อาทิตตชาดก ... เสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ••• ... สนทนาธรรมที่ ...
••• มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา •••
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๒๓ ต.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
อาทิตตชาดก
ว่าด้วยการให้ทานกับการรบ
...จาก...
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๕๗๑ - ๕๗๓
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๕๗๑ - ๕๗๓
๘. อาทิตตชาดก (ว่าด้วยการให้ทานกับการรบ)
[๑๑๘๐] เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของ ขนเอาสิ่งของอันใดออกได้ สิ่งของอันนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของนั้น แต่ของที่
ถูกไฟไหม้ ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่เขา.
[๑๑๘๑] โลกถูกชราและมรณะเผาแล้ว อย่างนี้
บุคคลพึงนำออกเสียด้วยการให้ทาน ทานที่ให้ แล้วจะน้อยก็ตาม มากก็ตาม ชื่อว่าเป็นอัน นำออกดีแล้ว. [๑๑๘๒] คนใด ให้ทานแก่ผู้มีธรรมอันได้แล้ว ผู้
บรรลุธรรมด้วยความเพียรและความหมั่น คนนั้น ล่วงเลยเวตรณีนรก ของพระยายมไปได้แล้ว แล้วจะเข้าถึงทิพยสถาน. [๑๑๘๓] ท่านผู้รู้กล่าวทานกับการรบ ว่า มีสภาพ
เสมอกัน นักรบแม้จะมีน้อย ก็ชนะคนมากได้
เจตนาเครื่องบริจาคก็เหมือนกัน แม้จะน้อย ย่อมชนะหมู่กิเลสแม้มากได้ ถ้าบุคคลเชื่อกรรม และผลแห่งกรรม ย่อมให้ทานแม้น้อย เขาก็ เป็นสุขในโลกหน้า เพราะการบริจาคมีประมาณ น้อยนั้น. [๑๑๘๔] การเลือกทักขิณาทานและพระทักขิไณย- บุคคล แล้วจึงให้ทาน พระสุคตเจ้าทรง
สรรเสริญ, ทานที่บุคคลถวายในพระทักขิไณย-
บุคคลมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในสัตวโลกนี้
ย่อมมีผลมากเหมือนพืชที่หว่านลงในนาดี ฉะนั้น. [๑๑๘๕] บุคคลใด ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย เที่ยวไปอยู่ ไม่ทำบาป เพราะกลัวคนอื่นจะ
ติเตียน บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคล
ผู้กลัวบาปนั้น ย่อมไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้า
ในการทำบาป เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อม
ไม่ทำบาป เพราะความกลัวถูกติเตียน. [๑๑๘๖] บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ เพราะ
พรหมจรรย์อย่างต่ำ เกิดในเทวโลก เพราะ
พรหมจรรย์อย่างกลาง และบริสุทธิ์ได้ เพราะ
พรหมจรรย์อย่างสูง. [๑๑๘๗] ทาน ท่านผู้รู้สรรเสริญโดยส่วนมาก ก็จริง
แต่ว่าบทแห่งธรรมแล ประเสริฐกว่าทาน เพราะว่า สัตบุรุษทั้งหลายในครั้งก่อน หรือว่าก่อนกว่านั้นอีก ท่านมีปัญญา เจริญสมถวิปัสสนาแล้ว ได้บรรลุ พระนิพพานทีเดียว. จบ อาทิตตชาดกที่ ๘.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป อาทิตตชาดก (ว่าด้วยการให้ทานกับการรบ) ก่อนจะถึงข้อความที่ปรากฏในพระสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภการให้ทานที่ไม่มีใครเสมอเหมือน (อสทิสทาน) ของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงตรัสอาทิตตชาดกนี้ (เรื่องมีอยู่ว่า) ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเป็นผู้ฉลาดในการให้ทาน ด้วยการเลือกให้ทานแก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากัน จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า การที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเป็นผู้ฉลาด เลือกให้ทานในเนื้อนาบุญอันยิ่ง ในกาลสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะเหตุว่า บัณฑิตในกาลก่อน แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็เป็นผู้เลือกเฟ้นในการให้ทานเหมือนกัน จึงได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาแสดง ดังต่อไปนี้ ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ ทรงเกิดเป็นพระเจ้าเภรุวมหาราช ทรงครองราชย์อยู่ในเภรุวนคร แห่งสิวีรัฐ ทรงครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน พระองค์ทรงเป็นผู้ให้ทานอยู่เสมอ แต่บุคคลผู้รับทานของพระองค์นั้น เป็นคนไม่มีศีล เป็นคนไม่มีคุณธรรม จึงไม่ทำให้พระองค์ทรงปลาบปลื้มปีติ ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะถวายทานแก่พระทักขิเณยยบุคคล (บุคคลผู้ควรรับซึ่งทักขิณาทาน) ซึ่งในสมัยนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่ที่หิมวันตประเทศ แล้วพระองค์จะถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้ไปนิมนต์มาให้ จึงได้ตรัสปรึกษากับพระนางสมุททวิชยา ผู้เป็นอัครมเหสี ว่าจะทำอย่างไรดี พระนางสมุททวิชยา กราบทูลแนะนำว่า ขอให้ซัดดอกมะลิ ๗ กำ ไป ด้วยกำลังแห่งศีล กำลังแห่งทาน และ กำลังแห่งความสัตย์ แสดงถึงอาการแห่งการนิมนต์ พระราชาก็ทรงได้กระทำอย่างนั้น ๓ วันแรก ไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้ามารับทานเลย เพราะทิศที่พระราชาทรงซัดดอกมะลิไปนั้น ไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า