สมถภาวนา ตอนที่ 18
ถ้าระลึกโดยไม่แยบคายกุศลจิตไม่เกิด แม้ว่าเป็นสมถกรรมฐาน ท่านผู้ฟังอย่าลืมว่า ต้องมีปัญญาจึงจะเจริญได้ ทุกกรรมฐาน ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว จิตไม่สงบ เช่นถ้าระลึกถึงความตายของคนที่รัก เป็นอย่างไรคะ โศกเศร้า เสียใจ เพราะขาดสติ และปัญญา เวลาที่ระลึกถีง คนที่ไม่เป็นที่รัก หรือว่าคนที่เกลียดชัง หรือคนที่เป็นศัตรู ความตายของบุคคลเหล่านั้น อาจจะก่อให้เกิดความยินดี ใช่ไหมคะ นั่นเป็นการระลึกถึงความตาย ที่ปราศจากสติ และปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความสงบได้ หรือถ้าระลึกถึงคนซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชัง จิตก็ไม่สงบ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่ระลึกถึงด้วยความแยบคาย อย่างวันหนึ่งๆ ได้ข่าวของคนที่เสียชีวิตไป ในหนังสือพิมพ์ด้วยอุบัติเหตุต่างๆ หรือว่าผู้ที่กระทำกิจเกียวข้องกับคนที่ตาย ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เช่นสัปเหร่อทั้งหลาย เหล่านี้ ไม่มีความรัก ความชังในบุคคลที่ตาย แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่าขณะนั้น เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตายโดยไม่แยบคายเหล่านั้น ไม่ทำให้จิตสงบ ระลึกอย่างไรจิตจะสงบ ต้องน้อมมาระลึกถึงความตายของตนเอง แล้วก็จะเห็นได้ว่าชีวิตนี้สั้นมาก แล้วก็สมบัติทั้งหลายที่มี ย่อมถึงความวิบัติพร้อมกับการขาดสูญของชีวิตนี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งข้อความที่กล่าวถึงการระลึกถึงความตายที่จะให้เกิดความแยบคายนั้น เช่นระลึกถึงว่า ชีวิตทั้งหลายไม่มีนิมิต คือไม่มีเครื่องหมายให้รู้เลย ว่าจะเสียชีวิตลงไปเมื่อไร อาจจะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็ได้ หรือว่าเกิดมาแล้ว มีอายุจนถึง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๖๐ ปี ๑๐๐ ปีก็ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้นิมิตของชีวิตได้เลย ว่าจะมาก หรือจะน้อย หรือว่าจะยาวนานสักเท่าไร เช่นทุกท่านที่นั่งอยู่ในขณะนี้ มีนิมิตที่จะบอกได้ไหมคะว่า ชีวิตของใครจะสิ้นสุดลงเมื่อไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นของที่ไม่แน่นอนเลย ถ้าคิดถึงความไม่แน่ จนกระทั่งสามารถที่จะระลึกถึงความตายให้สั้นเข้าๆ เช่นที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง กับพระภิกษุทั้งหลายว่า การระลึกถึงความตายชั่ว วันหนึ่ง คืนหนี่ง ที่มีชีวิตอยู่ ก็ยังประมาท จนกระทั่งระลึกถึงในขณะที่มีชีวิตอยู่พอที่จะเคี้ยวอาหาร ๔-๕ คำแล้วกลิ่น นั่นก็ยังประมาท แต่ผู้ที่จะไม่ประมาท ก็คือผู้ที่ระลึกถึงความตาย ชั่วขณะที่ เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืน หรือว่าหายใจเข้าแล้วออก หายใจออกแล้วเข้า นั่นเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้ระลึกถึงความตายอย่างนั้นเท่านั้น อย่าลืมว่า สมถกรรมฐาน ทั้งหมด ควรที่จะจบลงด้วยเห็นธรรมในธรรม เพราะฉะนั้น แม้แต่สมถกรรมฐานเช่น มรณสติ ก็ไม่ใช่ว่าให้ไประลึกถึงความตายแล้วสงบเท่านั้น แต่ต้องไม่ประมาทโดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว อย่างเวลานี้ ถ้าท่านระลึกถึงความตาย กับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทันที อย่างไหนไม่ประมาท ระลึกถึงความตาย แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ถ้าไม่ระลึก มรณสตินั้นก็ไม่สามารถที่จะถึง เห็นธรรมในธรรมได้ แต่ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาค จะให้ระลึกถึง ความตาย คือมรณสติเนืองๆ ก็เพื่อประโยชน์ อย่างเดียวคือ การที่จะให้เกิดสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่จะดับกิเลส เป็นสมุจเฉท
5162 ความตายไม่มีนิมิต
ท่านอาจารย์ สำหรับการระลึกถึงความตาย บางท่านอาจจะยังไม่ค่อยจะระลึกเท่าไร แต่การที่จะให้ระลึกถึงความตายที่จะให้เกิดความสลด นอกจากที่จะไม่เห็นนิมิตของชีวิตว่าจะสิ้นสุดลงในขณะไหนแล้ว ก็ยังมีการระลึกถึง ความมีโรค ซึ่งไม่มีนิมิต ซึ่งความตาย ย่อมจะตายด้วยโรค แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ท่านจะตายด้วยโรคอะไร มีโรคมากมายหลายอย่าง แต่ว่า ไม่มีใครรู้ได้เลยว่า แต่ละคน จะสิ้นชีวิตลงด้วยโรคอะไร นอกจากนั้นแล้ว กาละของความตาย ก็ยังไม่มีนิมิต เช่นไม่มีใครรู้ว่าท่านจะสิ้นชีวิตลง ตอนเช้า หรือตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเที่ยง หรือตอนเย็น หรือตอนค่ำ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ นอกจากนั้นแล้ว ที่ทอดกายยในขณะที่จะตาย ก็ยังไม่มีนิมิต คือไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะตายในบ้าน หรือว่าจะตายนอกบ้าน จะตายบนบก หรือว่าจะตายในน้ำ เพราะเหตุว่าแม้สัตว์ที่อยู่ในน้ำ ก็ยังตายบนบก หรือ ว่าสัตว์ หรือมนุษย์ทั้งหลาย ที่อยู่บนบก ก็ยังตายในน้ำได้เ พราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ที่ทอดตายในขณะที่ตายนั้นก็ไม่มีนิมิต นอกจากนั้นแล้ว ก็ควรที่จะระลึกถึง คติที่ไม่มีนิมิต ในเวลานี้คะ ถ้าท่านผู้ ๑ ผู้ใดจะสิ้นชีวิตลง ไม่มีใครที่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า จะเกิดที่ไหน กรรมอะไรจะทำให้ปฏิสนธิที่ไหน ถ้าคิดอย่างนี้ เกิดความสลด ไม่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะนั้น ก็ยังไม่พอ เพราะว่าจุดประสงค์ที่ระลึกอย่างนี้แล้ว ก็ควรที่จะเกิดสติ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นจุดประสงค์ของสมถภาวนา โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน
5163 จิตสงบ - สติปัฏฐาน ประโยชน์อะไรจะมากกว่ากัน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การที่จะระลึกถึงอารมณ์ต่างๆ ที่จะทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เพื่อให้ถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ สำหรับผู้ที่เข้าใจมรรคมีองค์ ๘ แต่ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ไม่มีการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น สงบเพียงชั่วคราวนิดหน่อย ก็ยังใกล้ต่อ อกุศล เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะมีวิธีที่จะทำ ให้สงบยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็น สมาธิขั้นอุปจารสมาธิ ยังไม่แนบแน่นในอารมณ์ ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่เข้าใจการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็เห็นว่า