สูจิโลมสูตร ... วันเสาร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔

 
มศพ.
วันที่  1 ต.ค. 2554
หมายเลข  19826
อ่าน  2,191

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมที่

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

สูจิโลมสูตร

ว่าด้วยราคะ และโทสะมีอัตภาพเป็นเหตุ

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๘๙

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร


[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๘๙

สูจิโลมสูตร

ว่าด้วยราคะและโทสะมีอัตภาพเป็นเหตุ

[๘๐๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับบนเตียงชนิดมีเท้าตรึงติดกับแม่แคร่อันเป็นที่ครอบครองของสูจิโลมยักษ์ ในบ้านคยา สมัยนั้นแล ยักษ์ชื่อ ขระ และ ยักษ์ชื่อ สูจิโลมะ เดินผ่านเข้าไปไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นแล ยักษ์ชื่อ ขระ ได้พูดกับสูจิโลมยักษ์ว่า นั่น สมณะ สูจิโลมยักษ์ กล่าวว่า นั่นไม่ใช่สมณะ เป็นสมณะน้อย แต่จะเป็นสมณะหรือสมณะน้อย เราพอจะรู้ได้.

[๘๐๘] ครั้งนั้นแล สูจิโลมยักษ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า น้อมกายเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระเถิบถอยพระกายไปเล็กน้อย ครั้งนั้นแล สูจิโลมยักษ์ได้ถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านกลัวเราหรือ สมณะ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า อาวุโส เราไม่กลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่านเลวทราม สูจิโลมยักษ์ กล่าว่า สมณะ เราจักถามปัญหากะท่าน ถ้าท่านไม่กล่าวแก้แก่เรา เราจักทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน หรือจักฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้า แล้วเหวี่ยงไปฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า อาวุโส เราไม่เห็นใครเลยในโลก ทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะพึงทำจิตของเราให้พลุ่งพล่าน หรือฉีกหัวใจเรา หรือจับเราที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคาได้ อาวุโส เอาเถอะ ท่านจงถามตามที่ท่านจำนงเถิด.

[๘๐๙] สูจิโลมยักษ์ จึงถามว่า ราคะ และโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยอง เกิดแต่อะไร ความตรึก ในใจเกิดแต่อะไร แล้วดักจิตไว้ได้เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้น

[๘๑๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่อัตภาพนี้ ความตรึกในใจเกิด แต่อัตภาพนี้แล้ว ดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้น อกุศลวิตกเป็นอันมาก เกิดแต่ความ เยื่อใยคือตัณหา เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่าน ไปในวัตถุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทร เกิดแต่ลำต้นไทรแล้วปกคลุมป่าไป ฉะนั้น. ชนเหล่าใดย่อมรู้อัตภาพนั้นว่า เกิดแต่สิ่งใด ชนเหล่านั้น ย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้

ดูก่อนยักษ์ ท่านจงฟัง ชนเหล่านั้นย่อมข้าม ห้วงกิเลสนี้ซึ่งข้ามได้ยาก และไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพอีกต่อไป

จบ สูจิโลมสูตรที่ ๓.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความในอรรถกถาสูจิโลมสูตร ได้ที่นี่

อรรถกถาสูจิโลมสูตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป สูจิโลมสูตร ว่าด้วยราคะและโทสะมีอัตภาพเป็นเหตุ

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับบนเตียงชนิดมีเท้าตรึงติดกับแม่แคร่ อันเป็นที่ครอบครองของสูจิโลมยักษ์ ในบ้านคยา ยักษ์ ๒ ตน คือ ขระยักษ์ กับ สูจิโลมยักษ์ ได้เห็นพระองค์แล้ว สนทนากันว่า นั่นไม่ใช่ สมณะ แต่สูจิโลมยักษ์ มีวิธีที่จะรู้ว่าเป็นสมณะหรือไม่ใช่สมณะ ด้วยการเข้าไปถามปัญหากับพระองค์ พร้อมกับบอกว่า ถ้าตอบไม่ได้ก็จะทำให้จิตพลุกพล่าน ฉีกหัวใจ หรือไม่ก็เหวี่ยงไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่มีใครที่จะทำร้ายพระองค์อย่างนั้นได้เลย สูจิโลมยักษ์ ได้ถามปัญหาว่า ราคะ โทสะ ความไม่ยินดี ความยินดี ความกลัว และอกุศลวิตก เกิดแต่อะไร

