ปฏิจจสมุปบาท แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๒


    สำหรับผู้ที่ปรารถนาวิวัฏฏะ คือ พระนิพพาน ไกลมาก เพราะฉะนั้น ที่จะ รู้แจ้งพระนิพพานได้ ก็คืออบรมเจริญปัญญาละคลายอกุศลธรรมคืออวิชชา และความติดข้องที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งการที่จะ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ไม่ง่ายเลย เพราะ ต้องในขณะที่ทางตากำลังเห็นและรู้ความจริงว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นจึงจะเป็นหนทางละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และยังจะมีอกุศลอื่นอีกมากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าละไม่ยากเท่ากับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เช่น ความผูกโกรธ หรือการไม่อภัย

    ท่านผู้ฟังคิดว่า ง่ายกว่าการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือเปล่า เพราะว่าบางคนสละวัตถุง่าย ไม่ยากเลย มีฉันทะสะสมมาเป็นผู้ที่มีทานุปนิสัย พร้อมที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่แม้กระนั้นการที่จะละการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนต้องยากกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญา หรือบางท่านก็อาจจะเป็นผู้ที่มีจิตใจดี มีเมตตากรุณา แต่ถึงอย่างนั้นการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็ยาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดและลึกมาก สละอื่น ก็ยังสละได้ แต่จะให้สละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่ใช่ปัญญา ที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ขณะนั้นไม่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    เรื่องของการอบรมเจริญกุศล เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องประกอบพร้อมกันไปทุกอย่างเท่าที่สามารถจะเกิดได้ มิฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่หนาแน่น ด้วยอกุศล และยากจริงๆ ที่จะละคลายอกุศลนั้นได้

    สำหรับมิจฉาปฏิปทา มีข้อสงสัยไหม เมื่อไหร่ ขณะไหน

    ขณะนี้ ขณะที่คิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นมิจฉาปฏิปทาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่บำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป ขณะนั้นเป็นมิจฉาปฏิปทาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นหนทางที่จะดับ ขณะนั้น ไม่ใช่มิจฉาปฏิปทา

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่ายังมีปฏิจจสมุปปาทเกิดอยู่

    ท่านอาจารย์ แม้แต่การให้ข้าวยาคูเพียงกระบวยเดียวเพื่อที่จะละกิเลส เพราะว่า ผู้ที่รู้ว่ากว่าจะถึงนิพพาน หมายความว่าเป็นผู้ใคร่ที่จะดับกิเลส ถ้าใครเป็นผู้ที่ อยากจะถึงพระนิพพานโดยไม่อยากดับกิเลส มีกิเลสและยังชอบกิเลส อยากจะ เก็บกิเลสไว้ ไม่ยอมที่จะดับกิเลส ผู้นั้นไม่มีวันถึง แต่ผู้ใดก็ตาม อาจจะไม่ต้องคำนึงถึงพระนิพพาน แต่รู้ว่าตนเองมีกิเลสจากความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเจริญกุศลต่างๆ เป็นบารมีเพื่อที่จะละอกุศลทั้งหลาย นั่นคือผู้ที่ปฏิบัติหนทางที่จะทำให้ดับกิเลส เป็นสัมมาปฏิปทา

    ผู้ฟัง ในขณะที่จิตเป็นกุศล จะเป็นทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ขณะนั้นก็ เป็นสัมมาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่ใคร่จะดับกิเลส เพราะบางคนทำกุศลเพราะอยากได้ผลของกุศล

    ผู้ฟัง ยังเป็นวัฏฏคามินีกุศล

    ท่านอาจารย์ เรื่องของธรรม เป็นเรื่องละทั้งหมด

    ผู้ฟัง การกระทำอย่างเดียวกัน คือ ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี หรือ เจริญกัมมัฏฐานก็ดี ที่ท่านกล่าวว่า ให้ทานรักษาศีล แต่มีจุดประสงค์ไม่ออกไปจากวัฏฏะ แม้จะให้ทานสักเท่าไหร่ รักษาศีลสักเท่าไหร่ แม้แต่การให้ทานรักษาศีล ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา ก็จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการละคลายอวิชชาที่จะดับการเกิด ที่จะออกจากวัฏฏะ ไม่ใช่สัมมาปฏิปทา

