การนั่งสมาธิ

 
samroang69
วันที่  26 พ.ค. 2554
หมายเลข  18428
อ่าน  11,474

ขอรบกวนถามนะครับ ว่าการที่มีการฝึกนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ ที่เรียกว่าเป็นการฝึกสมาธิมีผลดีอย่างไร หรือไม่มีผลดีเลย แล้วการที่นั่งสมาธิที่ไม่สนใจเสียงภายนอกเลยนั้น ยินดีแต่องค์ภาวนา (เช่น พอง-ยุบ) ทำให้ไม่สนใจเสียงที่อยู่ข้างนอก จริงอยู่ บางครั้งก็รู้บ้างไม่รู้บ้างขาดๆ หายๆ อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่อย่างไร เป็นผลดีหรือไม่อย่างไร แล้วการที่ทำสมาธิควรที่จะทำหรือไม่ แล้วควรทำอย่างไร ผมเคยได้ยิน อ.สุจินต์ ว่าการที่ไม่รู้นั้น เป็นโมหะ แต่การที่เรารู้บ้างไม่รู้บ้างหรือรู้บ้าง แต่รู้อยู่ในอาการพอง-ยุบ หรือคำภาวนา หรือบางครั้งก็ไม่รู้เพราะไม่คิดเรื่องอื่นในขณะที่นั่งอยู่นั้น (ยกตัวอย่างเช่น การที่เปิดฟังเสียงพระเทศน์หรือฟังธรรมอยู่ แต่เราก็นั่งสมาธิไปด้วยนั้นถูกหรือไม่ แล้วการที่เปิดฟัง แต่เราก็ภาวนาไปด้วย ก็เลยรู้สิ่งที่ฟังบ้างไม่รู้บ้าง เผลอสติบ้าง คือคิดไปอย่างอื่นบ้าง อย่างนี้เป็นวิธีที่ควรหรือไม่อย่างไร) อย่างนี้จะเป็นการเจริญสติปัฏฐานได้ หรือไม่ หรือการที่ฟังก็ฟังอย่างเดียวไม่ควรทำอย่างอื่นไปด้วย ให้ปัญญาทำหน้าที่ระลึกรู้เองตามการสั่งสมคือการฟัง ทำสมาธิก็ทำสมาธิอย่างเดียว ไม่ควรฟังไปพร้อมกับการทำสมาธิ หรือทำสมาธิไปด้วย ดูสภาวธรรมไปด้วยว่าขณะนี้มีสภาวธรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง และอย่างไรคือการปฏิบัติที่ถูกต้องจริงๆ ขอคำแนะนำจากผู้รู้หน่อยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ เหตุให้เกิดปัญญาคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่การนั่งสมาธิ การทำสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เกิดความไม่รู้ ความสงสัย นั่นไม่ใช่ปัญญาและไม่ใช่หนทางให้ปัญญาเจริญขึ้นครับ

สมาธิ โดยองค์ธรรมคือเอกัคคตาเจตสิก คือความตั้งมั่นของจิต ซึ่งเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกจึงเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลจิตด้วยครับ ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็มีสมาธิชั่วขณะนั้นด้วย ดังนั้น การตัดสินว่าถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดี จึงไม่ได้วัดที่ความตั้งใจมั่นหรือการมีสมาธิครับ เพราะสมาธินั้น มีทั้งที่เป็นมิจฉาสมาธิ (สมาธิที่ผิดเป็นอกุศล) และสัมมาสมาธิ (สมาธิที่ถูกเป็นกุศล) ครับ ดังนั้นจึงไม่ต้องไปทำสมาธิเลย เพราะเมื่อศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็รู้ว่ามีเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ มีความตั้งมั่นของจิตแล้วครับ มีสมาธิแล้วในขณะนั้น แต่เรามักสำคัญว่าการปฏิบัติธรรม การเจริญปัญญาจะต้องนั่งสมาธิ เพราะฉะนั้น เหตุให้ปัญญาเกิด เกิดจากการฟังพระธรรม หากนั่งสมาธิแล้ว มีความจดจ่ออยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง นิ่ง แต่ปัญญารู้อะไรบ้าง

