กรรม ตอนที่ 03


    2430 เศษของกรรมมี เศษของวิบากมีหรือไม่

    กฤษณา เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงเรื่องกรรม ถ้าว่าเจตนาเป็นกรรม และผลของกรรมก็คือวิบาก เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงอาการปวดหัวตัวร้อนว่าเป็นเศษของกรรม ทีนี้อยากเรียนถามว่า เศษของวิบากจะมีหรือไม่ ทำไมอาการปวดหัวตัวร้อนไม่เป็นเศษของวิบาก แทนที่จะเป็นเศษของกรรม

    ท่านอาจารย์ วิบากเกิดขึ้นโดยมีกรรมเป็นปัจจัย แต่วิบากจิตไม่สามารถทำให้เกิดวิบากจิตได้ วิบากจิตทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เมื่อกรรมให้ผล คือ ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น และดับไปแล้ว ก็หมดเรื่องของวิบาก แต่ว่ากรรมยังมีอยู่ต่อไปไหม ถ้ากรรมยังมีอยู่ต่อไป ก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะฉะนั้นวิบากจิตที่เกิดต่อเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เป็นผลของวิบาก

    กฤษณา แล้วที่เป็นอาการปวดหัวตัวร้อน ตอนนั้นยังไม่เรียกว่าเป็นวิบากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบากจิต ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย อกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น วิบากจิตทั้งหมดจะเกิดขึ้นโดยไม่มีกรรมเป็นปัจจัยไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องทราบว่า จิตขณะไหนเป็นวิบากซึ่งเป็นผล และขณะไหนเป็นกรรมซึ่งเป็นเหตุ เพราะเหตุว่าวิบากไม่ใช่กรรม แต่วิบากเป็นผลของกรรม

    2516 เจตนา ๒ ประเภท กับ กัมมปัจจัย

    กฤษณา ที่สงสัยว่ามีเศษของกรรม ทำไมไม่มีเศษของวิบาก เพราะว่าถ้าเจตนาคือกรรม ถ้ามีเศษของกรรม ก็น่าจะมีเศษของเจตนา ในทำนองนั้น

    ท่านอาจารย์ เจตนามี ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑ สหชาตกัมมปัจจัย หมายความถึงเจตนาซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง

    เพราะฉะนั้นเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิต ก็เป็นวิบากเจตสิก เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลเจตนาเพราะเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เกิดกับอกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยาเจตนา เพราะเหตุว่าเกิดกับกิริยาจิต

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องจำแนกแม้เจตนาว่า เจตนาที่เป็นกรรม เป็นนานักขณิกกัมม ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้ คำว่า “นานักขณิกกัมม” หมายความถึงกรรมที่ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่เจตนานั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสหชาตกัมม เจตนานั้นให้ผล คือ ทำให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น จึงเป็นสหชาตกัมม แต่ถ้าเป็นนานักขณิกกัมม ก็หมายความถึงกรรมที่เราเข้าใจกันว่า เมื่อกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นภายหลัง คือ ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น

    2517 พระเทวทัตกระทำครุกรรม คือ สังฆเภท

    ประวิทย์ เรื่องครุกรรม ท่านพระเทวทัตทำกรรมหนักมาก คือสังฆเภท โลหิตุปบาท การที่ท่านปฏิสนธิในอเวจีมหานรก ตอนนี้ก็ยังอยู่ และต่อไปหลังจากที่ท่านจุติจากอเวจีมหานรกแล้ว สมมติว่าการที่ท่านไปปฏิสนธิในอเวจีเป็นผลของการทำโลหิตุปบาท

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ เป็นผลของสังฆเภท เพราะเหตุว่าสังฆเภทเป็นกรรมหนักกว่าโลหิตุปาท เพราะฉะนั้นกรรมใดที่น้อยกว่า กรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม จักไม่ให้ผล

