ลาภต่อลาภ [มิจฉาอาชีวะ] เป็นเช่นไรครับ

 
tongfunny
วันที่  26 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18625
อ่าน  6,442

จากข้อความในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ 275 เรื่องมิจฉาอาชีวะ

อยากทราบว่าการเอาลาภต่อลาภ มีลักษณะเป็นเช่นไร ธุรกิจขายตรงที่ต้องคอยหาคนมาต่อเรามากๆ เพื่อเพิ่มรายได้ เข้าลักษณะนี้หรือไม่ ธุจกิจปล่อยเงินกู้เก็บดอกเบี้ยเข้าข่ายหรือไม่ โปรดช่วยอธิบายด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การเลี้ยงชีพผิด หมายถึง อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำ และคำพูดทุจริตเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพที่ผิด เช่น การเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ การพูดเท็จในขณะที่ค้าขาย เป็นต้น

สำหรับเพศพระภิกษุ ก็มีการเลี้ยงชีพ มิจฉาอาชีวะ คือเลี้ยงชีพผิด คือ ได้ปัจจัย 4 ด้วยการหลอกลอง และเป็นผู้ทำการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งลาภ สักการะและ สรรเสริญ อันเป็นกุหนาวัตถุ วัตถุของการหลอกลวง อันเป็นการเลี้ยงชีพผิดที่เป็น มิจฉาอาชีวะครับ ซึ่งพระธรรมได้แสดงถึงการหลอกลวงหลายประการที่ภิกษุได้ลาภ ปัจจัยและสักการะ สรรเสริญ อันได้มาด้วยการหลอกลวงคือ

1.พูดหลอกลวง

2.พูดเลียบเคียง

3.พูดยกยอ

4.การทำอุบายโกง

5.การแสวงหาลาภด้วยลาภ หรือ ที่เรียกว่า ลาภต่อลาภ

6.การหลอกลวงด้วยอิริยาบถ น่าเลื่อมใส เป็นต้น เพื่อได้มาซึ่งลาภ สักการะ

ดังนั้นทั้ง 6 ประการเป็นการเลี้ยงชีพที่ผิด เป็นอกุศลเพราะเป็นการหลอกลวง เป็นความ ไม่ตรง เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ลาภ สักการะด้วยวิธีประการต่างๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

การแสวงหาลาภด้วยลาภ หรือ ที่เรียกว่า ลาภต่อลาภ

เป็นการเลี้ยงชีพผิด (มิจฉา อาชีวะ) เพราะด้วยจิตที่ต้องการลาภ สักการะ สรรเสริญ ด้วยความไม่ตรง ด้วยการ หลอกลวง เช่น การนำของที่ตนได้มา ไปให้กับผู้อื่น ให้กับอุปฐาก ทำทีเหมือนเป็น การอนุเคราะห์ แต่ในความเป็นจริง ต้องการให้ผู้อื่น ให้ลาภ ปัจจัยกับตน เพิ่มขึ้น เพราะตัวเองได้ของมาก็นำของเล็กน้อย เพื่อต่อลาภ คือเพื่อความที่จะได้ลาภ ปัจจัย 4 มากขึ้นและเพื่อความต้องการให้ผู้อื่นยกย่อง เป็นต้นจากการให้ลาภนั้น ดังนั้นเริ่มจาก จิตที่ผิด คือ ความต้องการลาภ สักการะ ชื่อเสียง ก็ย่อมนำของที่ตนได้มา หรือ ของใน วัดไปให้กับคฤหัสถ์เพื่อเขาจะได้ให้เพิ่มนั่นเองครับ เป็นการให้ลาภต่อลาภ อันเป็นการ เลี้ยงชีพที่ผิดเพราะได้ปัจจัยมาโดยไม่บริสุทธิ์ครับ เป็นการแสวงหาลาภด้วยการหลอก ลวงนั่นเองครับ