แม้อุปจารสมาธิ ก็ยังไม่พอ ก็เจริญความสงบให้มั่นคงยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธฺ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึง อรูปฌาน แต่ว่านั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าประโยชน์ อะไรจะมากกว่ากัน การเจริญสมถภาวนา ต้องประกอบด้วยปัญญาจริงแต่เป็นปัญญาที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของกุศลจิตที่สงบในขณะนั้น ที่จะใหสงบยิ่งขึ้น แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจิตจะสงบ น้อมไปในอารมณ์ของ สมถกรรมฐาน อารมณ์ ๑ อารมณ์ใดบ้าง ก็มีการฟัง ซึ่งเป็นสัญญาที่มั่นคง ที่จะทำให้สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่การจะไปพากเพียรให้เกิด อุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิ
5164 จิตสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิโดยเจริญปฐวีกสิณได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ตอนนี้มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหมคะ
ผู้ถาม. ดิฉันอยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณา อธิบาย อุปจารสมาธิ เพิ่มขึ้นอีกสักครั้ง ๑
ท่านอาจารย์ คะ อุปจารสมาธิ หมายความถึงความสงบของจิต มีกำลังขึ้น แล้วก็นิวรณธรรมทั้งหลายสงบลง เป็นเรื่องยาก ที่จะกล่าวถึง อุปจารสมาธิ โดยไม่กล่าวถึง การเจริญ สมถ- กรรมฐาน ๑ กรรมฐานใด เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึง การเจริญกสิณ ซึ่งจะเป็น ปฐวีกสิณ หรือ ว่า อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ ก็ได้ ตามที่ได้เคยเรียนให้ทราบแล้ว ว่า ปฐวีได้แก่ดิน ถ้าระลึกเป็น รูปร่างสีสันวรรณต่างๆ ย่อมเกิดความยินดียินร้าย แต่ถ้าระลึกถึงธาตุดิน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุ ที่น่าเพลิดเพลินยินดีพอใจเลย เป็นแต่เพียงธาตุชนิด ๑ ซึ่งมีจริง แล้ววัตถุทั้งหลาย ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุดินเท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตตั้งมั่นคงที่ธาตุดิน นี่คะ ก็จะต้องอาศัยปฐวีกสิณ คือการที่จะเอาดินมาทำให้เป็นวงกลม แล้วก็ความละเอียดมีกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ต้องเป็นดินสีอรุณ แล้วก็เป็นดินที่เกลี้ยง วงกลมนั้นก็มีขนาดที่ว่าจะไม่ทำให้เล็กเกินไป ซึ่งจะต้องใช้การจ้อง ทำให้จิตขาดความสงบ หรือว่าไม่ให้สูงนัก ไม่ให้ต่ำนัก นั่นก็เป็นความละเอียดของการที่จะให้จิตตั้ง มั่นคงที่ปฐวีกสิณ แล้วการที่จะให้จิตสงบ นี่คะ จะต้องใช้ตา คือดูปฐวีกสิณ แล้วก็นึกถึง ปฐวีกสิณที่เห็น ลืมตา หลับตา อยู่บ่อยๆ ในระยะนี้ ขณะนี้ ที่จะให้จิตนึกถึงปฐวีกสิณที่มองเห็นนั้น คือบริกรรมสมาธิ เพราะเหตุว่าต้องอาศัย ปฐวีกสิณ เป็นเครื่องระลึก
ผู้ถาม. หมายความว่าขณะนั้นก็มีจิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เดียว
