บุญและบาป

 
miran
วันที่  31 ส.ค. 2554
หมายเลข  19620
อ่าน  12,863

ขอคำอธิบายว่า บุญและบาปเกิดขึ้นได้อย่างไร ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สภาพธรรมทั้งหลาย ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยประการต่างๆ จึงเกิดขึ้น

บุญและบาปก็เช่นกัน จะมีเกิดขึ้นได้ ก็ต้งอาศัยเหตุ ปัจจัยต่างๆ จึงเกิดขึ้นครับ

บุญคือสภาพธรรมที่ชำระล้างสันดาน บุญก็คือสภาพธรรมฝ่ายดี คือ กุศลนั่นเองครับ

ส่วนบาป คือ สภาพธรรมฝ่ายไม่ดี

บุญและบาป ก็คือ กุศลจิต และ อกุศลจิตที่เกิดขึ้น อันประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีและ

เจตสิกฝ่ายไม่ดี จึงเป็นบุญ กุศล หรือ เป็นบาป เป็นอกุศลครับ

บุญและบาปเกิดขึ้นได้อย่างไร

สภาพธรรมทั้งหลาย ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ จึงเกิดขึ้น แม้บุญ และบาป

คือ กุศล หรือ อกุศลจะเกิดขึ้นได้ก็มีหลากหลายนัย ขออธิบายดังนี้ครับ

นัยที่ 1 บุญ หรือ บาปจะเกิดขึ้นได้เพราะมีสภาพธรรมที่มีจริง คือ ขันธ์ 5 คือ จิต เจตสิก

รูป ครับ เพราะถ้าไม่มีจิต ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของบุญและบาป เพราะบุญและบาป ก็คือ จิต

ที่ดีและจิตที่ไม่ดีนั่นเอง เพราะมีเจตสิก บุญและบาปถึงมีได้ เพราะถ้าไม่มีเจตสิก

ประเภทต่างๆ จิตก็เกิดไม่ได้ เพราะจิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยเจตสิกครับ และจะเป็น

บุญ เป็นกุศล ก็ต้องประกอบด้วย เจตสิกที่ดีงาม มีศรัทธาเจตสิก เป็นต้น และจะเป็น

บาป เป็นอกุศลจิต ก็ต้องอาศัย เจตสิกทีเกิดขึ้น ที่เป็นเจตสิกที่ไม่ดี มี โมหเจตสิก

เป็นต้น ครับ และเมื่อกุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีที่เกิดของจิต ที่เรียกว่า

วัตถุ ดังนั้น กุศลจิตและอกุศลจิตในภูมิที่มีขันธ์ 5 ต้องอาศัยรูป คือ หทยรูปป็นที่เกิด

ของจิตที่เป็นกุศล หรือ อกุศลครับ เพราะฉะนั้น นัยที่หนึ่ง เพราะอาศัยสภาพธรรมที่มี

จริง คือ จิต เจตสิก รูป บุญและบาปจึงเกิดขึ้นได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2554

นัยที่ 2 บุญและบากที่เป็นกุศลจิตและอกุศลจิต เกิดขึ้นได้ เพราะด้วยอำนาจการ

สะสมในอดีต โดยทางธรรมเรียกว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย คือ อาศัย ที่เคยเกิดการทำกุศล

ทำบุญในอดีตที่เคยทำมาก่อน จึงสะสมมาจนมีกำลังที่พร้อมจะเกิดได้อีก คือ มีการเกิด

ขึ้นของกุศลในแบบนั้นอีก เพราะเคยมีการทำบุญ ทำกุศลในอดีตมาแล้วนั่นเองครับ

อกุศล หรือ บาป ก็เช่นกันครับ เพราะเคยทำบาป ทำอกุศลมาแล้วในอดีต ก็ทำให้

ปัจจุบันเกิดการทำบาปได้ เพราะมีการสะสม มีการทำบาปมาแล้ว เป็นสิ่งที่มีกำลังจน

พร้อมที่จะเกิดบาปได้ในปัจจุบันครับ

ซึ่งในตัวอย่างของฝ่ายกุศลในการสะสมที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่เคยทำบุญไว้ใน