ส่วนในเพศคฤหัสถ์ การเลียงชีพผิดก็มีหลายระดับ ซึ่งการเลี้ยงชีพที่ผิด โดยการ ประกอบอาชีพที่เนื่องกับการทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็เป็นมิจฉา อาชีวะ เป็นการเลี้ยงชีพที่ผิด เช่นกันครับ แต่โดยความละเอียด แม้การทำการหลอก ลวง เช่น การพูดเยินยอ การพูดหลองลวง พูดเลียบเคียง เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภ สักการะ สรรเสริญ จิตขณะนั้นไม่ตรงแล้ว ก็เป็นการได้มาซึ่งปัจจัย ลาภ สักการะที่ไม่บริสุทธิ์ ก็ย่อมเป็นโทษกับผู้กระทำเองครับเพราะเริ่มจากความไม่ตรง และในเรื่องการแสวงหา ลาภด้วยลาภ หรือ ลาภต่อลาภ ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน การที่ได้ทรัพย์จากผู้อื่นมา แล้วก็กล่าวด้วยวาจาว่าจะให้บุคคลนั้น จะเก็บไว้ให้บางส่วนเพื่อที่จะให้บุคคลนั้นภาย หลัง หรือทำการให้ทรัพย์เล็กน้อยเพื่อที่จะได้ทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วยจิตที่ไม่ตรง ด้วยจิตที่ ต้องการให้ได้ทรัพย์จากผู้นั้นไปตลอดหรือเพิ่มขึ้น ด้วยการแสวงหาลาภด้วยลาภ ลาภต่อลาภ อาศัยลาภที่ได้มาและให้หรือเก็บไว้ให้บางส่วน เพื่อจะได้ทรัพย์อีกก็ เป็นการแสวงหาลาภที่ผิด เกิดจากจิตที่ไม่ตรงด้วยการได้ปัจจัยมาไม่บริสุทธิ์นั่นเอง นี่ เป็นในชีวิตประจำวันครับ อันเป็นมิตรเทียมด้วยในขณะนั้น คือ เป็นมิตรปอกลอก คือ เสียให้น้อยแต่เพื่อต้องการให้ได้มาก ให้ได้ลาภ เงินและทอง สักการะไปตลอดนั่นเอง ครับ และ็เป็นมิตรที่คบเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น เป็นต้น และแม้การประกอบอาชีพ ให้ทรัพย์เล็กน้อยเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์มาก ด้วยจิตที่หลอกลวง ด้วยทำทีเหมือนเป็น ผู้ให้ อนุเคราะห์จริงๆ แต่ มีความต้องการลาภ สักการะ สรรเสริญ เงินทองจากบุคคลนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ดังนั้นที่เป็นการเลี้ยงชีพผิดเพราะเป็นการหลอกลวง ด้วยจิตที่หลอกลวง อันทำให้ ได้ทรัพย์หรือสิ่งต่างๆ มาด้วยความหลอกลวงทางกายและวาจา อันเนื่องกับอาชีพก็ เป็นมิจฉาอาชีวะเช่นกันครับ สำหรับการทำธุริกิจขายตรง หรือปล่อยเงินกู้ก็สำคัญที่ เจตนาเช่นกัน จะเป็นหรือไม่เป็นลาภต่อลาภก็สำคัญที่เจตนา

หากมี เจตนาหลอกลวงเพื่อให้ได้ทรัพย์มา โดยการให้ทรัพย์และหวังเพื่อให้ได้มามากๆ ไม่ได้มีเจตนาหวังดี กับคนที่ให้กู้ แต่ทำทีเหมือนเป็นการช่วยเหลือ แต่หวังลาภมากๆ ด้วยดอกเบี้ยสูงๆ นั่น เป็นการหลอกลวงแล้วในขณะนั้น ก็ย่อมเป็นการให้ลาภต่อลาภ ก็เป็นการเลี้ยงชีพที่ผิด ได้ หากเนื่องกับการประกอบอาชีพ และจิตขณะนั้นไม่ตรงเลยครับ เป็นอกุศลครับ สรุปคือ ลาภต่อลาภ คือ เจตนาหลอกลวงด้วยการให้สิ่งบางอย่างเพือให้ได้มาซึ่ง ลาภมากๆ ขึ้น อันมีเจตนาหลอกลวงเหมือนเป็นผู้ให้ ผู้อนุเคราะห์ แบ่งปันจากลาภที่ ได้มานั่นเองครับ

