กรรม ตอนที่ 12


    นี่เป็นเหตุที่ทุกท่านจะต้องพิจารณากาย วาจา ใจของตนเองอย่างละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นความตั้งใจที่กระทำกรรมที่สั่งสมเพื่อที่จะให้วิบากเกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้สังสารวัฏฏ์ไม่หมดสิ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำ พึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ) หรือในอัตภาพต่อๆ ไป (อปราปรเวทนียะ)

    เพราะฉะนั้นบางท่านอาจจะกระทำอกุศลกรรมแล้ว ก็คิดว่ายังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรม สบายดี พ้นเคราะห์พ้นกรรม แต่ความจริงไม่พ้น เพราะเหตุว่าก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำ พึงได้เสวย คือทำให้เกิดผล ได้รับวิบากในปัจจุบัน หรือในอัตภาพถัดไป คือ ในชาติหน้า หรือในอัตภาพต่อๆ ไป เหมือนอย่างในชาตินี้ จะได้รับผลของอกุศลกรรมหรือ กุศลกรรมก็ตามแต่ เป็นผลของกรรมที่ได้สั่งสมมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ อาจจะเป็นกรรมในชาตินี้ หรือกรรมในชาติก่อน หรือกรรมในชาติก่อนๆ ๆ โน้นก็ได้

    3586 อกุศลกรรมมีความตั้งใจเป็นอกุศล

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ในข้อนั้นความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า อกุศลกรรมทั้งหลายย่อมมีความตั้งใจเป็นอกุศล สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพลาดพลั้งทางกาย อาจจะมีได้ แต่ไม่ใช่อกุศลกรรม ถ้าไม่มีความตั้งใจ แต่ถ้ามีความตั้งใจที่จะกระทำ

    ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ฯ

    นี่คือผลของอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีทุกข์เป็นกำไร นี่แสดงว่าไม่น้อยเลย เป็นกำไร ก็แสดงว่ามากกว่าต้นทุน

    3587 กายกรรม ๓

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีข้อความว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นแห่งโทษการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร

    ซึ่งทุกท่านคงเข้าใจดีแล้วถึงกายกรรม ๓

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ผู้หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่า และการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิตทั้งปวง ๑ เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ ถือเอาวัตถุอันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา ผู้มีสามี ผู้มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีผู้มีบุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ

    เรื่องของกายกรรม ๓

    3588 วจีกรรม ๔

    วจีกรรม ๔ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พูดเท็จ คือ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางแห่งราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใด จงพูดสิ่งนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ กล่าวว่ารู้ หรือเมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น หรือเมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ ๑

    ข้อต่อไปคือ

    เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน หรือส่งเสริมคนทั้งหลายผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้แยกกัน ๑

    นี่คือเรื่องของวาจา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความวิจิตรมาก ในเรื่องของวาจาที่ไม่จริง เป็นคำพูดเท็จก็อย่างหนึ่ง คือเรื่องไม่จริงเลยก็กล่าวได้ นั่นเป็นเพราะอกุศลจิต ซึ่งไม่เห็นโทษของวจีกรรม แต่ทางวาจา ไม่ได้มีแต่เพียงการพูดเท็จ ยังมีการพูดส่อเสียดเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือเพื่อทำลายคนหมู่โน้น หรือส่งเสริมคนทั้งหลายผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน

    ไม่น่าสนุกเลยที่จะเห็นคนแตกแยกความสามัคคี แต่ผู้ที่มีอกุศลจิต ก็ยังพอใจที่จะเห็นความแตกแยก จนกระทั่งยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน แล้วก็เพลิดเพลินในความแยกกัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นการสะสมของอกุศลซึ่งสามารถจะกระทำอกุศลกรรมได้ทั้งทางกาย และทางวาจา

    นอกจากนั้นสำหรับวจีกรรมที่ควรจะพิจารณา คือ

    เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าววาจาที่หยาบคาย กล้าแข็ง เดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิหรือความสงบของจิต ๑

