องค์แห่งฌาน

 
WS202398
วันที่  22 ต.ค. 2553
หมายเลข  17414
อ่าน  6,884

จาก //www.dhammahome.com/webboard/topic/11251

องค์แห่งฌาน มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ที่กล่าวว่า มีอกุศลฌาน จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะถ้าหากมีนิวรณ์ 5 จะเป็นฌานได้อย่างไร หากปราศจากนิวรณ์ 5 แล้วยังสามารถเป็นอกุศลฌานได้หรือไม่ สติเจตสิกเกิดไม่ได้กับจิตดวงใดบ้าง ศัพท์ว่าปฐมฌานรวมความถึงอกุศลฌานหรือไม่ สติเจตสิกเป็นปฏิปักษ์หรือไม่กับฌานจิต สมถะขั้นใดที่สติเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้มีหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 23 ต.ค. 2553

องค์แห่งฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา หรือ วิตก วิจาร ปีติ โสมนัสโทมนัส อุเบกขา เอกัคคตา โดยอรรถ ฌาน คือ เผา เพ่ง ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นขณะนั้น เผาธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับตน ดังนั้น เมื่อศึกษาโดยละเอียดย่อมทราบว่าฌานมีทั้งกุศลฌาน และอกุศลฌาน แต่โดยทั่วไปเวลากล่าวถึงฌาน จะหมายถึงการเจริญสมถภาวนาจนจิตสงบระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ จิตเป็นอัปปนาสมาธิครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Belief
วันที่ 23 ต.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
WS202398
วันที่ 26 ต.ค. 2553
อัปนาสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ หรือเป็นได้ทั้งสองอย่าง
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chaiyut
วันที่ 26 ต.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ ๓

อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่เกิดกับกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นผลมาจากการเจริญกุศลฝ่ายสมถภาวนาให้เกิดติดต่อกัน จนสมาธินั้นแนบแน่น ทำให้กุศลตั้งมั่นถึงระดับฌานจิตครับ ส่วนมิจฉาสมาธิเป็นฝ่ายอกุศล อกุศลสมาธิไม่สามารถมีกำลังที่จะตั้งมั่นถึงระดับอัปปนาสมาธิได้เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
WS202398
วันที่ 3 พ.ย. 2553

อัปปนาสมาธิ ต่างกับ ปฐมฌาน อย่างไรครับ ที่ว่า ส่วนมิจฉาสมาธิเป็นฝ่ายอกุศล อกุศลสมาธิไม่สามารถ มีกำลังที่จะตั้งมั่นถึงระดับอัปปนาสมาธิได้เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา นั้น เมื่อเป็นอัปปนาสมาธิไม่ได้จะเป็น มิจฉาฌานจิต ได้อย่างไร หรือมิจฉาฌานมิต้องไม่ต้องผ่านอัปปนาสมาธิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chaiyut
วันที่ 3 พ.ย. 2553

อัปปนาสมาธิ คือ กุศลสมาธิที่สงบ แนบแน่นในอารมณ์ถึงระดับฌานจิต จะถึงฌานจิตขั้นไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของผู้อบรมที่จะถึงได้ตามเหตุปัจจัย ผู้ที่สะสมปัญญามามาก จิตย่อมน้อมไปสู่ความตั้งมั่น สงบแนบแน่น จนถึงระดับฌานจิตที่สูงขึ้นได้ แต่ดับกิเลสไม่ได้ครับ ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะแม้ฌานจิตที่แสนยากที่จะถึงนั้น ก็ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงนามธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

เชิญคลิกอ่าน >>> อัปปนาจิต โดย บ้านธัมมะ

มิจฉาฌานจิต เป็นอกุศลจิต หรือเปล่าครับ ถ้าเป็นอกุศลจิต ไม่มีทางที่จะสงบได้เลย ไม่ต้องกล่าวถึงอัปปนา เพียงแค่อกุศลจิตเกิดหนึ่งขณะ ขณะนั้นก็ไม่สงบเพราะมิจฉาฌานจิตไม่ใช่กุศลจิต ไม่มีทางถึงระดับอัปปนาครับ และสำหรับกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะถึงระดับอัปปนาได้ หรือแม้แต่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาแต่ว่าไม่ได้สะสมมามากพอ ก็ไม่สามารถที่จะถึงความสงบ ตั้งมั่นแนบแน่นจนถึงระดับอัปปนาเช่นกัน แต่กุศลก็ยังเป็นกุศล กุศลไม่ใช่มิจฉาฌานจิต ผู้ที่เข้าใจผิดว่าตนได้ฌานจิต ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต เป็นความหลงเข้าใจผิดครับ และมิจฉาฌานจิตไม่ผ่านอัปปนาสมาธิ ผ่านไม่ได้ เพราะไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่มิจฉาฌานจิตประกอบด้วยมิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่ใช่หนทางแห่งการอบรมความสงบ และไม่ใช่หนทางแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยครับ

สิ่งที่สำคัญกว่า คือ สภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ถ้าเรายังไม่รู้ความจริง เราก็ต้องอบรมปัญญาศึกษา ลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏครับ ฌานจิตเป็นเรื่องของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งไกลตัวของเรามาก เพราะแสนยากที่จะถึง ฉะนั้น เราควรเน้นความเข้าใจในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ประกอบกับการเจริญกุศลทุกประการเท่าที่จะกระทำได้ เพราะนี่เป็นหนทางเดียว ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
WS202398
วันที่ 4 พ.ย. 2553

จาก "โดยอรรถ ฌาน คือ เผา เพ่ง ขณะที่ อกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้น เผาธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับตน ดังนั้น เมื่อศึกษาโดยละเอียด ย่อมทราบว่า ฌานมีทั้งกุศลฌาน และอกุศลฌาน แต่โดยทั่วไปเวลากล่าวถึงฌาน จะหมายถึงการเจริญสมถภาวนาจนจิตสงบระงับ นิวรณ์ทั้ง ๕ จิต เป็นอัปปนาสมาธิครับ"

1. ดังนั้น สรุปว่า คำว่า ฌาน ในความหมาย คือ เผา หรือ เพ่ง ข้างต้น อกุศลจิต ทุกดวงก็เรียกว่า ฌาน ได้หมดใช่หรือไม่ แม้ขณะเป็นกุศลจิตทุกดวงก็เรียกว่าฌานได้เช่นกัน เพราะ จิต ถ้ามิใช่กิริยา หรือวิบาก ก็ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล สรุปเช่นนี้ ถูกหรือผิดครับ

2. จาก//www.dhammahome.com/webboard/topic/11251
ความเห็นที่ 5 "การทำฤทธ์ด้วยฌาน ที่เป็นไปในสมถภาวนา ต้องเป็นไปในกุศลเท่านั้นครับ ส่วนฌาน หมายถึง การเพ่ง การพิจารณา จดจ่อ ฌาน หมายถึง การเข้าไปเพ่ง จดจ่อ ในอารมณ์หรือลักษณะของสภาพธรรม ส่วนสมาธิ หมายถึงเอกัคคตาเจตสิกคือความตั้งมั่นในสิ่งนั้น ไม่ใช่การเพ่ง จดจ่อครับ ส่วนใครเพ่ง จดจ่ออันเป็นไปในนิวรณ์ 5 ก็หมายถึง อกุศลฌานได้ครับ ตามพระสูตร ที่ได้ยกมาข้างต้นครับ (โคปกโมคคัลลานสูตร) " เช่นนั้น พระเทวทัต หรือนักบวชนอกศาสนาที่มีฤทธิ์ ก็ต้องเจริญสัมมาฌานเช่นกัน ใช่หรือไม่ จะสรุปได้ไหมว่า ฤทธิ์อันเกิดแต่สมาธิทั้งหมด เกิดจากจิตอันเป็นกุศล?

3. อัปนาสมาธิ กับ ปฐมฌาน มีสภาพปรมัตถ์ต่างกันอย่างไรครับ

4. จาก //www.dhammahome.com/webboard/topic/11272
การเจริญสมถะ สิ่งบ่งบอกว่าเป็นสัมมาสมาธิ คือต้องมี สติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวว่าขณะใดเป็นกุศลขณะใดเป็นอกุศล และต้องรู้ว่าขณะใดมีนิวรณ์กล้า นิวรณ์อ่อน รู้อุบายเครื่องสละอกุศล ใช่หรือไม่?