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของปัญญา ถ้าทำสิ่งใดแล้วปัญญาไม่เจริญ ได้แต่ความนิ่ง ตั้งมั่น ก็ไม่สามารถละกิเลสได้ กับจะติดในความนิ่ง ความไม่ซัดส่ายไปเพราะไม่คิดเรื่องอะไร แต่ปัญญาไม่ได้รู้อะไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

สัมมาสมาธิในการเจริญปัญญา จึงเป็นเรื่องของความตั้งมั่นของจิตที่เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาครับ คือ ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นก็มีทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญาด้วยครับ

การปฏิบัติที่ถูกต้องจึงต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อน หากจะทำขนมเค้ก แต่ไม่รู้จักวิธีการทำ ไม่รู้จักเครื่องปรุง ไม่ศึกษาว่าเค้ก เป็นอย่างไร การทำนั้นก็ไม่สำเร็จ ไม่ถูกต้องครับ การจะปฏิบัติธรรมก็ต้องรู้ก่อนครับว่า ธรรมคืออะไร เพราะเราใช้คำว่า ปฏิบัติธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน คิด เป็นจิต เป็นสิ่งที่มีจริง ความโลภ โกรธ มีจริง เป็นธรรม เป็นเจตสิก เสียง แข็ง มีจริง เป็นรูป

ความจริงจึงมีแต่ จิต เจตสิก รูป ซึ่งมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การรู้จักธรรมนี้ก็เพื่อปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ดังนั้น ในเมื่อธรรมมีอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้อยู่ที่ท้อง ยุบ พอง ไม่ได้อยู่ในห้องปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ตอนที่นั่งสมาธิ แต่ขณะนี้เองมีธรรมครับ หนทางในการรู้ความจริงที่เป็นธรรมในขณะนี้ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม โดยเริ่มเข้าใจก่อนครับว่าธรรมคือะไร ขอให้เราเริ่มให้ถูกครับ ช้าแต่ถูกทาง ก็จะไปถึงหนทางเป้าหมายที่ถูกได้ครับ ดังนั้น ตอนนี้ไม่ต้องทำอะไร นอกจากฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น โดยเฉพาะที่ว่าธรรมคืออะไรครับ

ขออนุโมทนาพระคุณเจ้าที่สนใจในหนทางการอบรมปัญญาครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

การปฏิบัติธรรม

การทำสมาธิ

ทำไมไม่เห็นด้วยกับสมาธิ

อยากฝึกสมาธิ

สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ

การทำสมาธิคืออะไร

ทำไมไม่สนับสนุนการทำสมาธิ การทำสมาธิไม่ดีตรงไหน

เชิญคลิกฟังธรรมที่นี่ครับ

การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร

การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องคืออย่างไร

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่เคารพ ครับ

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณา คือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป

สมาธิที่ควรอบรม คือ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญา (ภาวนา) ในชีวิตประจำวัน ภาวนาไม่ใช่การท่องบ่น แต่เป็นการอบรมเจริญปัญญา จากที่ยังไม่มีก็มีขึ้น เมื่อมีแล้วก็อบรมเจริญให้มีมากยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ

อีกคำหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาด้วยความเป็นตัวตนหรือความติดข้องต้องการ แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติและสัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้องย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูก เห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงจะเข้าใจ และที่สำคัญ พระธรรม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือ จะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

กราบนิมนต์คลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติม อีกครับ

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Yongyod
วันที่ 27 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

