ธรรมจริยสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔

 
มศพ.
วันที่  19 พ.ค. 2554
หมายเลข  18382
อ่าน  2,464

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมที่

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ม.ศ.พ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ธรรมจริยสูตรที่ ๖ (ว่าด้วยการประพฤติธรรม) ...จาก...

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๔๗ - หน้า ๒๑๐

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๔๗ - หน้า ๒๑๐

ธรรมจริยสูตรที่ ๖ (ว่าด้วยการประพฤติธรรม)

[๓๒๑] พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าว ความประพฤติทั้งที่เป็นโลกิย และโลกุตตระ ทั้งสองอย่างนี้ คือ ธรรมจริยา และ พรหมจรรย์ ว่า เป็นรัตนะอันสูงสุด, ถึงแม้บุคคล ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ถ้าบุคคลนั้น เป็นชาติปากกล้า ยินดี แล้วในความเบียดเบียน แสวงหาอยู่ ความ เป็นอยู่ของบุคคลนั้นเลวทราม ย่อมยังกิเลส ธุลีมีราคะเป็นต้นของตนให้เจริญ. ภิกษุ ยินดีแล้วในความทะเลาะ ถูก- ธรรมคือโมหะหุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ธรรมที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว, แม้อันเหล่าภิกษ ผู้มีศีลเป็นที่รักบอกแล้ว ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ทำตนที่อบรมแล้ว ให้ลำบากอยู่ ย่อมไม่รู้ความเศร้าหมอง ย่อมไม่รู้ทางอันให้ถึงนรก, เมื่อไม่รู้ก็เข้าถึงวินิบาต จากครรภ์ เข้าถึงครรภ์ จากที่มืดเข้าถึงที่มืด ภิกษุผู้เช่น นั้นแล ละไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความทุกข์ ก็บุคคลใด ผู้มีการงานเศร้าหมองเห็นปานนี้ ตลอดกาลนาน พึงเป็นผู้เต็มแล้วด้วยบาป เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี พึงเป็นหลุม เต็มด้วยคูถ ฉะนั้น, บุคคลนั้น เป็นผู้มีกิเลสเครื่องยียวน หมดจดได้โดยยาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงรู้จักบุคคลผู้อาศัยเรือน ผู้มี ความปรารถนาลามก ผู้มีความดำริลามก ผู้มีอาจาระและโคจรลามกเห็นปานนี้, เธอทั้งปวง พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เว้นบุคคลนั้นเสีย จงกำจัดบุคคลผู้เป็นเพียง ดังแกลบ จงคร่าบุคคลผู้เป็นเพียงดัง หยากเยื่อออกเสีย แต่นั้น จงขับบุคคลลีบ ผู้ ไม่ใช่สมณะ แต่มีความสำคัญว่าเป็นสมณะไปเสีย,

ครั้นกำจัดบุคคลผู้มีความปรารถนาลามก มีอาจาระ และ โคจรลามกออกไปแล้ว เธอ ผู้บริสุทธิ์แล้ว มีความเคารพกันและกัน จงสำเร็จการอยู่ร่วมด้วยบุคคลผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย แต่นั้น เธอทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน มีปัญญา เครื่องรักษาตน จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

จบธรรมจริยสูตรที่ ๖.

สำหรับข้อความอธิบายในอรรถกถา ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่นี่

อรรถกถา ธรรมจริยสูตร [สุตตนิบาต]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป ธรรมจริยสูตร (ว่าด้วยการประพฤติธรรม) พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระธรรม ว่าด้วยการประพฤติธรรม ได้แก่ การประพฤติสุจริต มีกายสุจริต เป็นต้น และการประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ การประพฤติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ (มรรคพรหมจรรย์) เป็นรัตนะอันสูงสุด ถ้ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่ไม่ประพฤติธรรม ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้ทุศีล ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ แต่ถ้าเป็นผู้อบรมเจริญปัญญา มีปัญญารักษาตน ก็จะสามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ ในบริษัทซึ่งมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต. --------------------------------------------- เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ คือ ทรงปรารภครอบครัวหนึ่งคือ มารดา (ชื่อสาธนี) พี่ชาย (ชื่อโสธนะ) น้องชาย (ชื่อ กปิละ) และ น้องสาว (ชื่อว่าตาปนา) ออกบวชเป็นบรรพชิต ในกาลสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ, พระโสธนะ อบรมเจริญปัญญาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระกปิละ อาศัยการศึกษาพระปริยัติ ถูกลาภสักการะครอบงำ เมาในความเป็นพหูสูต แสดงสิ่งที่ไม่ควรว่าควร แสดงสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ เป็นต้น เมื่อถูกภิกษุผู้มีศีล ตักเตือน ก็ด่าว่าพระภิกษุผู้มีศีล มารดาและน้องสาว ก็มีความเห็นคล้อยตามพระกปิละ พระโสธนะ ดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ส่วนพระกปิละ มารดาและน้องสาว เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปเกิดในนรก ในสมัยนั้น มีโจร ๕๐๐ เที่ยวปล้นชาวบ้าน ถูกเจ้าของทรัพย์ติดตาม หนีเข้าไปในป่า เห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง จึงเข้าไปหาพร้อมทั้งกล่าวว่าขอให้เป็นที่พึ่งด้วย พระภิกษุก็ได้กล่าวว่าขอให้มีศีล เป็นที่พึ่ง แล้วให้ศีล โจร ๕๐๐ ได้รักษาศีล ในขณะต่อมาก็ถูกเจ้าของทรัพย์ฆ่าตายทั้งหมด โจร ได้เป็นไปในสวรรค์ ท่องเที่ยวไปในเทวโลก พอมาถึงกาลสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ คือ พระสมณโคดม ก็ได้เกิดในตระกูลชาวประมง