ท่านอาจารย์ กำลังน้อมไป ที่จะให้จิตไม่ตกไปในอารมณ์อื่น แต่เพื่อที่จะให้นึกถึงปฐวีกสิณนั้นบ่อยๆ ธรรมสำหรับปฏิบติซึ่งท่านผู้ฟัง พิสูจน์ได้ ในขณะนี้ จะนึกถึงดิน นี่คะ นึกอย่างไรคะ ที่จะให้สงบในขณะนี้ ย่อมยาก ใช่ไหมคะ แต่ถ้ามีปฐวีกสิณให้เห็น แล้วก็ให้มอง คือให้ดูที่ปฐวีกสิณนั้นบ่อยๆ โดยให้น้อมนึกถึงดินจึงจะสงบ ไม่ใช่จ้องโดยที่ไม่เกิดปัญญาหรือว่าไม่มีความแยบคลายในการที่จะมอง หรือเพ่งจ้องที่ปฐวีกสิณเลย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าในการอบรมเจริญสมถภาวนาทั้งหมด ที่จิตจะสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรือว่าที่จะเป็นบริกรรมสมาธินั้น ในขั้นต้นจะต้องมีคำอธิบาย ว่า ทำอย่างไร มนสิการะ อย่างไร แล้วจิตจึงสงบก่อนที่จะถึงบริกรรม ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ก็ไปเพ่ง แต่จะต้องมีการระลึกถึง สภาพธรรม แล้วแต่นัยต่างๆ ที่จะให้จิตสงบ เช่น ระลึกถึงความเป็นธาตุดิน อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว แล้วในขณะที่กำลังบริกรรม คือการที่มองดูกสิณนั้น แล้วก็หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง ก็จะต้องอาศัยสถานที่ที่สงบ เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนา ที่จะให้จิตตั้งมั่นคงยิ่งขึ้น ต้องอาศัย สถานที่ ถ้าเป็นวิหารก็ต้องเป็นวิหารที่ เหมาะที่ควรไม่ใกล้นักไม่ไกลนัก เว้นวิหารที่มีโทษต่างๆ นั่นเป็นความละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังจะศึกษาได้ในวิสุทธิมรรค แต่ขอเรียนให้ทราบถึงความที่จิตสงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เริ่มตั้งแต่ บริกรรม โดยการที่เพ่งดูปฐวีกสิณ ในที่เงียบสงัด ลองคิดดู นึกถึงการที่เพ่งจ้องที่กสิณ แล้วก็หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง เพื่ออะไร เพื่อให้จิต ไม่นึกถึงอารมณ์อื่น นอกจากปฐวีกสิณเท่านั้น จนกว่าจะเกิด อุคคหนิมิตขึ้น คำว่าอุคคหนิมิต หมายความถึง นิมิตที่ปรากฏโดยไม่ต้องดูกสิณ หมายความว่าใจ จดจำลักษณะของปฐวีกสิณ จนแม้ไม่ลืมตา หรือไม่ได้มอง ไม่ได้ดู ไม่ได้เพ่ง ที่ปฐวีกสิณ ก็สามารถที่จะเห็นปฐวีกสิณเป็นนิมิตชื่อว่า อุคคหนิมิต ในขณะที่อุคคหนิมิตเกิด กำลังบริกรรมอยู่ คือหมายความว่ากำลังเพ่งดูปฐวีกสิณ โดยการลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง แล้วก็ตรึกถึงแต่ปฐวีกสิณ ในขณะที่กำลังทำอย่างนั้น อุคคหนิมิตเกิดขึ้น ยังไม่ใช่อุปจารสมาธิ เป็นแต่เพียง บริกรรมสมาธิ เห็นความต่างกันหรือยังคะ บริกรรมกสิณคือรูปของกสิณ เวลาที่เพ่งจ้องจนกระทั่งจิตสงบ มั่นคง ไม่ตรึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ปรากฏลักษณะของปฐวีกสิณ แม้ไม่มองดูด้วยตา ขณะนั้นเป็นอุคคหนิมิต แต่ยังเป็นบริกรรมสมาธิ หลังจากนั้นแล้ว ก็จะต้องพยายามอย่างยิ่ง ที่จะประคองอุคคหนิมิตซึ่งปรากฏแล้ว ให้ปรากฏอยู่เรื่อยๆ แล้วลองคิดดูว่าชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ จะทำยากง่ายสักแค่ไหน เวลาที่อุคคหนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องกลับที่พัก เพื่อที่จะให้จิต ตั้งมั่นคง สงบ ที่อุคคหนิมิตที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าอุคคหนิมิตนั้นเป็นเครื่องหมาย ว่า จิตสงบจากอารมณ์อื่น จนกระทั่งปฐวีกสิณนิมิตนั้นปรากฏได้ทางใจ แม้ว่าไม่มองดู เพราะฉะนั้น การที่จะให้อุคคหนิมิตนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น ก็คือว่า แม้ไปสู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ต่อหน้าปฐวีกสิณนั้น