มีชาวพุทธเป็นจำนวนมากที่มักจะสับสัน ระหว่าง สมถะและวิปัสสนา

๑. สมถภาวนา เป็นการฝึกอบรมจิตให้เกิดสัมมาสมาธิ เป็นไปเพื่อความสงบของจิต จนจิตเกิดฌานมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นวิธีสงบจิตให้อยู่กับอารมณ์เดียว มีอารมณ์ ๔๐ หรือ ๔๐ วิธี ให้จิตสงบ เป็นเรื่องสูงมาก เหมาะกะ สมถยานิก คือ บุคคลที่มีอัธยาศัยเจริญสมาธิมาก่อน สมถกรรมฐานจะเป็นไปเพื่อข่มกิเลสอย่างกลาง คือ นิวรณ์ ๕ อุปมาเหมือนหินทับหญ้า ปัจจุบันก็เป็นสุข ถ้าฌานไม่เสื่อมตายไปก็ไปเกิดเป็นพรหม นี้เป็นการทำสมาธิล้วนๆ เช่นพวกฤาษีชีไพรทั้งหลาย

๒. วิปัสสนาภาวนา เป็นการฝึกจิตให้เจริญด้วยปัญญาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงของตัวเรา คือรู้จักนาม รูป=ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน คือเห็นไตรลักษณ์ เป็นวิธีละกิเลสให้หมดเป็นสมุจเฉท ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป คือไม่ผุดไม่เกิดนั่นเอง ดับเหตุคือกิเลสดับ ดับชาติคือขันธ์ ๕ ไม่เกิด ในที่ไหนอีกต่อไป

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันครับ สมถะ มุ่งไปเพื่อความสงบของจิต คือสงบจากโลภะ โทสะและโมหะครับ (ได้ชั่วคราว) วิปัสสนามุ่งไปที่ปัญญาเป็นสำคัญอันจะเป็นอาวุธกำจัดกิเลสได้เป็นสมุจเฉทคือไม่เกิดอีกเลย

ดังนั้น ถ้าทุกคนมุ่งแต่จะเอาสมถะอย่างเดียว โดยหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนาอย่างที่ผมเคยคิด ศาสนาพุทธไม่ได้ปฏิเสธสมถะ แต่สิ่งที่ลัทธิอื่นไม่มีก็คือวิปัสสนา เพราะสมถะก็เป็นเรื่องที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยเหตุนี้ ศานาพุทธจึงมีทั้งสมถะ ถ้าไม่งั้นพระพุทธองค์คงไม่ทรงสอนอานาปานสติ แต่ที่มีนอกจากสมถะก็คือวิปัสสนาครับ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังสมาธิที่ถึงขั้นฌานก็ได้ เจริญสมาธิก็แค่พอเป็นกำลังให้แก่วิปัสสนาเท่านั้นครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะตนอีก เพราะแต่ละคนสั่งสมมาไม่เหมือนกัน วิธีเข้าถึงธรรมก็อาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว ขอให้ศึกษาให้ละเอียด ไม่เผิน อย่างที่ค่อยๆ เข้าใจ ทุกท่านถึงฝั่งแน่นอนครับ ผมได้ความรู้จากการอ่าน และพอมาฟังธรรมะ ที่แสดงโดย อ. สุจินต์ในเว็บ บ่อยๆ ก็เข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเรื่องความต่างของสมถะ กะ วิปัสสนา เรื่องสมาธิ เข้าใจสมาธิมากขึ้น รู้จักสัมมาสมาธิว่าเป็นอย่างไรครับ

กราบอนุโมทนา ท่านอาจาย์สุจินต์ด้วยครับ

ศีล เอื้อให้เกิด สมาธิ

สมาธิ เอื้อให้เกิด ปัญญา

แนวปฏิบัติของผม ผมก็ได้จาก การอ่าน การฟังธรรมะจากทั้งพระและฆราวาส ท่านที่มีความรู้ต่างๆ แล้วเอามาพิจารณาใคร่ครวญอีกที เพราะก็ไม่ได้เชื่อหมดทันทีที่อ่านหรือฟังมา ต้องมาประมวลว่าที่เขาว่าเป็นจริงอย่างที่ว่ารึเปล่า เป็นความเข้าใจของตนเองอีกทีครับ