กล่าวถึง พระกปิละ เมื่อเคลื่อนจากนรกแล้ว ได้เกิดเป็นปลาทอง (แต่ปากเหม็น) บุตรชาวประมง ๕๐๐ ไปหาปลา จับปลากปิละ ได้ จึงนำไปมอบถวายแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศล พาบุตรชาวประมง ๕๐๐ พร้อมกับนำปลากปิละไปที่พระวิหารเชตวัน เพื่อกราบทูลถามว่า ปลาตัวนี้ มีสีเหมือนทอง เพราะกรรมอะไร พอปลาอ้าปากเท่านั้น กลิ่นเหม็นก็ฟุ้งออกจากปากของปลากปิละ ปกคลุมทั่วพระวิหารเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงกราบทูลถามว่า เพราะเหตุใด ปลาจึงมีสีทองและปากเหม็น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า เพราะกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เมื่อครั้งเป็นกปิลภิกษุ จึงทำให้เกิดเป็นปลามีสีเหมือนทอง แต่ที่ปากเหม็น เพราะไปด่าว่าพระภิกษุผู้มีศีล และ ต่อมา ปลากปิละ ได้ตายลงแล้วได้ไปเกิดในนรก อีก ทำให้มหาชนเกิดความขนลุกชูชันเป็นอย่างยิ่ง บุตรของชาวประมงทั้งหมด มีความสลดใจ ประสงค์จะกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ (พ้นทุกข์) จึงขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา และ ในที่สุดพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ (มีพระโยสชะ เป็นต้น) ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ ...ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤกติธรรม ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤกติธรรม ธรรมจริยา [ธรรมจริยาสูตรที่ ๖] ความประพฤติเสมอ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wittawat
วันที่ 21 พ.ค. 2554

อนุโมทนาครับ ได้อ่านพระสูตรและอรรถกถา รวมทั้งที่มาของเรื่องปลากปิละ รวมทั้งจากที่ได้ฟังในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาด้วย เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูปที่เป็นบุตรชาวประมง ก็ให้ระลึกถึงความวิจิตรของกรรม และวิปากกรรม รวมทั้งคุณธรรม คือ หิริ โอตัปปะ และความน่ารังเกียจของบาปธรรมคือความไม่รู้ สำคัญตนเป็นพหูสูตร ถึงกับกล่าวว่าภิกษุผู้มีศีล ผู้กล่าวตักเตือนอยู่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ZetaJones
วันที่ 23 พ.ค. 2554

ถ้าไปวัดแล้ว..มีพระภิกษุ มองบ่อยๆ พยายามเข้ามาพูดคุย เลียบเคียง ขอนั่งรถไปไหนมา

ไหนด้วยฯลฯ จะว่าได้มั้ยคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือเพศบรรพชิตก็ไม่สมควรที่จะไปว่าด้วยอกุศลจิตครับ ที่สำคัญ

หากเป็นเพศบรรพชิตแล้ว เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ท่านประพฤติไม่เหมาะสม สิ่งแรกก็คือ

หลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธไปครับ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพื่อหวังอนุเคราะห์ก็พูดธรรม โดย

ไม่ไ่ด้กล่าวเจาะจงว่าท่านแต่พูดบทพระธรรมให้ท่านฟัง ในสิ่งที่ควรหรือไม่ควรครับ ซึ่ง

ในสมัยพุทธกาลท่านจิตตคฤหบดีก็ได้กลาวเตือนพระภิกษุด้วยข้อธรรมครับ แต่ถ้าเรา

ไม่ไ่ด้อยู่ในฐานะที่จะเตือนได้และเรายังไม่มั่นคงในจิตและธรรมเพียงพอ การปฏิเสธ

และหลีกเลี่ยงไปก็เป็นวิธิที่สมควรที่สุดสำหรับกับเพศบรรพชืตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ZetaJones
วันที่ 23 พ.ค. 2554
ขอบคุณค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สมศรี
วันที่ 24 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 25 พ.ค. 2554

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 527

บทว่า อญฺตฺร ธมฺมจริยาย ความว่า เว้นธรรมจริยา การประพฤติธรรมเสีย ก็ไม่มีกรรมอย่างอื่นที่ควรทำ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เรือนแก้ว
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