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ที่ทำกันอยู่ ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ก็ทำเป็นประเพณี สืบต่อๆ กันมา โดยไม่มีวัตถุประสงค์จะขัดเกลากิเลส ให้ก็ให้ไป รักษาศีลก็รักษา ตามๆ กันไป ส่วนใหญ่ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ เพราะข้อความในอรรถกถาแสดงไว้แล้วว่า ถึงแม้จะเป็นปุญญาภิสังขาร ซึ่งได้แก่กามาวจรกุศลหรือรูปาวจรกุศล และอเนญชาภิสังขาร

    ผู้ฟัง แม้จะเป็นมหากุศล หรือเป็นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ได้รูปฌาน อรูปฌาน ถ้าไม่เป็นไปเพื่อออกไปจากวัฏฏะ ก็ถือว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ ข้อความที่ว่า ถามว่า ก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง มิใช่หรือ อภิสังขารทั้งสองนั้น เป็นมิจฉาปฏิปทา ได้อย่างไร

    ต้องเป็นญาณสัมปยุตต์จึงจะเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้รูปฌาน และอรูปฌาน แต่แม้กระนั้นถ้ายังปรารถนาวัฏฏะ คือ ภพ ๓ ก็จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา

    ผู้ฟัง ถ้าโดยองค์ธรรม ปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ก็เป็นฝ่ายของ มหากุศล ๘ รูปาวจรกุศล และอรูปาวจรกุศล แต่จะกล่าวรวมอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเว้น สติปัฏฐาน ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะออกจากวัฏฏะ

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งกุศลขั้นอื่นๆ ที่จะออกจากวัฏฏะเป็นบารมี

    ท่านอาจารย์ เป็นสัมมาปฏิปทา แม้แต่การให้ข้าวยาคูเพียงกระบวยเดียวเพื่อที่จะสละอกุศล

    ข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถา สุสิมสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สุสิมะ มรรคก็ตาม ผลก็ตาม ไม่ใช่เป็นผลของสมาธิ ไม่ใช่เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ไม่ใช่เป็นความสำเร็จของสมาธิ แต่มรรคหรือผลนี้เป็นผลของวิปัสสนา เป็นอานิสงส์ของวิปัสสนา เป็นความสำเร็จของวิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น ใครที่อยากจะทำฌาน รู้ได้เลยว่าทำไมถึงอยาก แสดงให้เห็น อยู่แล้วว่า ไม่ได้มุ่งหมายที่จะออกจากวัฏฏะ

    โสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต ไม่ใช่เป็นผล ของสมาธิ ไม่ใช่เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ไม่ใช่เป็นความสำเร็จของสมาธิ แต่มรรค หรือผลนั้นเป็นผลของวิปัสสนา เป็นอานิสงส์ของวิปัสสนา เป็นความสำเร็จของวิปัสสนา ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจหนทางที่จะอบรมเจริญวิปัสสนา การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    ผู้ฟัง เรื่องมิจฉาปฏิปทา สัมมาปฏิปทา เป็นเรื่องละเอียด สมมติว่าในขณะที่เจริญสติปัฏฐาน มีสภาพธรรมปรากฏ และเราระลึกในสภาพธรรมนั้น การระลึก ในสภาพธรรมนั้นขณะเจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ กำลังของปัญญาก็ยังไม่มี ขณะนั้น จะหวังออกจากวัฏฏะหรือ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้มีความเพียรที่รู้ว่า ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวที่ไม่ใช่ธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม อวิชชาไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่าง เป็นธาตุแต่ละชนิด

    ผู้ฟัง ก็รู้ในสภาพธรรม ระลึกในสภาพธรรม รูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง เล็กๆ น้อยๆ กำลังของปัญญาก็ยังไม่ทราบหรอกว่า จะออกจากวัฏฏะได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าระลึกแล้ว เข้าใจขึ้น จะไม่ถึงหรือ

    ผู้ฟัง ถึง นั่นแน่นอน แต่ตอนเจริญใหม่ๆ ยังไม่มีกำลังที่จะออกไปไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกำลัง แต่ก็ไม่ทำหนทางที่ผิด ไม่ไปสู่ทางผิด