    นี่คือวจีกรรมที่ ๓ ไม่เป็นวาจาที่ดีเลยสักอย่างเดียว เรื่องเท็จ เรื่องส่อเสียด หรือเรื่องคำหยาบ คือ วาจาที่หยาบคาย กล้าแข็ง เดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิคือความสงบของจิต

    ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด อาจจะไม่สังเกตวาจาในขณะนั้นว่า หยาบคายหรือว่ากล้าแข็ง หรือว่าเดือดร้อนต่อผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น หรือใกล้ต่อความโกรธ เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ

    วจีกรรมประการที่ ๔ คือ

    เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรมไม่อิงวินัย กล่าววาจาที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันไม่ควร ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ

    3589 เรื่องจริงควรกล่าวโดยเป็นประโยชน์

    ประการสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะพูดเรื่องจริง ก็จะต้องพิจารณาว่า ในขณะที่พูดนี่จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล กำลังมีโทสะหรือไม่ประกอบด้วยโทสะ ไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษในการที่จะกล่าวแม้เรื่องจริง

    ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ ไม่ควรจะกล่าวเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง เห็นแล้วว่าควรจะกล่าวเพื่อประโยชน์ ก็ควรที่จะกล่าว เพราะว่าเรื่องอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้น สำหรับอกุศลทางวาจา จะไม่ทำให้บุคคลเดียวเป็นอกุศล แต่จะทำให้อีกหลายบุคคลเป็นอกุศล

    ถ้าได้ยินเรื่องที่ไม่จริง ใครจะทราบว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง ใช่ไหมคะ เพราะคนที่บอกหรือคนที่เล่าก็จะต้องบอกว่า นี่เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า สิ่งที่ได้รับฟังนั้นจริงหรือเท็จ แล้วถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้มีความรู้สึกขุ่นเคืองต่อบุคคลอื่นในขณะนั้น โดยที่เป็นเรื่องไม่จริง ขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วที่ไม่ควรจะเกิด และอกุศลนั้นก็จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น อาจจะต่อไปอีกหลายวันหลายเดือนก็ได้ เพราะฉะนั้นมีทางใดที่จะป้องกันไม่ให้อกุศลนั้นเกิดเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้น เมื่อพิจารณาโดยเหตุผล เห็นสมควรที่จะพูดก็ควรพูด เพื่อที่จะไม่ให้บุคคลอื่นเข้าใจเรื่องจริงๆ ที่ถูกต้อง เพื่ออกุศลจิตของเขาจะได้ไม่เกิด และอกุศลจิตของคนอื่นๆ อีกหลายคนก็จะได้ไม่พลอยเกิดตามไปด้วย เพราะว่าอกุศลของคนหนึ่งจะต่อไปถึงอกุศลของคนอื่นๆ อีกหลายคนทางวาจาด้วย ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดถึงประโยชน์ เรื่องของวาจาทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริง ก็จะต้องคิดด้วยว่า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ คือ เพื่อให้กุศลจิตเกิด ให้มีความเข้าใจถูก ให้พ้นจากอกุศลซึ่งจะติดตามมาอีกมากมาย ก็ควรที่จะพูด แต่ว่าไม่ใช่จงใจเจตนาที่จะพูดเพื่อที่จะให้เกิดอกุศล

    3590 มโนกรรม ๓

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากอย่างไร

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อยากได้ของของผู้อื่น คือ อยากได้วัตถุอันเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอวัตถุอันเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นพึงเป็นของเราดังนี้ ๑ เป็นผู้มีจิตคิดปองร้าย คือ มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้เป็นแล้ว ดังนี้ ๑ เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นอันวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้ และปรโลกให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มีในโลกดังนี้ ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ

    นี่คือมโนกรรม ๓ คือ อภิชฌา เพ่งเล็งอยากได้ของบุคคลอื่น ๑ พยาปาท มีจิตคิดปองร้ายบุคคลอื่น ๑ และมีความเห็นผิด มีความตั้งใจที่เป็นอกุศล ๑ รวมเป็นมโนกรรม ๓