การศึกษาพระรรม ประโยชน์คือ เป็นผู้ขัดเกลากิเลา ด้วยความจริงใจ และเห็นโทษ ของอกุศลเพียงเล็กน้อย ในชีวิตประจำวันตามกำลังของปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น การขัดเกลากิเลสก็มากขึ้น แม้แต่เรื่อง ลาภต่อลาภครับ ความเป็นผู้ตรงและปัญญา เท่านั้นที่จะช่วยขัดเกลากิเลสประการต่างๆ ครับ ดังนั้นผู้ได้สาระจากพระธรรมคือผู้ที่ เห็นโทษของกิเลสและน้อมประพฤติปฏิบัติตามอันเกิดจากความเข้าใจพระธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 50

บรรดากิริยาเหล่านั้น การหาลาภด้วยลาภเป็นไฉน? ภิกษุเห็นแก่ลาภสักการะและความสรรเสริญ มีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำ ย่อมนำอามิสที่ตนได้แต่เรือนนี้ไปที่เรือนโน้นหรือนำอามิสที่ตนได้ในที่โน้นมาในที่นี้ การใฝ่หา เสาะหา แสวงหาอามิสด้วยอามิสเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า "การหาลาภด้วยลาภ * ."


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 84

กถาว่าด้วยมิตรเทียม

[๑๘๗] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนปอกลอกท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เป็นคนติดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ๑ ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑. คฤหบดีบุตร คนปอกลอกท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tongfunny
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณมากเลยครับ ละเอียดและกระจ่าง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาแด่คุณ paderm ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจความจริง แม้แต่ในเรื่องของการประกอบอาชีพทุจริต (ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ที่ทุจริตอันเนื่องด้วยอาชีพหรือการเลี้ยงชีพ ชือว่า มิจฉาอาชีวะ) พระองค์ก็ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่เพื่อให้กระทำในสิ่งเหล่านี้ แต่เพื่อให้เห็นโทษของกุศลธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ละเว้นเพราะเหตุว่า ทุจริตประการต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้แต่เพียงการแสวงหาลาภด้วยลาภ (เอาลาภต่อลาภ) เกิดขึ้นได้เพราะอะไร? ถ้าไม่มีความติดข้องต้องการแล้ว ก็คงจะไม่กระทำอย่างนั้น แต่เพราะยังมีกิเลสอยู่ จึงมีความประพฤติเป็นไปเช่นนั้น การกระทำที่น่าเกลียด การกระทำร้ายๆ เกิดขึ้นได้เพราะกิเลส มีโลภะ เป็นต้น ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว กิเลสทุกอย่างทุกประการ น่ากลัวทั้งหมด จะเห็นได้ว่าชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือวาจา หรือใจ ก็ย่อมประกอบไปด้วยกิเลสนานาประการมากมาย ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็อาจจะไม่รู้เลยว่ามากไปด้วยกิเลส ตามความเป็นจริงแล้ว กิเลสเป็นภัย นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่เคยนำประโยชน์อะไรมาให้เลย ควรอย่างยิ่งที่จะละเว้นให้ห่างไกล กิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ ที่สำคัญใครๆ ก็ละให้ไม่ได้ ต้องเป็นตัวเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาแก้ไข ละคลาย และใส่ใจอยู่เสมอว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งไม่ดีนั้น ไม่ควรจะสะสมให้มีบ่อยๆ ดังนั้น การที่จะละคลาย หรือจะดับกิเลสได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ตรงต่อกุศลธรรม ตรงทั้งทางกาย ทางวาจา ซึ่งมาจากจิตใจที่ดีงาม นั่นเอง ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ถ้าไม่ฟังธรรม ทุกวัน ทั้งวัน ก้เต้มไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แต่อาศัยการ ฟังธรรม ทำให้ เกิดปัญญาเห็นโทษของอกุศลว่าควรละ เห็นประโยชน์ของกุศลควร เจริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องหนทางการเจริญสติปัฏฐานค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
tongfunny
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมครับ เดี๋ยวนี้มีหลายอาชีพที่ทันสมัยและซับซ้อน เช่น บริษัทหรือเจ้าของธุรกิจหรือระบบธุกิจ เป็นคนจัดการให้และถูกออกแบบมาแล้ว เป็นอย่างดีสำหรับขั้นตอนการทำธุรกิจ ความสลับซับซ้อนของโครงสร้าง รวมถึงการ จ่ายรายได้ให้กับผู้เข้ามาร่วมธุรกิจเป็นทอดๆ ทำให้ดูเหมือนว่าผู้เข้าร่วมธุรกิจแทบไม่ ได้ชวนใคร หรือชวนแต่ก็ไม่ได้เก็บส่วนแบ่งจากคนที่ถูกชวนมาต่อ เพราะบริษัทเป็นผู้ ชำระเงินในส่วนต่างๆ ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นรายได้หรือเปอร์เซ็น ทำให้คนที่ทำงาน แบบนี้บางคนอาจคิดได้ว่า ไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่ได้ไปหลอกใคร เพียงแค่ทำตามโครง สร้างของระบบที่มีอยู่แล้ว จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นว่าธุรกิจแบบนี้ ถูกต้องตามหลักศาสนา พุทธจริงหรือ