5. ถ้าจะสรุปว่า การเจริญสมถภาวนานั้น ต้องประกอบด้วย สติสัมปชัญญะด้วยถึงจะเป็นไปได้ใช่หรือไม่ เพราะหากไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว จะละนิวรณ์ได้อย่างไร

6. ถ้าจะสรุปว่า การที่บุคคลเจริญสมถภาวนา ถึงระดับอรูปฌานได้ แต่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะ สมถภาวนานั้น สติปัญญามีในระดับแยกแยะ กุศลกับอกุศลได้ รู้ทางระงับอกุศลได้ แต่ไม่ถึงขั้นทราบไตรลักษณ์ใช่หรือไม่?

7. ถ้าจะสรุปว่า การเจริญสมถภาวนา จะต้องมีวิปัสสนาภาวนาร่วมด้วย ถึงจะเป็นไปได้ใช่หรือไม่ เพราะหากไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นกุศล หรืออกุศลแล้วจะเจริญสัมมาสมาธิได้อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
prachern.s
วันที่ 5 พ.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ ๗

๑. ในขณะแห่งอกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นชื่อว่าอกุศลฌาน ในขณะแห่งกุศลวิบาก และกิริยา ก็เช่นเดียวกัน เพราะมีธรรมที่เป็นฌานเกิดร่วม แต่วิบากบางประเภทไม่มีธรรมที่เป็นฌานเกิดร่วมด้วย

๒. ในลัทธิภายนอก มีกุศลฌานสามารถกระทำอภิญญาให้เกิดได้

๓. ในขณะจิตที่เป็นปฐมฌานจนถึงปัญจมฌาน เป็นอัปนาสมาธิ

๔. สงบจากอกุศล

๕. ควรกล่าวอย่างนั้น

๖. เพราะไม่ใช่ปฏิปทาเพื่อการดับกิเลส เพราะยังไม่แทงตลอดในนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

๗. ควรเข้าใจพระธรรมคำสอนโดยละเอียดทุกประการ ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระอรหันต์ ควรเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
WS202398
วันที่ 5 พ.ย. 2553
ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
WS202398
วันที่ 5 พ.ย. 2553

จากความเห็นที่ 6 / * * * * และสำหรับกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะถึงระดับอัปปนาได้ หรือแม้แต่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าไม่ได้สะสมมามากพอ ก็ไม่สามารถที่จะถึงความสงบ ตั้งมั่น แนบแน่นจนถึงระดับอัปปนาเช่นกัน / * * * *

1. ขอให้อนุเคราะห์ ขยายความโดยพิศดารด้วยครับ คืออยากทราบบทบาทของปัญญาครับ

2. และขอนอกประเด็นนิดหนึ่งครับ คือ อยากทราบว่าสติกับปัญญา เกื้อหนุนกันในลักษณะใดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chaiyut
วันที่ 5 พ.ย. 2553

1. ขณะให้ทาน รักษาศีลหากกุศลนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญาย่อมไม่รู้ความต่างของกุศลและอกุศลโดยชัดเจน มื่อไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นนิวรณ์ ก็ยากที่จะข่มนิวรณ์ที่เกิดแล้ว เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นขึ้นได้ ไม่ว่าจะให้ทาน รักษาศีลมากเท่าไร ก็เป็นชั่วขณะที่กุศลนั้นๆ เกิด แล้วกุศลนั้นก็ดับ เมื่อไม่ได้เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมมามาก ก็ย่อมจะไม่รู้ว่าขณะไหนจิตสงบ ขณะไหนไม่สงบ จึงอบรมความสงบให้ตั้งมั่นขึ้นไม่ได้ ส่วนกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาที่มีกำลังน้อย เช่น ปัญญาที่เชื่อในเรื่องราวกรรมและผลของกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือปัญญาขั้นฟังขั้นพิจารณาไตร่ตรองธรรมที่ได้ฟัง ปัญญาระดับนี้ไม่สามารถจะทำให้จิตสงบแนบแน่นถึงขั้นฌานจิตได้ คือ เป็นกุศลที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยจริง แต่ยังอ่อนกำลังมาก

บทบาทของปัญญาในขั้นสมถภาวนา คือ รู้ชัดในความต่างของขณะจิตที่สงบ ว่าต่างจากขณะจิตที่ถูกกลุ้มรุมด้วยนิวรณ์จึงสามารถรู้หนทางที่จะยังจิตให้สงบจากนิวรณ์โดยน้อมไปในอารมณ์กรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่ง อาศัยนิมิตที่เหมาะสม เพื่อเป็นอุบายให้กุศลเกิดบ่อย จนเป็นความตั้งมั่นขึ้นทีละระดับ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจพระธรรมคำสอน แม้ว่าจะอบรมจนถึงฌานจิตขั้นสูงสุด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แม้ฌานจิตก็เป็นธรรมที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วดับ เป็นจิต เป็นเจตสิก ไม่ใช่ของใคร ไม่มีตัวตน