    มีความสงสัยเรื่องมโนกรรมไหมคะ

    ขอเริ่มตั้งแต่เรื่องของอภิชฌาได้ไหมคะ เพราะว่ามีท่านผู้หนึ่งถามว่า เขาเห็นของๆ คนอื่นสวย คือไปบ้านเพื่อน และเห็นของๆ คนอื่นสวย และก็อยากจะได้บ้าง อย่างนี้จะเป็นอภิชฌาหรือเปล่า

    นี่เป็นแต่เพียงโลภมูลจิตธรรมดา เห็นสวย อยากได้ แต่ไม่มีความตั้งใจเป็นอกุศล อาจจะถามว่าซื้อที่ไหน แล้วก็ไปซื้อหามาบ้าง ขณะนั้นก็ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ เพียงแต่มีความต้องการ หรือความอยากได้สิ่งที่คนอื่นมี แต่ไม่ได้หมายความว่า คิดที่จะเอาของๆ คนนั้นมาเป็นของตนในทางทุจริต ถ้าอยากได้แล้วถามซื้อ ก็ไม่เป็นทุจริต เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ปกติธรรมดาของโลภมูลจิต เมื่อไม่มีความตั้งใจที่จะทำอกุศลกรรม ย่อมไม่เป็นอกุศลกรรมบถ

    3732 มโนกรรม - ทิฏฐุปาทาน

    ขอกล่าวถึงข้อความในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทศทิฏฐุปาทาน ซึ่งมีข้อความของมโนกรรม ๓ ในข้อของทิฏฐิ ซึ่งแสดงว่า

    เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นอันวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

    แสดงว่าการให้หรือทานนี้ มี เมื่อโลกนี้มี การให้ซึ่งกัน และกันย่อมมี การให้ที่เป็นทานย่อมมี แต่สำหรับผู้ที่เห็นผิด ไม่ใช่เห็นว่า ทานไม่มี แต่เห็นว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล คือ ทาน การให้มี แต่ผลของทาน ไม่มี บางคนก็ถึงกับพูดว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งหมด ยิ่งให้ก็ยิ่งยากจน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า คิดว่าทานที่ให้ไปแล้วนั้นไม่มีผล นี่ก็เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง

    การเซ่นสรวงไม่มีผล

    สำหรับการเซ่นสรวง หมายถึงมงคลกิริยา ได้แก่ การคำนับ การต้อนรับ การแสดงมารยาทที่สมควร บางคนก็คิดว่าไม่มีผล แสดงว่าการคำนับ การต้อนรับ มี แต่ผลของการคำนับ หรือการต้อนรับซึ่งเป็นมงคลกิริยานั้น ไม่มี แต่ความจริงทุกอย่างที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า ที่เป็นอกุศลนั้นอย่างหนึ่ง และที่เป็นกุศลนั้นอย่างหนึ่ง ต่างกันจริงๆ

    ถ้าเห็นใครต้อนรับใครด้วยใจจริง เป็นกุศลจิตหรือเปล่าคะ ของบุคคลซึ่งต้อนรับ แสดงกิริยาที่เป็นมงคลในการต้อนรับ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็นด้วยใจจริง ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศล ก็ตรงกันข้าม ไม่มีมงคลกิริยา ไม่แสดงอาการต้อนรับใดๆ ในขณะนั้นก็ส่องไปถึงสภาพของจิตขณะนั้นว่า จิตในขณะนั้นหยาบกระด้าง หรือว่าเป็นอกุศล ขาดความเมตตา

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นมงคลกิริยา คือ การคำนับ การต้อนรับของบุคคลทั้งหลายในโลกซึ่งมีต่อกัน รู้ว่ามงคลกิริยาเหล่านั้น มี แต่ผลของมงคลกิริยาเหล่านั้น ไม่มี ซึ่งความจริงแล้วเรื่องของกุศลจิต และอกุศลจิตย่อมเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล โดยเฉพาะขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นอกุศล ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล ก็โดยนัยเดียวกัน ทั้งอกุศลกรรม และกุศลกรรมย่อมทำให้เกิดผล