สรุป ไม่มีศีล สมาธิก็เกิดยาก

ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด

ก็ต้องรู้เป้าหมายก่อน แล้วหนทางจะตามมาครับ

ถือศีลไม่ใช่เพราะอยากได้บุญ แต่เพราะรู้คุณค่าของศีล ว่า ทำให้สมาธิเกิดง่าย ทำสมาธิก็ไม่ใช่เพิ่ออยากเห็น นรก สวรรค์ รึอยากได้บุญ แต่เห็นคุณค่าของสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อมีปัญญามากไว้อวดใคร แต่มีไว้เป็นอาวุธตัดกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ศึกษาธรรมะแล้วก็เข้าใจที่มาที่ไป ไม่มีสิ่งไหนเกิดขึ้นมาลอยๆ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ แม้แต่กระทั่งศีล สมาธิ ปัญญาก็ยังเป็นเหตุปัจจัยกันเลยครับ

ถ้ากิเลสตัวขี้เกียจเกิด ผมมักจะระลึกถึง พุทธพจน์นี้ครับ

ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้

ขอนุโมทนาธรรมทานของ อ.ผเดิม กับ อ.คำปั่น และในกุศลจิตทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 27 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 4

ขอร่วมสนทนาในประเด็นเรื่องนี้ด้วยครับ

ต้องเข้าใจก่อนครับว่า สมถะ ไม่ใช่สมาธิ และสมาธิไม่ใช่สมถะ สมถะ คือความสงบของจิตที่เป็นกุศล ส่วน สมาธิ หมายถึงความตั้งมั่นของจิต ซึ่งองค์ธรรมเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้น จึงตั้งมั่นในอกุศลและกุศลก็ได้ครับ ส่วนถ้ากล่าวเฉพาะสมถะ จะหมายถึง ความสงบ ที่เป็นกุศลเท่านั้นครับ

ดังนั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ มีการอบรมสมถภาวนา แต่เมื่อไม่มีการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เลย เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว ก็มีผู้ที่อบรมทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา หรือผู้ที่อบรมวิปัสสนาภาวนาอย่างเดียว เพราะการบรรลุธรรมไม่ได้หมายความว่าจะต้องอบรมสมถภาวนาก่อนจึงจะเจริญวิปัสสนาได้ พระอรหันต์ที่ท่านไม่ได้ฌาน แต่ท่านดับกิเลสได้มีอยู่ครับ ดังนั้น จึงต้องเข้าใจใหม่ว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องอบรมสมถภาวนา จึงจะอบรมวิปัสสนาได้ครับ

และที่สำคัญที่กล่าวว่า สมาธิ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ตามที่ได้เรียนไปแล้วครับว่า สมาธิองค์ธรรม คือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องทำสมาธิให้มีสมาธิ แต่ขณะที่เจริญวิปัสสนา คือสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ขณะที่สติและปัญญาเกิด ถามว่ามีสมาธิไหมขณะนั้น มีสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ สมาธินี้แหละที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น คือเอกัคคตาเจตสิก (สมาธิ) ที่เกิดกับกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาในขณะนั้น จะเห็นว่าเราจะต้องเข้าใจคำว่า สมาธิคืออะไร และขณะที่เจริญวิปัสสนามีสมาธิไหม ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ตามที่กล่าวแล้วว่า สมถะ ไม่ใช่สมาธิ สมถะ หมายถึงความสงบของจิตที่เป็นกุศล ดังนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสมถะไหมครับ มี ขณะนั้นจิตสงบ องค์ของสมถะ ก็คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นต้น ส่วนองค์ของวิปัสสนาที่เกิดในขณะนั้นก็คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

ดังนั้น

เราจะต้องเข้าใจใหม่ว่า สมถะ ไม่ใช่ สมาธิ

เข้าใจใหม่ว่า สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ

เข้าใจใหม่ว่า การเจริญปัญญา ไม่ใช่ต้องเจริญสมถภาวนาก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาได้ครับ

ขออนุโมทนาทุกท่านที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Yongyod
วันที่ 27 พ.ค. 2554

ขอขอบคุณ อ. ผเดิม ที่ให้ความละเอียดเกี่ยวกับคำว่า สมถะ สมาธิ และวิปัสสนา มากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเข้าใจต่อคำเหล่านี้ดียิ่งขึ้นครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 27 พ.ค. 2554

ตัวอย่างจากพระไตรปิฎก แสดงมิจฉาสมาธิไว้ดังนี้ค่ะ

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 15

[๒๙๔] มิจฉาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบสมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งมั่นผิด ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า มิจฉาสมาธิ มีในสมัยนั้น.

