สติสั่งสมองหรือจิตสั่งสมองได้หรือไม่

 
sutassangsri
วันที่  16 พ.ย. 2553
หมายเลข  17529
อ่าน  5,408

อยากทราบว่า สติหรือจิตสามารถสั่งสมองได้หรือไม่ ผมไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าสติหรือจิตสั่งสมองได้ แต่ผมจำได้ว่าอาจารย์สุจินต์เคยบรรยายธรรมว่าจิตหรือสติไม่สามารถสั่งอะไรได้ใช่หรือไม่ครับ ผมเข้าใจว่าจิตหรือสติเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งไม่สามารถบังคับบัญชาได้เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เป็นไตรลักษณ์ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน เราเขาความเข้าใจของผมถูกต้องหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chaiyut
วันที่ 16 พ.ย. 2553

ถูกต้องครับ จิตหรือสติสั่งอะไรไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นทำกิจของตนชั่วขณะ แล้วดับไปอย่างรวดเร็ว จิตสั่งรูปไม่ได้ แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตส่วนใหญ่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้รูปที่เกิดจากจิต เรียกว่า จิตตชรูป จิตตชรูปไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะจิตสั่ง แต่เกิดเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน คือเป็นที่ตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้นในอุปาทขณะของจิตครับ

...ขอเชิญคลิกฟัง... >>>

ถ้าศึกษาปุเรชาตปัจจัยแล้ว คำว่าจิตสั่งจะไม่มี

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
SOAMUSA
วันที่ 24 พ.ย. 2553

สวัสดีค่ะ ดิฉัน สงสัยมานานแล้วค่ะ เรื่องจิตกับสมอง จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เป็นนาม สมองเป็นกายปสาทใช่หรือไม่ค่ะ ดิฉันจะสับสนงงกับจิต และสมองค่ะ ไม่สามารถดูการทำงานที่แยกจากกันได้ค่ะ ขอความกรุณาอธิบายให้ดิฉันเข้าใจด้วยนะค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chaiyut
วันที่ 25 พ.ย. 2553

กลุ่มก้อนที่เราบัญญัติเรียกชื่อสิ่งนั้นว่า "สมอง" ความจริง ถ้าแยกย่อยลงไปจนแยกไม่ได้อีก ก็คือ รูปธรรมหลายๆ กลาป ที่เกิดใกล้ชิดกันตรงนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจได้ในขั้นต้น ณ จุดนี้ ก็จะทราบว่า สมองไม่ใช่จิต สมองไม่ใช่สภาพรู้ สมองไม่รู้อะไร ป็นแต่เพียงกลุ่มของรูปธรรมหลายๆ กลุ่ม ที่มีปัจจัยให้เกิด ณ ที่นั้น ตามสมุฏฐานของกลุ่มรูปนั้นๆ

ซึ่งถ้าจะพยายามเข้าใจให้ได้ตรงความสัมพันธ์กันของจุดนี้ โดยที่พื้นฐานเบื้องต้นความเข้าใจเรื่องรูปธรรมและนามธรรมของเรายังไม่เพียงพอก็อาจจะทำให้เราสับสนได้เพราะเราจำปะปนกันระหว่างความรู้ในวิชาการทางโลก ซึ่งเป็นความรู้ของคนทั่วไป กับ พระธรรมซึ่งเป็นสัจจะ ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ควรที่จะได้ศึกษาตามลำดับขั้น เพื่อให้เข้าใจโดยถูกต้อง ชัดเจน เราฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ฟังเรื่องรูปธรรมเพื่อเข้าใจว่าสิ่งนั้นมีจริงเป็นรูปธรรม เช่น แข็ง มีจริง แต่เป็นสภาพไม่รู้ จึงเป็นรูปธรรม ฟังเรื่องนามธรรมเพื่อเข้าใจว่าเป็นนามธรรม เช่น จิต มีจริง เมื่อกระทบสัมผัสวัตถุ จิตก็รู้แจ้งระดับของความแข็งที่ต่างกันได้ เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ จิตจึงเป็นนามธรรม เป็นต้น ถ้าอบรมปัญญาจนรู้จริงๆ ก็จะทราบว่า มีแต่รูปธรรม กับ นามธรรม ไม่มีเรา ไม่มี