    ถาม เวลาจะชวนใครทำบุญเขาก็จะบอกว่า บุญอยู่ที่ไหน บาปอยู่ที่ไหน เราก็บอกว่าเธออยู่ในหนังสือธรรมเขียนไว้ เขาก็บอกว่าไม่เคยเห็น อย่างนี้จะรับได้ไหมว่าบุคคลนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ได้ค่ะ

    ถาม ถ้าเขาแย้งต่อไปอีกว่า เขาไปถึงโลกพระจันทร์ น้ำมันใต้บาดาลก็ขุดเจาะกันแล้ว แล้วไหนล่ะสวรรค์ไหนล่ะนรก และยังบอกอีกว่า มีไหมคนที่ตายไปแล้ว กลับมาบอกว่ามีความสุขอย่างไร ที่บอกว่าทำบุญไปแล้วจะมีปราสาทวิมาน พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ตายไปไม่เห็นใครเคยกลับมาบอกว่าสบายอย่างไร หรือเป็นทุกข์อย่างไรในนรก ล้วนแต่เป็นเรื่องเล่าต่อกันมาทั้งนั้น ขออาจารย์ช่วยอธิบายให้กระจ่างด้วย

    ท่านอาจารย์ คำตอบนี้มีใน ปายาสิราชัญญสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ซึ่งแสดงไว้โดยละเอียดทีเดียว คำถามเหมือนกันหมดทุกข้อเลยมีคำตอบอยู่ในนั้น ข้อสำคัญก็คือ ใครบอกเขาว่านรกอยู่ใต้ดิน ที่จะขุดไปแล้วก็ไม่เจอ เป็นคนละโลกแสนไกล เช่นเดียวกับสวรรค์

    ชีวิตในปัจจุบันนี้มีสุขมีทุกข์ไหม มี บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ ถ้าไม่มีเหตุของสุขที่จะเกิด สุขก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุของทุกข์ที่จะเกิด ทุกข์ก็เกิดไม่ได้ เพียงแต่เขาไม่รู้เหตุของทุกข์ และสุขว่าอาศัยเหตุปัจจัยอะไรจึงเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัย แล้วก็ดีที่ไม่เชื่อง่ายๆ แต่ว่าควรจะได้ศึกษาด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อ แล้วก็จะเชื่อต่อเมื่อมีคนมาบอก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ย่อมจะเกิดความเข้าใจขึ้นถ้าได้ศึกษา

    ถาม เท่านั้นยังไม่พอยังบอกว่า บางคนเวลาทำบุญ ของดีๆ ไม่รับประทานเอง อดออม ตระหนี่ หวงแหน เก็บไปถวายพระหมด เขาก็แย้งว่า ตายไปแล้วปากก็เน่าจะเอาอะไรไปกิน

    ท่านอาจารย์ การให้ทานแล้วแต่เจตนา สามารถพิสูจน์จิตใจของผู้ให้ได้ ถ้าสามารถให้สิ่งซึ่งตนเองไม่ใช้สอยแล้ว ลองพิจารณาสภาพจิตของตัวเอง กับ สามารถให้สิ่งซึ่งตนเองก็ใช้สอยอย่างนั้น บริโภคอย่างนั้น ก็ต่างกัน แล้วก็กับการที่สามารถสละให้ได้แม้สิ่งซึ่งประณีตแก่ผู้อื่น ก็ลองพิจารณาดูจิตใจในขณะที่ให้ ๓ อย่างนี้ ว่าต่างกันหรือเหมือนกัน ให้สิ่งซึ่งเหลือใช้แล้วนี้ไม่ยากใช่ไหม แต่บางคนก็ยังยาก เหลือแล้วก็ยังไม่ให้ต้องเก็บเอาไว้อีกนานเป็นปีๆ นอกจากนั้นบางคนแล้วคนอื่นจะไปแตะต้องไปจับสิ่งซึ่งตนเองไม่ใช้แล้วเก็บไว้นาน ก็ยังไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องของความตระหนี่ ซึ่งตระหนี่มากโดยลักษณะนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่สามารถให้สิ่งซึ่งตนเองก็ใช้ แบ่งปันให้คนอื่น ใช้อย่างไรบริโภคอย่างไร ก็ให้บุคคลอื่นอย่างนั้น ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ถ้าสามารถจะสละสิ่งซึ่งประณีต ซึ่งตนเองก็อยากจะใช้ แต่ก็คิดว่าเหมาะควรที่จะให้ท่านผู้นั้นผู้นี้ได้ใช้ด้วยเหตุผลที่ท่านเป็นผู้ทรงคุณความดี เป็นผู้ที่มีวิริยะในทางกุศลต่างๆ เป็นการแสดงความมีน้ำใจ ทางเคารพความนอบน้อมต่อท่านผู้นั้น นี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ก็เป็นสภาพของจิตซึ่งแล้วแต่แต่ละคนจะเลือกว่าจะให้อย่างไร