ความจริงแล้ว ยุคสมัยนี้ เราคงไม่เน้นเรื่องฌานจิตมากครับ เพราะเป็นกาลวิบัติแต่กุศลที่เป็นสมถภาวนาหลายประการที่อยู่ในวิสัยที่พอจะเจริญได้ ก็เป็นสิ่งที่สมควรศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียด เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อการขัดเกลากิเลสของตนแต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลืมสิ่งสำคัญ คือ โอกาสที่จะเข้าใจธรรม ว่าทั้งหมดเป็นธรรม มีไม่มาก ขอให้ไม่ลืมจุดประสงค์ของการฟังและพิจารณาธรรม ว่าเพื่อรู้ถูก แล้วละสิ่งที่เข้าใจผิด ลำดับแรก คือ รู้ถูกว่าความจริงเป็นธรรม ละความเข้าใจผิดว่าธรรมเป็นเรา

เชิญคลิกอ่าน >> ในยุคนี้ไม่ใช่กาละสมบัติที่จะเจริญสมถภาวนาจนถึงขั้นฌานจิต

2. สติ เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา สติเป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศลธรรม ส่วนปัญญา เป็นสภาพที่รู้ชัด รู้ถูก พิจารณาถูกในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่ใช่กุศล สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งไม่ใช่ประโยชน์ ความเห็นถูกในสภาพธรรมประการต่างๆ ความเข้าใจถูกต้องในอริยสัจธรรม ๔ ปัญญาเป็นเครื่องปิดกระแสของอกุศลธรรมทั้งหลาย สติและปัญญาเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี ต่างล้วนเกื้อกูลกันและกัน แม้ว่าจะมีกิจต่างกันครับ

เชิญคลิกอ่าน >> สติและปัญญาเกิดได้ เพราะอบรมเหตุที่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
WS202398
วันที่ 5 พ.ย. 2553

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ * * * เราควรเน้นความเข้าใจในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ประกอบกับการเจริญกุศล * * //ทุกประการ\\ * * เท่าที่จะกระทำได้ * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
WS202398
วันที่ 8 พ.ย. 2553

ตอนนี้ ผมกำลังทบทวนศึกษาหาความรู้ จากตำราด้วยตนเองเกี่ยวกับจิต เจตสิก รูป นิพพาน และวิถีจิตต่างๆ คือผมยังไม่รู้เรื่องมากนักครับ พอรู้เป็นเค้าๆ ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่า วิปัสสนา ไม่น่าจะกล่าวได้ว่าง่ายกว่าสมถภาวนา หรือสมถภาวนายากกว่าวิปัสสนาภาวนา เพราะผมคิดว่าสมถภาวนา มีรายละเอียดยุ่งยากมาก มีข้อขัดข้องมาก ต่างกับวิปัสสนาที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลาแล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้สติเกิด แต่สมถภาวนานััน ต้องมีเงื่อนไขหลายอย่าง ไม่ว่าศีล สถานที่ ปลิโพธะต่างๆ เป็นต้น ถึงอย่างนั้น เมื่อมองในแง่วิปัสสนา วิถีจิตต่างๆ เกิดขึ้นเร็วมาก นามรูปเกิดดับรวดเร็วมาก การที่สติ จะระลึกรู้ เท่าทันอารมณ์ปัจจุบ้นนั้น เห็นว่าไม่ง่ายเลย ผมพึงจะอนุมานได้ว่าเหตุใดท่านอาจารย์ ถึงย้ำนักย้ำหนาว่า จะเอาตัวตนไปตั้งท่า ตั้งทางปฏิบัติ สติปัฏฐานไม่ได้ เพราะวิถีจิต จิตดวงต่างๆ เกิดขึ้นเร็วมาก หากมัวมาตั้งท่าตั้งทางจะไปเท่าทันอารมณ์ปัจจุบัน ที่นามรูปเกิดดับไปแล้ว กี่นามกี่รูปก็ไม่รู้ การตั้งท่าตั้งทาง ก็ยังไม่เสร็จเลย ผมจึงอนุมานว่าธรรมเครื่องรู้ต้องมีความไวความเร็วสมน้ำสมเนื้อกับความเร็วในการเกิดดับของจิตที่รู้นามรูป และความเร็วในการเกิดของอารมณ์คือนามรูป สติเป็นอน้ตตา จึงน่าเห็นใจคนที่คิดว่าจะสรรหาทางต่างๆ ที่จะให้สติเกิด สรุปรวมว่าปฏิบัติธรรม ตอนแรกผมก็สงสัยว่าการไปปฏิบัติธรรมเช่นนั้น จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติบ้างจะได้ไหม ผมก็อนุมานได้ว่า แม้ขณะกระทำสิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติ แล้วสติเกิดระลึกได้จริงบางขณะ สตินั้นก็ไม่น่าจะกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัตินั้น มันเกิดเพราะเหตุปัจจัยของสติจะเกิดต่างหาก ผมอนุมานว่า สติเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งขณะที่หลงผิดปฏิบัติ ถ้าเกิดความเห็นถูกคืนกลับและมีปัจจัยให้สติเกิด แต่กล่าวไม่ได้ว่าสตินันเกิดจากการปฏิบัติ เพราะมิใช่เหตุและผลของกันและกัน ผมเห็นว่าสมถภาวนาเป็นสิ่งที่ยากในปัจจุบัน หรือแม้ในอดีตก็ตาม แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันที่จะกล่าวว่าวิปัสสนาง่ายกว่าสมถภาวนา เพราะสติเจตสิก เป็นอนัตตา นามรูป เกิดขึ้นรวดเร็ว ดูเหมือนว่าการเจริญสติปัฏฐานน้้นต้องสะสมเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อมสติถึงจะเริ่มระลึกได้เป็นอัตโนมัติ (อัตโนมัติของเหตุปัจจัย) และแก่กล้า เพราะไม่อาจตั้งท่าตั้งทางได้ เพราะเบื้องต้น