อดีต จึงทำให้เกิดกุศลในปัจจุบันได้ เช่น เมื่อก่อนเป็นผู้ให้ทาน ในอดีต ปัจจุบันก็

สามารถเกิดกุศลขั้นทานที่เป็นบุญอีกได้ ในตัวอย่างของอกุศลก็เช่นกันครับ ในอดีต

เคยทำบาป มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น อกุศลนั้นสะสมไว้ กำลังจนเป็นปัจจัยให้อกุศลมีการ

ฆ่าสัตว์เกิดขึ้นอีกได้ เพราะมีการสะสมมาในอดีตนั่นเองครับ

นัยที่ 3 บุญและบาปเกิดขึ้นได้ เพราะมีกิเลส คือ อวิชชา สมดังพระพุทธพจน์ อันเป็น

ปฏิจจสมุปบาท คือ เพราะอวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขาร คือ เพราะมีความไม่รู้ จึงเป็น

ปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารในที่นี้ไมได้หมายถึง สังขารร่างกาย แต่หมายถึง เจตนาที

เป็นไปในกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมนั่นเอง นั่นคือ เพราะมีความไม่รู้ มีอวิชชา จึงเป็น

ปัจจัยใหเกิดกุศล หรือ อกุศล มีบุญและบาปครับ เพราะไม่รู้ เพราะมีกิเลส จึงมีการเกิด

ขึ้นของกุศลจิตและกุศลกรรม ทำให้ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดเพราะ เมื่อผลของกุศล

กรรมให้ผลก็ทำให้เกิดในภพภูมิที่ดี ก็ไม่พ้นจากวัฏฏะ และเพราะมีความไม่รู้ มีกิเลส จึง

ทำอกุศลจิต อกุศลกรรมเกิด ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในภพภูมิที่ไม่ดี และเวียนว่ายตายเกิด

ไม่สิ้นสุดครับ นี่เพราะมีกิเลส เพราะมีความไม่รู้ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลกรรมและ

อกุศลกรรม หรือ มีบุญและบาปเกิดขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2554

ผู้ที่จะไม่มีการเกิดขึ้นของบุญและบาป คือละบุญและบาปได้แล้ว คือ บุคคลที่ดับกิเลส

ถึงความเป็นพระอรหันต์นั่นเองครับ เพราะดับกิเลส คือ อวิชชา และกิเลสประการอื่นๆ

อันเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลและอกุศลได้หมดแล้วนั่นเองครับ

ดังนั้นก็เจริญบุญฝ่ายออกจากวัฏฏะ คือ การเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละบุญ ไม่เกิดบุญ

และบาปอีก ถึงการดับกิเลสครับ โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมหให้เข้าใจครับ

ขออนุโมทนา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้าที่ 500

พระขีณาสพ (พระอรหันต์) ไม่มีบุญและบาป

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ

นั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า " ด้วย

กถาชื่อนี้ " จึงตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย บุญย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา,

บาปก็มิได้มี; บุญบาปทั้งสองเธอละเสียแล้ว" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-

" ผู้ใดล่วงบุญและบาปทั้งสอง และกิเลสเครื่อง

ข้องเสียได้ในโลกนี้, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มีความโศก

มีธุลีไปปราศแล้ว ผู้บริสุทธิ์แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์."