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
samroang69
วันที่ 28 พ.ค. 2554
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
captpok
วันที่ 28 พ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พรรณี
วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
intira2501
วันที่ 30 พ.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Khun
วันที่ 31 พ.ค. 2554

สาธุ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วินิจ
วันที่ 31 พ.ค. 2554

คห.4, 5 ล้วนต่างมีเจตนาดี, แต่อาจจะตีความภาษาต่างกัน, ขอร่วมเสวนาด้วยครับ ...

๑. คห.4 ช่วยให้รู้มุมมองธรรมะเพิ่มเติม, ขอเสริมคือ "สมถะ" เป็น "อุปการะ", "ศีล" และ "ปัญญา" ชำระกันและกันเหมือนล้างมือด้วยมือ, ล้างเท้าด้วยเท้า (พุทธวจนะ)

๒. คห.5, ผมเคยเข้าใจ "สมถะ" กับ "สมาธิ" ปนเปเหมือน คห.4 ครับ, แต่เมื่อได้ฟังการอธิบายแยกแยะก็ทำให้ชัดเจนขึ้นมาก, เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเด็นแตกต่างของ "สมถะ" และ "สมาธิ", ต่อไปอาจต้องใช้คำว่า "ศีล, สัมมาสมาธิ, ปัญญา" คือ "ศีล" และ "โยนิโสมนสิการ" จะเพิ่มพูน "สัมมาสมาธิ", และการใช้ สมาธิในเรื่อง "อกุศล" จะไม่ได้ก่อเกิด "ปัญญา"

ขอขอบคุณทั้ง ๒ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 1 มิ.ย. 2554

กุศลทุกอย่างเป็นสิ่งที่ควรเจริญ (รวมถึงสมถภาวนาด้วย) ค่ะ เพราะสติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา ผู้มีปัญญาจึงเห็นคุณของ กุศลกรรมทุกอย่าง ไม่เห็นสมถภาวนาว่าเป็น "ศัตรู" เพราะการเจริญกุศลทุกประการ เป็นการสั่งสมบารมีและธรรมอันเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในอนาคตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
วินิจ
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ขอโมทนาสำหรับ "กุศลความดี" ของคุณ "ไตรสรณคมน์" ที่ได้ "พากเพียรก้าวย่าง" ตามรอยบาทพระศาสดา,

ขอให้จำเริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นสืบไป ...

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
oj.simon
วันที่ 10 มิ.ย. 2554

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นที่ 14 ครับ

กุศลทุกอย่างเป็นสิ่งที่ควรเจริญ (รวมถึงสมถภาวนาด้วย) ครับ เพราะสติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา ผู้มีปัญญาจึงเห็นคุณของ กุศลกรรมทุกอย่าง ไม่เห็นสมถภาวนาว่าเป็น "ศัตรู" เพราะการเจริญกุศลทุกประการ เป็นการสั่งสมบารมี และธรรมอันเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในอนาคต สุดยอดครับ ที่ว่าผู้มีปัญญาจึงเห็นคุณของกุศลกรรมทุกอย่าง แต่อย่าไปหลงติดฤทธิ์ติดสุขในฌานนะครับ เพราะความเพลินจะทำให้ไม่มีสัมมาสติในการเข้าไปพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิดในจิตและเห็นธรรมในธรรม ที่จะนำไปสู่สัมมาทิฏฐิคือปัญญาต่อไป

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
captpok
วันที่ 30 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
p.methanawingmai
วันที่ 4 ม.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
worrasak
วันที่ 18 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
Jarunee.A
วันที่ 21 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