พอถึงวันที่ ๔ พระราชา ทรงประคองอัญชลีหันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร พร้อมกับทรงประกาศว่า ถ้าความดีของข้าพเจ้ายังมีอยู่ ขอให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมารับทานของข้าพเจ้าด้วยเถิด แล้วก็ซัดดอกมะลิไป ดอกมะลิ ไปตกลงเหนือพระปัจเจกพุทธเจ้า๕๐๐ พระองค์ ที่เงื้อมเขานันทมูลกะ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงทราบถึงการนิมนต์ของพระราชา จึงทรงมอบหมายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ไปรับทานของพระราชา พระราชากับพระเทวี ก็ทรงถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ตลอด ๗ วัน โดยเฉพาะในวันที่ ๗ ได้ทรงถวายภัตตาหารพร้อมกับเครื่องบริขารต่างๆ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นประธาน เมื่อจะทรงกระทำการอนุโมทนาทานของพระราชาและพระเทวี จึงได้ตรัสพระคาถา ๒ พระคาถา (ตามที่ปรากฏในพระสูตร) พร้อมกับตรัสเตือนให้ทั้งสองพระองค์ตั้งอยู่ในความไ่ม่ประมาท แล้วทรงเหาะไปทางอากาศ กลับไปยังที่อยู่ตามเดิม บริขารก็ลอยตามไป ทำให้ทั้งสองพระองค์เกิดความปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ต่อจากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๖ พระองค์ที่เหลือ ก็ได้ตรัสพระคาถา องค์ละ ๑ พระคาถา (๖ พระคาถาที่เหลือตามที่ปรากฏในพระสูตร) แล้วเสด็จกลับไปยังที่อยู่ตามเดิมพร้อมกับบริขาร พระราชาและเทวี ทรงถวายทานตลอดพระชนมายุ เมื่ิ่อสิ้นพระชนม์ ก็ได้เสด็จไปสู่สวรรค์ (พระเจ้าเภรุวมหาราช คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระนางสมุททวิชยา ได้มาเป็นพระนางยโสธราพิมพา) ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ครับ เรื่องอสทิสทาน อานิสงส์การให้ทาน ๕ ประการ [ทานานิสังสสูตร] การให้ทานกับการทำบุญมีอานิสงส์เท่ากันหรือไม่ ทานกับการรบ [สาธุสูตร] ทาน ศีล ภาวนา ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
1."เจริญสมถวิปัสสนาแล้ว ได้บรรลุ พระนิพพานทีเดียว" อ.khampan ช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยค่ะ 2.ถ้าจะอธิษฐานแบบพระราชา (พระราชา ทรงประคองอัญชลีหันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร พร้อมกับทรงประกาศว่า ถ้าความดีของข้าพเจ้ายังมีอยู่ ขอให้พระปัจเจก-พุทธเจ้าทั้งหลายมารับทานของข้าพเจ้าด้วยเถิด) จะได้ผลหรือไม่อย่างไร ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยค่ะ ขออนุโมทนา
เรียน ความคิดเห็นที่ ๓ ๑. การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา เริ่มตั้งแต่ขั้นต้น ด้วยการฟัง การศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ขณะที่ปัญญาเกิดนั้นก็จะไม่ปราศจากความสงบ เพราะขณะนั้นสงบจากกิเลสชั่วขณะที่จิตเป็นกุศล เมื่อปัญญาเจริญขึ้น สมบูรณ์ขึ้นเป็นโลกุตตรปัญญา ก็จะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ดับกิเลสตามลำดับขั้น ในขณะนั้นองค์มรรคทั้ง ๘ องค์ (สัมมาทิฏฐิ ... สัมมาสมาธิ) เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ต้องมีปัญญาจึงจะดับกิเลสได้ กว่าจะดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั้นต้องเป็นผู้ที่สะสมปัญญา เป็นระยะเวลาที่ยาวนานทีเดียว ไม่ใช่ชาิติเดียว หรือ สองชาติเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต กว่าท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ล้วนเป็นผู้ที่ได้สะสมอบรมเจริญปัญญา มาแล้วทั้งนั้น ครับ ขอเชิญคลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นครับ การเจริญสมถะ และ วิปัสสนาต่างกันอย่างไร ๒. ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า "อธิษฐาน" ก่อนว่า หมายถึงอะไร? คำว่า อธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ ซึ่งไม่ตรงตามพระธรรมคำสอน แต่ตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ในการที่จะสะสมคุณความดีประการต่างๆ ทั้งความเข้าใจถูก เห็นถูก การให้ทานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เป็นต้น เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในเรื่องของการสละกิเลสทั้งสิ้น แสดงถึงความจริงใจในการทีี่จะขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศล มากกว่ากุศล เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ย่อมเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองว่ามีกิเลสมาก เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศล เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที (ขณะที่หวังผล หรือต้องการผล ขณะนั้นไม่ใช่อธิษฐาน แต่พลาดให้กับอกุศล คือ โลภะแล้ว) ดังนั้น ความตั้งใจมั่น จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นครับ อ่านแล้วท่านจะอธิษฐานอย่างไร ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...