    ผู้ฟัง ก็สะสมไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องเร่งรัด แต่เป็นเรื่องอบรม และเป็นเรื่องสัจจะ คือ ความจริง เป็นความตรงต่อตัวเอง ถ้าปัญญายังอยู่ในขั้นของการฟัง ก็จะให้ถึงขั้นประจักษ์แจ้งไม่ได้ ถ้าสติเริ่มระลึก เพียงการเริ่มต้นที่อบรม ก็จะให้ถึงขั้นประจักษ์แจ้งไม่ได้ อีกเหมือนกัน แต่เมื่อเหตุมีสมควรแก่ผลเมื่อไร การประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมก็ไม่มีใครที่จะยับยั้งได้ เป็นเรื่องของการรอคอยกาลเวลาด้วยการอบรมเจริญความรู้โดยไม่ต้องสนใจกับผล เพราะไม่ว่าจะสนใจหรือไม่สนใจก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร นอกจากการหวังรอด้วยความเป็นตัวตน แต่ถ้ารู้ว่าเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ทุกขณะ ไม่ว่าจะเห็นเมื่อไร ได้ยินที่ไหน คิดนึกอะไร สติปัฏฐานก็สามารถ เกิดและรู้ได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ตราบใดที่ยังมีอกุศลอยู่ มีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด ก็ต้องเกิด แต่ก็ มีปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดและมีปัญญาที่รู้หนทางซึ่งจะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ชีวิตตามความเป็นจริงก็ต้องมีทั้งอกุศลและกุศล โดยผู้นั้นเองเป็นผู้รู้ตามความเป็นจริง มีอกุศลประเภทใดเกิดก็รู้ มีกุศลประเภทใดเกิดก็รู้ เมื่อมีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นก็รู้ตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง หรือจะถามว่า แล้วเวลาวิปัสสนาญาณเกิดนั้นรู้หรือเปล่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าปัญญาคือวิปัสสนาญาณ ที่ปัญญาจะไม่รู้นั้น เป็นไปไม่ได้

    ถ้าเป็นการอบรมเจริญในทางที่ไม่ทำให้เกิดความรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะสงสัย แม้แต่ลักษณะของวิปัสสนาว่า แล้วเวลาที่ เป็นวิปัสสนาญาณจะรู้หรือเปล่า ซึ่งนั่นก็เพราะไม่เคยรู้อะไรเลย และเข้าใจว่า เมื่อนั่งไปๆ วิปัสสนาญาณก็จะเกิด จึงทำให้สงสัยว่า เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว จะรู้ไหม เพราะว่าระหว่างนั้นไม่มีการรู้อะไรทั้งสิ้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054

    นาที 12:27

    พระ ในการเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดสติเกิดระลึกลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นที่รู้ว่าเป็นจิต เนื่องจากปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่าเป็นสภาพ รู้แจ้งอารมณ์ เช่น รูปารมณ์ ในขณะนั้นมีความมั่นใจว่าเป็นสภาพรู้รูปารมณ์ ขณะที่ปฏิบัติ เราไม่พูดถึงปริยัติ สภาพที่รู้รูปารมณ์ในขณะนั้น เรามั่นใจได้เพราะว่า มีรูปารมณ์สลับอยู่ในขณะที่ระลึกสภาพรู้ ในขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกลักษณะของรูปด้วย แต่ระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ ความมั่นใจอย่างนี้ที่ว่าเป็นสภาพรู้รูปารมณ์ อาจจะผิดหรือถูก ขอให้ท่านอาจารย์แนะนำ

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ผู้ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมในตอนต้น ก็จะมีความสงสัย คือ ไม่แน่ใจว่าขณะนั้นสติกำลังระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งเป็น สิ่งที่ปกติธรรมดา เช่น ในขณะนี้ เวลาพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานขอให้ทราบว่า ไม่จำกัดเวลาและไม่จำกัดสถานที่ ผู้ที่ตรัสรู้ธรรมแล้วรู้ว่า ไม่มีอะไร นอกจากนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ลืมตาจนหลับตา แต่ผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่า ธรรมมีอยู่ล้อมรอบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และแม้จะได้ฟังอย่างนี้ก็ยากที่จะเข้าใจว่า ทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ส่วนในขณะนี้ ที่กำลังเห็นปกติธรรมดาอย่างนี้ เป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้

    นี่เฉพาะทางเดียว คือ ทางตา ซึ่งตลอดชีวิตก็มีการเห็นพร้อมที่จะให้พิสูจน์ พร้อมที่จะให้ปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง แต่ที่ยากเพราะว่าคุ้นเคยกับอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมทางตาซึ่งเห็นมานานแสนนาน เพราะฉะนั้น ก็คุ้นเคยที่จะหลงลืมสติ ที่จะไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตา

    แต่ขณะใดที่มีการระลึกได้ แม้ในขณะนี้ที่กำลังเห็น และค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นจะไม่สงสัยในลักษณะของรูปธรรมว่า เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ และในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ซึ่งมีสิ่งที่กำลังปรากฏก็รู้ว่า ต้องมีสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ที่เคยไม่รู้ว่าสภาพรู้เป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ฟังว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ก็ต้องค่อยๆ ชินที่จะระลึกได้ ที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้ปรากฏกับสภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงเห็น ขณะนี้ที่เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เท่านี้เอง

    พระ ขณะที่สติระลึก ปัญญาต้องรู้อารมณ์ทีละอย่าง แน่นอน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในขณะนี้อาจจะมีบางท่านที่กำลังฟังและรู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และแทนที่จะไปนึกถึงเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็กำลังรู้ตรงสภาพที่กำลังปรากฏและก็รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง และขณะนี้ก็มี สภาพเห็นซึ่งเป็นของจริง และสติก็ดับ ทุกอย่างดับ และทุกอย่างที่เกิดมีชีวิตคืออายุ ที่สั้นมาก น้อยมาก เมื่อดับไปแล้วก็มีการได้ยิน เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ถ้าชินต่อการระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็จะไม่ไกล แต่สักประเดี๋ยวก็ไกลไปอีกแล้ว คือ หลงลืมสติเป็นเรื่องเป็นราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือมิฉะนั้นทางใจก็คิดนึกเรื่องอื่น แทนที่จะระลึก ที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาซ้ำอีก เพราะเมื่อกี้ระลึกนิดหนึ่งและหลงลืม ไปคิดเรื่องอื่น

    ถ้าจะชินก็คือว่า ระลึกอีกทางตาที่กำลังเห็น ว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือทางหู ยังไม่เคยระลึกหรืออาจจะระลึกบ้างขณะที่ได้ยินเสียงก็รู้ว่า เสียงขณะที่กำลังปรากฏก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งแน่นอน ปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียง เมื่อยังไม่ชิน สักประเดี๋ยวก็หลงลืมไปอีก ไปคิดเรื่องอื่นอีก เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็น ผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ และเป็นปกติจริงๆ คือ ไม่มีความคิดว่า กำลังปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติเป็นหน้าที่ของจิตเจตสิก ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นหน้าที่ของสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ในหนทางปฏิบัติว่า สภาพธรรมมีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และ การที่จะรู้จริง ก็เพราะมีความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ ในขณะที่กำลังเห็นบ้าง กำลังได้ยินบ้าง กำลังคิดนึกบ้าง เรื่อยๆ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2055

    นาที 19:26

    สำหรับจุดประสงค์ในการฟังพระธรรม ทุกท่านคงไม่ลืมว่า เพื่ออบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะถึงแม้จะได้ฟังแล้วฟังเล่า ฟังบ่อยๆ ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ทุกขณะเป็น สภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ตลอดชีวิตเป็นธรรมหมด แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็มีอัตตสัญญา มีความจำ สิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังเพื่อให้เข้าใจชัดในลักษณะของสภาพธรรม เพื่อการฟัง และการไตร่ตรองจะทำให้เกิดสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลัง ปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าไม่ฟังธรรมโดยละเอียด มีชีวิตไป วันหนึ่งๆ ก็ไม่รู้ว่า แต่ละขณะที่มีชีวิตเป็นไปในทุกวันๆ นั้นเป็นไปในมิจฉาปฏิปทา หรือสัมมาปฏิปทา ตามข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฏิปทาสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อนซึ่งแสดงว่า

    ชีวิตคือนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ นั้น ถ้าเป็นไปในทาง ฝ่ายเกิดคือเป็นไปในปฏิจจสมุปปาทแล้ว เป็นมิจฉาปฏิปทา แต่ถ้าเป็นไปในทาง ฝ่ายดับ จึงจะเป็นสัมมาปฏิปทา

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2056

    นาที 21:38

    แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การมีชีวิตเป็นอยู่ในวันหนึ่งๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดก็จะไม่ทราบเลยว่า ชีวิตที่เป็นไปในทางเกิด เป็นไปตามปฏิจจสมุปปาท เริ่มจากวันหนึ่งๆ มีอวิชชามากหรือน้อย

    ปฏิจจสมุปปาท เป็นธรรมฝ่ายเกิด เริ่มด้วยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ซึ่งทุกท่านที่ได้ฟังเรื่องปฏิจจสมุปปาทคือธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไป ก็คงจะทราบอันดับต้น คือ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร