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
miran
วันที่ 31 ส.ค. 2554

และในวิถีจิต จะเป็นบุญหรือเป็นบาปช่วงไหนครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 31 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอเชิญคลิกอ่านพระพุทธพจน์นี้ ครับ บาป - บุญ [คาถธรรมบท] เืมื่อกล่าวถึงอะไรนั้น ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรม แม้แต่ บาป กับ บุญ ก็เป็นธรรม แต่เป็นธรรมที่มีจริง แต่เป็นที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง บาป หมายถึง อกุศลธรรมประการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่พ้นไปจาก อกุศลจิต และ อกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่โดยกว้างๆ แล้ว มุ่งหมายถึง ขณะที่กระทำอกุศลกรรมบถ ประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น เรียกว่า เป็นบาป แต่ถ้าเป็นเพียงอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เช่น ชอบอาหาร ชอบเืสื้อผ้า ดูหนัง ดูละคร ขุ่นเคืองใจ น้อยใจ เป็นต้น เป็นเพียงอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไป ยังไ่ม่ถึงขั้นที่จะกระทำอกุศลกรรมบถ แต่อกุศล ก็ไม่ควรที่จะประมาท ถ้าสะสมมากขึ้นๆ ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน เมื่อกล่าวโดยสรุป แล้ว บาป เป็นนามธรรม คือ อกุศลจิตและ อกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งจะอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เมือมีจิต ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อมีเจตสิก ก็ต้องมีจิต นอกจากนั้น ก็จะต้องมีอารมณ์ที่จิต เจตสิก นั้นๆ รู้ พร้อมทั้งต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก ด้วย สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ อกุศลจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นั้น เกิดที่ หทยวัตถุ เท่านั้น ประการที่สำคัญ คือ เพราะเหตุว่าเคยสะสมอกุศลมาแล้ว เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ส่วน บุญ เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับบาป เพราะบุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาดปราศจากอกุศล บุญ จึงหมายถึง กุศล ทุกระดับขั้น ตัังแต่เบื้องต้น จนกระทั้งถึงโลกุตตรกุศล ที่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ จนกระทั่งดับได้อย่างหมดสิ้นไม่มีเหลือ เมื่ออรหัตตมัคคจิต เกิดขึ้น บุญ เป็นนามธรรม ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากกุศลจิต และ โสภณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นั่นเอง เจติสกที่เกิดร่วมกับกุศลจิต จะต้องเป็นเจตสิกที่ดีงามเท่านั้น มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น เจตสิกที่ไม่ดีประการต่างๆ จะเกิดร่วมกับกุศลจิตไม่ได้เลย และเมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ล้วนมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยปราศจากปัจจัย แม้แต่บุญ ก็เช่นเดียวกัน เกิดเพราะปัจจัยหลายอย่าง โดยสรุป คือ กุศลจิตเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยเจตสิก เจตสิก ก็ต้องอาศัยจิต ต้องมีอารมณ์ ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ต้องเกิดที่หทยวัตถุ เพราะเคยสะสมกุศลมาแล้วเป็นอุปนิสัยทีดีงาม จึงเป็นเหตุปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ และประการที่สำคัญ เพราะอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน กุศลธรรมประการต่่างๆ จึงเจริญขึ้นได้ เพราะความดีทั้งหมดนั้น ย่อมเจริญขึ้นตามระดับขั้นของความเข้าใจ เพราะผู้ทีี่เข้าใจธรรมแล้ว ย่อมจะคิด พูด และกระทำในทางที่ดีงามเท่านั้น ความดีทั้งหมด ก็คือ บุญอันได้แก่ กุศลจิต และ โสภณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นั่นเอง การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของพระธรรมคำสอนก็ตาม ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งสิ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบในการฟัง ในการศึกษา เมื่อมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และเห็นคุณค่าของกุศลธรรม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท สะสมบุญกุศล เพื่อขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพราะเหตุว่าเมื่อกุศลไม่เกิดขึ้น ไม่เจริญขึ้น ก็เป็นโอกาสของอกุศลที่นับวันจะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ , การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล บุญ เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ซึ่งเป็นบุญอย่างสูงสุด ทำให้ไม่ต้องมีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ได้เลย ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 31 ส.ค. 2554
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 19620 ความคิดเห็นที่ 4 โดย miran

และในวิถีจิต จะเป็นบุญหรือเป็นบาปช่วงไหนครับ

ในขณะที่เป็นชวนะ นั่นเอง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต ตาม การสะสม ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นบุญ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็เป็นบาปครับ ขอเชิญคลิกอ่านวิถีจิตเพิ่มเิติมได้ที่นี่ครับ วิถีจิตทางปัญจทวาร วิถีจิตทางปัญจทวาร-วิถีจิตทางมโนทวาร ชวนะ จิต ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
miran
วันที่ 31 ส.ค. 2554

วิถีจิตทางปัญจทวารมี ๗ วิถี

วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี ได้แก่ ปัญจทวารวัชชนจิต

วิถีจิตที่ ๒ คือ ทวิปัญจวิญญาณจิตดวงหนึ่งดวงใด คือ จักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกาย วิญญาณ

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ จิตดวงหนึ่งดวงใดที่ดับไป

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต ทำกิจกระทำทางให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) เกิดต่อ

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ “ชวนะ” แปลว่า แล่นไป คือ ไปอย่าง เร็วในอารมณ์ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะ พระอรหันต์)

วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี หรือตทารัมมณวิถี ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้น กระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ ดับไปเพราะรูปๆ หนึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต คือ ..