    2518 อโหสิกรรม

    นิภัทร อโหสิกรรมที่ไม่ให้ผลในชาตินี้ ในชาติต่อไปจะให้ผลไหม

    ท่านอาจารย์ ในที่นี้แสดงเรื่องของอโหสิกรรม ๖ ประการ หมายความถึงกรรมในอดีตที่ได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้นที่ต่างกันเป็น ๖ คือ กรรมในอดีตให้ผลแล้วในอดีต ก็เป็นอโหสิกรรม เพราะเหตุว่าให้ผลแล้ว และกรรมในอดีตไม่ได้ให้ผลในอดีต ก็เป็นอโหสิกรรมประเภทหนึ่ง คือกรรมได้กระทำแล้ว ในที่นี้อโหสิกรรม หมายความถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตเท่านั้น

    นิภัทร ไม่ได้เหมือนอย่างว่า ชวนะดวงที่ ๑ ถ้าไม่ให้ผลในชาตินี้ก็เป็นอโหสิกรรมไป

    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่าเป็นอโหสิกรรมไป โดยความหมายหนึ่ง แต่ว่าในที่นี้ กรรมที่ได้ทำแล้วทั้งหมด ชื่อว่า “อโหสิกรรม”

    เพราะฉะนั้นจึงจำแนกออกเป็น ๖ คือ กรรมในอดีตให้ผลในอดีตก็มี กรรมในอดีตไม่ได้ให้ผลในอดีตก็มี กรรมในอดีตให้ผลในปัจจุบันก็มี กรรมในอดีตไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันก็มี กรรมในอดีตจักให้ผลในอนาคตก็มี กรรมในอดีตจักไม่ให้ผลในอนาคตก็มี

    เพราะฉะนั้น ก็มี ๒ นัย แต่นัย ๖ นี้ ความหมายถึงกรรมที่ได้ทำแล้วเท่านั้น

    2519 กรรมในอดีตให้ผลในอดีต

    ถาม ขอให้ท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง กรรมในอดีตให้ผลในอดีตให้เห็นชัดหน่อยครับ

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อนใครจะเกิดเป็นอะไร ทราบไหมคะ ชาติก่อนจะสุขจะทุกข์อย่างไร ทราบไหม ไม่ทราบ แต่เกิดแล้ว และมีวิบากในชาตินั้นๆ แล้ว ตามกรรมนั้นๆ ในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ในสังสารวัฏฏ์ ชาตินี้กำลังจะเป็นอดีตชาติของชาติหน้า โดยนัยเดียวกันทุกๆ ชาติผ่านไป แล้วแต่ว่ากรรมในอดีตที่ได้ทำแล้ว ก็ทำให้เกิดวิบากแล้วในอดีต โดยที่ไม่สามารถจะรู้ได้ รู้ได้แต่เฉพาะในชาตินี้เฉพาะวิบาก แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้ว่าวิบากในชาตินี้ เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติไหน แต่ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    2520 ฌานสมาบัติ - จุติจิต

    ประวิทย์ สมมติว่าถ้าได้ฌาน ใกล้จะจุติไม่เข้าสมาบัติได้ไหมครับ จำเป็นว่าเมื่อได้ฌานแล้ว ฌานจิตจะต้องเกิดก่อนจุติ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ผู้ที่ได้ฌานจิตแล้ว ฌานจิตจะต้องเกิดก่อนจุติหรือ

    ประวิทย์ ไม่เสมอไปหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่สบายไปเลย ท่านพระเทวทัตสามารถจะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้

    ประวิทย์ ท่านเสื่อมแล้วนี่ครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ท่านเกิดในอเวจีมหานรกในขณะนี้ แสดงว่าชวนจิตก่อนจุติไม่ใช่ฌานจิตแน่นอน

    ประวิทย์ แต่นั่นท่านเสื่อมแล้ว สำหรับบุคคลผู้ไม่เสื่อม

    ท่านอาจารย์ บุคคลที่ไม่เสื่อม ไม่เสื่อมก็หมายความว่า ฌานจิตสามารถที่จะเกิดได้อย่างแคล่วคล่อง