    และการที่จะเข้าใจปฏิจจสมุปปาท ควรจะพิจารณาองค์ของปฏิจจสมุปปาท ทีละองค์ในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้เข้าใจจริงๆ เพราะถ้าจะให้กล่าวถึงปฏิจจสมุปปาทโดยลำดับทั้งหมดโดยตลอดก็ไม่ยาก แต่จะไม่ได้พิจารณาว่า ในขณะไหนเป็น ปฏิจจสมุปปาทองค์ไหน อย่างไร เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร

    วันนี้มีอวิชชาหรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องชื่อที่จะกล่าวว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ขณะนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนี้จึงจะสามารถเข้าใจว่า ในขณะที่กุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิดก็ตาม ขณะนั้นมีเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจเกิดขึ้น แม้แต่เพียงมีความต้องการเกิดขึ้นยินดีพอใจติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็มีเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจ เป็นความต้องการติดข้องในขณะนั้น โดยที่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงก็จะ ไม่มีใครรู้ความละเอียดของจิตซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะว่าประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง แต่ให้ทราบว่า กุศลจิตเกิดพร้อมกับกุศลเจตนา อกุศลจิตเกิดพร้อมกับอกุศลเจตนา และเจตสิกอื่นๆ และขณะที่เป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนานั้น อวิชชาเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ปฏิจจสมุปปาทก็เป็นไปอยู่เรื่อยๆ คือ เป็นฝ่ายเกิด แม้แต่ความคิดซึ่งคิดอยู่เสมอ ก็ไม่มีใครสามารถยับยั้งไม่ให้เจตนานั้นเกิดขึ้นเป็นไป ในกุศลและอกุศล ทุกคนปล่อยชีวิตไปตามกระแสของสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่า ควรจะดับสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่คิดที่จะดับ ปฏิจจสมุปปาทก็ไม่มีทางที่จะหมดหรือดับสิ้นไปได้ ก็ต้องมีกุศล และอกุศลเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยอยู่นั่นเอง

    ที่ว่ากุศลจิตและอกุศลจิตเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ก็เพราะว่าไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นต้องเป็นอวิชชา ซึ่งเป็นปัจจัยให้คิดไป เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่พิจารณาพระธรรม ไม่มีสติที่ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ให้ทราบว่า ชีวิตในขณะนั้นๆ เป็นไปทางฝ่ายเกิด เป็นไปกับปฏิจจสมุปปาท เป็นไปทางฝ่ายมิจฉาปฏิปทา แต่ขณะที่กำลังฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม และพิจารณาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือในขณะที่ สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในขณะนี้ ขณะนั้นชีวิตก็เป็นไปทางฝ่ายดับ คือ สัมมาปฏิปทา มิฉะนั้นไม่มีการออกจากสังสารวัฏฏ์เลย เป็นไปตามธรรมฝ่ายเกิดทั้งนั้น

    สำหรับปฏิจจสมุปปาท มี ๑๒ องค์ คือ

    อวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร สังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ วิญญาณ เป็นปัจจัยจึงมีนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ สฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ ภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ ชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส

    เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งมีปัจจัยเกิดมาแล้ว และทุกชีวิตกำลังก้าวไปสู่ความแก่ และความตาย และระหว่างนั้นจะพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาสไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าจะมากหรือจะน้อยเท่านั้นเอง แต่เมื่อได้เริ่มเข้าใจเรื่องของ สภาพธรรมฝ่ายเกิดซึ่งมีปัจจัยทำให้เกิดเป็นไปละเอียดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็จะสามารถรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดับปฏิจจสมุปปาทได้

    สำหรับอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ขณะที่กำลังคิดเป็นไปต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นกุศล เป็นอกุศล แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นปัจจัยแก่สังขาร เมื่อถึงวาระที่จะจากโลกนี้ไป สังขารนั้นๆ คือกุศลกรรมและอกุศลกรรมนั้นก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ

    ปฏิสนธิวิญญาณในชาตินี้ก็มีแล้ว เมื่อปฏิสนธิวิญญาณในชาตินี้มี ก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรมและรูปธรรม นามธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต และไม่ใช่มีแต่จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นขณะแรก ต้องมีปฏิสนธิกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตนั้นด้วย