งานหนึ่งที่ผมเรื่มทำตอนนี้ ไม่ใช่งานขายตรง แต่เป็นงานหารายได้ทางอินเตอร์ เน็ตที่คลิกดูโฆษณาแล้วได้เงิน แล้วก็ลงทุนเช่าคนอื่นมาช่วยคลิ๊กอีกเพื่อเพิ่มรายได้ ผมไม่ได้ชวนใครเลย ไม่ได้จ่ายเงินใครด้วย นอกจากเจ้าของเว็บเท่านั้น ที่เหลือระบบ ทำหน้าที่หมด มันทันสมัยมากๆ เลย จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นว่าผิดหลักศาสนาพุทธหรือไม่ นี่เป็นความคิดเห็นตามประสบการณ์ของผมนะครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

ธุรกิจใดที่ไม่เป็นไปในการหลอกลวง และไม่เป็นไปในการผิดศีล รวมีั้งไม่ใช่อาชีพ 5 ประการที่พระุพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ ไม่ควรประกอบก็ไม่ผิด แต่ธุรกิจใด มีเจตนา หลอกลวงทุจริต จะโครงสร้างแนบเนียนอย่างไรก็ตาม แต่เจตนาไม่เปลี่ยน คือ มี เจตนาทุจริตแล้ว เช่น เจตนาหลอกลวง รวมทั้งเข้าค่ายผิดศีลและอยู่ในอาชีพที่ไม่ ควรประกอบ 5 ประการก็เป็นอาชีพที่ไม่ดีครับ ซึ่งขัดกับหลักคำสอนของพระพุทะเจ้า เพราะป็นอกุศลนั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่.. อาชีพที่ไม่ควรประกอบ [วณิชชสูตร]

ส่วนตัวเราเองที่ทำงานก็ขึ้นอยู่กับเจตนาด้วย และถ้าไม่มีเจตนาหลอกลวงและ ไม่ประพฤติผิดศีล อันเนื่องด้วยอาชีพก็ไม่ผิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

การผลิตสินค้าเพื่อขายก็ดี การซื้อสินค้ามาแล้วขายไปก็ดี ตามปรกติก็ต้องเอา กำไรบ้างใช่ไหมครับ ทีนี้การเอากำไรนั้น เอาแค่ไหนเพียงไรไม่เป็นมิจฉาอาชีวะ และแค่ ไหนจึงเป็นมิจฉาอาชีวะ มีหลักธรรมกำหนดไว้หรือเปล่า หรือว่าการเอากำไรไม่ว่าจะด้วย วิธีการใดๆ ถือว่าเป็นมิจฉาอาชีวะทั้งสิ้น

คือกระผมนึกถึงท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านเป็นพ่อค้า เรียกตามคำสมัยนี้ก็คือเป็น นักธุรกิจ ท่านก็ต้องมีวิธีหากำไรจากธุรกิจ แต่ท่านก็เป็นโสดาบันด้วย จึงน่าสงสัยว่า ธุรกิจที่ต้องทำกำไร กับความเป็นพระอริยบุคคลนั้นจะไม่ขัดแย้งกันหรือ กระผมว่าถ้า อธิบายตรงจุดนี้ได้ ก็น่าจะช่วยขจัดข้อสงสัยเรื่องลาภต่อลาภ หรือมิจฉาอาชีวะได้อีก แนวหนึ่ง

