าที่มือ หรือที่คอ หรือขอดไว้ที่ผม กระทำการเลี้ยงภรรยา เที่ยวไถหว่านเลี้ยงชีพ ในกาลนั้น ชนเมื่อให้ทักขิณา ย่อมให้แก่ชนเหล่านั้นอุทิศสงฆ์ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาข้อนี้จึงตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ในอนาคตกาลจักมีโคตรภูบุคคลผู้มีผ้ากาสายะพันคอ เป็นผู้ทุศีล เป็นผู้มีธรรมอันลามก ชนทั้งหลายให้ทานในคนผู้ทุศีล ผู้มีธรรมอันลามกเหล่านั้นอุทิศสงฆ์ อานนท์ ในกาลนั้นเรากล่าวว่า ทักขิณาเป็นไปแล้วในสงฆ์ มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้
แต่นั้นเมื่อกาลล่วงไปๆ ชนเหล่านั้นคิดว่า นี้ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า พวกเราจักต้องการอะไรด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้านี้ จึงทิ้งท่อนผ้าโยนไปเสียในป่า ในกาลนั้น เพศชื่อว่าหายไป
ได้ยินว่า การห่มผ้าขาวเที่ยวไปเป็นจารีตของคนเหล่านั้น มาแต่ครั้ง พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังว่านี้ ชื่อว่าการอันตรธานไปแห่งเพศ
บางสำนักก็ถึงแล้ว ที่เปลี่ยนเป็นผ้าขาว แทนที่จะเป็นผ้ากาสาวพัสตร์
ต่อไปจะถึงกาลที่พระศาสนาเสื่อมสิ้น อันตรธาน คือ การอันตรธานแห่ง พระบรมสารีริกธาตุ
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ปรินิพพานมี ๓ คือ กิเลสปรินิพพาน การปรินิพพานแห่งกิเลส ขันธปรินิพพาน การปรินิพพานแห่งขันธ์ ธาตุปรินิพพาน การปรินิพพานแห่งธาตุ
บรรดาปรินิพพาน ๓ อย่างนั้น กิเลสปรินิพพานได้มีที่โพธิบัลลังก์ ขันธปรินิพพานได้มีที่พระนครกุสินารา ธาตุปรินิพพานจักมีในอนาคต จักมีอย่างไร คือ ครั้งนั้นธาตุทั้งหลายที่ไม่ได้รับสักการะ และสัมมานะ การบำรุงในที่นั้นๆ ก็ไปสู่ที่ที่มีสักการะ และสัมมานะ ด้วยกำลังอธิษฐานของพระพุทธเจ้า
เมื่อกาลล่วงไปๆ สักการะ และสัมมานะก็ไม่มีในที่ทั้งปวง เวลาพระศาสนาเสื่อมลง พระธาตุทั้งหลายในตามพปัณณิทวีปนี้ (คือ ประเทศลังกา) จักประชุมกันแล้วไปสู่มหาเจดีย์ จากมหาเจดีย์ ไปสู่นาคเจดีย์ แต่นั้นจักไปสู่โพธิบัลลังก์
พระธาตุทั้งหลายจากนาคพิภพบ้าง จากเทวโลกบ้าง จากพรหมโลกบ้าง จักไปสู่โพธิบัลลังก์แห่งเดียว พระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดจักไม่หายไปในระหว่าง พระธาตุทั้งหมดจะประชุมกันที่มหาโพธิมัณฑสถานแล้ว รวมเป็นพระพุทธรูป แสดงพุทธสรีระ ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ โพธิมัณฑสถาน มหาปุริสลักษณะ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ พระรัศมีประมาณวาหนึ่ง ทั้งหมด ครบบริบูรณ์ทีเดียว แต่นั้นจะกระทำปาฏิหาริย์ แสดงเหมือนในวันแสดง ยมกปาฏิหาริย์ ในกาลนั้น ชื่อว่าสัตว์ผู้เป็นมนุษย์ ไม่มีไปในที่นั้น
คือ ไม่มีมนุษย์สักคนเดียวที่จะได้เห็นเหตุการณ์นั้น
ก็เทวดาในหมื่นจักรวาล ประชุมกันทั้งหมด พากันครวญคร่ำรำพันว่า วันนี้ พระทศพลจักปรินิพพาน จำเดิมแต่บัดนี้ไป จักมีแต่ความมืด
ลำดับนั้น เตโชธาตุลุกโพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุ ทำให้พระสรีระนั้นถึงความ หาบัญญัติมิได้ ... พระธาตุทั้งหลายแสดงอานุภาพใหญ่อย่างนี้แล้ว ก็อันตรธานไป
ในกาลนั้น หมู่เทพกระทำสักการะด้วยของหอม ดอกไม้ และดนตรีทิพย์ เป็นต้น เหมือนในวันที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพาน เทพเหล่านั้นกระทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์จักได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เสด็จอุบัติขึ้น ในอนาคต ดังนี้ แล้วกลับไปที่อยู่ของตนๆ นี้ชื่อว่าอันตรธานแห่งพระธาตุ
คำสอนค่อยๆ หายไป เพศค่อยๆ หายไป จนถึงพระธาตุคือพระบรมสารีริกธาตุก็จะอันตรธานไป ถึงกาลที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เมื่อพร้อม ถึงแก่การที่จะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะเสด็จบังเกิดในพระครรภ์พระมารดา และเมื่อประสูติแล้ว ก็ถึงกาลที่จะทรงตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรมเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป
ข้อความต่อไปมีว่า
การอันตรธานแห่งปริยัตินั่นแล เป็นมูลแห่งอันตรธาน ๕ อย่างนี้ จริงอยู่ เมื่อพระปริยัตติอันตรธานไป ปฏิบัติก็ย่อมอันตรธาน เมื่อปริยัติคงอยู่ ปฏิบัติก็คงอยู่
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
นาที 20.00
พละ ๗ ประการ
การเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องอาศัยกุศลธรรมที่มีกำลัง คือ ธรรมที่เป็นพละ ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมพลสูตรที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ สัททาพละ ๑ วิริยพละ ๑ หิริพละ ๑ โอตตัปปพละ ๑ สติพละ ๑ สมาธิพละ ๑ ปัญญาพละ ๑ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้แล
สัททาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละเป็นที่ ๗ ภิกษุผู้มีพละ ๗ ประการนี้เป็นบัณฑิต ย่อมอยู่เป็นสุข พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมเห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา ความหลุดพ้นแห่งจิต (คือ การดับของจิตขณะสุดท้าย) คือ ความดับของภิกษุนั้นย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีปฉะนั้น
จบ ปฐมพลสูตรที่ ๓
เหมือนกับว่ากระแสของนามธรรม และรูปธรรมไม่มีทางที่จะดับได้เลย แต่ถ้า มีธรรมที่เป็นพละแล้วย่อมถึงทางที่ ความหลุดพ้นแห่งจิต คือ การดับของจิตขณะสุดท้าย ย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีปฉะนั้น
ข้อความในพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก เป็นข้อความสั้นๆ แต่ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาโดยละเอียด และเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมว่า เพื่ออบรมเจริญปัญญา เจริญกุศล ขัดเกลาอกุศล แม้ข้อความสั้นๆ ก็ทำให้ท่านผู้ฟังไม่หลงลืมที่จะ รู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นพละนั้นเป็นพละได้อย่างไร เช่น พละ ๗ ประการนี้ คือ สัททาพละ ๑ แม้แต่เพียงการฟังพระธรรม ก็ต้องมีศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธาขณะไหน วันไหน วันนั้นไม่ฟัง หรือมีธุระเสียแล้ว มีกิจการงานอื่นเสียแล้ว ในขณะนั้นจะเห็น ได้เลยว่า ศรัทธามีกำลังหรือไม่มีกำลัง
นอกจากสัททาพละแล้ว ยังต้องมีวิริยพละ ความเพียรก็เป็นกำลังด้วย ต้องอาศัยความเพียรอย่างมากในการที่จะฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม และ เจริญกุศล ซึ่งถ้าขาดหิริพละ และโอตตัปปพละ กุศลก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าไม่ละอาย ในอกุศล ไม่เห็นโทษของอกุศล แล้วกุศลจะเกิดได้อย่างไร ซึ่งทุกคนก็ทราบว่า มีโลภะตลอดวัน หิริพละอยู่ในขณะไหน อหิริกพละอยู่ในขณะไหน เป็นเรื่อง ที่จะต้องฟันฝ่า เป็นเรื่องที่จะต้องสะสมจนกระทั่งแม้หิริโอตตัปปะก็เพิ่มกำลังขึ้น เพราะสามารถรู้ได้ว่าขณะใดเป็นอหิริกะ ขณะใดเป็นอโนตตัปปะ ก็คือขณะที่ อกุศลธรรมเกิด
แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีการพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมไม่สามารถเจริญขึ้นในกุศลธรรม เช่น ขณะใดที่เป็นกุศล ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นการเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย โดยมนสิการแล้ว โดยที่ไม่ใช่ตัวท่านที่เลือก แต่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ขณะนั้นมีโยนิโสมนสิการที่จะเกิดขึ้นเป็นกุศล เช่น วันหนึ่งๆ ระหว่างโกรธกับไม่โกรธ เป็นเรื่องที่จะพิจารณาแล้วว่า ขณะใดเป็นอโยนิโสมนสิการ ขณะใดเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย
ถ้าเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ขณะนั้นสติพละเกิด ระลึกได้ทันทีว่าสภาพนั้นเป็นอกุศล มีหิริ มีโอตตัปปะที่จะเห็นโทษ ที่จะรังเกียจในอกุศลนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีทั้งสัททาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ และถ้าจะถึงการ ดับกิเลสก็ต้องประกอบด้วยสมาธิพละ ปัญญาพละ จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา แต่ชีวิตประจำวันขณะใดที่ยังโกรธ จะชื่อว่า เห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญาได้ไหม
