ความจริงแห่งชีวิต [137] ปรมัตถธรรม ที่เป็น เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท

 
พุทธรักษา
วันที่  8 ก.ย. 2552
หมายเลข  13493
อ่าน  1,564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็น "เหตุ"

สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมนั้นจะเกิดขึ้นมา​เองลอยๆ โดยไม่อาศัยปัจจัยอะไรเลยไม่ได้ ปรมัตถธรรมที่เป็นสังขารธรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป จิตอาศัยเจตสิกเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น และจิตบางดวงก็อาศัยเจตสิกและรูปเป็นปัจจัยเกิดขึ้น รูปอาศัยรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น และรูปบางรูปก็อาศัยจิตและเจตสิกและรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น ฉะนั้น จิตต่างกันโดยเหตุ คือ จิตบางดวงก็เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ และจิตบางดวงก็เกิดร่วมกับเจตสิกที่ไม่ใช่เหตุ

ปรมั​ตถ​ธรรม​ที่​เป็น​เหตุ​นั้น ได้แก่ ​เจตสิก ๖ ดวง​เท่านั้น คือ

โลภ​เจตสิก​เป็น​โลภ​เหตุ ๑

โทส​เจตสิกเป็น​โทส​เหตุ ๑

โมห​เจตสิก​เป็น​โมห​เหตุ ๑

รวม​เป็น​อกุศล​เหตุ ๓

อ​โลภ​เจต​สิก​เป็น​อ​โลภ​เหตุ ๑

อ​โทสเจต​สิก​เป็น​อ​โทส​เหตุ ๑

ปัญญา​เจต​สิก​เป็น​อ​โมห​เหตุ ๑

รวม​เป็น​โสภณ​เหตุ ๓

นอกจากเจตสิก ๖ ดวงนี้แล้ว สภาพธรรมอื่นทั้งหมดไม่ใช่เหตุปัจจัย เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับจิตต่างก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัย คือ ไม่ใช่เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ เพราะเหตุปัจจัยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยต่างๆ กันถึง ๒๔ ปัจจัย (โดยประเภทปัจจัยใหญ่ๆ) เจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุนั้น อุปมา​เหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ซึ่งเป็นเหตุให้ต้นไม้นั้นเจริญสมบูรณ์งอกงามมีดอกมีผลมากมายฉันใด เจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ นี้ เมื่อเกิดขึ้นก็ทำให้สภาพธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามและผลิตผลต่างๆ เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังมีอกุศลเหตุและกุศลเหตุ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วดับทั้งอกุศลเหตุและกุศลเหตุ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก (อโมหะ) ที่เกิดกับจิตของพระอรหันต์จึงเป็นอัพยากตเหตุ คือ ไม่ใช่อกุศลเหตุและกุศลเหตุ

สภาพธรรมที่เป็นอัพยากตธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ฉะนั้น วิบากจิต กิริยา​จิต วิบากเจตสิก กิริยา​เจตสิก รูป และนิพพานจึงเป็นอัพยากตธรรม เพราะไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล

เหตุ ๖ จำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ

อกุศล​เหตุ ๓ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑

โสภณ​เหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ ปัญญา​เจตสิก ๑

ควรสังเกตว่า​ไม่ใช้คำว่า กุศลเหตุ ๓ แต่ใช้คำว่า​โสภณเหตุ ๓ เพราะกุศลเหตุเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากซึ่งเป็นผล แต่โสภณเหตุซึ่งเป็นเหตุที่ดีนั้นเกิดกับกุศลจิตก็ได้ กุศลวิบากจิตก็ได้ และโสภณกิริยา​จิตก็ได้ โสภณ​เหตุ​จึง​ไม่​ได้​เกิด​แต่​เฉพาะ​กับ​กุศล​จิต​เท่านั้น


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ก.ย. 2552

เรียนท่านผู้รู้

จิตชาติวิบาก มีทั้งอเหตุกจิต และสเหตุกจิต ใช่หรือไม่อย่างไร ทำไมจึงบอกว่า อเหตุกจิต มี ๑๘ ประเภท ในชาติวิบาก เป็นอโสภณ แล้ว สเหตุกจิตอยู่ตรงไหนคะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 9 ก.ย. 2552

เรียน ความเห็นที่ 1

ถูกแล้วครับ จิตชาติวิบาก มีทั้งอเหตุกจิต และสเหตุกจิต

แต่ในอเหตุกจิต ๑๘ มีจิต ๒ ชาติ คือ ชาติวิบาก ๑๕ ชาติ กิริยา ๓

อเหตุกจิตเป็นอโสภณจิต เพราะไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ส่วนสเหตุกที่เป็นวิบาก ได้แก่ มหาวิบาก ๘ รูปาวจรวิบาก ๕ อรูปาวจรวิบาก ๔ โลกุตตรวิบาก ๔ รวมเป็นสเหตุกวิบาก ๒๑ ประเภท

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ups
วันที่ 9 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ "คุณพุทธรักษา"

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ก.ย. 2552

เรียน ความเห็นที่ 2

อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ต่างจาก มหาวิบาก ๘ อย่างไร

ดิฉันอ่านไปอ่านมา เริ่มจะงงค่ะ

มหาวิบาก ๘ คือจิตที่คู่กับมหากุศลจิต ๘ ใช่หรือไม่

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prachern.s
วันที่ 9 ก.ย. 2552

เรียน ความเห็นที่ 4

อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ต่างจากมหาวิบาก ๘ ตรงที่เป็นอเหตุกจิต ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เป็นอโสภณจิต มหาวิบาก ๘ เป็นผลของมหากุศลจิต ๘

ซึ่งคลิกอ่านรายละเอียดที่

มหาวิบากจิต

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ กับ มหาวิบากจิต ๘

อเหตุกวิบากจิต

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ก.ย. 2552

ขอขอบคุณอาจารย์ประเชิญ และคุณพุทธรักษาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ก.ย. 2552

เรียน ถามความเห็นที่ 5

คำว่า ปวัตติกาล หมายถึงอะไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
prachern.s
วันที่ 11 ก.ย. 2552

คำว่า ปวัตติกาล หมายถึง กาลที่ไม่ใช่ปฏิสนธิกาล และไม่ใช่จุติกาล ท่านแบ่งกาลของชีวิตสัตว์เป็น ๓ กาล

ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเรียกว่า ปฏิสนธิกาล

ขณะที่จุติจิตเกิดขึ้น เรียกว่าจุติกาล

ขณะจิตในระหว่างกาลทั้ง ๒ เรียกว่า ปวัตติกาล

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ก.ย. 2552

เรียน อาจารย์ประเชิญ

มหาวิบากจิต ๘ ให้ผลในปวัตติกาลอย่างไร กรุณายกตัวอย่างได้ไหมคะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
prachern.s
วันที่ 11 ก.ย. 2552

มหาวิบากจิต ๘ ทำกิจในปวัตติกาล ก็คือ ขณะที่เป็นภวังคจิต ตทาลัมพนกิจ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Jarunee.A
วันที่ 3 มิ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