    นี่ก็เข้าใจปฏิจจสมุปปาทได้ ไม่ใช่เพียงแต่ท่องเฉยๆ แต่เข้าใจแล้วว่า เมื่อมี ปฏิสนธิวิญญาณคือปฏิสนธิจิต เจตสิกก็เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตนั้นโดยกรรมเดียวกันเป็นปัจจัยทำให้วิบากเจตสิกเกิดร่วมกับวิบากจิตซึ่งทำปฏิสนธิกิจ และกรรมนั้นก็เป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูปเกิดร่วมด้วย สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ซึ่งเกิดในครรภ์จะมี กัมมชรูป ๓ กลุ่ม คือ

    กายทสกะ กลุ่มของรูป ๑๐ รูป ซึ่งมีกายปสาทรวมอยู่ด้วย

    หทยทสกะ กลุ่มของรูป ๑๐ รูป ซึ่งภายหลังจะเป็นรูปร่างที่เราสมมติเรียกกันว่าหัวใจ โดยจิตอาศัยข้างในหัวใจเป็นที่เกิด แต่ตอนที่เกิดขณะแรกนั้นยังไม่มีรูปร่าง เพียงแต่เป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดซึ่งมองไม่เห็น และกลุ่มนั้นกลุ่มเดียวเป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิต

    อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ภาวทสกะ กลุ่มของรูป ๑๐ รูป ซึ่งมีภาวรูป คือ อิตถีภาวรูป หรือปุริสภาวรูป

    นี่ย้อนไปถึงตอนที่เพิ่งเกิดจะได้รู้ว่า ตอนที่เกิดจริงๆ มีสังขาร คือ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม กรรมเดียวเท่านั้นในบรรดาหลายๆ กรรมที่ทำในชาติหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีตกรรมที่ทำมานานแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ และชาติหน้าที่จะเกิดต่อไปก็จะเป็นเพราะกรรมหนึ่งกรรมใดที่ได้ทำในชาตินี้ หรือที่ได้ทำแล้วในชาติ ก่อนๆ ก็ได้ และในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดนั้นก็จะมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมและมีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้วิญญาณคือปฏิสนธิจิตจึงเป็นปัจจัยแก่นามรูป

    การเข้าใจปฏิจจสมุปปาท ซึ่งบางท่านอยากจะเข้าใจมากๆ โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาปรมัตถธรรมเลย ก็ขอให้แสดงเรื่องปฏิจจสมุปปาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจะต้องเข้าใจปรมัตถธรรมก่อน คือ ต้องเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป จึงจะสามารถเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎก ไม่ว่าในส่วนของปฏิจจสมุปปาท หรือในส่วนของอริยสัจจธรรม

    ด้วยเหตุนี้ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิตจึงเป็นปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเป็นนาม และ กัมมชรูปซึ่งเกิดร่วมด้วย

    จิตเกิดดับตั้งแต่เกิดเรื่อยๆ รูปก็เกิดดับตั้งแต่เกิดสืบๆ กันมา แต่ไม่มีใครรู้ว่า การเกิดดับสืบต่อของจิตตั้งแต่ปฏิสนธิเมื่อไรจะเป็นสฬายตนะ ถ้าเพียงแต่จิตเกิดดับและไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะดีไหม เป็นไปได้ไหม ในเมื่อจิตเป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการรู้อารมณ์ตั้งแต่ปฏิสนธิ เพียงแต่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อเมื่อภายหลังจึงจะมีนามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ คือ เมื่อมีการเจริญเติบโตขึ้น ก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจเป็นที่รู้อารมณ์ทางใจ เพราะฉะนั้น อายตนะ ๖ สฬายตนะ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ก็มีการเกิด และผู้ที่เกิดมาก็มีจิตเจตสิกรูปเกิดดับ แต่จะไม่รู้เลยว่า เมื่อถึงกาลเวลาใดที่จะเป็นปัจจัย ก็จะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย เพราะว่านามรูปซึ่งมีนั้นก็เกิดดับสืบต่อจนถึงกาลที่จะเป็นอายตนะ

    ผู้ฟัง อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ สังขารตัวนี้คืออะไร วิญญาณคืออะไร นามรูปคืออะไร ผมยังสงสัย แต่ตอนสิ้นชีวิตนั้นรู้ สังขารนั้นเป็น อภิสังขาร เป็นเจตนาที่จะเกิดวิญญาณและนามรูป

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงสังขารในปฏิจจสมุปปาท หมายความถึงอภิสังขาร ๓

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2057



    หมายเลข 51
    11 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