ขอขอบพระคุณที่จะกรุณาให้หลักความรู้ที่ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

มิจฉาอาชีวะ เป็นการประพฤติทุจริตทางกายและวาจา อันเนื่องด้วยอาชีพ ดังนั้น จึงต้องมีเจตนาที่ทุจริต หลอกลวงเป็นต้นครับ จึงเป็นมิจฉาอาชีวะ ส่วนผู้ประกอบ อาชีพสุจริต ไม่ได้หลอกลวง มีโลภะที่เป็นเพียงต้องการกำไร แต่ไมได้มีเจตนา หลอกลวง ด้วยทุจริต อันไม่ยุติธรรมกับสิ่งที่ขายก็ไม่ใช่มิจฉาอาชีวะครับ เพราะไม่มี เจตนาทุจริต หลอกลวงนั่นเอง ท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านก็เป็นพ่อค้า ท่านก็ยังมีโลภะ แต่ท่านไม่มีเจตนาทุจริต หลอกลวง ผู้ซื้อเลย จึงไม่เป็นมิจฉาอาชีวะครับ ต่างจาก การประกอบอาชีพที่มีเจตนา หลอกลวง ทุจริต กับคนซื้อ เช่น ธุนกิจ การซื้อของ ระดมทุนลูกโซ่ โดยการหลอกให้ผู้ซื้อ ซื้อของตามจำนวนวงเงินหนึ่งหมื่น และก็ ระดมทุนซื้อหลายๆ คนเป็นลูกโซ่และก็มีการปันผล แจกเป็นรถเบนซ์ บ้าง เพราะอาศัย การระดมทุนของผู้ซื้อมากๆ นั่นเอง ผู้ขาย ผู้ประกอบอาชีพก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก อาศัยลาภต่อลาภ ก็ทำให้ทำกำไรมาหศาลกับผู้ขาย ผู้ประกอบอาชีพ ส่วนของที่ผู้ซื้อ ที่ได้จากวงเงิน หนึ่งหมื่นบาท ก็เป็นของคุณภาพต่ำ และก็เป็นลูกโซ่ สุดท้ายธุรกิจนั้น ก็ไปไมได้ ก็ทำให้เจ๊งไป วงเงินบางส่วนก็เป็นของผู้ประกอบอาชีพและหนีไป นี่แสดง เห็นเจตนา ลาภต่อลาภ และมีเจตนาทุจริต หลอกลวงครับ จึงเป็นมิจฉาชีวะ อันเป็น การกระทำทางกายและวาจาที่ทุจริตอันเนื่องด้วยอาชีพนั่นเองครับ จึงสำคัญที่เจตนา เป็นสำคัญว่าหลอกลวง ทุจริตหรือไม่ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

สำคัญที่ "เจตนา"เจตนาของตน...รู้ได้เฉพาะตน.ข้อความบางตอนจากกระดานสนทนา

ความสันโดษ...ตอนที่ ๑

พระธรรมทั้งหมด...ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดง เพื่อให้ "เห็นโทษของความติดข้อง" พระผู้มีพระภาคฯทรงสอน เพื่อที่จะให้ถึง...."ความไม่มีโลภะ"
แต่ ยากแสนยาก ที่ใคร...จะ ไม่มีโลภะเลย.!

เพราะฉะนั้นจะต้อง เป็นไป "ตามลำดับ"การที่จะไป เริ่ม ตั้งแต่ ที่จะ "ไม่ให้มีโลภะ" นั้นเป็นไปไม่ได้.! แต่ ให้ "มีความพอใจในสิ่งที่มี" ซึ่ง ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ทำอะไรเลย....เพื่อจะได้มี "สิ่งที่เจริญ" และ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้ทำอะไร..."ที่เจริญ"อย่างที่ชาวโลกคิดว่า ควรจะทำ.!แต่ หมายความว่า "มีความพอใจ".......เท่าที่จะสามารถหรือ สมควร ตามเหตุ ตามปัจจัยหรือ เท่าที่ "กรรม" จะเป็น "ปัจจัย" ให้มี และ ให้เป็นไป อย่างนั้นๆ ได้. ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