    ประวิทย์ แต่เขาอาจจะไม่อยากให้ฌานจิตเกิดก่อนใกล้จะจุติ

    ท่านอาจารย์ เขาไม่สามารถจะทำอะไรได้ แต่มีปัจจัยที่จะให้ฌานจิตเกิดก่อนจุติ ด้วยความสามารถ ด้วยความชำนาญ ด้วยความไม่เสื่อม

    ประวิทย์ แล้วมีปัจจัยที่ทำให้จิตอื่นเกิด นอกจากฌานจิตจะได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ ถ้าเป็นผู้ที่ถึงความชำนาญ แคล่วคล่อง และไม่เสื่อม

    ประวิทย์ ไม่เสื่อม หมายถึงถึงความชำนาญ แคล่วคล่อง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ

    2591 มรณาสัณณวิถี

    ประวิทย์ คำว่า ฌานไม่เสื่อม และฌานจิตเกิดในขณะที่ใกล้จะตาย หมายความว่า ฌานจิตเกิดในมรณาสันนวิถีใช่ไหมครับ สมมติว่าอย่างวันนี้กระทำกุศล แล้วกุศลนั้นให้ผลปฏิสนธิในชาติต่อไป หมายความว่า มรณาสันนวิถีเป็นกุศลจิตที่ระลึกถึงกรรมที่กระทำแล้วอันนั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะได้ยินคำใหม่หรือศัพท์ใหม่สำหรับบางท่าน แต่บางท่านอาจจะชินหูแล้วสำหรับท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธรรม คือคำว่า “มรณาสันนวิถี”

    วิถีจิต หมายถึงจิตที่รู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    ถ้าแบ่งจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ วิถีมุตตจิต คือจิตที่ไม่ใช่วิถี ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประเภทหนึ่ง และวิถีจิต คือ จิตที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้นวิถีมุตตจิต คือ ขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต ๑ ขณะที่เป็นภวังคจิต ๑ ขณะที่เป็นจุติจิต ๑ เท่านั้นที่เป็นวิถีมุตตจิต

    เพราะฉะนั้นนอกจากนี้แล้ว ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร เป็นวิถีจิตทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นมรณาสันนวิถี หมายความถึง วิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวารก่อนจุติ ชื่อว่า “มรณาสันนวิถี” คือ วิถีจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด

    ธรรมดาของชวนวิถีจิตจะเกิดซ้ำถึง ๗ ขณะ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ปกติชวนวิถีจิตจะเกิด ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล แต่ว่าในขณะที่กำลังสลบ ชวนวิถีจะเกิดซ้ำกัน ๖ ขณะ เป็นสภาพของจิตซึ่งไม่ได้ประกอบด้วยสัมปชัญญะอย่างทั่วๆ ไปที่ใช้กันอยู่ ว่าไม่ใช่ขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และก่อนจุติจริงๆ ชวนวิถีจะเกิดเพียง ๕ ขณะ เพราะเหตุว่ามีกำลังอ่อนลง ใกล้ที่จะถึงการดับจากภพนี้ ชาตินี้ ความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นก่อนจุติจิตจะเกิดไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่า ชวนวิถีสุดท้ายจะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล จะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะเหตุว่าแม้ในขณะนี้เอง ทางจักขุทวารวิถีจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว มีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดต่อ หรือว่าทางหูที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง ดับไปหมดแล้ว มีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วมีมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ

    เพราะฉะนั้นจุติจิตจะเกิดหลังการสิ้นสุดวิถีหนึ่งวิถีใดย่อมได้ คือ หลังจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ หรือหลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปหมดแล้ว แล้วภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือจะเป็นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางโสตทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด แล้วจุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่าเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