1. ยังไม่รู้ว่าสติมีลักษณะจริงๆ อย่างไร

2. สติเป็นอนัตตาบังคับบัญชากะเกณฑ์เอาตามใจมิได้

3. เมื่อไม่รู้ลักษณะของสติ บังคับกะเกณฑ์ไม่ได้ สิ่งที่เป็นอารมณ์ของสติคือนามรูป ก็เกิดดับรวดเร็วมาก 1 วินาที่ เกิดดับคงมากโขขณะจิตอยู่ ดังนั้นจึงพออนุมานได้ว่า ถ้าใครที่ยังไม่รู้
ลักษณะของสติ แต่ตั้งใจจะเจริญสติ โดยเจตนาเจตสิก ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นอันว่าเครื่องมือคือสติก็ไม่รู้จัก นามรูปที่เป็นเป้าหมายก็ไม่รู้จัก (ตามความเป็นจริง) แต่ก็ตัั้งใจไปทำ เสมือน "คนคิดจะจับเทวดา โดยที่คิดว่าเอาเถอะ เทวดาเราก็ไม่เคยเห็น เครื่องมือที่จะใช้จับเทวดาเราก็ไม่รู้จัก แต่ก็ขอทำๆ ไปอย่างนี้ล่ะ ตามที่บอกต่อๆ กันมา คงจะจับเทวดาได้เองดังนี้"

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chaiyut
วันที่ 9 พ.ย. 2553

ขออนุโมทนา คุณ WS202398 ด้วยครับ วิปัสสนาภาวนายากกว่าสมถภาวนามากครับท่านเปรียบการพยายามเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นเหมือนการเหยียดมือไปจับภวัคพรหมเหยียดเท้าไปแตะอเวจีมหานรกเลยทีเดียว แต่วิปัสสนาภาวนาก็เป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้จริง ในขณะที่สมถภาวนา เป็นเพียงธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและให้ผลเป็นสุข ในภายภาคหน้าเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจถูกในหนทางการเจริญวิปัสสนาภาวนาด้วย สมถภาวนาจะเป็นเสบียง สำหรับการเดินทางไกลคือการเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วนในสังสารวัฏฏ์ และก็จะเป็นบารมีที่จะช่วยให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพานได้ทั้งนี้ ที่จะเป็นได้ บุคคลนั้นต้องเข้าใจหนทางการเจริญวิปัสสนาภาวนาไม่ผิดด้วยครับ

เชิญคลิกอ่าน >>> ธรรมของพระพุทธเจ้า คือ อริยสัจ 4 ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 21 ก.ค. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