เดี๋ยวนี้จะส่งเสริมให้ทำบุญเพื่อชำระหนี้สงฆ์กันมากค่ะ ไม่ชำระจะตกนรกมั้ยค่ะ
เดี๋ยวนี้จะส่งเสริมให้ทำบุญเพื่อชำระหนี้สงฆ์กันมากค่ะ ไม่ชำระจะตกนรกมั้ยคะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ชำระหนี้สงฆ์ ไม่มีในพระธรรม ไม่มีในพระไตรปิฎกครับ ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าคฤหัสถ์จะเป็นหนี้ของสงฆ์เลยครับ แต่หากมีการยืมของวัด ที่เป็นของสงฆ์นั้น ก็ควรนำมาคืน หรือ ถ้าทำเสียหายก็ใช้คืนให้เหมาะสม แต่ถ้ารู้อยู่ว่าเอาของวัดไปและไม่ใช้คืน อย่างนี้เป็นอกุศลกรรม ตกนรกได้ครับ แต่ถ้าเราไม่ได้ยืมของวัด เป็นต้น ก็ไม่ได้เป็นหนี้สงฆ์ที่จะต้องชำระหนี้สงฆ์ครับ
ดังนั้นการไม่ชำระหนี้สงฆ์ตามความเชื่อในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ทำให้ตกนรกอะไร เพราะการตกนรก คือ การทำอกุศลกรรม แต่การไม่ทำบุญชำระหนี้สงฆ์ ไม่ได้ทำอกุศลกรรมใดๆ เลยครับ
ที่สำคัญ การมีความเห็นถูก ว่าการทำบุญชำระหนี้สงฆ์ไม่มี และประพฤติถูกต้อง คือ งดเว้นไม่ทำการชำระหนี้สงฆ์ นั่นก็เท่ากับว่าเป็นความเห็นถูก เป็นกุศลด้วย และก็เป็นการรักษาพระศาสนาให้ดำเนินไปในทางที่ถูกด้วยครับ ก็แทนที่จะตกนรกเพราะไม่ทำ ก็ไปสุคติได้เพราะการไม่ทำเพราะมีความเห็นถูก เป็นปัจจัยนั่นเองครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
เมื่อพูดถึงเรื่องหนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวในความละอียดเรื่องของหนี้
ตามที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ครับ
หนี้คือสิ่งที่ต้องชดใช้ ซึ่งตามความเข้าใจทั่วไปแล้ว เราก็เป็นหนี้บุญคุณของผู้มีพระคุณ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องหนี้ การใช้หนี้ของผู้มีพระคุณมีบิดา มารดา เป็นต้น ไว้น่าฟังดังนี้ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกแขกเต้า เมื่อบิดา มารดาแก่เฒ่า ก็บินไปออกหาอาหารมาให้ พระโพธิสัตว์บินไปกินข้าวสาลีและคาบมาด้วยเพื่อให้ บิดา มารดาได้กินด้วย แต่ตัวอื่นกินอย่างเดียวไมได้คาบมาให้ใคร ต่อมาพระโพธิสัตว์ถูกจับ จึงได้ถูกถามว่าทำไมท่านจึงคาบข้าวสาลีเอากลับไปด้วยเพราะอะไร พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า
ข้าพเจ้านำเอาข้าวสาลีของท่านไปถึงยอดงิ้วแล้ว ก็เปลื้องหนี้เก่า ให้เขากู้หนี้ใหม่ และฝังขุมทรัพย์ไว้ที่ ป่างิ้วนั้น ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด.