    ถาม ที่อาจารย์ได้อธิบายเรื่องการเซ่นสรวง อาจารย์อธิบายในรูปของการต้อนรับขับสู้ เป็นมงคลกิริยา คำว่าเซ่นสรวง ภาษาไทย ความหมายคือ เซ่นเจ้า เซ่นคนตาย ในที่นี้รวมอยู่ในความหมายนี้ด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่จะเข้าใจความหมายของคำว่า มงคลกิริยา คือกิริยาที่เป็นมงคล ซึ่งไม่ใช่ดูถูกดูหมิ่น อาจจะเป็นการเคารพ อ่อนน้อม ระลึกถึงคุณ ถ้าเป็นความเข้าใจถูก มารดาบิดามีคุณ เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่าเซ่นสรวง ก็หมายความถึง มีมงคลกิริยาอาการที่แสดงถึงความนอบน้อม ความเคารพ การระลึกถึงพระคุณ แต่ต้องเข้าใจถูก อย่าเข้าใจผิดว่าต้องเซ่นต้องสรวง ต้องกินต้องใช้ หรือว่า บริโภคใช้สอยเหมือนอย่างคนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยมากถ้าใช้คำว่าเซ่นสรวง มักจะใช้กับผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์ในโลกนี้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ถ้าเป็นเพียงมงคลกิริยา จะด้วยอาการใดๆ ก็แล้วแต่ความคิดความเชื่อความเลื่อมใส แต่ว่าในขณะนั้นบุคคลนั้นมีมงคลกิริยาที่นอบน้อม เคารพ อ่อนน้อมต่อผู้มีคน และเป็นการกระทำเพื่อระลึกถึงพระคุณ ก็ไม่ผิด แต่ก็ต้องมีความเข้าใจถูกด้วยว่าไม่ใช่ให้บุคคลนั้นไปบริโภคใช้สอยเหมือนกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

    สำหรับข้อที่ว่า การบูชาไม่มีผล ก็โดยนัยเดียวกัน การเคารพ การนับถือ ความเลื่อมใส การบูชา มี และขณะใดที่กระทำกรรมทางกายทางวาจา ซึ่งเป็นการบูชา ขณะนั้นก็ต้องมีการพิจารณาว่า เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าเลื่อมใสผิด นับถือ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้นเพียงการบูชาอย่างเดียว ก็จะต้องพิจารณาว่า บูชาถูกหรือบูชาผิด ถ้าบูชาผิดเพราะอะไร มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ทำให้บูชาผิดๆ ผลของการบูชาผิดก็ต้องมี เป็นทุกข์เป็นกำไร และมีทุกข์เป็นวิบาก เพราะเหตุว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ใช่เป็นผลของกุศลกรรม

    ถาม สงสัยในเรื่องของอภิชฌา อภิชฌาหมายถึงจิตขโมยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นมาเป็นของตน

    ถาม สมมติว่าอยากได้เก้าอี้ตัวนี้ ต้องการจะให้เป็นของของตน

    ท่านอาจารย์ โดยทางสุจริตหรือทุจริต ต้องการซื้อหา หรือว่าต้องการของ หรือว่า ต้องการลักขโมย

    ถาม ยังไม่ได้คิดเพียงแค่อยากได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิดยังไม่เป็นอกุศลกรรม



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