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ราคะ โทสะ ความไม่ยินดี ความยินดี ความกลัว และอกุศลวิตก เกิดแต่อัตภาพนี้ทั้งสิ้น สัตว์โลกรู้และบรรเทากิเลสเหล่านี้เสียได้ ย่อมข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้ ในที่สุดแห่งเทศนา สูจิโลมยักษ์ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นธรรมดาที่พระโสดาบันทั้งหลาย จะไม่ตั้งอยู่ในอัตภาพที่เศร้าหมอง ดังนั้น หัวหูด ขนแหลมอย่างเข็มทั้งปวงที่ร่างกายของสูจิโลมยักษ์ จึงร่วงไปพร้อมกับการได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สูจิโลมยักษ์นุ่งผ้าทิพย์ ห่มผ้าทิพย์ โพกผ้าทิพย์ ทรงเครื่องประดับของหอมและมาลัยทิพย์มีผิวพรรณดังทอง ได้ปกครองภุมมเทวดา [ในอรรถกถา สุตตนิบาต สูจิโลมสูตร แสดวงว่า ยักษ์ชื่อ ขระ ซึ่งเป็นสหายกับสูจิโลมยักษ์ ก็ได้ บรรลุเป็นพระโสดาบัน ด้วยเช่นกัน].

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

วิตักกะเหลวไหล

วิตักกะในองค์มรรค

โอฆะ...?

กิเลสตัณหา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
หลานตาจอน
วันที่ 2 ต.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 2 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 2 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jans
วันที่ 2 ต.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 2 ต.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 3 ต.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์คำปั่นครับว่า คำว่า "อัตภาพ" และ "ดักจิต"

มีอรรถโดยพิสดารอย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 3 ต.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 3 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ ขอร่วมสนทนาครับ

จากคำถามที่ว่า คำว่า อัตภาพ และ ดักจิตนั้นหมายถึงอะไร

ข้อความพระไตรปิฎกที่ว่า

ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่อัตภาพนี้ ความตรึกในใจเกิด แต่อัตภาพนี้แล้ว ดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้น.


สำหรับในเรื่องของคำว่า อัตภาพ

ข้อความในอรรถกถา ได้อธิบายในประเด็นของคำว่า อัตภาพไว้ครับว่า ราคและโทสะความยินดี และไม่ยินดี รวมทั้ง วิตก ทีเ่กิดขึ้น อาศัยอัตภาพ คือ อุปทานขันธ์ 5 ดังนั้น

อัตภาพจึงมุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ครับ เพราะมีสภาพธรรม จึงมีราคะ โทสะ ความยินดี ไม่ยินดีและความตรึกนึกคิดได้ เพราะราคะ คือ โลภเจตสิกก็ต้องอาศัยจิตและเจตสิกและรูปเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก เป็นต้น และสภาพธรรมอื่นๆ เช่น โทสะ ความยินดีและไม่ยินดี รวมทั้งความตรึก ที่เป็นวิจตก ก็ต้องอาศัย อัตภาพ คือ จิต เจตสิก รูปเกิดร่วมกันในขณะนั้นครับ ซึ่งหากไม่มีอัตภาพ คือ จิต เจตสิก และรูป ก็จะไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมใดๆ เลย ไม่มีราคะ โทสะ ความยินดีและไม่ยินดี วิตก ความคิดต่างๆ เกิดขึ้นเลยครับ แต่เพราะอาศัย จิต เจตสิก รูป ขันธ์ ที่เป็นอัตภาพจึงเกิดสภาพธรรมอื่นๆ ได้นั่นเองครับ ดังนั้น อัตภาพ จึงหมายถึง ขันธ์ 5 ที่เป็น จิต เจตสิกและรูปที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงครับ

ส่วนคำว่า ดักจิต ในอรรถกถา อธิบายในเรื่องของ ความตรึกนึกคิดที่เป็นวิตก ซึ่งได้เปรียบเทียบในเรื่องของกาไว้ครับว่า เด็กเมื่อเล่นอยู่กับกา จับกาได้ ก็เอาเชือกผูกขาและปล่อยไป กาก็ไม่สามารถไปไหนได้ เพราะถูกเชือกนั้นดักไว้ ฉันใด อกุศลวิตก หรือ ความคิดที่เป็นอกุศล เมื่อเกิดขึ้น ก็ย่อมดักจิตไว้ ดักจิตของผู้นั้นไม่ให้เป็นกุศลนั่นเองครับ อกุศลวิตกเกิดขึ้น ดักจิตไว้ ไม่ให้เป็นกุศลเกิดขึ้นครับ ในขณะนั้น เหมือนกับกาที่ถูกผูกด้วยเชือกที่ขา ก็ไม่สามารถไปไหนได้ อกุศลวิตกที่เป็นอกุศลจิต คิดนึกเป็นอกุศลในขณะนั้นที่เกิดขึ้น ดักจิตไว้ ไม่ให้เป็นกุศลจิต กุศลวิตกครับ เพราะฉะนั้นคำว่า ดักจิต จึงหมายถึง อกุศลจิตที่เป็นอกุศลวิตกที่คิดนึกด้วยอกุศล ดักจิตไว้ ไม่ให้เป็นกุศลจิต ไม่ให้กุศลวิตกครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 3 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๘ ครับ

พระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะศึกษาจากพระสูตรใด ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้แต่ในเรื่องของกิเลส มีโลภะ โทสะ เป็นต้น ก็เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เวลาที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นแต่อัตภาพนี้ (อัตภาพ แปลตามศัพท์ว่า ความเป็นบุคคล นี้ เพราะมีความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ จิต เจตสิก และ รูป จึงสมมติว่า เป็นคนนั้น คนนี้ ดังนั้น คำว่า อัตภาพ ก็คือ (สิ่งที่สมมติว่าเป็น) ตัวเรา นี้เอง เวลาที่กิเลสเกิด ก็เกิดที่นี่ ไม่ได้เกิดที่ต้นไม้ ไม่ได้เกิดที่อื่นเลย)

ตามความเป็นจริงแล้ว เวลาที่โลภะเกิด หรือ เวลาที่โทสะเกิด ก็เกิดร่วมกับจิต คือเกิดร่วมกับอกุศลจิต และ ทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิดขึ้น จะมีวิตักกเจตสิก เกิดร่วมด้วยเสมอ [เพราะวิตักกเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตได้ทุกชาติ ตามสมควรแก่ประเภทของจิต นั้นๆ ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลชาติ ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิต ก็เป็นกุศลชาติ ถ้าเกิดร่วมกับกิริยาจิต ก็เป็นกิริยาชาติ ถ้าเกิดร่วมกับวิบากจิต ก็เป็นวิบากชาิติ ] ดังนั้น ขณะที่มีวิตักกะเกิดขึ้นตรึกไปในทางที่เป็นอกุศล จะด้วยความติดข้อง (โลภะ) หรือ ด้วยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ (โทสะ) ขณะนั้น เป็นอกุศล เมื่ออกุศลเกิดขึ้น กุศลก็เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ปล่อยจิตให้เป็นไปในทางที่เป็นกุศล ดักจิตไว้ผูกจิตไว้ ไม่ให้เป็นกุศล

ข้ออุปมาด้วยพวกเด็กดักกา ก็สามารถพิจารณาได้ว่า กา เมื่อถูกพวกเด็กๆ ผูกเชือกไว้ที่ขา แม้จะไปได้ไกลเพียงใด ก็ยังไม่พ้นจากเครื่องผูก คือ เชือก อยู่ดี เช่นเดียวกันกับขณะที่จิตเป็นอกุศล ในขณะนั้น ย่อมเป็นการสละกุศล ไม่เปิดโอกาสให้กุศลจิตเกิดได้เลย จึงยังไม่พ้นไปจากอกุศล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 3 ต.ค. 2554

เข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
tusaneenui
วันที่ 6 ต.ค. 2554
-ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
prachern.s
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
swanjariya
วันที่ 23 เม.ย. 2560

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ก.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 ต.ค. 2563

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณอาจารย์วิทยากรทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