บุคคลนั้นถามว่า เปลื้องหนี้เก่าคือะไร ให้เขากู้หนี้ใหม่คืออะไร ฝังขุมทรัพย์คืออะไร พญานกแขกเต้า ถูกพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เมื่อจะพยากรณ์ปัญหาได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า
ข้าแต่ท่านโกสิยะ บุตรน้อยทั้งหลายของข้าพเจ้ายังอ่อน ขนปีกยังไม่ขึ้น บุตรเหล่านั้นข้าพเจ้าเลี้ยงมาแล้ว เขาจักเลี้ยงข้าพเจ้าบ้าง เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงชื่อว่าให้บุตรเหล่านั้นกู้หนี้ มารดาและบิดาของข้าพเจ้าแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว ข้าพเจ้าคาบข้าวสาลีไปด้วยจะงอยปาก เพื่อท่านเหล่านั้นชื่อว่าเปลื้องหนี้ที่ท่านทำไว้ก่อน อนึ่ง นกเหล่าอื่นที่ป่าไม้งิ้วนั้น มีขนปีกอันหลุดหมดแล้ว เป็นนกทุพพลภาพ ข้าพเจ้าต้องการบุญ จึงได้ให้ข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่า เป็นขุมทรัพย์ การให้กู้หนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ การเปลื้องหนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าบอกการฝังขุมสมบัติไว้เช่นนี้ ข้าแต่ท่านโกสิยะขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด.
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...
หนี้ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นสัจจะ แต่เมื่อว่าสภาพธรรมที่เป็นจริง เป็นสัจจะแล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ขณะที่เป็นหนี้คือขณะที่ทำอกุศลกรรม ทำบาป เพราะต้องตามใช้หนี้ คือเกิดอีกและได้รับทุกข์ ทุกข์ที่เดือดร้อนทางใจและทางกาย ทั้งเป็นปัจจัยให้ไปอบายภูมิ อันเป็นคุกที่น่ากลัว การจะไม่ให้มีหนี้คือ อกุศลกรรม คือ ดับเหตุให้เป็นหนี้ คือ กิเลส ทาน ศีล สมถภาวนา ดับกิเลสไม่ได้ ต้องเป็นวิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) การเจริญอบรมปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เป็นหนทางเดียวที่จะชำระหนี้ เพราะเมื่อดับกิเลสหมด ย่อมไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอีก จึงไม่เป็นปัจจัยให้หนี้คือ อกุศลกรรมที่ทำไว้ให้ผลได้เลย นี่คือหนทางเดียวของการชำระหนี้จริงๆ
ขออนุโมทนา
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 665
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้นั้นแล เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรมไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกายวาจา ใจ เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขาว่า เป็นการกู้ยืม เขาย่อมตั้งบุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วย
ขออนุญาตนำคำพูดท่านอาจารย์สุจินต์ซึ่งมีประโยชน์ในเรื่องการชำระหนี้ครับ
เมื่อมีผู้ถามเรื่องการชำระหนี้ ท่านอาจารย์ตอบว่า
ผู้ถาม หนี้สินอื่นก็ได้ชำระหมดแล้ว แม้แต่หนี้ชีวิตก็ชำระกันไปบ้าง ในชาตินี้ผมเองก็ไม่ได้มีหนี้อะไรกับใคร
สุ. จริงหรือคะ ถ้ามีกิเลส แล้วยังมีหนี้นะคะ
ผู้ถาม กำลังจะถามอาจารย์ว่า มีเหลือแต่หนี้กิเลส ถ้าจะชำระกันแล้ว วันหนึ่งถ้าทำบัญชีรับจ่ายแล้ว ก็ขาดดุลทุกวัน มากมายเหลือเกิน แล้วจะชำระอย่างไรครับ