อีกต่อไป แต่ว่า กลับไปสู่อาวาส ที่อยู่ หรือว่าที่พัก แล้วก็ยังสามารถที่จะให้เห็น อุคคหนิมิตนั้นอยู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะยากสักแค่ไหน เพียงแต่จะเดินทางกลับไปที่พัก ก็จะต้องมีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก ซึ่งจะทำให้อุคคหนิมิตนั้นหายไป เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนาที่จะให้ถึงอุปจารสมาธินั้นถึงจะยากสักแค่ไหน แม้แต่เพียงขั้นเริ่มต้น ที่จะ ต้องตรึกด้วยความแยบคาย และก็จะต้องมีปฐวีกสิณ ที่จะทำให้เกิด อุคคหนิมิตขึ้น แต่ว่ายังไม่ใช่อุปจารสมาธิ ยังจะต้องประคองทำให้จิต ตรึกนึกถึงแต่อุคคหนิมิตนั้น จนกว่าจิตจะมั่นคงขึ้น โดยที่ว่านิมิตนั้นผ่องใสบริสุทธิ ร้อยเท่าพันทวีของอุคคหนิมิตที่เกิด ขณะนั้นเป็นอุปจารสมาธิ ขณะนี้ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ยังไม่ใช่ฌานจิต เป็นเพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น ที่มีปฏิภาคนิมิตปรากฏ ผู้ที่สามารถจะให้ปฏิภาคนิมิตไม่เสื่อมไป จนกระทั่งองค์ของฌาน ทั้ง ๕ ปรากฏ จึงจะเป็นปฐมฌาน ในขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ นิวรณธรรมทั้งหลาย เกิดไม่ได้ก็จริง แต่ว่าองค์ของฌานทั้ง ๕ คือ วิตกะ วิจาระ ปีติ สุขะ เอกคตา เจตสิก ๕ องค์ ยังไม่ปรากฏตราบใด ตราบนั้นก็ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ คือยังไม่ใช่ฌานจิต เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา ความสงบ และสมาธิที่สงบมั่นคงขึ้น ต้องคู่กันกับปัญญา มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาองค์ของฌานได้ ไม่สามารถที่จะพิจารณาว่า วิตก ไม่ใช่วิจาร แล้วก็วิตกนั้นยังหยาบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบมั่นคงขึ้นต่อไป จนกระทั่งถึงทุติยฌาน ต้องเห็นโทษของวิตกเจตสิก ซึ่งหยาบ หยาบกว่าวิจารเจตสิก เมื่อเห็นโทษแล้ว จึงเพียรที่จะระลึกถึงปฐวีคือกสิณ จนกระทั่งปฏิภาคนิมิตปรากฏ พร้อมกับวิจาร โดยที่ขณะนั้นปราศจากวิตก จึงจะเป็นทุติยฌาน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ของง่าย แต่ว่าผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าความสงบจะไม่มั่นคงขึ้น ถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ แล้วในชีวิตสั้นๆ อันนี้ จะเจริญอะไร ถ้าจะเจริญสมถภาวนา ก็ไม่แน่ว่าจะถึงอัปปนาสมาธิ หรือไม่ถึง เพราะเหตุว่าในบรรดาผู้ที่เจริญสมถภาวนา ที่เป็นบริกรรมสมาธิ ในหมื่นท่าน แสนท่าน ที่จะได้อุปจารสมาธิ ก็สัก ๑ ท่าน แล้วในผู้ที่ได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว ในพันท่าน หมื่นท่าน แสนท่านนั้น ที่จะถึงอัปปนาสมาธิ ก็สัก ๑ ท่าน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน โดยที่ไม่ให้บรรลุถึงฌานจิต ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้
5165 ถ้าไม่ศึกษาสมถภาวนา การเจริญสมาธินั้นจะไม่สงบเลย