ระหว่างมานะ ความสำคัญตน กับความอ่อนน้อมถ่อมตน ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะที่เป็นกุศล คือ ขณะนั้นเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย เป็นโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการก็เป็นชีวิตประจำวัน และพละทั้ง ๗ ก็เป็นชีวิตประจำวันด้วย
นอกจากนั้นชีวิตประจำวันยังละเอียดที่ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะเห็นอหิริกะ อโนตตัปปะ หรือความไม่มีศรัทธา ความไม่มีวิริยะ ความไม่มีสติ สมาธิ ปัญญาได้ แม้ในขณะระหว่างมุ่งลาภกับไม่มุ่งลาภ โยนิโสมนสิการก็พิจารณาได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ระหว่างมุ่งสักการะกับไม่มุ่งสักการะ ขณะใดเป็นการเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ระหว่างมุ่งความมีชื่อเสียงกับไม่มุ่งความมีชื่อเสียง ระหว่างริษยากับไม่ริษยา ระหว่างตระหนี่กับไม่ตระหนี่ ระหว่างไม่มีหิริกับมีหิริ ระหว่างไม่มีโอตตัปปะกับมีโอตตัปปะ
นี่เป็นเรื่องที่จะทำให้กุศลธรรมที่เป็นพละเจริญขึ้น
เมื่อประกอบด้วยพละทั้ง ๗ เป็นบัณฑิต ย่อมอยู่เป็นสุข เลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมเห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา และสุดท้ายก็คือ ความหลุดพ้น แห่งจิต คือ การดับของจิตขณะสุดท้าย ย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีป
เดิมชีวิตประจำวันก่อนที่จะได้ฟังธรรมคงจะเป็นบุคคลหนึ่ง และเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว แต่ละท่านก็คงจะเห็นตัวท่านค่อยๆ เปลี่ยนไป มีการพิจารณาธรรมแยบคายขึ้น และมีกุศลที่เกิดได้บ่อยกว่าแต่ก่อนซึ่งพิจารณาโดยไม่แยบคาย ทำให้มีความพอใจในโลภะ ความพอใจในโทสะ คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีในโอกาสต่างๆ ในกาลต่างๆ
แต่ชีวิตย่อมเปลี่ยนไป ถ้าได้พิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน พระสูตรต่างๆ แม้โดยย่อ ซึ่งเป็นการเตือนพุทธบริษัท เช่น ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค ชราสุตตนิทเทสที่ ๖
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่ตั้งมั่น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่นับถือเรา
นี่ก็เตือนได้
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เป็นผู้ไปปราศแล้วจากธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อย ซึ่งอาจจะไม่ได้สังเกตเลย แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสโดยเฉพาะกับพระภิกษุให้เห็นว่า ในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศของการขัดเกลากิเลส ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ต้องมีความระมัดระวังที่จะแสดง ให้เห็นว่า เป็นการเคารพนับถือในพระศาสดา ในพระผู้มีพระภาคหรือไม่ เพราะถ้า ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่นับถือเรา เท่านี้ก็เตือนได้แล้วทุกครั้งที่อกุศลจิตจะเกิด
และสำหรับคฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมดแม้ว่าจะแสดงกับพระภิกษุ แต่ก็สำหรับพุทธบริษัททั้งหมดด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับพระภิกษุเท่านั้น ซึ่งท่านผู้ฟัง ก็จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างต้องมีเหตุ คือ เหตุที่จะทำให้เป็นผู้คดโกง เป็นผู้กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มานะจัด จิตไม่ตั้งมั่น ก็ต้องมีเหตุ คือ มีความสำคัญติดข้อง ยึดมั่นในตัวตน มีความรักตน มีความต้องการสมบัติต่างๆ เพื่อตน ซึ่งทำให้ผู้นั้น มีจิตไม่ตั้งมั่น หวั่นไหว
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)