สุ. จะเอาศรัทธาที่ไหนมามากๆ จะเอาสติที่ไหนมามากๆ จะเอาวิริยะที่ไหนมามากๆ จะเอาปัญญาที่ไหนมามากๆ ต้องค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย ทีหนี้ยังมีทีละเล็กทีละน้อย จนหนาแน่น เพราะฉะนั้น เวลาจะชำระหนี้ ก็ต้องหาทรัพย์ คือ อริยทรัพย์ ได้แก่ ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา ที่เกิดในขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชำระหนี้ไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย โดยระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ดีค่ะ ที่จะรู้สึกตัวว่า ยังเป็นหนี้อยู่ เพื่อที่จะได้ชำระหนี้ ถ้าไม่รู้ตัวว่าเป็นหนี้ ก็จะไม่ชำระหนี้ ใช่ไหมคะ ก็พอกพูนไป แต่ว่าเรื่องการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่ยาก แต่เป็นเรื่องที่รู้ได้จริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นสัจธรรม เป็นของจริงที่สามารถพิสูจน์ได้
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาในธรรมทานของอาจารย์ค่ะ
กราบขอบพระคุณค่ะ ดิฉันยังอ่านไม่ละเอียดค่ะ ต้องไปธุระนอกบ้าน
ขอมาอนุโมทนาก่อนค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การจะไปเกิดในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้นนั้น ต้องมีเหตุ คือ การกระทำอกุศลกรรมมีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ซึ่งผู้ที่่ยังมีกิเลสอยู่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้นว่าอะไร เป็นสิ่งที่ควร ไม่ควร อะไร เป็นสิ่งที่มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็จะค่อยๆ ละคลายในสิ่งที่ไม่ดี แล้วน้อมประพฤติแต่สิ่งที่ดีงามเพิ่มมากยิ่งขึ้น พระธรรมให้คุณประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้นจริงๆ ท่านอาจารย์สุจินต์เคยกล่าวเตือนให้ได้คิดพิจารณาว่า "เมื่อรู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้ว เราจะทำให้ถูกต้องขึ้น หรือว่าเราจะทำผิดต่อไป?" เป็นข้อคิดเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาและขอบคุณทุกท่าน
สำหรับเรื่องหนี้สงฆ์นั้น ทุกท่านคงเข้าใจแล้วว่าไม่มีในพระไตรปิฎก ในอีกมุมมองหนึ่ง เข้าใจเองว่าพระสงฆ์ ในปัจจุบันขาดบริษัทอื่นๆ ไปดูแลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าต่างๆ ในสมัยโบราณนั้น ในแต่ละชุมชนเขามีพุทธบริษัทช่วยกันดูแลในสิ่งที่จำเป็นของวัดและพระสงฆ์ สำหรับปัจจุบัน ก็แล้วแต่สภาพวัดและพระในวัด วัดเลยต้องหารายได้ เช่น ตู้รับบริจาค ผ้าป่า กฐิน สร้างวัตถุมงคลกลายเป็นการค้าขาย ข้อนี้จะตำหนิฝ่ายพระและวัดส่วนเดียวมิได้เพราะวัดและพระมีค่าใช้จ่าย พุทธบริษัทน่าจะหันมาพิจารณาว่าตนได้ทำหน้าที่พุทธบริษัทได้ถูกต้องตามพระรรมวินัย การสร้างบุญกิริยาวัตถุ สิบประการนั้น เราควรสอดส่องดูแลประจำว่า ได้กระทำเป็นที่เหมาะสมต่อตนเองและสังคมพุทธแม้ว่าบัดนี้มีวัดถึง สามสี่หมื่นวัด ก็ยังมีข่าวจะสร้างวัดเพิ่มแต่มิทราบว่าจะเข้าถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างวัดหรือไม่
ขออนุโมทนา
พระพุทธเจ้าทรงฝากพระธรรมให้เราเป็นหลักยึดเพื่อศีกษาและปฏิบัติชีวิตให้ไปตามคำสั่งสอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหัวหน้าครอบครัว สมควรเน้นย้ำให้สมาชิกเข้าถึงพระธรรมที่ถูกต้องเนืองๆ บ่อยๆ จากที่สังเกต ภาพของมศพ. สมาชิกที่มาร่วมกิจกรรมที่เป็นเยาวชนมีน้อย บางองค์กรอิสระที่เกี่ยวกับการอบรมธรรม เริ่มต้นสอนธัมมะไม่ทันไร ก็ให้วิปัสสนาทำจงกรม หลับตาสมาธิ ข้อนี้ มิทราบว่าท่านวิทยากรและสมาชิกที่เข้าอ่านจะมีความเห็นอย่างไร สำหรับดิฉันคิดว่า การทำสมาธิทางโลกีย์พอทำได้ แต่หากว่าจะทำสมาธิขั้นโลกุตตรนั้น ปุถุชนแบบเราๆ น่าจะต้องสิกขาพระธรรมให้ลึกซึ้งมากๆ นานๆ ก่อนจะดีกว่าไหมคะ
เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ
ตามความเห็นที่ คุณ homenumber5 กล่าวไว้ถูกต้องแล้วครับ พระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง การจะให้ทำอะไร ไม่ว่าเรื่องอะไร ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้องในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้ถึงจะดำเนินไปแนวทางที่ถูกต้องได้ คือ เริ่มจากความเห็นถูก ปัญญาเป็นหลัก โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ หากไม่เริ่มจากความเข้าใจ แต่จะทำ โดยไม่รู้ในสิ่งที่กำลังทำ นั่นก็ไม่ใช่ความเห็นถูกครับ แม้แต่เรื่องสมาธิ หากเข้าใจการปฏิบัติว่าคือการนั่งสมาธินั่นก็ไม่ตรงแล้วครับ เพราะฉะนั้น หากเป็นการนั่งสมาธิเพราะคิดว่าเป็นวิธิการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาโดยไม่ได้เริ่มจากการศึกษาให้เข้าใจ ก็ไม่ควรจะทำในทุกๆ กรณีครับ เพราะเท่ากับว่าสะสมความไม่รู้ และความเห็นผิดไปเรื่อยๆ นั่นเองครับ ดังนั้นอาศัยการศึกษา ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ธรรมจะปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเรา ไม่ต้องไปนั่งปฏิบัติเลยเพราะปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ถึงการปฏิบัติ คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ครับ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมจึงเป็นเบื้องต้น อันนำไปสู่การปฏิบัติถูกครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ
ขออนุญาตร่วมสนทนาในความเห็นที่ 8 ครับ
สำหรับกระผมมีความคิดว่า ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในวัด ที่ถูกนั้นไม่สมควรที่พระภิกษุจะเป็นคนทำ เป็นคนจัดหารายได้เอง แม้วัดจำเป็นจะต้องใช้ค่าใช้จ่าย แต่พระภิกษุที่ประพฤติถูกต้องตามพระวินัยแล้ว ท่านจะไม่กระทำการหาเงิน ทำกฐิน ทำตู้จัดหารายได้เองเด็ดขาด แต่ท่านก็สามารถบอกคฤหัสถ์ได้ในบางเรื่องที่จะช่วยดูแลจัดการในเรื่องนี้ โดยไม่ใช่ตัวท่านเองที่จะไปทำครับ และแม้ว่าจะมีความจำเป็นอย่างไร พระภิกษุที่ประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อบัญญัติพระวินัย ท่ายอมสละชีวิต ดีกว่าท่านจะละเมิดสิกขาบทด้วยความจงใจทำครับ ดังนั้นเมื่อบวชแล้ว การประพฤติตามพระวินัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ และพระศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองไม่ใช่ที่จำนวนของวัดวาอาราม แต่พระศาสนาอยู่ที่ใจของแต่ละบุคคลที่มีความเข้าใจพระธรรมคำสอนและน้อมประพฤติปฏิบัติตามครับ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะหารายได้เพิ่มเพื่อจะสร้างวัดมากมาย หรือบูรณะในสิ่งที่เกินเลยครับ เพราะกิจที่สำคัญที่สุดของพระภิกษุคือการอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส โดยมีการประพฤติตามพระวินัยบัญญัติเป็นสำคัญครับ ดังนั้นความจำเป็นจึงต้องพิจารณาถึงความถูกต้องและตรงตามพระวินัยโดยไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทด้วยครับ
เป็นบทสนทนาที่น่าสนใจมาก ควรแก่การพิจารณาและทำความเข้าใจให้ละเอียดลึกซึ้ง
ขออนุโมทนาค่ะ ...
พระศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองไม่ใช่ที่จำนวนของวัดวาอาราม แต่พระศาสนาอยู่ที่ใจของแต่ละบุคคลที่มีความเข้าใจพระธรรมคำสอนและน้อมประพฤติปฏิบัติตามครับ
กราบอนุโมทนาอาจารย์ค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูงที่ได้อธิบายให้เข้าใจค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
เรียน ท่านวิทยากรและสมาชิก
พุทธศาสนิกชนล้วนปรารถนา โลกุตตรธรรม การได้ถึงโลกุตตรธรรม ต้องสิกขาพระไตรปิฎกให้ลึกซึ้ง และ ที่ศาสนิกจะทำได้ดีที่สุด ดิฉันคิดว่า คือ การปฏิบัติตามพระวินัยปิฎก ๒๑๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่ย่อมาเป็นภิกขุปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อเท่านั้น
พุทธบริษัท ๔ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้ปฏิบัติตามวินัยทั้งพระและฆราวาส การสิกขาให้เข้าใจลึกซึ้งเท่านั้นจึงจะสร้างกุสลให้ถูกต้องตามพระวินัย อาทิการบำรุงพระพุทธศาสนา หากศาสนิกปรารถนาให้พระท่านปฏิบัติตรงตามวินัย ศาสนิกต้องสิกขาพระวินัยสงฆ์ด้วยว่า ข้อใด ก่อให้ท่านอาบัติ ปราชิก สังฆาทิเสส เช่น
ท่านทราบไหมว่าสตรีไม่สมคววรขึ้นลงลิฟท์กับพระภิกษุโดยลำพัง ฆราวาสไม่ถวายสิ่งของที่ปรากฏรูปสตรี หมอนข้าง ของใช้ ต้องมีสีจีวรหรือขาว ดำ เช่นร่มดำไม่มีลาย รองเท้าดำ น้ำตาล ผ้าห่มสีจีวร สีขาว
ไปวัดที่ไหนที่ปรารถนาจะอุปัฏฐาก โปรดเรียนถามเจ้าอาวาสว่า วัดยังขาดสิ่งใด เช่น ห้องน้ำ ของใช้ ศาลา พระไตรปิฎก แล้วฆราวาสเป็นผู้ดำเนินการ อย่าให้ พระต้องดำเนินการทางโลก ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องช่วยกัน
หลังเพลแล้วไม่ควรถวายอาหาร สิ่งใดๆ เพราะจะเป็นภาระแก่ท่านในการจัดการนอกจากน้ำปานะที่ถูกต้องตามวินัย ลองนึกดูว่าเวลา เราถูกห้ามรับอาหารหรือเครื่องขบเคี้ยวต่างๆ แต่ต้องรับเพราะคนให้ไม่รู้ แล้วคนรับจะต้องหาวิธีจัดการกับสิ่งของเหล่านั้น ทำให้เสียเวลาไปสิกขาธรรม แล้วคนให้จะได้บุญหรือไม่ การทำบุญจึงต้องรู้วินัยสงฆ์ ว่าควร ถวายสิ่งใด เวลาใด ไม่ควรอ้างว่า ไม่มีเวลา เช้าๆ ไปทำงาน ขอมาทำบ่ายเป็นต้น
เวลาที่พระท่านอาพาธอยู่โรงพยาบาล ท่านสมควรรับอาหารตามแพทย์สั่ง ฆราวาสไม่สมควรนำอาหารตามใจชอบไปถวายเพราะทำให้พระท่านได้อาหารที่ไม่เหมาะกับโรค และควรไปกราบท่านตามเวลาที่โรงพยาบาลอนุญาต เพราะเวลาอื่นๆ เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลต้องถวายการดูแลรักษาพระอาพาธ หากมีฆราวาสมากราบเยี่ยมเยียน ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ต่อเนื่อง จะกลายเป็นอกุสลมากกว่า
เห็นว่า การที่ศาสนิกขาดการสิกขาจะสร้างกุสลก็ได้กุสลน้อยหรือไม่ก็ไม่ได้กุสล หากว่าทั้งพระทั้งฆราวาสไม่รู้วินัยเลย อกุสลยิ่งเกิดขึ้นมากกว่าเสียอีก
เบื้องต้นจึงเรียนศาสนิกว่าควรหาความรู้เรื่องวินัยสงฆ์ มาอ่านกันดูก่อนที่จะสร้างกุสลใดๆ จะดีกว่า จะกราบเรียนถามพระผู้รู้เข้าใจพระวินัยก่อนก็ได้ หรือจะมาถามในเว็บนี้ คิดว่ามีท่านวิทยากรตอบได้แน่นอน
ขออนุโมทนา
อนุโมทนาสาธุที่ได้อ่านและรับฟังความถูกต้องที่คาใจมานานแล้ว