ผู้ถาม. ทางกสิณนี้ ผมก็เคยปฏิบัติมา ก่อนที่จะพบอาจารย์ ได้ฟังอาจารย์ ประมาณสัก ๒๐ ปีได้ คือเริ่มต้น ทีแรกผมไม่ได้ทำปฐวีกสิณ ทำเตโชกสิณ คือมองเพ่งเทียน แล้วก็ให้นิมิตนั้นมาอยู่ในอารมณ์ ก็ทำก็ได้ผลบ้าง คือไปนั่งที่ไหนก็ได้ โดยผมทำถึงขนาดว่า ไม่ต้องไปเห็นเทียน หรือไม่เห็นไฟอะไร จะไปนั่งที่ไหน หลับตาก็เกิดนิมิตนั้นก็เกิดขึ้น แต่ว่าทำไป ทำไปมันรู้สึกมันหนัก หนักหัวสมอง เดี๋ยวๆ ทำไปแล้วก็ต้องเลิก แล้วในระหว่างที่นิมิตเกิดขึ้น ผมมาฟังอาจารย์ดูแล้ว ที่ว่า จิตจะสงบๆ มันสงบ จะว่าสงบ พิจารณาให้ละเอียด ใช้ปัญญาแล้วมันไม่มีสงบ เพราะว่าจิตเกิดหลายดวง บางทีถ้าหากว่า นิมิตนั้น สมมติว่าเพ่งเทียน พอนิมิตมันขยายเป็นลูกใหญ่ มีสีสวยในนิมิตนั้น เราก็เกิดปีติๆ ขึ้นมา ผมว่ามันมีความโลภอยู่ โลภะนิดๆ เกิดขึ้นมาแล้ว ทีนี้บางที่
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ท่านจะเห็นความสับสนของผู้ที่ปฏิบัติโดยที่ขาดการศึกษาลักษณะของจิตอย่างละเอียดจริงๆ จะเห็นได้ว่าดูคล้ายกับว่าจะขยายนิมิตได้ ใช่ไหมคะ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ต้องถึงปฏิภาคนิมิตก่อนจึงจะขยายได้
ผู้ถาม. อย่างนี้ผมก็ไม่ทราบ แต่ว่ามันมีอยู่อย่างนี้
ท่านอาจารย์ แล้วก็ต้องกำหนด ขนาดนิมิตที่จะขยายด้วยจึงควรขยาย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ขยายออกไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าขาดการศึกษาโดยละเอียด อะไรๆ ก็เป็นนิมิต ใช่ไหมคะ ซึ่งจิตสงบหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วพิจารณาโดยละเอียด ท่านผู้ฟังก็กล่าวว่า ไม่ได้สงบ แต่ว่ามีความต้องการ เพราะฉะนั้น สมาธิ คือความจดจ้อง ตั้งอยู่ที่อารมณ์เดียว ไม่ได้หมายความว่าในขณะนั้นจิตจะสงบ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของสมถภาวนากรรมฐาน พร้อมสติสัมปชัญญะที่สามารถระลึกรู้ในลักษณะของความสงบแล้ว การเจริญสมาธิไม่ได้ทำให้จิตสงบเลย แต่สามารถที่จะมีอารมณ์ปรากฏตามที่ต้องการ
ผู้ถาม. อันนี้สมัยก่อน ผมก็ไม่รู้ เข้าใจว่ามันเป็นนิมิต อะไรต่ออะไร มาฟังอาจารย์ ผมก็เข้าใจว่า ในระหว่างนั้น มันไม่มีสติ เพราะมันหลงอยู่อย่างนั้น พอนิมิตขยายกว้างก็ดีใจ แจ่มใส พอเกิดนิมิตเล็กเข้ามา หรือมีอะไร จะสีเขียว สีดำ เป็นจุด เป็นนิมิตเกิดขึ้น ก็ชักโกรธ ทีแรกผมก็ไม่รู้ ทีนี้มาฟังอาจารย์ให้เจริญสติบ่อยๆ มาเปรียบเทียบกันแล้ว ถึงเข้าใจว่า ที่ว่าเราว่าสงบๆ มันไม่มีเลย ประการสำคัญที่ร้ายที่สุด เมื่อขณะกำลังทำ ก็นึกว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ อะไรต่ออะไร ยังคิดดูถูกเหยียดหยามคนอื่น เป็นต้นว่า ยังนึกติเตียนว่า สมภาร สู้เราไม่ได้ คนอื่นสู่เราไม่ได้ มันมีสับสนกันมาอย่างนี้ แล้วมันรู้สึกว่าเป็นเรื่องหนักสมอง ปฏิบัติมากๆ ไป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพิจารณาความต่างกันของความสงบ กับ สมาธิ เพียงแต่อ่านวิสุทธิมรรค แล้วก็จดจ้องที่อารมณ์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสมถกรรมฐาน แต่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึก พร้อมสัมปชัญญะคือปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น ว่าสงบ หรือไม่สงบ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ
เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ท่านสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตที่สงบ ที่เป็นกุศล เมื่อมีอารมณ์ที่ทำให้สงบ เช่น พุทธานุสติ สำหรับท่าน สงบ เพราะระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ถึงแม้ว่าจะไม่กล่าวคำว่า อิติปิโส ภควา ขณะนี้ มีการระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว แม้ว่าจะไม่เคยเห็นองค์ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ก็ได้เห็นว่า ไม่มีบุคคลอื่นใดในโลก นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทรงแสดงธรรมได้ละเอียดตามความเป็นจริง ในขณะนี้ ถ้าระลึกอย่างนั้น สติจะรู้ถึงความสงบของจิต เพราะเหตุว่าระลึกถึงพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ ว่า แทนที่จะไปเพ่งจ้องที่ปฐวีกสิณ สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยสาวก มีปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค แล้วปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพธรรม ในขณะนั้นตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่เพียงระลึก แต่ว่าเคารพ นมัสการ สักการะ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยจิต ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือเจริญสติปัฏฐาน
5166 สมถภาวนาเป็นอารมณ์สติปัฏฐานเพื่อให้จิตสงบ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สมถภาวนาเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐาน โดยที่ว่าเป็นอารมณ์ที่ให้จิตสงบ แต่ว่าไม่ใช่สงบเพื่อที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นจิตขณะใดก็ตามที่สงบ สติก็ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลของจิตในขณะนั้น
5167 สมถภาวนาโดยนัยของสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎก ถ้าท่านผู้ฟังจะอ่าน หลายๆ พระสูตร จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา แล้วก็ได้บรรลุถึงฌานจิตแล้ว สติก็ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่เป็นมหคตะ หรือว่าที่มีกสิณเป็นอารมณ์ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำอย่างนั้น ทุกท่านมีการสะสมมา แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริง
สำหรับการพูดถึงเรื่อง สมถภาวนา ได้เคยเรียนให้ทราบแล้วว่า จะพูดโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น สำหรับรายละเอียดของการเจริญสมถภาวนา ท่านที่สนใจก็จะศึกษาได้ในวิสุทธิมรรค
ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านไม่เห็นว่าการระลึกถึงดินจะทำให้จิตสงบได้อย่างไร เพราะว่าพุทธานุสติ การระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคนั้น พระองค์ทรงพระคุณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีพระคุณเป็นอันมากที่จะให้ระลึกถึง และก็เกิดความสงบ แต่ว่าท่านผู้นั้นไม่เห็นว่า ปถวีกสิณ การระลึกถึงดินนั้น ทำให้สงบอย่างไร แต่การอบรมเจริญสมถภาวนานั้นเป็นธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้าเข้าใจเหตุผล และเข้าใจจุดประสงค์ เช่นดินมีจริงไหม ดินเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นดินเปล่าๆ ยังไม่เกิดเป็นตึกรามบ้านช่อง หรือว่าวัตถุสิ่งต่างๆ เพียงแต่เห็นความเป็นดินเท่านั้น ย่อมไม่เกิดความยินดีพอใจ
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20