----------------------------------------------------------------------------

ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่าเกิดบุญ (กุศล) ช่วงโวฏฐัพพนจิต หรือ ช่วงชวนะ

คือ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องอภิธรรม ช่วยอธิบายหน่อยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

จากคำถามที่ว่า

ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่าเกิดบุญ (กุศล) ช่วงโวฏฐัพพนจิต หรือ ช่วงชวนะ

คือ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องอภิธรรม ช่วยอธิบายหน่อยนะครับ

--------------------------------------------------------------

สำหรับ โวฏฐัพพนจิต เป็นจิตที่ทำทาง ให้เิกิดกุศลจิต หรือ อกุศลจิต หรือกิริยาจิต

ของพระอรหันต์ แต่ตัว โวฏฐัพพนจิต ไม่ใช่กุศลจิต และอกุศลจิต แต่เป็นจิตที่เป็นชาติ

กิริยา คือ เป็นกิริยาจิตครับ ดังนั้น โวฏฐัพพนจิต จึงเป็นเพียงจิตที่ทำหน้าที่ เป็นทางที่

จะให้เกิดอกุศลจิต หรือ อกุศลจิต ทาง ชวนจิตครับ ซึ่ง กุศลจิต อกุศลจิต จึงไม่เกิดที่

โวฏฐัพพนจิตเลย แต่เกิดที่ ชวนจิต 7 ขณะเท่านั้นครับ ที่จะเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต

ครับ ถ้าเปรียบเหมือน การเป็นกุศล หรือ อกุศล คือ การได้ลิ้มรสอาหาร มือที่หยิบอาหาร

ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเข้าปาก แต่การได้ลิ้มรสอาหาร (เป็นกุศล หรือ อกุศล) เป็นหน้าที่

ของลิ้้นทีไ่ด้ลิ้มรส ดังนั้น มือ (โวฏฐัพพนจิต) ก็เป็นการทำทางที่จะให้เกิดการลิ้มรส

อาหาร แต่เมือ (โวฏฐัพพนจิต) เองไมไ่ด้รู้รสอาหารครับ แต่ลิ้น คือ ชวนจิตนั้นเองต่าง

หากที่รู้รสอาหาร คือ เกิดกุศลจิต อกุศลจิตขึ้นที่ ชวนจิต 7 ขณะครับ

สรุป คือ โวฏฐัพพนจิต เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่ทำหน้าที่เกิดกุศลจิต หรือ อกุศลจิต แต่ทำ

หน้าที่เป็นทาง ให้เกิดกุศลจิต หรือ อกุศลจิตที่ ชวนจิต 7 ขณะ เหมือนเป็นผู้ส่งต่อ ให้

เกิดกุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมมาในอดีตว่าสะสมมาอย่างไรก็เป็นกุศล

หรือ อกุศลตามการสะสม ส่วน กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดขึ้นต่อจาก โวฏฐัพพนจิตทีดับ

ไปแล้ว ชวนจิตจึงเกิดขึ้นทำหน้าที่แล่นไป คือเกิดกุศลจิตและอกุศลจิตที่ชวนจิตครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
miran
วันที่ 31 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 1 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.ย. 2554

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีการทำบุญทำบาป และ การทำบุญทำบาป จึงเป็น

ปัจจัยให้เกิดวิญญาณ คือ การเกิดในภพภูมิต่างๆ ทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์

จนกว่าจะพบบัณฑิตและได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า จึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้สิ้นทุกข์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Graabphra
วันที่ 1 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณมาก และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
หลานตาจอน
วันที่ 2 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
nong
วันที่ 2 ก.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
pamali
วันที่ 15 มี.ค. 2556
ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