กลุ่มก้อนของอวัยวะอะไรทั้งสิ้น ที่เราคิดว่าเรามีอวัยวะต่างๆ เพราะความยึดถือไว้ว่ามีแต่ความจริงไม่ปรากฏลักษณะอะไรเลย แล้วก็มีเมื่อจำได้ว่ามีเท่านั้น เพราะเคยยึดถือมานานว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งถ้าไม่ได้คิด สิ่งที่คิดว่ามี ก็ไม่มีแล้ว เมื่อกี้ไม่ได้คิดถึง"สมอง" แต่ตอนนี้คิด เพราะเห็นสีต่างๆ แล้วคิดเป็นคำว่า "สมอง" แล้วก็จำไว้ว่ายังมีกลุ่มก้อนนั้นอยู่ในตัวเราอย่างรวดเร็ว นี่คือ อัตตสัญญา ครับ เป็นสัญญาที่จำผิดว่ามีสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นไม่มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้เลย ตอนนี้ลักษณะของสมองปรากฏในขณะนี้หรือเปล่าครับ? ....ไม่ปรากฏเลย

ความจริงสมอง ตับ ไต ปอด หัวใจ เป็นเพียงบัญญัติ เป็นชื่อที่หมายเรียกไว้ให้รู้ตรงกันในกลุ่มบุคคลหนึ่ง ว่าสีสันอย่างนี้ เรียกอย่างนี้ สีสันอย่างนั้น เรียกอย่างนั้นแต่อีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง มีชื่อเรียกอย่างอื่น ก็จะไม่เรียกตรงกับคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น นี่คือ สมมติสัจจะ จริงโดยชื่อ แต่ไม่ใช่จริงแท้ เพราะชื่อต่างๆ เปลี่ยนชื่อเรียกได้ และไม่มีลักษณะปรากฏ แต่จริงแท้ แม้ไม่เรียกชื่อ คือ ปรมัตถสัจจะ เช่น สีสันต่างๆ ที่มีลักษณะปรากฏให้จิตรู้ได้ ถ้าไม่มีสีสันอะไร ไม่มีจิตไปรู้สีนั้น และไม่มีจิตคิดถึงรูปร่างสัณฐาน ก็จะไม่มีใครบัญญัติเรียกสีที่ต่างกัน ให้เป็นชื่ออวัยวะที่ต่างกันได้เลย แต่เมื่อมีของจริงแท้ คือ สีสันต่างๆ และรู้ได้ด้วยจิตต่างๆ ต่อมาจึงมีการตั้งชื่อเรียกเป็นสิ่งต่างๆ เป็นอวัยวะต่างๆ นั่นเอง นี่คือความต่างกันของสัจจะ ๒ ประการครับ

ขอเชิญคลิกอ่านครับ >>>

สมองกับจิต

สมองเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เก็บความทรงจำ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
SOAMUSA
วันที่ 25 พ.ย. 2553

อนุโมทนาบุญ กับธรรมทานของทุกท่านค่ะ พอจะเข้าใจได้บ้างค่ะ แต่ยังไม่เข้าสามารถเข้าใจได้มาก คงต้องกลับมาอ่านซ้ำๆ อีกหลายครั้ง น่าจะเข้าใจได้ดีขึ้นค่ะ แต่ว่าเข้าใจได้อย่างหนึ่งค่ะว่า สมองเป็นมหาภูตรูป จะต้องจัดการให้แยกความเข้าใจไว้แค่นี้ก่อน แล้วจะกลับมาอ่านซ้ำๆ บ่อยๆ อีกค่ะ ขอบพระคุณทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 30 พ.ย. 2553

ขอบพระคุณ เป็นคำถาม - คำตอบที่เป็นประโยชน์มากค่ะ

ขออนุโมทนา....

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 ธ.ค. 2553

ขออนุโมทนาคร้บ....

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
naamsai
วันที่ 15 ธ.ค. 2553

แล้วการที่เรานอนละเมอ เครียดลงกระเพาะ เครียดลงผิวหรือเวลาที่เรากลัวมากแล้วขนลุกผมตั้ง ละค่ะ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าจิตสั่งสมองได้ และสมองสั่งจิตได้ อย่างเช่น เมื่อเราเห็นคนอื่นทานของเปรี้ยวมะม่วงมะขามอะไรประมาณนี้ น้ำลายก็ไหลออกมาเลยโดยที่เราไม่ได้สั่งหรือคิด จริงอยู่เนื้อสมองเป็นรูป แต่จิตเปนนาม อย่างในกรณีที่ยกมานี้ เราจำได้ว่า ผลไม้มีรสเปรี้ยว เราเคยกินเคยลิ้มรสจากประสาทของเรามาแล้วซึ่งเป็นรูป จึงเกิดสัญญา คือความจำได้หมายรู้ ซึ่งเป็นนาม สมองให้ร่างกายที่เป็นรูปสร้างน้ำลายขึ้นมาเอง หนูจึงคิดว่านี้แหละคือ จิตสั่งสมองได้

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chaiyut
วันที่ 15 ธ.ค. 2553

เรียน ความเห็นที่ 7

พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งมาก ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยการคิดตรึกจึงควรฟัง ควรศึกษาด้วยความไม่ประมาท ถ้าเราพูดเรื่องจิต ก็ควรเข้าใจจิตให้ถูกต้องว่าจิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน จิตมีเมื่อไร จิตเป็นเราหรือไม่ใช่เรา ถ้าเราตอบตรงนี้ไม่ได้ เราก็จะข้ามตรงนี้ไปคิดเชื่อมโยงกับเรื่องราววิชาการที่เราคุ้นเคย ซึ่งย่อมจะทำให้เราเสียประโยชน์ในการเข้าใจธรรมที่ถูกต้องไป การที่จะศึกษาพระธรรมให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันของเราจริงๆ เราควรตั้งใจศึกษาธรรมตามลำดับขั้น เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ทีละคำให้ละเอียด ตรง และ ชัดเจน ตามความเป็นจริงที่มีในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าหากเราได้ศึกษาธรรมต่อไป เราก็จะทราบว่า นามคืออะไร , รูปคืออะไร อะไรคือจริงโดยสมมติ อะไรคือจริงโดยแท้ และก็จะทราบว่าในพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่มีคำว่า "จิตสั่ง" เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสคำนี้ไว้ ซึ่งถ้าหากเรายังคิดว่าเป็น จิตสั่ง ก็ต้องทราบว่านี่เป็นความคิดเห็นของเราเท่านั้น แต่จะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ ก็ควรศึกษาให้เข้าใจ แล้วก็พิสูจน์ความเห็นที่มีนั้น ด้วยความเข้าใจพระธรรมที่เราได้ศึกษาครับ เพราะไม่มีศาสตร์ใดในโลกอีกแล้วที่แสดง จิต และสิ่งที่มีจริงประการต่างๆ ไว้โดยละเอียดเท่าพระพุทธศาสนา เหลือแต่เพียงว่าเราจะเริ่มน้อมใจศึกษาด้วยความเคารพนอบน้อมในสัจจะที่พระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาแสดงไว้หรือไม่เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prasopsuk
วันที่ 15 ธ.ค. 2553

เนื่องด้วยตลอดชีวิตที่ผ่านมา คนส่วนมากเรียนรู้แต่ส่วนที่เป็นสมมติสัจจะเท่านั้น ดังนั้นการเรียนรู้ปรมัตถสัจจะจึงค่อนข้างยาก และการสอนด้านปรมัตถสัจจะก็มีน้อยมากแถมยังอธิบายไม่แจ่มชัด ทำให้ยิ่งเข้าใจยากยิ่งขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านเกือบสิบปีก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ยังมีวิชชาในด้านปรมัตถสัจจะน้อยมาก จึงยังคงมีคำถามอยู่เสมอว่า แล้วกายมันแสดงพฤติกรรมตามคำสั่งของใคร? ถ้าจิตก็ไม่ใช่ เซลสมองก็ไม่เชิง?

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chaiyut
วันที่ 16 ธ.ค. 2553

เรียน ความเห็นที่ 9

ก่อนอื่นขออนุโมทนาในกุศลสัทธาของคุณ prasopsuk ที่ได้พากเพียรศึกษาธรรมะมานานครับ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า การจะเข้าใจปรมัตถธรรม หรือ ปรมัตถสัจจะ นั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากที่สุด เพราะไม่สามารถจะเร่งให้เข้าใจได้ตามต้องการในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องเป็นผู้มีบุญ ที่สะสมอุปนิสัยมา ที่จะมีสัทธา มีความอดทน มีวิริยะ ที่จะศึกษาต่อไปตลอดชีวิต เพราะพระธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้นมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สำหรับในยุคสมัยนี้ ก็หายากที่ใครจะเป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อศึกษา ก็จะพบว่ามีคำถามและความสงสัยในข้อธรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นของธรรมดาสำหรับปุถุชนเพราะเหตุว่ายังไม่ใช่ผู้ที่อบรมปัญญา จนประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง แต่ถ้าศึกษาโดยแนวทางที่ถูกต้องต่อไป ก็จะค่อยๆ เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นตามลำดับได้ เพราะพระธรรมทั้งหมดเกื้อกูลให้ผู้ศึกษารู้ความจริง ไม่ใช่รู้ความไม่จริงและความจริงที่ควรรู้ ก็มีในขณะนี้ การไม่ใส่ใจที่จะรู้ในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ย่อมเสมือนการทิ้งประโยชน์ใหญ่ไปหาสิ่งที่ให้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ ถ้าหากไม่สนใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็จะมุ่งหาแต่คำตอบในสิ่งที่ยังไม่หายสงสัย ซึ่งถ้าไม่ใช่การอบรมปัญญาจริงๆ ก็จะไม่พ้นจากความสงสัย และจะต้องหาคำตอบให้หายสงสัยตลอดไปซึ่งจะไม่มีวันจบ และก็จะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะว่าเราไม่ใช่พระอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกโดยประการทั้งปวง ฉะนั้น การอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ก็คือ ความรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่มีจริง ที่มีพร้อมให้ศึกษาและพิสูจน์ได้ ว่าเป็นจริงตามที่ผู้ที่รู้แล้ว ทรงแสดงไว้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีจริงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ใจ เราจะต้องไปหาคำตอบให้อะไรที่พ้นไปจาก ๖ ทางนี้อีกหรือไม่ ในเมื่อ ๖ ทางนี้ เราก็ยังไม่รู้ความจริงเลยว่ามีจริง จริงแล้วเป็นอะไร เป็นเรา หรือ เป็นธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ท้ายนี้ก็ขอให้กำลังใจในการศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อไปนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prasopsuk
วันที่ 31 ธ.ค. 2553

คงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติจึงจะได้ปรมัตถสัจจะ คำตอบอื่นใดก็คงต้องทิ้งไปให้หมดก่อน จนกว่าจะเห็นปรมัตถธรรมในอายตนะทั้งหกก่อน ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 31 ธ.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
wannee.s
วันที่ 23 ก.พ. 2554

ปรมัตถธรรม หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ไม่ว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือคิดนึก ชีวิตปกติเราก็อยู่กับปรมัตถธรรม อยู่กับธรรมะที่มีจริง แต่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะเราขาดปัญญาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Maeying
วันที่ 23 ก.พ. 2554

ขออนุโมทนาทุกๆ ความเห็นด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
sukarnrut
วันที่ 16 ก.พ. 2561

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
lokiya
วันที่ 1 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